xs
xsm
sm
md
lg

ไทยขานรับข้อเสนอเร่งเชื่อมต่อข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ไทยขานรับข้อเสนอจากสภาที่ปรีกษาธุรกิจอาเซียน เร่งหารือภาครัฐ-เอกชน เรื่องเชื่อมต่อข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว เพื่อปรับปรุงระบบให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

วันนี้ (6 ก.ย.) ในเวลา 13.35 น. ณ ห้องหมายเลข 3 ศูนย์ประชุม NCC พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน ได้เข้าร่วมการประชุมระหว่างผู้นำอาเซียน กับสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN Leader’s Interface with ASEAN Business Advisory Council) เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นด้านการค้าและการลงทุนกับผู้นาภาคเอกชนของอาเซียน

โดยในที่ประชุมมีการรับทราบกิจกรรมและผลการดำเนินงานของสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน และมีการหยิบยกเรื่องการพัฒนาและขยายความร่วมมือกับภาคเอกชนของอาเซียนในด้านการค้าและการลงทุน

สำหรับผู้แทนฝ่ายไทยที่เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ คือ 1) นายอรินทร์ จิรา รองเลขาธิการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย 2) นายไพรัช บูรพชัยศรี กรรมการเลขาธิการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และ 3) นายกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย

ในส่วนของไทย พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้สรุปไว้ดังนี้

ประการแรก ไทยสนับสนุนข้อเสนอที่ให้มีการหารือระหว่างภาครัฐ และเอกชน ในเรื่องระบบการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน เพื่อนำไปปรับปรุงระบบให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ประการที่ 2 ไทยยินดีที่ภาคเอกชนมีการจัดทำสถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอาเซียนซึ่งจะเป็นหลักสูตรออนไลน์ให้กับผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย ได้มีโอกาสในการยกระดับความรู้และขีดความสามารถไปสู่ระดับที่สูงขึ้น ซึ่งภาคเอกชนจะเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันซึ่งกันและกัน รวมทั้งอาจพิจารณาจัดให้มีการฝึกอบรมเป็นรายสาขาให้แก่ผู้ประกอบการในสาขาที่อาเซียนมีศักยภาพ หรือสาขาที่จะทวีความสำคัญมากขึ้นในอนาคต เช่น สาขาอาหาร ลอจิสติกส์ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และสุขภาพ เป็นต้น ซึ่งภาครัฐยินดีสนับสนุนเพื่อให้ธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย ของอาเซียนพัฒนาไปสู่การเป็นนวัตกรรมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเกิดใหม่ (SME Start-Ups) ได้ในอนาคต

นอกจากนี้ ประเด็นที่ภาคเอกชนจะสามารถมีบทบาทได้มาก คือ ด้านการวิจัยและพัฒนา โดยอาเซียนภายหลังปี ค.ศ. 2015 ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของขนาดกลาง ขนาดย่อมและรายย่อย โดยการนำเครื่องมือและวิธีการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ ซึ่งไทยเห็นว่าเอกชนสามารถช่วยสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของอาเซียนและการเข้าสู่ห่วงโซ่มูลค่าโลกในระดับที่สูงขึ้น

ในส่วนของไทยได้มีการดำเนินการเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และธุรกิจ Start-ups ผ่านโครงการต่างๆ ซึ่งอาเซียนสามารถดำเนินการในลักษณะเดียวกัน เช่น โครงการประชารัฐ เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการต่างๆ ด้วยความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนกว่า 60 องค์กร โดยนักธุรกิจที่ประสบความสาเร็จมาเป็นพี่เลี้ยงให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และการจัดทำโมเดล “ประเทศไทย 4.0” เพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม “Value-Based Economy”

ประการที่ 3 รัฐบาลไทยมีนโยบายที่จะอำนวยความสะดวกและลดภาระของภาคธุรกิจ โดยปรับปรุงกฎหมายและการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งธุรกิจ อาทิ การออกพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 ซึ่งเป็นกฎหมายกลางที่กำหนดขั้นตอนและระยะเวลาในการพิจารณาอนุญาต การจัดให้มีช่องทางในการรับคำขอ ณ จุดเดียว และมีคู่มือสำหรับประชาชนเพื่อให้ข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับวิธีการขออนุญาต ขั้นตอน ระยะเวลา เอกสารหลักฐาน และค่าธรรมเนียมต่างๆ รวมทั้งอำนวยความสะดวกประชาชนให้สามารถยื่นคำขอผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์แทนการยื่นคำขอด้วยตนเองได้ เป็นต้น

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีขอให้ภาคธุรกิจอาเซียนมั่นใจว่ารัฐบาลไทยจะยังคงให้ความสำคัญในลำดับต้นกับการดำเนินงานเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าการลงทุนและการประกอบธุรกิจของภาคเอกชนซึ่งถือเป็นกำลังหลักที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศและภูมิภาคต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น