“กกต.สมชัย” คาดร่าง กม.ลูกเลือกตั้งจะเสร็จ 16 ก.ย. ชูปฏิรูปเลือกตั้ง 4 ด้าน เพิ่มค่าสมัครแก้ปัญหาพวกหวังแค่ออกทีวีฟรี และนำใช้เป็นค่าทำป้ายลดต้นทุนการเมืองหาเสียง เปิดให้สมัครผ่านเน็ต ให้ผู้ที่ถูกเสนอชื่อนั่งนายกฯพรรคใหญ่มาดีเบต หาเสียงทางเน็ตได้แต่ข้อมูลต้องนิ่ง ลดเวลาห้ามขายสุราเป็น 24 ชม. เพิ่มช่องทางลงคะแนน ยืดเวลาปิดหีบ ย้ำผุดใบส้มตัดชื่อทิ้งห้ามสมัคร 1 ปี แจงไม่ได้เสนอใบดำ
วันนี้ (13 ก.ย.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้งแถลงภายหลังการประชุม กกต.ถึงความคืบหน้าในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ว่า ในวันนี้ กกต.คงไม่สามารถส่งร่างกฎหมายดังกล่าวให้ กรธ.ได้ เนื่องจากมีสาระสำคัญหลายเรื่องที่ต้องนำกลับไปปรับแก้ คาดว่าร่างกฎหมายจะเสร็จและประธาน กกต.ลงนามส่ง กรธ.ในวันที่ 16 ก.ย.ได้ ซึ่งในวันดังกล่าวเวลา 10.00 น. พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา ผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงาน กกต. ในฐานะอนุกรรมการร่างกฎหมายจะแถลงรายละเอียดของร่างกฎหมายดังกล่าวให้ทราบอีกครั้งหนึ่ง
นายสมชัยด้วยว่า ร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้งที่ กกต.จะเสนอจะเป็นปฏิรูปการเลือกตั้งใน 4 ด้าน ที่เชื่อว่าข้อเสนอดังกล่าวจะทำให้การจัดเลือก ส.ส.มีคุณภาพ เรื่องแรก 1. ปฏิรูปกลไกการรับสมัคร ได้ออกแบบกลไกการรับสมัครใหม่เพื่อแก้ปัญหาที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เพราะเราเห็นภาพของการรับสมัครโดยที่ผู้สมัครบางรายสมัครโดยไม่ตั้งใจจะแข่งขันเพื่อให้ได้รับเลือก รู้ดีว่าไม่ได้เป็น ส.ส. แน่นอนจึงไม่หาเสียง มีคะแนนหลังเลือกตั้งต่ำกว่าหลักร้อย แต่สมัครเพียงเพื่อหวังจะมีโอกาสออกอากาศทางโทรทัศน์ฟรี จึงให้เพิ่มค่าสมัครจาก 5,000 บาทเป็น 10,000 บาท แต่หากผู้สมัครในเขตนั้นได้รับคะแนนเกิน 5% ของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง หรือประมาณ 4,000-5,000 คะแนนขึ้นไปก็จะคืนเงินค่าสมัครให้ครึ่งหนึ่ง หรือ 5,000 บาท สำหรับค่าสมัครที่เพิ่มนั้น กกต.จะนำไปสมทบกับค่าใช้จ่ายที่จะจัดทำแผ่นป้ายเพื่อติดโปสเตอร์หาเสียงให้แก่ผู้สมัครต่อไป
นอกจากนี้จะให้มีช่องทางการรับสมัครทางอินเตอร์เน็ตเพิ่มขึ้นคู่ขนานกับการสมัครด้วยตนเอง เพื่อป้องกันปัญหาขบวนการขัดขวางการสมัครในบางพื้นที่เพื่อหวังให้กระบวนการเลือกตั้งไม่สมบูรณ์ หรือขัดต่อรัฐธรรมนูญ จึงเปิดช่องทางการรับสมัครสองช่องทางขนานกัน คือสามารถมาสมัครด้วยตนเอง หรือยื่นสมัครทางอินเทอร์เน็ต แล้วจึงมาจับสลากหมายเลขอีกที ให้แต่ละพรรคมีหมายเลขเดียวกันทั่วประเทศ
2. ด้านการปฏิรูปกลไกการหาเสียง จะมีการกำหนดขนาด จำนวน และสถานที่ปิดป้ายหาเสียง โดยเบื้องต้นกำหนดให้ผู้สมัครทำโปสเตอร์หาเสียงของตนเองขนาด 60 คูณ 60 ซม. ส่วน กกต.จะทำบอร์ดให้ติดโปสเตอร์ดังกล่าวประมาณ 200 จุดต่อ 1 เขตเลือกตั้ง หรือประมาณ 70,000 จุดทั่วประเทศ ค่าใช้จ่ายที่ กกต.ต้องใช้ทำบอร์ดดังกล่าวประมาณ 140 ล้านบาท โดยคาดว่าจะเก็บค่าสมัครได้ราว 20 ล้านบาทบาท น้อยกว่าจำนวนหน่อยออกเสียงเล็กน้อย ดังนั้น ผู้สมัครจึงไม่จำเป็นต้องทำโปสเตอร์มากกว่า 200-300 ใบ ไม่ต้องทำป้ายคัตเอาต์ ป้ายบิลบอร์ดขนาดยักษ์ ป้ายไวนิล โดย กกต.ยังจะทำเอกสารเกี่ยวกับข้อมูลผู้สมัครเผยแพร่ให้แก่ประชาชน ส่งผลทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการหาเสียงและเกิดความสะอาดต่อบ้านเมือง เป็นการลดต้นทุนทางการเมืองอย่างมหาศาล
“ถ้าค่าพิมพ์ใบละ 100 บาท ผู้สมัครทำคนละ 300 ใบก็เพียง 30,000 บาท จากเดิมที่ต้องใช้เงินหลายแสนบาท แต่เราเก็บค่าสมัครสูงขึ้นเพราะจะเอามาช่วยทำป้ายเหล่านี้ โดย กกต.จ่ายมากกว่าราวสิบเท่า”
อีกทั้งจะกำหนดให้พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครเกินกว่า 50% ของเขตเลือกตั้ง หรือ 175 เขตขึ้นไป ซึ่งจะต้องเสนอชื่อผู้นายกรัฐมนตรี ผู้ที่ถูกเสนอชื่อของพรรคเหล่านี้ต้องร่วมเวทีดีเบตนโยบายต่อสาธารณะ โดยจะให้สื่อของรัฐจัดรายการโทรทัศน์กำหนดหัวข้อให้ดีเบต ส่วนรูปแบบวิธีการจำนวนครั้งให้เป็นไปตามประกาศ กกต. โดยจะเป็นการถ่ายทอดสดเผยแพร่ทางทีวีพูล ซึ่งเป็นแนวทางสอดคล้องกับนานาอารยประเทศ
สำหรับการโฆษณาหาเสียงทางอินเทอร์เน็ตนั้น กกต.ผู้นี้ระบุว่า เชื่อว่าจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการหาเสียง ปัญหาคืออาจมีการใช้ข้อมูลเท็จ หรือปรับเปลี่ยนนโยบายอย่างกะทันหัน มีการโจมตีฝ่ายตรงข้ามซึ่งจะเกิดขึ้นในอนาคต จึงให้การหาเสียงทางอินเทอร์เน็ตได้ แต่ข้อมูลต้องนิ่งตั้งแต่ 24.00 น.ของ 7 วันก่อนวันเลือกตั้ง ห้ามเปลี่ยนแปลงข้อมูลเพื่อไม่ให้มีการปล่อยข่าว โจมตี ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมจะยังมีการจำกัดเงินค่าใช้จ่ายการเลือกตั้งอยู่ซึ่งแนวโน้มน่าจะน้อยลง
ส่วนประเด็นห้ามจำหน่ายจ่ายแจกสุราจากเดิม 18.00 น.ก่อนวันเลือกตั้งถึง 24.00 น.ในวันเลือกตั้ง ให้ลดจำนวนชั่วโมงเหลือ 24 ชั่วโมง เป็น 18.00-18.00 น.เท่านั้น เพราะเชื่อว่าทุกอย่างคลี่คลายแล้วโดยเฉพาะการนับคะแนนที่หน่วยน่าจะเสร็จสิ้นเร็ว ทั้งนี้ กกต.ยืนแนวความคิดตามหลักสากลว่าก่อนวันเลือกตั้งถึงวันเลือกตั้งควรเป็นวันที่นิ่งให้ประชาชนไตร่ตรองบนพื้นฐานที่มีสติ
3. ด้านการลงคะแนน ให้เพิ่มช่องทางวิธีการลงคะแนนเปิดกว้างขึ้น เช่น ทางไปรษณีย์ การใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ในบางพื้นที่ การลงคะแนนในอินเทอร์เน็ตในต่างประเทศที่มีความพร้อม การเลือกตั้งล่วงหน้าจะมี 2 วัน และขยายเวลาถึง 18.00 น.ให้ประชาชนมีเวลามากขึ้น ส่วนวันเลือกตั้งจริงขยายถึง 16.00 น.
4. ด้านปฏิรูปการประกาศผล หลักการเดิมยังคงอยู่คือ กกต.มีอำนาจสั่งเลือกตั้งใหม่ หรือใบเหลือง ก่อนการประกาศรับรองผล และหลังการเลือกตั้งภายใน 1 ปี กกต.มีอำนาจเสนอศาลฎีกา เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง หรือใบแดง สั่งเลือกตั้งใหม่ หรือใบเหลือง ชดใช้ค่าเสียหาย ดำเนินคดีอาญา แต่มีส่วนที่เพิ่มเติมขึ้นมา คือ ใบส้ม ที่ก่อนประกาศผล หากพบว่ามีการทำผิดโดยการกระทำความผิดเชื่อมโยงกับผู้สมัคร กกต.สามารถเอาผู้สมัครรายนั้นออกจากการแข่งขันได้ โดยเป็นการตัดสิทธิสมัคร 1 ปี ส่วนเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือที่เรียกว่าใบดำ ซึ่งจะมีผลไม่อาจดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมืองและกรรมการองค์กรอิสระนั้น กกต.ไม่ได้เป็นผู้เสนอ ฉะนั้นใครกล่าวหาว่า กกต.เพิ่มอำนาจให้ตัวเองเข้าใจผิด เพราะโทษดังกล่าวเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด และศาลจะเป็นผู้ใช้ดุลพินิจ