ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี รับทราบการมาเยือนประเทศไทยของนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย พร้อมเน้นย้ำเฝ้าระวังการก่อเหตุในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ สั่งกำชับหน่วยข่าวกรองให้ทันต่อสถานการณ์ มอบหมายมหาดไทยเจ้าภาพกำจัดผักตบชวา ระบุ กำจัดได้แล้วกว่า 3 ล้านตัน แต่ต้องทำต่อเนื่อง ด้าน นายกฯ ฝากดูโครงการปรับปรุงแหล่งน้ำให้โปร่งใส หลัง สตง. สั่งระงับกว่า 300 โครงการ
วันนี้ (6 ก.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 13.00 น. พ.อ.หญิง ทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธาน ว่า ในวันศุกร์ที่ 9 ก.ย. นี้ นายนาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย มีกำหนดการเยือนไทยอย่างเป็นทางการ โดยเวลา 16.00 น. จะมีการประชุมร่วมกันระหว่างนายกรัฐมนตรีไทย และมาเลเซีย ที่ทำเนียบรัฐบาล ขณะประเด็นการหารือที่สำคัญ ได้แก่ การบริหารชายแดนของสองประเทศ รวมถึงปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ ข้อมูลด้านความมั่นคงต่าง ๆ นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงคมนาคม จะมีการหารือเรื่องการค้าชายแดน การขนส่งบริเวณแนวชายแดนร่วมกันด้วย
พ.อ.หญิง ทักษดา กล่าวต่อว่า ในที่ประชุม ครม. พล.อ.ประวิตร ได้ให้ความสำคัญเรื่องการก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเน้นย้ำเรื่องการประสานงานและการมีส่วนร่วม โดยเฉพาะภาคประชาสังคมในการช่วยกันติดตามเฝ้าระวังการก่อเหตุ และแจ้งเตือนสิ่งผิดปกติในพื้นที่ของตน เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ก่อเหตุขึ้นซ้ำซาก และยังเป็นการช่วยสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ในการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอีกทางหนึ่ง พร้อมกำชับเรื่องงานข่าวกรอง ให้มีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์
นอกจากนี้ พล.อ.ประวิตร กล่าวในที่ประชุมถึงมาตรการการแก้ไขปัญหาผักตบชวาในแม่น้ำลำคลองต่าง ๆ ว่า ได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย เป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหา ซึ่งตั้งแต่เริ่มต้นปฏิบัติการจนถึงปัจจุบัน สามารถทำลายผักตบชวาได้แล้ว 3.6 ล้านตัน จากที่มีทั้งหมด 6 ล้านตัน ทั้งนี้ ผักตบชวาเป็นผักที่แพร่พันธุ์เร็ว การดำเนินการกำจัดจึงต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
พ.อ.หญิง ทักษดา ยังกล่าวถึงโครงการปรับปรุงแหล่งน้ำ ประจำปี 2559 ของสำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 9 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ว่า จากกรณีที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และภาคประชาชนได้ร่วมกันตรวจสอบโครงการดังกล่าว จนนำไปสู่การชะลอโครงการที่มีทั้งหมด 395 โครงการ เป็นวงเงินจำนวน 182,000,000 ล้านบาท ไว้ก่อน
อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ถือเป็นโครงการเร่งด่วนของรัฐบาล ซึ่งที่ผ่านมา ทาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานช่วยกันกำกับดูแล ดำเนินการด้วยความโปร่งใส ปราศจากการทุจริต และปราศจากการเอื้อประโยชน์จากการเข้าร่วมประมูลของภาคเอกชน รวมถึงการก่อสร้างที่ผิดแบบ หรือไม่ตรงตามสัญญาต้องมีการควบคุมไม่ให้เกิดขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อภาคราชการ และประชาชน รวมทั้งโครงการอื่น ๆ ที่อาจมีความผิดปกติก็ขอให้ชะลอโครงการไว้ก่อน