ชาวนางรอง บุรีรัมย์เฮ “ศาลปกครอง” เพิกถอนมติมหาเถรสมาคม ที่ยกวัดเลียบ (วัดร้าง) ให้เป็นวัดที่มีพระจำพรรษา พร้อมเพิกถอนโฉนดที่ดินสั่งคืนเป็นที่สาธารณสมบัติ ชาวบ้านใช้ประโยชน์ร่วมกัน
ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 57903 ต.สะเดา อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ เนื้อที่ 16 ไร่ 3 งาน 60 ตารางวา ที่ออกให้แก่กรมการศาสนา วัดกุด หรือวัดเลียบ (วัดร้าง) เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2538 โดยให้การเพิกถอนมีผลนับแต่วันที่ได้มีการออกโฉนดที่ดิน และเพิกถอนมติมหาเถรสมาคม ที่ 112/2556 ในการประชุมครั้งที่ 5/2556 วันที่ 20 ก.พ. 2556 ที่เห็นชอบให้ยกวัดเลียบ (วัดร้าง) ขึ้นเป็นวัดมีพระภิกษุอยู่จำพรรษา โดยให้การเพิกถอนมีผลนับแต่วันที่ได้มีมติดังกล่าว
ทั้งนี้ คดีดังกล่าวสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนกับพวกรวม 90 คน ซึ่งเป็นชาวบ้านในพื้นที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และพวกรวม 10 ราย กรณีออกโฉนดบนที่ดินซึ่งเป็นสาธารณประโยชน์กลางของหมู่บ้าน และร่วมกันดำเนินการจนกระทั่งมีมติเห็นชอบให้ยกวัดกุดหรือวัดเลียบ (วัดร้าง) อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ขึ้นเป็นวัดมีพระภิกษุอยู่จำพรรษาบนที่ดินดังกล่าวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยเหตุที่ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนระบุว่า การที่นายจุล คงสืบชาติ ศึกษาธิการอำเภอนางรองในขณะนั้น นำที่ดินแปลงพิพาทไปแจ้งการครอบครองต่อนายอำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ แม้จะระบุสภาพที่ดินว่าเป็นที่วัดร้าง แต่ไม่ได้มีพยานหลักฐานที่สนับสนุนว่าที่ดินเคยเป็นวัดร้างมาก่อน เมื่อนายจุลไม่ใช่ผู้ครอบครองหรือผู้ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทในฐานะผู้ดูแลที่วัดหรือที่ธรณีสงฆ์ ในขณะแจ้งการครอบครองที่ดินดังกล่าว จึงรับฟังได้ว่าที่ดินพิพาทมิได้เป็นวัดร้าง และเมื่อประชาชนได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินแปลงพิพาทร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง ที่ดินดังกล่าวจึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามมาตรา 1304 (2) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ดังนั้น เมื่อนายจุลไม่มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาที่พิพาท และการแจ้งการครอบครองที่ดินก็ไม่มีผลที่จะเป็นการถอนสภาพความเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน ทั้งไม่ปรากฏว่ามีบทกฎหมายเฉพาะหรือ พ.ร.ฎ.ให้โอนทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินให้แก่กระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น นายจุลจึงไม่มีอำนาจแจ้งการครอบครองที่ดินพิพาท และการแจ้งการครอบครองไม่ก่อให้เกิดสิทธิขึ้นใหม่แก่ผู้แจ้งแต่อย่างใดตามมาตรา 5 วรรคสาม พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 ผู้แจ้งจึงไม่ใช่ผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินอันจะเป็นบุคคลซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่อาจออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้ได้ตามมาตรา 59 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน
นอกจากนี้ ที่ดินดังกล่าวยังเป็นที่สาธารณประโยชน์ ต้องห้ามออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ตามข้อ 14 ประกอบกับข้อ 5 ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 43 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 การนายอำเภอนางรองที่ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 206 ในนามวัดร้าง วัดกุดหรือวัดเลียบ โดยอาศัยหลักฐานแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 206 ดังกล่าว จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเจ้าพนักงานที่ดิน จ.บุรีรัมย์ สาขานางรอง ออกโฉนดที่ดินที่พิพาทให้แก่กรมการศาสนา วัดกุดหรือวัดเลียบ (วัดร้าง) โดยอาศัยหลักฐานหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ดังกล่าว จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน
เมื่อการออกโฉนดที่ดินแปลงที่พิพาทให้แก่กรมการศาสนา วัดกุดหรือวัดเลียบ (วัดร้าง) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ดินพิพาทจึงไม่มีฐานะเป็นวัดร้างที่จะยกขึ้นเป็นวัดมีพระภิกษุอยู่จำพรรษาได้ตามมาตรา 32 ทวิ วรรคสองแห่ง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 จึงไม่มีกรณีที่จะให้เจ้าคณะอำเภอและนายอำเภอนางรองร่วมกันพิจารณารายงานการยกวัดเลียบ (วัดร้าง) ขึ้นเป็นวัดมีพระภิกษุอยู่จำพรรษา ตามนัย ข้อ 2 ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505การที่ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ เสนอรายงานการขอยกวัดร้างดังกล่าวขึ้นเป็นวัด มีพระภิกษุอยู่จำพรรษาต่อสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เพื่อเสนอให้มหาเถรสมาคม พิจารณาให้ความเห็นชอบ จึงเป็นการรายงานที่ไม่อาจกระทำได้ตามกฎหมาย ดังนั้นมหาเถรสมาคม มีมติเห็นชอบให้ยกวัดเลียบ (วัดร้าง) ขึ้นเป็นวัดมีพระภิกษุอยู่จำพรรษา จึงเป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และสำนักงานพระพุทธศาสนามีประกาศสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ลงวันที่ 13 มี.ค. 2556 ยกวัดเลียบ (ร้าง) ขึ้นเป็นวัดมีพระภิกษุอยู่จำพรรษาตามมติดังกล่าว จึงเป็นประกาศที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน