“ประธาน กกต.” มอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่จังหวัดที่มีผู้ประชามติสูงสุดแต่ละภาค มอบรางวัลพิเศษจังหวัดที่บัตรเสียน้อยสุดและผลออกมาเร็วที่สุด ขอบคุณที่หนุนให้เกิดความเรียบร้อย นำบทเรียนมาปรับปรุง ย้ำอย่าให้เกิดปัญหาแบบเลือกตั้ง 2 ก.พ. เร่งยกร่าง กม.ลูกเลือกตั้ง “บุญส่ง” ชี้แสวงหาหลักฐานพยานคือจุดอ่อน ต้องแก้ กม.สืบสวนสอบสวน เน้นคุ้มครองพยาน “ประวิช” รับสังคมคาดหวังสูง โจทย์ไม่ง่าย
วันนี้ (25 ส.ค.) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้จัดสัมมนาวิจัยประเมินผลและการจัดออกเสียงประชามติ โดย กกต.ได้มอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่จังหวัดที่มีผู้ออกมาใช้สิทธิออกเสียงประชามติสูงสุดระดับภูมิภาคและประเทศ ขณะที่จังหวัดที่มีผู้มาออกเสียงมากที่สุดของประเทศ และภาคเหนือ คือ จังหวัดลำพูน แม่ฮ่องสอน และเชียงใหม่ ตามลำดับ ภาคกลาง คือ จังหวัดเพชรบุรี สระบุรี และ ราชบุรี ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ จังหวัดเลย มุกดาหาร และนครราชสีมา และภาคใต้ คือ จังหวัดพัทลุง นราธิวาส และยะลา นอกจากนี้ กกต.ยังมอบรางวัลพิเศษให้แก่จังหวัดที่มีบัตรเสียน้อยที่สุด คือ กรุงเทพมหานคร และจังหวัดที่รายงานผลคะแนนออกเสียงมาเร็วที่สุด คือ จังหวัดน่าน
ทั้งนี้ นายศุภชัยได้กล่าวขอบคุณทุกฝ่ายที่สนับสนุนและดำเนินการออกเสียงประชามติให้เกิดความเรียบร้อย รวมทั้งขอบคุณผู้บริหารและพนักงาน กกต.ที่ตั้งใจทำงานด้วยความทุ่มเท เสียสละ และมอบนโยบายตอนหนึ่งขอให้แต่ละจังหวัด แต่ละภาคเสนอปัญหาและวิธีการแก้ไขจากการทำประชามติที่ผ่านมาถือเป็นการถอดบทเรียนปัญหาอุปสรรคในการจัดการออกเสียงทั้งการบริหารจัดการ การประชาสัมพันธ์รณรงค์ เพื่อนำมาปรับปรุงให้การเลือกตั้งในอนาคตไม่เกิดปัญหาซ้ำอีก และทำให้องค์กร กกต.อยู่คู่กับการปกครองระบอบประชาธิปไตยต่อไป สิ่งสำคัญคืออย่าให้เกิดปัญหาเหมือนการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2557
ส่วนความคืบหน้าการยกร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งนั้น ขณะนี้คณะทำงานกำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งหนังสือที่ กรธ.แจ้งให้ กกต.เตรียมการยกร่างกฎหมายลูกนั้น ไม่ได้กำหนดกรอบระยะเวลาในการทำงาน แต่ กกต.จะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด โดยมีการเตรียมร่างไว้แล้วหากเสร็จทันก็จะส่งให้ กรธ.พิจารณาปรับแก้ ก่อนส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาต่อไป
ขณะที่นายบุญส่ง น้อยโสภณ กกต.ด้านสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย กล่าวว่า อยากให้แต่ละฝ่ายไปพิจารณาว่าจะทำอย่างไรให้การเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้ปราศจากการทุจริต จากการทำคดีเลือกตั้งจุดอ่อนของ กกต. คือ การแสวงหาพยานหลักฐาน การรบกับนักการเมืองที่มีอิทธิพลในพื้นที่ทำให้พยานของเรามีจำกัด ต้องปฏิรูปกันหลายเรื่อง จะดำเนินการอย่างไรต่อกับชุดป้องปรามหาข่าว ที่ผ่านมาลงงบประมาณไปมากแต่ไม่ค่อยได้ความปรากฎ แต่จำเป็นต้องมี ต้องให้ กกต.จังหวัดช่วยกันคิดเพราะเป็นคนในพื้นที่ซึ่งรู้ดีกว่าพวกตน ต้องมีการพัฒนาการข่าวที่เป็นต้นกระบวนของการได้พยานหลักฐาน อีกสิ่งหนึ่งคือจะแก้ไขกฎหมายสืบสวนสอบสวนอย่างไรเพื่อให้ได้พยานหลักฐานที่ดี หากให้มีรางวัลนับจับแก่คนชี้เบาะแสเพื่อสร้างแรงจูงใจ กำหนดรางวัลว่าคนชี้เบาะแสการทุจริตเลือกตั้งระดับชาติและท้องถิ่นได้รางวัลเท่าไหร่ และจะจ่ายอย่างไร
“ประเด็นสำคัญคือเพิ่มมาตรการการคุ้มครองพยาน เพราะที่ผ่านมาศาลมักจะยกคำร้องเพราะพยานถูกข่มขู่จนกลับคำให้การ บุคคลที่ขายเสียงหรือเป็นผู้ประสานงานอาจกระทำโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ บุคคลเหล่านี้เราต้องรองรับกันตัวมาเป็นพยานให้ได้ เชื่อว่าหากจะให้มีการแก้ไขกฎหมายต้องทำในช่วงนี้ที่สนช.ทำหน้าที่สภาจะเหมาะสมและดูแล้วน่าจะมีความสำเร็จมากกว่า เพราะหากทำตอนช่วงที่มี ส.ส.อาจจะทำได้ยาก”
ด้านนายประวิช รัตนเพียร กกต.ด้านการมีส่วนร่วม โจทย์ต่อไปของ กกต.ไม่ง่ายเพราะเป็นโจทย์เลือกตั้งหลังมีรัฐธรรมนูญใหม่ สังคมคาดหวังสูง หลังจบงานประชามติ กกต.มีมติ ใน 3 เรื่องให้มีการปรับปรุงเพื่อใช้ในการเลือกตั้งครั้งหน้า 1. การลงทะเบียนขอใช้สิทธิผ่านอินเทอร์เน็ต แอปพลิเคชันต่างๆ มาช่วยในการจัดการเลือกตั้ง 2. การสร้างเครือข่ายสื่อบุคคล ทั้ง รด.จิตอาสา ศส.ปชต. ดีเจประชาธิปไตย 3. กปน.มืออาชีพ สิ่งเหล่านี้ต้องการพัฒนาเพื่อให้การจัดเลือกปลายปีหน้ามีความสมบูรณ์