xs
xsm
sm
md
lg

"เรวัต"ทำสนช.แตก2ขั้ว หยุดสรรหาผู้ตรวจฯก่อนคสช.พัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (14 ก.ค.) ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เป็นประธานการประชุม ซึ่งก่อนที่จะเข้าวาระการประชุม นายพรเพชร ได้แจ้งถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ใช้อำนาจตาม มาตรา 44 ลงนามคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 40/2559 ให้ยกเลิกกระบวนการสรรหา และการเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จนกว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะมีผลบังคับใช้ หรือมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
ดังนั้น กระบวนการตรวจสอบประวัติ และพฤติการณ์ของ นายเรวัต วิศรุตเวช ที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบของคณะกรรมาธิการสามัญตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดิน จึงต้องยกเลิกไปตามคำสั่งฉบับนี้ด้วย
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ตนไม่ทราบถึงเหตุผลที่ออกคำสั่งดังกล่าว แต่มองว่าเป็นการแก้ปัญหาได้ดี สำหรับการสรรหาที่มีอยู่ เพราะอาจส่งผลกระทบที่รุนแรง ถ้าระงับได้ สิ่งรุนแรงจะได้ไม่เกิด แต่ดูจากคำสั่งดังกล่าวก็ไม่ได้มีผลกระทบอะไร เพราะคนที่ครบวาระ ก็ให้ปฏิบัติหน้าที่ไปก่อน อย่าเพิ่งสรรหา ซึ่งวันนี้มีกรณีเดียว คนเดียว คือ การสรรหาผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่หากมีการเสียชีวิต ก็ให้คนที่มีอยู่ทำหน้าที่ต่อไป ซึ่งคำสั่งดังกล่าว จะจบลงเมื่อมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
เมื่อถามว่า เหตุใดถึงมองว่าการสรรหาผู้ตรวจการแผ่นดิน จะทำให้มีเหตุรุนแรง นายวิษณุ กล่าวว่า "ถ้าคนไปที่สภา คุณก็จะรู้ เพราะมันเป็นเรื่องใหญ่ทีเดียวที่ไม่ควรเกิดขึ้น"
ด้านพล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ สมาชิก สนช. ในฐานะ ประธานคณะกรรมาธิการสามัญตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า หลังจากที่มีคำสั่งของหัวหน้า คสช. ดังกล่าว กรรมมาธิการฯต้องยุติหน้าที่ในการตรวจสอบประวัติ ผู้ที่ถูกเสนอชื่อ ซึ่งจะมีการประชุมครั้งสุดท้าย ในวันที่ 26 ก.ค. เพื่อให้มีมติของกรรมาธิการฯ ส่วนกระบวนการก็คงต้องรอให้มีรัฐธรรมนูญใหม่ ถึงจะมีการสรรหากันต่อไป

**สนช.แตก 2 ขั้ว งัดข้อกันหนัก

นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิก สนช. หนึ่งในกรรมาธิการฯ กล่าวว่า ดูแล้วคำสั่งคสช. ดังกล่าว คงเป็นผลมาจากกระบวนการสรรหาผู้ตรวจการแผ่นดินที่กำลังมีปัญหา ขณะนี้ในสนช. มีการเคลื่อนไหวเยอะมากเพื่อต่อต้าน นายเรวัต วิศรุตเวช ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน มีการส่งไลน์ในหมู่ สนช. แสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก เพราะก่อนหน้านี้ สนช.เคยลงมติไปแล้วว่าไม่เห็นชอบให้นายเรวัต ดำรงตำแหน่งดังกล่าว แม้จะได้คะแนนเสมอกัน 66 ต่อ 66 แต่มีการออกงดออกเสียง 24 เสียง เท่ากับว่า สนช. มีมติไม่รับ แต่ยังมีใครบางคน ดื้อดึง จะเอาชนะ อยากได้คนที่ตัวเองต้องการ ทำให้เกิดแรงต้านเกิดขึ้น สนช.ไม่ได้รังเกียจตัวบุคคล แต่เห็นว่า การเสนอชื่อบุคคลเดิมกลับมาอีกครั้งนั้น ทำผิดหลักการ เหมือนนำของที่ทิ้งไปแล้ว กลับมาใช้ใหม่ ทั้งที่มีผู้สมัครคัดเลือกรอบใหม่ 21 คน แต่เหตุใดนำคนเดิมกลับเข้ามา ถ้าครั้งนี้ที่ประชุม สนช.ไปรับรองเลือกให้เป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน จะไปตอบคำถามต่อสังคมอย่างไร จะถูกสังคมด่าได้
พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สนช. กล่าวว่า คำสั่งดังกล่าวขอนายกฯ ถือว่าแก้ปัญหาได้เหมาะสม ถูกต้องตามจังหวะเวลา ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ถือ เป็นความแตกแยกในสนช. เป็นแค่การมีความเห็นไม่ตรงกันเท่านั้น ทั้งนี้การที่ สนช. จะลงมติเปลี่ยนแปลงมาให้ความเห็นชอบนายเรวัต จะต้องมีข้อมูลสนับสนุนที่ชัดเจน และดีพอ เพื่อให้สนช.เชื่อใจว่า การลงมติรอบที่แล้วผิด จึงจะตอบคำถามสังคมได้ ซึ่ง คสช.คงพิจารณาแล้วว่า ถ้าสนช.ลงมติไม่ให้ความเห็นชอบ คงไม่เกิดผลอะไร
"แต่ถ้าสนช. ลงมติให้ความเห็นชอบ จะต้องตอบคำถามสังคมให้ได้รับการยอมรับให้ได้ ไม่ใช่ตอบแบบอ้อมๆ แอ้มๆ ไม่ชัดเจน ซึ่งประเด็นผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมถูกขยายแผลให้เป็นเรื่องใหญ่มาสร้างความเสียหายแก่ สนช.ได้ ถ้า สนช.ล้มเหลว คสช.ก็จะล้มเหลว และถูกประชาชนเสื่อมศรัทธาตามไปด้วย จึงเป็นเรื่องที่ต้องระวัง" พล.อ.สมเจตน์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเสนอชื่อนายเรวัต กลับมาเป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน อีกครั้ง จนทำให้คสช.ใช้ มาตรา 44 ทำให้ สนช.แตกออกเป็นสองขั้วอย่างชัดเจนได้แก่ กลุ่มที่สนับสนุนนายเรวัต ที่ส่วนใหญ่เป็นอดีตนายทหาร และตำรวจ ที่เป็นเครือข่ายของ "บิ๊กคสช." คนหนึ่ง ที่ยังยืนยันสนับสนุนให้นายเรวัต เป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน ขณะที่กลุ่มไม่สนับสนุนนายเรวัต ประกอบด้วยกลุ่มนายทหาร ตท.12 ข้าราชการ นักวิชาการ ที่ผนึกกำลังกันหนักแน่น ยืนกรานจะลงมติไม่เห็นชอบนายเรวัต เป็นผู้ตรวจฯอีกรอบ เนื่องจากมีประวัติคลุมเครือ การทำงานที่ถูกร้องเรียน และถูกมองว่าการทำงานในอดีต มีความใกล้ชิดกับนักการเมืองฝ่ายเสื้อแดง แต่ยังมีความพยายามจากบุคคลระดับบิ๊กใน สนช. และบิ๊ก คสช. ผลักดันเสนอชื่อนายเรวัต กลับเข้ามาให้สนช. พิจารณาอีกครั้ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้จะ มีความพยายามขอให้นายเรวัต ถอนตัวออกจากการเป็นผู้สมัคร เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งภายใน โดยอ้างถึงประเพณีปฏิบัติหากสนช.โหวตไม่เห็นชอบบุคคลใดไปดำรงตำแหน่งแล้ว บุคคลนั้นจะถอนตัวไม่ลงสมัครอีก แม้กฎหมายจะไม่ห้ามไว้ก็ตาม แต่นายเรวัต ปฏิเสธที่จะถอนตัว จนมีแนวโน้มจะส่อเค้า ความแตกแยกภายใน สนช. มากขึ้น ถึงขั้นที่มีการเสนอว่า จะขอยกเว้นข้อบังคับการประชุม สนช.ในการลงมติพิจารณาให้ความเห็นชอบนายเรวัต ครั้งนี้ โดยให้ใช้วิธีการขานชื่อแบบเปิดเผย แทนการลงคะแนนลับ เพื่อเช็คชื่อว่า ใครลงคะแนนให้บ้าง ทำให้กลุ่มนายทหาร ตท.12 ที่เป็นเพื่อนร่วมรุ่นของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. เห็นบรรยากาศความขัดแย้งอย่างหนัก จึงตบเท้าเข้าพบนายกรัฐมนตรี เพื่อเล่าเรื่องราวขัดแย้งอย่างหนักที่เกิดขึ้นใน สนช.ให้ฟัง เป็นเหตุให้นายกฯ ตัดสินใจเด็ดขาดใช้ มาตรา 44 สั่งยุติกระบวนการสรรหาตำแหน่งในองค์กรอิสระทั้งหมด เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งทั้งหมด เพราะเห็นว่าหากไม่ระงับการสรรหาผู้ตรวจการแผ่นดิน จะยิ่งสร้างภาพความแตกแยกใน สนช.ให้เห็นมากขึ้น เพราะไม่ว่า สนช. จะลงมติออกมาในทางใด จะมีผลกระทบในทางลบต่อ สนช.

** "ศรีราชา"รักษาการถึง19ก.ย.

นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า คำสั่ง คสช. ที่ 40/2559 จะมีผลทำให้ นายศรีราชา วงศารยางกูร ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ครบวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี เมื่อวันที่ 4 เม.ย. ที่ผ่านมา อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ จนถึงวันที่ 19 ก.ย. 59 เนื่องจากจะมีอายุครบ 70 ปีบริบูรณ์ ซึ่งเข้าสู่เงื่อนไข คำสั่ง คสช.ที่ 40 /2559 ข้อที่ 4 ที่ ระบุว่า กรณีพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุอื่น ที่ไม่ใช่การครบวาระ ให้กรรมการองค์กรอิสระนั้นๆ เท่าที่เหลืออยู่ทำหน้าที่ต่อไป ซึ่ง นายศรีราชา ก็รับทราบ และแปลกฎหมายในลักษณะนี้อยู่แล้ว โดยบอกว่า ที่รักษาการอยู่ เมื่อถึงวันที่ 19 ก.ย. จะอายุ 70 ปี ก็ต้องไปอยู่แล้ว
ทั้งนี้ แม้นายศรีราชา จะพ้นจากตำแหน่งไป ก็จะไม่กระทบต่อการทำงานของผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่เหลืออยู่ 2 คน คือ พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ และ นายบูรณ์ ฐาปนดุลย์ เพราะที่ผ่านผู้ตรวจการแผ่นดินแต่ละคน จะพิจารณาและวินิจฉัยในเรื่องที่ตนเองรับผิดชอบโดยไม่เกี่ยวข้องกับผู้ตรวจการแผ่นดินคนอื่น เว้นแต่เป็นเรื่องที่ต้องขอมติ ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินที่เหลืออยู่ 2 คน ก็สามารถประชุมได้ โดยจะมีการหารือ เพื่อกำหนดบุคคลเพื่อทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม แต่จะไม่มีการเลือกประธานผู้ตรวจการแผ่นดินคนใหม่ จนกว่าจะมีการสรรหาผู้ตรวจแผ่นดินคนใหม่มาดำรงตำแหน่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น