เลขาฯ สมาคมแพทย์แผนไทย นำรายชื่อผู้ให้บริการนวดแผนไทย ร้องผู้ตรวจฯ สอบ พ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ โวยให้เสียค่าธรรมเนียมสองส่วน แถมบังคับมี ผจก.เพิ่มค่าใช้จ่าย และต้องให้อบรมกับ สบส.ที่มีแค่ 2 หลักสูตรกระทบหมอนวดเป็นแสน และไม่มีข้อความคุ้มครองนวดแผนไทย ขอจี้ สบส.แก้ พ.ร.บ. พร้อมส่งศาล รธน.วินิจฉัย-ร้องนายกเล็กอุบลงุบงิบงบฯ กระทำการขัด ม.157 แต่พ่อเมืองไม่จัดการ
วันนี้ (24 ส.ค.) นายสุกษม อามระดิษ เลขานุการสมาคมแพทย์แผนไทยแห่งประเทศไทย นำรายชื่อผู้ประกอบการและผู้ให้บริการนวดแผนไทย จำนวน 5,490 คน ยื่นร้องผู้ตรวจการแผ่นดินผ่านนายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบ พ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ 2559 มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยนายสุกษมกล่าวว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 27 ก.ย. นี้ ได้กำหนดให้ผู้ประกอบการสถานบริการเพื่อสุขภาพ หรือนวดแผนไทย ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเป็นรายปีให้กระทรวงมหาดไทยและกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข เพื่อขอใบอนุญาตและดำเนินการกิจการนวดแผนไทย ทั้งที่เดิม พ.ร.บ.สถานบริการ 2509 ให้เสียค่าธรรมเนียมแค่กระทรวงมหาดไทย เท่ากับว่าผู้ประกอบการต้องเสียค่าธรรมเนียมทั้งสองส่วน อีกทั้งยังกำหนดให้สถานประกอบการนอกจากมีตำแหน่งผู้ประกอบการและผู้ให้บริการหรือหมอนวดแล้ว ต้องมีผู้ดำเนินการหรือผู้จัดการ เป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายเสียค่าจ้างเพิ่มอย่างน้อยเดือนละ 15,000 บาท ที่สำคัญ พ.ร.บ.นี้ ได้ให้หมอนวดต้องเข้ารับการอบรมจาก สบส.จึงสามารถประกอบวิชาชีพได้ แต่ที่ผ่านมาผู้ให้บริการเพียงได้รับใบรับรองจากศูนย์ฝึกวิชาชีพหรือหน่วยงานที่รัฐรับรองก็สามารถประกอบอาชีพได้ การให้เข้ารับการอบรมใหม่จาก สบส.ที่ขณะนี้รับรองการนวดเพียง 2 หลักสูตรจากหลายสิบหลักสูตรที่จะกระทบต่อหมอนวดหลายแสนคน เพราะถ้าไม่ได้รับการรับรองจาก สบส.จะถือว่าเป็นหมอนวดผิดกฎหมายทันที
นายสุกษมกล่าวอีกว่า พ.ร.บ.สถานประกอบการฯ นี้ ไม่มีมาตราใดที่มีข้อความคุ้มครองการนวดแผนไทยที่เป็นหนึ่งในวิธีบำบัดรักษา สุขภาพของการแพทย์แผนไทยที่เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติที่ได้รับการรับรองจากยูเนสโก และกระทรวงวัฒนธรรม และยังมีบทบัญญัติที่กำจัดสิทธิเสรีภาพในการประกอบอาชีพ และสร้างภาระแก่ประชาชนโดยไม่รับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ขัดต่อรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านประชามติ จึงขอให้ผู้ตรวจฯ มีข้อเสนอไปยังคณะรัฐมนตรีให้ตรวจสอบการทำงานของ สบส. พร้อมกับมีข้อเสนอแก่ สบส.เพื่อปรับแก้ พ.ร.บ.ดังกล่าว อีกทั้งให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
ขณะเดียวกัน นายสุภชัย ศรีจรูญ สมาชิกสภาเทศบาลนครอุบลราชธานี พร้อมสมาชิกได้เข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินผ่านนายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจฯ ขอให้ตรวจสอบนายสมศักดิ์ จันตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่กรณีไม่ดำเนินการตามกฎหมายต่อ น.ส.สมปรารถนา วิกรัยเจิดเจริญ นายกเทศมนตรีนครอุบลราชธานี ที่ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งนายสุภชัยกล่าวว่า น.ส.สมปรารถนาดำเนินการติดตั้งป้ายโฆษณาแอลอีดีตามแยกต่างๆ ทั้งที่มีหนังสือของกระทรวงมหาดไทยระบุว่าไม่มีอำนาจดำเนินการ และเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อเอกชน แต่ผู้ว่าฯ กลับไม่ดำเนินการ รวมทั้งยังมีการจัดตั้งเครื่องสูบน้ำหอยโข่งจำนวน 10 เครื่อง วงเงิน 7.4 ล้านบาท โดยอ้างว่าเพื่อป้องกันเหตุอุทกภัย แต่ข้อเท็จจริงในฤดูน้ำหลากนั้นจังหวัดอุบลราชธานีจะประสบปัญหาแค่น้ำเอ่อ ซึ่ง สตง.ได้เข้ามาตรวจสอบแล้วสรุปว่าเป็นการจัดซื้อแพงเกิน โดยให้มีการเรียกเงินคืนจากผู้ขายวงเงิน 2 ล้านบาท เสนอให้ผู้ว่าฯ ดำเนินการพิจารณาโทษทางวินัยต่อผู้เกี่ยวข้องและผู้บังคับบัญชา แต่ผู้ว่าฯ ก็ไม่ดำเนินการ
นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ว่าฯ ไม่เร่งรัดให้นายกเทศมนตรีเสนอร่างเทศบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี ทั้งที่ได้รับการร้องเรียนและมีการเสนอล่าช้าในทุกปีติดต่อกันมาเป็นเวลา 4 ปีแล้ว ทำให้เกิดปัญหาในการใช้จ่ายงบประมาณเพราะจะมีการเสนอให้สภาเทศบาลอนุมัติในช่วงที่ใกล้จะหมดปีงบประมาณ อีกทั้งยังพบว่ามีการเสนอโครงการใช้จ่ายเงินสะสมไม่ทันตามหนังสือสั่งการของกระทรวงมหาดไทยที่ให้จ่ายเงินสะสมเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนแก่ประชาชน ขัดต่อนโยบายรัฐบาล ซึ่งการใช้จ่ายในหลายโครงการก็เข้าข่ายผิดกฎหมาย จึงเห็นว่ากากระทำของผู้ว่าฯ และนายกเทศมนตรี เข้าข่ายไม่ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการสอบสวนผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่น 2554 และเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จึงขอให้ผู้ตรวจฯ ดำเนินการตรวจสอบ