ผ่าทีม “ขอนแก่น ยูไนเต็ด” ทีมนักการเมือง - มหาเศรษฐีอีสาน “ตระกูลช่างเหลา” ผู้บริหารที่ประกาศท้าชน “ทีมแฟร์” หลังถูกสมาคมฟุตบอลฯ แบนฟ้าผ่า เหตุถูกจับได้ จ้างคนทำร้ายกรรมการ
ผู้บริหารทีมฟุตบอลสโมสรขอนแก่น ยูไนเต็ด หรือ “จงอางผยอง” ถือเป็นผู้บริหารสโมสรฟุตบอลทีมแรกที่ออกมาเปิดหน้าสู้กับ “สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย” ภายใต้การบริหารของ “ทีมแฟร์” ที่มี พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง อดีต ผบ.ตร. เป็นนายกสมาคมฯ
อ่านประกอบ “ขอนแก่น” ไม่กลัวน้ำร้อน งัดกฎหมายสู้ หลังโดนถอนสิทธิ์แข่งดิวิชั่น 1
ภายหลังทีมถูกคำสั่ง “สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย” สั่งระงับสมาชิกภาพของทีม ขอนแก่น ยูไนเต็ด ออกจากการเป็นสมาชิกภาพของสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ จากกรณีถูกข้อหา จ้างทำร้าย สรพงษ์ ไกรเนตร กรรมการผู้ตัดสิน นำมาสู่การถูกแบนจากกีฬาฟุตบอลตลอดชีวิต ทั้งผู้บริหารและนักฟุตบอลเคว้ง และส่อนำไปสู่การยุบทีม
หลายคนสงสัยชื่อ “บิ๊กต้อม” วัฒนา ช่างเหลา ประธานสโมสรขอนแก่น ยูไนเต็ด เป็นใครมาจากไหน คร่าว เขามีตำแหน่งถึง “รองนายก อบจ.ขอนแก่น คนปัจจุบัน” แต่บุคคลที่อยู่เบื้องหลังการดำเนินการทั้งหมด และเป็นที่รับรู้กันก็คือ “เอกราช ช่างเหลา” ผู้เป็นพ่อ ซึ่งอาชีพดั้งเดิมเป็นอดีตครูในสังกัดเทศบาลนครขอนแก่น เติบโตบนเส้นทางสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น มีตำแหน่งสูงสุดในฐานะรองประธานสหกรณ์ออมทรัพย์ครูจังหวัดขอนแก่น ยังเป็นรองประธานสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย, ประธาน อกคศ. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาขอนแก่น เขต 1, ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพัฒนาสหกรณ์แห่งชาติ, ประธานชมรมสหกรณ์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ถือว่าสูงสุดในสายของครูที่ไม่ใช่สายผู้บริหาร พร้อมกับฐานะที่ร่ำรวยขึ้นเรื่อย ๆ ก่อนจะลาออกจากตำแหน่งครู มารับตำแหน่งผู้จัดการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น จนถึงปัจจุบัน
เขามีฐานะการเงินเติบโตอย่างรวดเร็ว ได้ชื่อว่า เป็น “เศรษฐีใหม่” มีกิจการที่เปิดเผยชัดเจนคือ โครงการบ้านจัดสรรชื่อหมู่บ้าน “เมืองเอก” ระยะหลังกลายเป็นหนึ่งในผู้บริจาคเงินคนสำคัญให้แก่ส่วนราชการต่าง ๆ ทำให้บารมีเติบใหญ่มากขึ้นตามไป
“เอกราช” เคยลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. ขอนแก่น แต่ไม่ประสบความสำเร็จจึงปรับตัวมาเป็นผู้สนับสนุนอยู่เบื้องหลังนักการเมืองระดับชาติ และระดับท้องถิ่น สามารถผลักดันให้ “วัฒนา ช่างเหลา” ลูกชายวัย 20 ปีเศษก้าวขึ้นไปเป็นรองนายก อบจ. ขอนแก่น ทั้งที่ไม่เคยมีประสบการณ์ทางการเมืองมาก่อน
เมื่อปี 2553 มีคำสั่งระงับการทำธุรกรรมทางการเงินของบุคคลและนิติบุคคล 3 ครั้ง กว่า 100 ราย โดยศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เมื่อวันที่ 16 - 20 พฤษภาคม 2553 มีบุคคลไม่เป็นที่รู้จักในแวดวงการเมืองหลายคน หนึ่งในนั้นคือ นายเอกราช ช่างเหลา ผู้จัดการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น
ศอฉ. มีข้อมูลถอนเงินจากบัญชีคราวละหลายร้อยล้านบาท รวม ๆ กันเกือบพันล้านบาท ขณะที่เจ้าตัวออกมาชี้แจงเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2553 ว่า เป็นเจ้าของโครงการหมู่บ้านจัดสรรหลายแห่ง เช่น เจ้าของบริษัท หนึ่งนคร จำกัด, เจ้าของโครงการสุขเกษมโฮม, โครงการเมืองเอกน้ำพอง 2, 3, 4 หมู่บ้านจัดสรรเมืองเอก 5 อ.หนองเรือ และ หมู่บ้านจัดสรรเมืองเอกแกรนด์วิว ทำธุรกรรมทุกอย่างโปร่งใส
“การที่ผมไปมีรายชื่อปรากฏลำดับที่ 26 ตามประกาศของ ศอฉ. ที่ห้ามทำธุรกรรมทางการเงินนั้น เป็นการเคลื่อนไหวเพื่อที่จะดำเนินการจัดซื้อสลากการกุศลจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ซึ่งเป็นการเตรียมการเบื้องต้นเท่านั้น การดำเนินการดังกล่าวทุกอย่างมีที่ไปที่มาของเงินมาจากที่ไหน ไปจ่ายที่ไหน รายละเอียดทั้งหมดผมจะไปชี้แจงกับทาง ศอฉ.”
เขาเคยเป็นว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ขอนแก่น พรรคภูมิใจไทย ในอดีตก็เคยเป็นผู้สมัคร ส.ว. และ ส.ส. ขอนแก่น มาก่อน เพราะฉะนั้นในเรื่องที่จะไปสนับสนุนกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดงนั้น เป็นไปไม่ได้โดยเด็ดขาด ส.ส. ขอนแก่น ทุกคนยืนยันได้ว่า ตนอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับคนที่เคลื่อนไหวทางการเมืองมาโดยตลอด นอกจากนั้น ตระกูลช่างเหลา ยังทำธุรกิจ 4 บริษัท ได้แก่
หจก.รวมทองภิวัตร ก่อตั้งวันที่ 20 มีนาคม 2544 ทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท ประกอบธุรกิจรับเหมา ที่ตั้งเลขที่ 678 ถนนหน้าเมือง ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น
บริษัท หนึ่งนคร จำกัด ก่อตั้งวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2548 ทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท ประกอบธุรกิจบ้านจัดสรร ที่ตั้งเลขที่ 678/12 ถนนหน้าเมือง ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น นายวัฒนา ช่างเหลา และ นายเอกราช ช่างเหลา ถือหุ้นคนละ 50%
หจก.หนึ่งนคร บิวดิ้ง ก่อตั้งวันที่ 22 มีนาคม 2553 ทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท จำหน่ายสลากกินแบ่ง สลากหวยออนไลน์ ที่ตั้งเดียวกัน
หจก.หนึ่งนคร ลิสซิ่ง ก่อตั้งวันที่ 22 มีนาคม 2553 ทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท จำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล สลากหวยออนไลน์ ที่ตั้งเดียวกัน
จากการตรวจสอบข้อมูลกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า ตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา หจก.รวมทองภิวัตร ไม่ได้ส่งงบการเงิน ส่วน บริษัท หนึ่งนคร จำกัด ปี 2551 มีรายได้ 11 ล้านบาท กำไรสุทธิ 5 แสนบาทเศษ สินทรัพย์เพียง 12.5 ล้านบาท ก่อนหน้านี้ ไม่มีรายได้ ขณะที่ หจก.หนึ่งนคร บิวดิ้ง จำกัด รายได้เพียง 10 ล้านบาทเศษ ขณะที่บริษัทอื่นเพิ่งก่อตั้ง
โดยสมัยที่ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ เป็น อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ออกมาระบุว่า นายเอกราช ได้ยื่นคำร้องขอเบิกเงินไปจ่ายปันผลและค่าดำเนินการต่าง ๆ ของสหกรณ์ จำนวน 288 ล้านบาท แต่เห็นว่ารายละเอียดหลายรายการไม่สมเหตุสมผล จึงอนุมัติเพียง 198 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่ามีเงินหมุนเวียนในมือนายเอกราช เดือนละหลายร้อยล้านบาท
ปี 2554 - 2557 ตระกูลนี้ถือว่าร่ำรวยระดับต้น ๆ ใน จ.ขอนแก่น มีนักการเมือง และนักอสังหาริมทรัพย์จากส่วนกลางชื่อดังมาร่วมลงทุนมหาศาล
อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 2557 คสช. เข้ามามีอำนาจ “เอกราช” ผู้พ่อ เคยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภาปฏิรูป (สปช.) ประจำจังหวัดขอนแก่น ท่ามกลางความงุนงงสงสัยว่า มาได้อย่างไร
“เอกราช” ให้ความสนใจวงการฟุตบอลลีกไทย เคยเจรจาขอซื้อทีม “ขอนแก่น เอฟซี” ของตระกูลชนะวงศ์ มาบริหารแต่ไม่สำเร็จ แต่ในที่สุดเขาไปได้สิทธิ์ในการทำทีมด้วยการซื้อทีม “ปากช่อง ยูไนเต็ด” จากกลุ่มการเมืองโคราช มาครอบครอง เปลี่ยนชื่อเป็น “ขอนแก่น ยูไนเต็ด” ลุยดิวิชั่นสองลีกภูมิภาคใช้งบประมาณในการทำทีมมากถึงปีละ 50 ล้านบาท ดึงเอานักเตะฝีเท้าดีหลายคนมาสังกัดทีม และสร้างผลงานได้ดี
ปีเดียวก็ก้าวขึ้นดิวิชั่น 1 และปีนี้ก็กำลังได้ลุ้นขึ้นไทยลีก ลีกหมื่นล้าน แต่มาจบเห่ถูกแบนจากสมาคมฟุตบอลเสียก่อน