xs
xsm
sm
md
lg

ศาล ปค.กลาง ชี้ที่ในป่าแก่งกระจานไม่ใช่ชุมชนเดิม จนท.มีสิทธิ์ไล่-สั่งจ่ายผู้ฟ้องรายละหมื่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ศาลปกครองกลาง” พิพากษาคดีอุทยานฯ เผาไล่ชาวบ้านในป่าแก่งกระจาน ชี้หมู่บ้านไม่ใช่ชุมชนดั้งเดิมของกะเหรี่ยง เจ้าหน้าที่มีอำนาจรื้อตามกฎหมายหลังให้เวลาย้ายแล้ว แต่ละเมิดเหตุเผาโดยไม่เอาทรัพย์สินออก สั่งกรมอุทยานฯ จ่ายค่าเสียหายคนละหมื่นภายใน 30 วัน ด้านชาวปกาเกอะญอย้ำเป็นถิ่นเก่าไม่ใช่บุกรุก รอหารืออุทธรณ์หรือไม่



วันนี้ (7 ก.ย.) ที่ศาลปกครองกลาง เมื่อเวลา 10.30 น. ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำพิพากษาในคดีที่นายคออี้ มีมิ อายุ 104 ปี ผู้นำทางจิตวิญญาณแห่งป่าแก่งกระจาน พร้อมพวกซึ่งเป็นชาวกะเหรี่ยง (ปกาเกอะญอ) ในหมู่บ้านบางกรอยบน ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี รวม 6 ราย ยื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ว่ากระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ในการขับไล่ชาวบ้านบางกรอยออกจากป่าแก่งกระจาน ด้วยการเผาทำลายบ้านและทรัพย์สินนั้น

โดยศาลเห็นว่าที่ดินแปลงที่เกิดเหตุนั้นไม่ใช่พื้นที่ที่เป็นชุมชนดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยง แต่เป็นที่ดินที่มีการบุกรุกแผ้วถางป่า ในลักษณะการเปิดป่าดงดิบเพื่อให้เป็นที่โล่งสำหรับใช้เพาะปลูกเป็นแปลงใหม่ซึ่งไม่ใช่แปลงที่ดินทำกินในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานที่ทางราชการจัดสรรให้ทำกิน ดังนั้น การที่ผู้บุกรุกแผ้วถางป่าได้ทำการก่อสร้างเพิงพัก หรือที่อยู่อาศัย หรือยุ้งฉางข้าวบนที่ดินดังกล่าว จึงเป็นการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ นอกจากนั้นยังมีการล่าสัตว์ซึ่งเป็นการทำผิดตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ซึ่งเมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจพบการกระทำผิดในเขตอุทยานแห่งชาติ จึงทำการเจรจาและกำหนดเวลาให้ทำการรื้อถอนเพิงพักหรือสิ่งปลูกสร้าง และเก็บทรัพย์สินออกจากที่ดินดังกล่าว แต่หลังพ้นกำหนดเวลาเมื่อเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเข้าไปสำรวจพื้นที่พบว่ายังคงมีเพิงพักหรือสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของไม่ได้ทำการรื้อถอนออกไป คณะเจ้าหน้าที่ย่อมมีอำนาจที่จะรื้อถอนหรือเผาทำลายได้ และการเผาสิ่งปลูกสร้างก็เพื่อไม่ให้ผู้บุกรุกนำไปใช้ก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างขึ้นใหม่ได้อีก จึงถือเป็นการใช้อำนาจโดยชอบของพนักงานและเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 22 ของ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 และไม่อาจถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่อก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดี ที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชจะต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด

แต่สำหรับสิ่งของเครื่องใช้ในครัวเรือนและสิ่งของเครื่องใช้ส่วนตัวที่อยู่ในเพิงพักและถูกเผาไปนั้น เนื่องจากเป็นสิ่งของจำเป็น และไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมายหรือสิ่งต้องห้ามตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 แต่การที่เจ้าหน้าที่ทำการเผาเพิงพัก โดยไม่เก็บรวบรวมทรัพย์สินดังกล่าวออกมารักษาไว้เพื่อประกาศให้เจ้าของมารับคืนในภายหลังนั้น จึงถือได้ว่าเป็นการกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชจะต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 โดยศาลได้กำหนดค่าสินไหมในส่วนของเครื่องใช้ในครัวเรือน 5,000 บาท และค่าสินไหมในส่วนของเครื่องใช้ส่วนตัว 5,000 บาท ศาลจึงมีคำพิพากษาให้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 เป็นเงินคนละ 10,000 บาท ภายใน 30 วันที่คดีถึงที่สุด

ภายหลังศาลอ่านคำพิพากษาแล้ว นายคออี้และตัวแทนชาวกะเหรี่ยงยังคงยืนยันว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นชุมชนดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยง และเป็นที่ดินบรรพบุรุษ ไม่ใช่ที่ดินที่มีการบุกรุกใหม่แต่อย่างใด แต่เจ้าหน้าที่เข้าใจผิดว่าการทำไร่หมุนเวียนตามภูมิปัญญาของชาวกะเหรี่ยงเป็นการบุกรุกพื้นที่ป่า ส่วนจะมีการยื่นอุทธรณ์หรือไม่นั้น ชาวกะเหรี่ยงและทนายความจะมีการหารือกันอีกครั้งหนึ่ง

















กำลังโหลดความคิดเห็น