xs
xsm
sm
md
lg

นักการเมืองยังขาลงดำดิ่งไม่ฟื้น-เปิดทางล้างไพ่ เซตซีโร !!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เมืองไทย 360 องศา


เกิดมาเป็นนักการเมืองในยุคนี้ บางทีมันก็น่าน้อยใจไม่น้อยเหมือนกัน เพราะไม่มีใครเห็นหัว มีแต่เสียงดูถูกเหยียดหยามไม่มีดี ถูกชี้หน้าด่าทำนองว่าเป็นต้นตอสารพัดความชั่ว ความเลว จนบางครั้งน่ารังเกียจไม่ต่างจากสัตว์เลื้อยคลานบางชนิดเสียอีก

อย่างไรก็ดี นั่นเป็นมุมมองที่มีต่อนักการเมืองจำนวนหนึ่ง แต่กลายเป็นว่าพวกนักการเมืองที่น่าสะอิดสะเอียนดังกล่าวดันมีจำนวนไม่น้อยเสียด้วย ขณะที่นักการเมืองน้ำดีที่ยังหวังพึ่งพาได้กลับมีน้อยยิ่งกว่าน้อยเสียด้วย ทำให้ถูกกลืนจนแทบไม่มีความหมายไปเลย ขณะเดียวกันก็ต้องให้ความเป็นธรรมว่า นักการเมืองก็เหมือนกันทุกอาชีพที่มีทั้งคนดีและคนชั่ว ทุกวงการก็มีคนทั้งสองประเภท เพียงแต่ว่านักการเมืองเป็นอาชีพที่เป็นตัวแทนประชาชน อาสาเข้ามามีความใกล้ชิด และสามารถวิจารณ์ได้ ที่สำคัญพวกนักการเมืองด้วยกันเองก็มีการวิจารณ์ใส่ร้ายฝ่ายตรงข้ามเพื่อหาความนิยม ซึ่งนั่นก็อาจเป็นผลร้ายเพราะการวิจารณ์แบบนั้น กลับส่งผลลบต่อนักการเมืองในภาพรวมเพราะทำให้ชาวบ้านเบื่อหน่าย รำคาญ

ประกอบกับยุคสมัยเปลี่ยนไป เทคโนโลยีสื่อสารรวดเร็ว การบันทึกหลักฐาน การกระจายออกไปอย่างรวดเร็ว ใครพูดอะไร เคยมีพฤติกรรมแบบไหน ถูกบันทึกเอาไว้หมดและเผยแพร่ออกไปแบบไฟลามทุ่ง ขณะที่พวกนักการเมืองไม่มีการปรับตัวมันก็ยิ่งไปกันใหญ่ จนมาถึงยุคตกต่ำอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน กลายเป็นยุคที่นักการเมืองถูกสังคมดูถูกเหยียดหยามอย่าน่าเศร้าที่สุด

พิสูจน์จากผลสำรวจในระยะหลังล้วนออกมาแบบเดิมคือ "ขาลง" แบบรูด เริ่มจากผลสำรวจของชมรมขับเคลื่อนวิชาการเพื่อวิจัยความสุขชุมชน "สำนักวิจัยซูเปอร์โพล" เสนอผลสำรวจความเห็นประชาชน เรื่อง "โพล รีเซต ปฏิรูปการเมือง กับความต้องการของสาธารณชนต่อนักการเมืองในการปฏิรูปตัวเอง" โดยสอบถามประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 1,259 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 7-9 กันยายน ที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 86.3 ระบุ กลุ่มคนที่เป็นต้นเหตุของความขัดแย้งในหมู่ประชาชนมากที่สุดได้แก่ นักการเมือง รองลงมาคือ ร้อยละ 10.9 ระบุสื่อมวลชน และที่เหลือร้อยละ 2.8 ระบุอื่นๆ เช่น ประชาชนที่แบ่งขั้ว นายทุนพรรคการเมือง ตำรวจ และทหาร เป็นต้น

เมื่อถามถึงพรรคการเมืองที่กำลังเสนอทางออกให้ประเทศที่ชอบมากที่สุดในขณะนี้ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 69.1 ระบุ ไม่มีพรรคใดเลย อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 14.6 ระบุพรรคประชาธิปัตย์ ในขณะที่ร้อยละ 11.5 ระบุพรรคเพื่อไทย และร้อยละ 4.8 ระบุพรรคอื่นๆ ตามลำดับ

ถามถึงพฤติกรรมนักการเมืองที่ควรปรับปรุงแก้ไขเพื่อปฏิรูปตัวเองมีอะไรบ้าง พบว่า ส่วนใหญ่ที่สุดคือ ร้อยละ 93.3 ระบุ การทุจริต คอร์รัปชัน รองลงมาคือร้อยละ 88.5 ระบุหาผลประโยชน์เพื่อตนเองและพวกพ้องเครือญาติ , ร้อยละ 82.9 ระบุยั่วยุ ก้าวร้าว ปลุกระดมความขัดแย้ง, ร้อยละ 80.6 ระบุกร่าง โอ้อวด พัวพันผู้มีอิทธิพล เป็นต้น

ที่น่าสนใจ เมื่อถามถึงความคิดเห็นต่อการรีเซต ปฏิรูปการเมือง พบว่า ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 77.6 ระบุ เห็นด้วย เพราะจะไม่เสียของ ต้องการให้ขจัดปัญหาทุจริต คอร์รัปชัน จัดระเบียบนักการเมือง ต้องการนักการเมืองหน้าใหม่ มีอุดมการณ์ ทำงานเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนแท้จริง เป็นต้น ในขณะที่ร้อยละ 22.4 ระบุไม่เห็นด้วย เพราะต้องการให้ประชาชนและพรรคการเมืองมีส่วนร่วม อยากเห็นการทำงานแก้ปัญหาสำคัญร่วมกัน และไม่ชอบการปิดกั้น คิด ทำกันแต่ในกลุ่มคนไม่กี่คน เป็นต้น

ขณะที่กรุงเทพโพล โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ สำรวจความคิดเห็นประชาชนคิดอย่างไรต่อการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปี 2560 โดยเก็บข้อมูลกับประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ จำนวน 1,156 คน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 78.0 เห็นว่าน่าจะมี ร้อยละ 16.6 เห็นว่าไม่น่าจะมี ร้อยละ 5.4 ไม่แน่ใจ เมื่อถามถึงความเชื่อมั่นคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะสามารถแก้ปัญหาการซื้อเสียงได้ กลับพบว่า คนมีความเชื่อมั่นมากถึงมากที่สุดเพียง ร้อยละ 37.0 เชื่อมั่นค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด ร้อยละ 53.2, ไม่แน่ใจ ร้อยละ 9.8 นอกจากนี้ ประชาชนยังเห็นด้วยให้กระทรวงมหาดไทยมาช่วย กกต.จัดการเลือกตั้ง เพื่อลดปัญหาการซื้อเสียง ร้อยละ 68.2, ไม่เห็นด้วยเพราะคิดว่าเป็นหน้าที่ของ กกต. ร้อยละ 25.1 ไม่แน่ใจ ร้อยละ 6.7

แน่นอนว่า ผลสำรวจดังกล่าวย่อมสะท้อนความรู้สึกของชาวบ้านที่มีต่อนักการเมืองและพรรคการเมืองเป็นอย่างใด ทุกคำถามทุกคำตอบล้วนมองพวกเขาในแง่ลบทั้งสิ้น และที่สำคัญก็คือ จากคำตอบดังกล่าวมันยังส่งผลสะเทือนต่อเนื่องไปถึงวิธีการ "จัดการ" กับพรรคการเมืองที่กำลังจะเกิดขึ้นภายใต้แนวทางที่อ้างว่า"การปฏิรูปพรรคการเมือง"ที่มาในรูปแบบของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เรียกว่ากฎหมายพรรคการเมือง ที่กำลังมีความคิดหลักเกี่ยวกับแนวทาง"รีเซต"พรรคการเมือง" นั่นเอง

อย่างไรก็ดี แม้ว่าหากพิจารณากันในความเป็นจริงแล้วมันก็ถึงเวลาที่จะต้องมีการปรับปรุงกฎเกณฑ์กันใหม่เพื่อให้ทันสถานการณ์ แต่หากมองในอีกแง่มุมหนึ่งมันก็พอเข้าใจได้เหมือนกันว่ามันอาจมีการหวังผลทางการเมืองบางอย่างประกอบกันไปด้วย

กรณีแรกที่มีแนวทางในการเซตซีโรพรรคการเมือง แต่อาจจะออกมาในแบบการให้ตรวจสอบสมาชิกพรรคการเมืองกันใหม่ มีข้อกำหนดเกี่ยวกับค่าสมาชิกพรรค การกำหนดคัดเลือกผู้สมัครที่ต้องมาจากการโหวตของสมาชิกสาขาพรรค การพิจารณาความเป็นไปได้ในการนำไปปฏิบัติได้จริงของนโยบายพรรคการเมืองก่อนนำไปหาเสียง เป็นต้น
แน่นอนว่าหากเกิดขึ้นจริง ก็ย่อมทำให้พรรคการเมืองในปัจจุบันสั่นสะเทือนแน่ แม้มองเผินๆอาจเป็นเรื่องดีที่ต้องปรับปรุงให้เป็นพรรคของประชาชนไม่ใช่ของนายทุนหรือเจ้าของพรรคเพียงไม่กี่คนอย่างในปัจจุบัน แต่ในระยะเริ่มต้นอย่างน้อยใน "ช่วง5 ปีแรก" ก็คงไม่มีพรรคไหนเติบโตจนเป็นพรรคใหญ่ อย่างมากก็เป็นแค่พรรคขนาดกลาง ขนาดเล็ก เท่านั้น ซึ่งหากมองกันแบบจับผิดแบบนี้มันก็อาจไปเอื้อต่อบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่มีการเปิดทางให้กับนายกฯคนนอกในช่วงที่บอกว่าเป็น "ช่วงเปลี่ยนผ่าน"

อย่างไรก็ดี ทั้งหลายทั้งปวงล้วนมาจากความตกต่ำของนักการเมือง ของพรรคการเมือง ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสร้างปัญหาขึ้นมาเอง จนกลายเป็นเงื่อนไขหรือข้ออ้างให้อีกฝ่ายบั่นทอนกำลังลง แต่ถึงอย่างไรมันก็ถึงเวลาปรับตัวให้เข้ากับความต้องการของประชาชนที่เปลี่ยนแปลงไปไกลแล้ว

วันนี้อาจถึงคิวของนักการเมือง คิวต่อไปอาจถึงคิวของเผด็จการก็ได้ หากไม่ปรับตัว หรือหลงไปกับความไว้วางใจที่มีให้ในปัจจุบัน ทุกอย่างมันก็หมุนกลับมาได้อีก !!
กำลังโหลดความคิดเห็น