xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่” ถกอาเซียน-มะกัน กระชับสัมพันธ์แน่นแฟ้นขึ้น มุ่งปรับให้สอดคล้องบริบทโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ประยุทธ์” ประชุมสุดยอดอาเซียนพร้อมด้วย ปธน.สหรัฐฯ มะกันย้ำกระชับสัมพันธ์อาเซียนแน่นแฟ้นกว่าเดิม หนุนคำตัดสินทะเลจีนใต้ ลดตึงเครียด ใช้เจรจาทางการทูต ชมร่วมผลักดันความตกลงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นายกฯ ชม “โอบามา” ให้ความสำคัญอาเซียน มุ่งปรับกระบวนทัศน์ให้สอดคล้องกับบริบทโลก ส่งเสริมด้านวิทย์และเทคโนโลยี เร่งตั้งศูนย์ US-ASEAN Connect ร่วมมือต้านก่อการร้าย

วันนี้ (8 ก.ย.) เวลา 10.15 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และผู้นำชาติอาเซียน พร้อมด้วยประธานาธิบดีโอมาบา ได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ ครั้งที่ 4 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติ นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

ช่วงแรกของการประชุมฯ ประธานาธิบดีโอบามาได้กล่าวทักทายผู้นำอาเซียน และกล่าวว่า มีโอกาสได้พบผู้นำอาเซียนมาแล้วถึง 8 ครั้ง ซึ่งมากกว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทุกคนที่ผ่านมา สะท้อนถึงความสำคัญของภูมิภาคนี้ที่มีมากขึ้น โดยอาเซียนเป็นกุญแจสำคัญของนโยบายปรับสมดุลในภูมิภาคนี้ของสหรัฐฯ และยังมีความสำคัญต่อประเด็นความมั่นคงของภูมิภาคและโลก โดยสหรัฐฯ ให้ความสำคัญ และต้องการสร้างรากฐานความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งในภูมิภาคนี้ เห็นได้จากการร่วมกำหนดแนวทางความสัมพันธ์ตามที่ได้ประกาศไว้ในแถลงการณ์การซันนี่แลนด์ ในช่วงประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ สมัยพิเศษ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ครั้งนี้เราจะหารือว่าจะกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นกว่าเดิมได้อย่างไร โดยสหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับการกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งอาเซียนเปิดโอกาสให้สหรัฐฯ สนับสนุนด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรม ที่จะช่วยกระตุ้นการเติบโตของภูมิภาคนี้ร่วมกับสหรัฐฯ และสหรัฐฯ สนับสนุนการเดินหน้าในกรอบ TTP`

ด้านความมั่นคงทางทะเล สหรัฐฯ สนับสนุนคำตัดสินเรื่องทะเลจีนใต้เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งได้ช่วยลดความตึงเครียดและสร้างเสถียรภาพแก่ภูมิภาคนี้ โดยสหรัฐฯ สนับสนุนการใช้การเจรจาทางการทูตและสันติวิธีในเรื่องนี้ต่อไป พร้อมชื่นชมอาเซียนที่ร่วมกันผลักดันความตกลงเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นเรื่องที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญ รวมถึงเศรษฐกิจสะอาด (Clean Economy) ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในภูมิภาคโดยตรง และจะลดความเสี่ยงจากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้ อาเซียนยังเป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ ในด้านการต่อต้านการก่อการร้าย ความมั่นคงด้านสุขภาพของโลก (Global Health Security) โดยจะมุ่งส่งเสริมความสัมพันธ์ระดับประชาชน ด้านวิทยาศาสตร์และการศึกษา พร้อมให้คำมั่นว่าจะมุ่งสานต่อความร่วมมือในเชิงยุทธศาสตร์กับอาเซียนต่อไปอย่างใกล้ชิด

ในส่วนของไทย พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญดังนี้ นายกรัฐมนตรีแสดงความชื่นชมประธานาธิบดีโอบามา ที่ได้ริเริ่มนโยบายปรับสมดุล ให้ความสำคัญต่อภูมิภาคนี้ และเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ สมัยพิเศษ ณ ซันนีแลนด์ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งได้ยกระดับความสัมพันธ์เข้าสู่ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์

ปัจจุบันทุกประเทศในโลกมีความเกี่ยวพันกันยิ่งขึ้น และมีปัญหาหรือความเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ สังคม ที่คล้ายคลีงกัน เช่น การก้าวสู่สังคมสูงวัย ความจำเป็นในการพัฒนาหรือรักษาระดับการพัฒนาและกระจาย ความเจริญทางเศรษฐกิจอย่างเท่าเทียมกัน รวมทั้งการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีความสามารถหลากหลาย ดังนั้น เราจึงต้องปรับกระบวนทัศน์ให้สอดคล้องกับบริบทโลก เพื่อรับมือกับเรื่องดังกล่าว ประเทศไทยจึงมีโมเดลประเทศไทย 4.0 เพื่อปรับเปลี่ยนประเทศไปสู่เศรษฐกิจ ที่มีผู้ประกอบการเป็นผู้ขับเคลื่อน โดยใช้เทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดของอาเซียนที่ผู้นำอาเซียนและสหรัฐฯ ได้หารือร่วมกันที่ซันนีแลนด์

นายกรัฐมนตรีหวังว่า สหรัฐฯ จะสนับสนุนประเทศสมาชิกอาเซียนพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง STEM (การศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ คณิตศาสตร์) เศรษฐกิจดิจิตอล เศรษฐกิจสีเขียว พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การถ่ายทอดเทคโนโลยี การเสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs และผู้ประกอบการเริ่มต้น หรือ start-ups รวมถึงผู้ประกอบการที่เป็นสตรี นอกจากนี้ เรายังสมควรส่งเสริมการเคลื่อนย้ายบุคลากรผู้มีความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยีระหว่างรัฐและเอกชน ตลอดจน พัฒนาศักยภาพแรงงาน

นอกจากนี้ เพื่อต่อยอดข้อริเริ่มสำคัญอีกประการหนึ่งของประธานาธิบดีโอบามาที่ซันนีแลนด์ ประเทศไทยยินดีให้ การสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อการเร่งดำเนินการเพื่อจัดตั้งศูนย์ US-ASEAN Connect โดยเฉพาะการขยาย ความร่วมมือด้านพลังงานผ่านหน่วยงานของสหรัฐฯ ที่กรุงเทพฯ นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีเสนอให้อาเซียนและสหรัฐฯ ใช้ประโยชน์จากการดำเนินงานภายใต้ US-ASEAN Connect ในการสร้าง “Creative ASEAN” ที่ให้ ความสำคัญกับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม

นอกจากนี้ ไทยสนับสนุนให้โครงการข้อริเริ่มผู้นำรุ่นเยาว์แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งริเริ่มโดยประธานาธิบดีโอบามา ให้ดำเนินการต่อไปอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับโครงการทุนการศึกษาฟุลไบรท์ รวมทั้งสนับสนุนโครงการ Internship Programme อันเป็นพระราชดำริของสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไนดารสุซาลาม ที่ทรงเสนอในการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ สมัยพิเศษ ณ ซันนีแลนด์ เพื่อเสริมสร้างทักษะวิชาชีพด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี แก่เยาวชนให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

นอกเหนือจากประเด็นด้านเศรษฐกิจและสังคม เราไม่สามารถละเลยสิ่งท้าทายด้านความมั่นคงและความปลอดภัย ไทยจึงให้ความสำคัญต่อความร่วมมือเพื่อต่อต้านการก่อการร้ายในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความมั่นคงทางไซเบอร์ การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติทางธรรมชาติ การเตือนภัยล่วงหน้า การฟื้นฟูหลังภัยพิบัติทางธรรมชาติ และการบริหารจัดการน้ำ และไทยยังสนับสนุนการส่งเสริมความมั่นคงทางทะเล ตลอดจนการคลี่คลายปัญหาด้วยการเจรจาอย่างสันติวิธี

โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวอวยพรประธานาธิบดีสหรัฐฯ ให้ประสบความสุข ความสำเร็จภายหลังครบวาระ และขอบคุณที่ได้มุ่งมั่นพัฒนาความร่วมมือกับภูมิภาคนี้และร่วมกันวางแนวทาง ความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ ไปในทิศทางที่สร้างสรรค์ ความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์จะเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนความร่วมมือความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น