xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ ร่วมผู้นำอาเซียนกำหนดนโยบายพัฒนาสัมพันธ์นอกภูมิภาค-ฉลอง 25 ปีสัมพันธ์จีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ประยุทธ์” ประชุมสุดยอดอาเซียนวันที่ 2 ร่วมผู้นำ 10 ชาติกำหนดนโยบายพัฒนาสัมพันธ์ประเทศนอกภูมิภาค รับมือภัยคุกคาม ก่อนถกอาเซียน-จีน ตัดเค้กฉลอง 25 ปีความสัมพันธ์ มุ่งพัฒนาเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ระยะยาว แนะเพิ่มพูนความร่วมมือ 3 ประเด็น พัฒนา ศก.รอบด้านและยั่งยืน ส่งเสริมการเชื่อมโยงในภูมิภาค และด้านความมั่นคงแนะพูดคุยลดความหวาดระแวง



วันนี้ (7 ก.ย.) วันที่ 2 ของประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 28 และ 29 ณ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 29 (Retreat) ที่เริ่มขึ้นในเวลา 08.30 น. ณ ห้องประชุม 4 ศูนย์การประชุมแห่งชาติ นครหลวงเวียงจันทน์

โดยในที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 29 (Retreat) ผู้นำอาเซียน 10 ประเทศ ได้ร่วมกันกำหนดนโยบายและทิศทางการพัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศนอกภูมิภาคและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นภายในภูมิภาคและระหว่างประเทศ เพื่อหาแนวทางในการรับมือกับความท้าทายต่างๆ ซึ่งที่ประชุมฯ ได้เน้นความสำคัญของความเป็นแกนกลางของอาเซียนในโครงสร้างสถาปัตยกรรมในภูมิภาคและความเป็นเอกภาพของอาเซียนในการรับมือกับภัยคุกคามรูปแบบเก่าและรูปแบบใหม่ รวมทั้งในการมีปฏิสัมพันธ์กับประเทศนอกภูมิภาคด้วย

เวลา 10.15 น. พล.อ.ประยุทธ์ พร้อมด้วยผู้นำอาเซียนและนายกรัฐมนตรีหลี เค่อเฉียง แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ครั้งที่ 19 เพื่อเฉลิมฉลองโอกาสครบรอบ 25 ปีความสัมพันธ์อาเซียน-จีน ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติ นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยในช่วงการประชุมได้มีการตัดเค้กฉลอง 25 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-จีน โดยนายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ในฐานะประธานอาเซียน นายกรัฐมนตรีจีน และนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ในฐานะผู้ประสานงานอาเซียน-จีน ด้วย

ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญในส่วนของไทย ดังนี้ ด้านความสัมพันธ์อาเซียน-จีน นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การประชุมสุดยอดอาเซียน-จีนครั้งที่ 19 นี้นับเป็นวาระพิเศษ เป็นการร่วมเฉลิมฉลองครบรอบ 25 ปีของความสัมพันธ์อาเซียน-จีน เป็นโอกาสอันดีที่อาเซียนและจีนจะร่วมกันแสดงเจตนารมณ์เพื่อมุ่งมั่นพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ในระยะยาว ไทยเชื่อมั่นว่าจีนจะสนับสนุนความพยายามของอาเซียนในด้านต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องและแข็งขัน โดยเฉพาะการสร้างประชาคมอาเซียนที่เข้มแข็งและมีเอกภาพ และการพัฒนาโครงสร้างสถาปัตยกรรมภูมิภาคที่มีอาเซียนเป็นแกนกลาง เพื่อประโยชน์ต่อสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาคโดยรวม

นายกรัฐมนตรีได้เสนอในที่ประชุมฯว่า อาเซียน-จีนสามารถเพิ่มพูนความร่วมมือในประเด็นดังนี้ ประการแรก การส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรอบด้านและยั่งยืน เร่งขจัดอุปสรรคทางการค้า การลงทุนและการบริการ โดยส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน

โดยอาเซียน-จีน สามารถร่วมกันพัฒนาศักยภาพด้านการผลิตในภาคอุตสาหกรรม การวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมในการผลิต รวมทั้ง ความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมการเกษตร เพื่อมุ่งสร้างความมั่นคงด้านอาหารและส่งเสริมพลังงานทดแทน อันเป็นการสร้างความมั่นคงให้กับเกษตรกร

นอกจากนี้ อาเซียน-จีนยังต้องช่วยกันพัฒนาเศรษฐกิจให้เป็นไปอย่างยั่งยืน การกระจายรายได้อย่างสมดุลจะช่วยลดช่องว่างระหว่างเมืองกับชนบท และทำให้วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย เข้มแข็งเพื่อเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่การผลิตทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก

ประการที่ 2 การส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาคถือเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ช่วยสร้างโอกาสทางการค้า การลงทุน การบริการ และการรวมตัวกันภายในภูมิภาค ไทยจึงสนับสนุนข้อริเริ่มของจีนในเรื่อง “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” “เส้นทางสายไหมในศตวรรษที่ 21” และบทบาทของ “เอไอไอบี” ซึ่งไทยร่วมเป็นสมาชิกก่อตั้งการพัฒนาโครงสร้างขั้นพื้นฐานในทวีปเอเชีย หวังว่าข้อริเริ่มของจีนดังกล่าวจะช่วยเกื้อกูลยุทธศาสตร์ของอาเซียนในการส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาคภายใต้ “แผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน ค.ศ. 2015” เพราะเราจะต้อง “เชื่อมโยงยุทธศาสตร์ด้านความเชื่อมโยงของทั้งสองฝ่าย” ให้เสริมซึ่งกันและกัน อาเซียนและจีนยังสามารถร่วมมือกันในเรื่องอื่นๆ เช่น การลงทุนร่วมภาครัฐและเอกชน เพื่อเป็นทางเลือกในการระดมเงินทุนสำหรับโครงการที่มีมูลค่าสูง

ไทยยังสนับสนุนให้จีนมีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดนภายใต้แนวคิด “วันพลัสวัน” เพื่อเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านเข้าด้วยกัน ซึ่งจะช่วยสร้างงาน ลดความยากจน และเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน อาเซียน-จีนควรส่งเสริมการเรียนรู้ซึ่งกันและกันผ่านการท่องเที่ยว ไทยจึงขอสนับสนุนให้ปี 2560 เป็นปีแห่งการแลกเปลี่ยน ด้านการท่องเที่ยวอาเซียน-จีน โดยควรร่วมมือกันส่งเสริมความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว และการอนุรักษ์คุณภาพแหล่งท่องเที่ยว

ประการที่ 3 ด้านความมั่นคง การส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพในทะเลเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายให้ความสำคัญและเป็นผลประโยชน์ร่วมกันของทุกประเทศ ไทยสนับสนุนความพยายามของจีนในเรื่องนี้ ผ่านการพูดคุยหารือเพื่อลดความหวาดระแวงและสร้างบรรยากาศที่สงบสุข

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำความมุ่งมั่นของไทยในการส่งเสริมความสัมพันธ์อาเซียน-จีนให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป เพื่อสันติภาพ ความสงบสุข และความเจริญรุ่งเรืองของอาเซียนและจีน เพื่อที่ประชาชนของทั้งสองฝ่ายได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน



กำลังโหลดความคิดเห็น