สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์เข้าพบหัวหน้าพรรค แสดงจุดยืนค้านยุบสมาชิกสภาเขต กทม. ระบุเปลี่ยนเป็น “คณะกรรมการประชาคมเขต” แต่งตั้งโดยคนกลุ่มเดียว ขาดการยึดโยงประชาชน ขาดอำนาจตรวจสอบ และขัดต่อการกระจายอำนาจ เชื่อเป็นไปไม่ได้ ตัดเพื่อประหยัดงบประมาณ เพราะยังเปลืองค่าประชาคมเขตอยู่ดี
วันนี้ (30 ส.ค.) ที่พรรคประชาธิปัตย์ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ นำโดยนายเจริญ คันธวงศ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายธนา ชีรวินิจ อดีต ส.ส.กรุงเทพมหานคร, นางภรภัทร โชติกะสุภา ประธานสมาชิกสภาเขตพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตสมาชิกสภาเขต (ส.ข.) หลายเขต เข้าพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อหารือกรณีที่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เสนอให้มีการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร (ฉบับ...) พ.ศ. ... โดยมีแนวคิดที่จะตัด ส.ข.ออกทั้งหมด และเปลี่ยนรูปแบบเป็น “คณะกรรมการประชาคมเขต” แทน
ทั้งนี้ นายเจริญกล่าวว่า ขอแสดงจุดยืนถึงเหตุผลและความจำเป็นที่ควรคง ส.ข.ไว้ดังเดิม 5 ประการ คือ 1. การแต่งตั้งคณะกรรมการประชาคมเขต แทนการเลือกตั้ง ส.ข.ขาดการยึดโยงระหว่างประชาชน กับสำนักงานเขต และฝ่ายบริหาร เนื่องจากคณะกรรมการประชาคมเขต เกิดจากกระบวนการแต่งตั้งโดยบุคคลเดียว แทนการเลือกตั้งจากประชาชนโดยตรง 2. ทำให้ขาดกระบวนการตรวจสอบการบริหารราชการของสำนักงานเขต เพราะอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการประชาคมเขต มีเพียงการให้ข้อเสนอแนะหรือคำปรึกษา และการให้ความร่วมมือในการดำเนินการเท่านั้น
3. ระเบียบกรุงเทพมหานคร การบริหารการพัฒนากรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2538 กำหนดให้คณะกรรมการพัฒนาเขต ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ครอบคลุมอยู่ครบถ้วนแล้ว 4. ปรับกลไกการถ่วงดุลอำนาจระหว่างประชาชนกับผู้บริหาร คือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในกรณีที่ผู้อำนวยการเขตละเลยไม่ปฏิบัติตามคำร้องขอของประชาชน และ 5. ขัดต่อหลักการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2559 มาตรา 250 และขัดต่อหลักการปกครองส่วนท้องถิ่นตามหลักสากล ดังนั้นจึงเห็นว่า ส.ข.เป็นตัวแทนจากเขต ได้รับการเลือกตั้งใกล้ชิดประชาชน รู้ปัญหาประชาชน สามารถนำปัญหามาเสนอต่อผู้อำนวยการเขตในการแก้ปัญหาได้ตรงจุดมากกว่า
ขณะที่นายธนากล่าวว่า การเลือกตั้ง ส.ข.มีมาตั้งแต่ปี 2533 จนถึงยุคของ คสช.นี้ ส.ข.มีอำนาจหน้าที่ ในการกำกับการทำงานของผู้อำนวยการเขต และไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับงบประมาณแต่อย่างใดการตัด ส.ข.ออกโดยให้เหตุผลว่าจะประหยัดงบประมาณจึงไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะความจริงก็จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการประชาคมเขตขึ้นมาแทน ซึ่งเชื่อว่าจะมีการจัดค่าตอบแทนให้อยู่ดี จึงขอให้พิจารณาถึงประโยชน์ของประชาชนชาวกรุงเทพฯ เป็นที่ตั้ง และขอวิงวอนไปยังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้พิจารณาทบทวนเรื่องนี้เพื่อคงรูปแบบของ ส.ข.ไว้ต่อไป