“อภิสิทธิ์” แจง ม.44 สั่ง “สุขุมพันธุ์” หยุดปฏิบัติหน้าที่เรื่องของ กทม. เหตุพรรคเข้าไปดูแลไม่ได้ เผยไม่รู้เลือกตั้งผู้ว่าฯ อีกเมื่อไหร่ ยังไม่มีการวางตัว ห่วงแก้กฎหมายท้องถื่นใหม่รื้อโครงสร้างยุบ อบต.-ส.ข. แนะ ครม.ทบทวนเกณฑ์ประชากร-รายได้ เหตุไม่ตอบโจทย์ในพื้นที่ สวนทางกระจายปฏิรูปกระจายอำนาจ
วันนี้ (26 ส.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ผู้ว่าราชการ กทม. ว่าตามระเบียบคือรองผู้ว่าฯ ท่านหนึ่งต้องขึ้นมารักษาการ แต่ตามคำสั่งของ คสช.มีข้อยกเว้นกรณีนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ทั้งนี้ พรรคเคยออกแถลงการณ์ไปก่อนหน้านี้ว่าเมื่อผู้บริหารของ กทม.ไม่พร้อมที่จะให้พรรคเข้าไปช่วยติดตามดูแลก็ถือว่าทำงานกันโดยเอกเทศ จึงเป็นเรื่องของ กทม. อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าในส่วนของประชาชนอาจจะมีความรู้สึกที่แตกต่างออกไป แต่ตนได้อธิบายไปแล้วว่าเมื่อไม่สามารถเข้าไปดูแลได้ก็ขอโทษประชาชน จากนี้ไปเป็นเรื่องที่ กทม.ต้องชี้แจงตามขั้นตอนของกฎหมาย
เมื่อถามว่าจะมีผลกระทบตามมาว่าประชาชนจะขาดความเชื่อมั่นต่อคนที่พรรคเลือกให้ลงสมัครผู้ว่ากทม.ในอนาคตหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า พรรคต้องเก็บเกี่ยวจากเรื่องนี้ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่ทราบว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ เพราะปัจจุบันยังไม่มีการเลือกตั้งท้องถิ่น หากยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงในส่วนนี้แม้จะครบวาระในปี 2560 ก็คงไม่ได้หมายความว่าจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เกิดขึ้นทันที เพราะหากคำสั่ง คสช.ตัวหลักยังอยู่ก็ยังไม่มีการเลือกตั้ง จึงไม่ทราบนโยบายของ คสช.จะเป็นอย่างไร ดังนั้นพรรคจึงไม่ได้มีการวางตัวสำหรับเรื่องนี้
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า นอกจากนี้ตนทราบมาว่าจะมีการปรับปรุงกฎหมาย กทม.เกี่ยวกับโครงสร้าง โดยมีคนบอกตนว่าอาจจะไม่มีสภาเขต ที่ยังไม่ทราบว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหลักอย่างไร เพราะในขณะนี้มีการปรับปรุงกฎหมายท้องถิ่นทั้งหมด ซึ่งตนเป็นห่วงเรื่อง อบต.มากที่สุด เพราะการเอาหลักเกณฑ์จำนวนประชากร กับรายได้นั้นไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในหลายพื้นที่ โดยจากที่ตนลงพื้นที่เยี่ยมผู้ประสพภัย ที่ จ.พะเยา น่าน และการบริหารจัดการน้ำที่ จ.ขอนแก่น พื้นที่เหล่านี้หากคิดตามหลักเกณฑ์ใหม่จะต้องถูกควบรวมหมด เห็นได้ชัดว่าหากควบรวมแล้วจะไม่สามารถตอบสนองการแก้ปัญหาให้ประชาชนได้อย่างเต็มที่ เพราะเป็นการเอาตัวเลขจากส่วนกลางโดยไม่ดูพื้นฐานชุมชนว่าประชากรไม่ได้กระจายเสมอกัน และพื้นที่ภูมิศาสตร์ก็แตกต่างกัน การควบรวมจะทำให้เกิดความยากลำบากในการเดินทางและการทำงานของเทศบาลกับ อบต.ก็มีลักษณะต่างกันระหว่างชุมชนเมืองกับชนบท จึงไม่ควรใช้รูปแบบเดียวกัน เช่นเดียวกับที่อ้างว่ารายได้ไม่พอ เท่ากับว่าพื้นที่ยากจนจะไม่มีทางมีท้องถิ่นเป็นของตนเอง เพราะศักยภาพในการจัดเก็บรายได้ขึ้นอยู่กับความเป็นจริงทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งในต่างประเทศพื้นที่ยากจนจะได้รับเงินอุดหนุนพิเศษ ไม่ใช่ไปบอกว่าเขาไม่มีสิทธิ์ที่จะเป็นท้องถิ่น
“ผมเป็นห่วงเรื่องนี้ เพราะหากใช้หลักการนี้หลายพื้นที่จะถูกควบรวมหรือถูกยุบเยอะมาก จึงหวังว่า ครม.จะทบทวนเรื่องนี้ เพราะเป็นข้อยุติจาก สปท. ผมคิดว่าที่เราเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปการกระจายอำนาจ แต่สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นสวนทางต่อการกระจายอำนาจ เพราะกลายเป็นว่าพูดกันเรื่องเลือกตั้งผู้ว่าฯ แต่ท้องถิ่นกำลังถูกยุบควบรวมในรูปแบบที่ไม่หลากหลาย ไม่ตอบโจทย์ความหลากหลายของพื้นที่ กลายเป็นการรวมศูนย์มากกว่ากระกระจายอำนาจ” นายอภิสิทธิ์กล่าว