xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กแก้ว” ชี้ยึดภาพรวมจัดระเบียบรถตู้ เผยค่าโดยสารถูกลง ให้ 10 ปีเปลี่ยนมินิบัสแทน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.ต.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการกองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ (แฟ้มภาพ)
ผบ.พล.ม.2 รอ.แจงจัดระเบียบรถตู้มองภาพรวมใหญ่ ย้อนให้ไปถามคนใช้พื้นที่ รพ.ได้รับความเดือดร้อน รถวิ่ง ตจว.ต้องอยู่ในขนส่ง บขส.ต้องดูแล ชี้ต้องสร้างสถานีขนส่งให้เป็นศูนย์รวมรถตู้ให้ได้ เชื่อเป็นผลดีระยะยาว ยันเดินหน้าดำเนินการ เผยค่าโดยสารถูกลง มีชัตเติลบัสส่งจากสาวรีย์ไปขนส่ง ย้ำรถตู้ไม่เหมาะเป็นรถสาธารณะวิ่งข้าม จว.เกิน 300 กม. ให้เวลา 10 ปี เปลี่ยนเป็นมินิบัสแทน

วันนี้ (4 ส.ค.) ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) ถ.ราชดำเนิน พล.ต.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการกองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ม.2 รอ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดระเบียบรถตู้โดยสารสาธารณะว่า ปัจจุบันยังไม่มีผู้ใช้บริการร้องเรียนปัญหาใดๆ เข้ามา ซึ่งการที่เจ้าหน้าที่ดำเนินการแบบนี้เพราะมองภาพรวมใหญ่ และมีการให้ข้อมูลต่างๆ ผ่านทางโซเชียลมีเดียกับผู้ประกอบการรถตู้กับผู้โดยสาร แต่ทั้งหมดนี้ต้องไปถามคนที่ใช้พื้นที่เหล่านั้นด้วย เช่น รพ.ราชวิถี รพ.พระมงกุฎเกล้า ว่าที่ผ่านมาได้รับความเดือดร้อนอย่างไร จนถึงกับมีคำพูดว่าจะย้ายโรงพยาบาลหรือจะย้ายรถตู้ ดังนั้นเราต้องมองภาพรวม อีกทั้งรถโดยสารที่วิ่งระหว่างจังหวัดจุดจอดต้นทางและปลายทางต้องอยู่ในสถานีขนส่ง เนื่องจากบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ต้องเข้ามาดูแลทั้งเรื่องสภาพรถ ความปลอดภัย ความสะอาด สภาพคนขับ และการออกรถตามเวลา การที่รถตู้กระจายอยู่แบบนี้ทำให้ บขส.เข้าไปดูแลไม่ได้ ดังนั้น สิ่งที่ขาดคือสถานีขนส่งต้องเป็นศูนย์กลางคมนาคม แต่ที่เรามีนั้นยังไม่สมบูรณ์ แต่ปรากฏว่าบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเป็นพื้นที่ศูนย์กลางที่ดี ทางผู้ประกอบการจึงมาใช้ ดังนั้นต้องสร้างสถานีขนส่งให้เป็นศูนย์รวมรถตู้ให้ได้ ส่วนผู้ประกอบการเองต้องยอมรับหลักการเหล่านี้ เพราะในสัญญาที่ผู้ประกอบการเขียนไว้กับ บขส.ชัดเจนว่าจุดจอดคือสถานีกรุงเทพฯ กับสถานีปลายทาง ซึ่งถือว่าผู้ประกอบการทำผิดเงื่อนไขอยู่แล้ว เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พยายามจัดและสร้างความสะดวก ทางผู้ประกอบการก็ควรเข้ามาจอดที่สถานีขนส่ง เพราะเชื่อว่าจะเป็นผลดีต่อผู้ประกอบการเองในระยะยาวแน่นอน ทั้งนี้ ส่วนงานที่เกี่ยวข้องต้องรีบเข้าไปดำเนินการและดูแล หากสถานที่ไม่พร้อมจะสามารถขยายไปตรงไหนได้

“เราดำเนินการอย่างเต็มที่ แบบเดินหน้าแต่ไม่ดึงดัน ประเมินไว้คือวันที่ 25 ต.ค.นี้ รถตู้โดยสารสาธารณะ กทม.-ต่างจังหวัดต้องเข้าสถานี โดยในช่วงแรกที่รถทุกคันเข้ามาสถานีขนส่งนั้นทาง 4 หน่วยงานหลัก ได้แก่ ตำรวจ ทหาร บขส. กรมการขนส่งทางบก จะช่วยกันดูแลทุกสถานีให้เรียบร้อยจนถึง พ.ค. 2560 จากนั้น บขส.จะเป็นหน่วยงานหลักในการดูแลต่อไปเพื่อนำไปสู่ความยั่งยืน อย่างไรก็ตาม ข้อดีของการจัดระเบียบครั้งนี้จะทำให้ค่าโดยสารราคาถูกลง และทางองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จะจัดรถชัตเติลบัสเยียวยาวิ่งเส้นทางอนุสาวรีย์ชัยฯ ไป 3 สถานีขนส่ง ได้แก่ จตุจักรหรือหมอชิต สายใต้ใหม่ และเอกมัย โดยจะวิ่งต่อเนื่องไม่หยุดระหว่างทาง” พล.ต.เฉลิมพลกล่าว

เมื่อถามถึงกรณีที่ คสช.มีแนวคิดนำรถยนต์โดยสารขนาดเล็ก หรือมินิบัสมาให้บริการแทนรถตู้โดยสารสาธารณะเส้นทาง กทม.-ต่างจังหวัด พล.ต.เฉลิมพลกล่าวว่า จริงๆ แล้วรถตู้โดยสารสาธารณะไม่ใช่รถที่ได้รับอนุญาตในการโดยสารสาธารณะแบบที่กรมการขนส่งทางบกอนุญาตไว้ แต่มีการอนุโลมเยียวยาให้นำรถตู้โดยสารสาธารณะมาให้บริการได้ตั้งแต่ปี 2553 แต่จากการสำรวจต่างๆพบว่าสรีระของรถตู้ไม่เหมาะสมกับการนำมาเป็นรถสาธารณะ โดยมีเหตุผลสำคัญคือประตูเป็นแบบสไลด์ หากเกิดอุบัติเหตุขึ้นจะทำให้สามารถเข้าออกไม่ได้ อีกทั้งยานพาหนะที่เป็นสาธารณะควรมีแถวตรงกลาง เพื่อความสะดวกในการขึ้นและลง รวมถึงไม่ให้น้ำหนักผู้โดยสารและยานพาหนะมากเกินกว่ากัน จะเห็นได้ว่าเมื่อรถตู้แน่นการทรงตัวจะลำบาก ทำให้มาตรฐานความปลอดภัยต่ำ จึงยอมรับได้ในระยะทางไม่เกิน 100 กม. ทางเจ้าหน้าที่พยายามพัฒนาให้นำแบบมินิบัสมาใช้ให้ได้ แต่ในส่วนของรถตู้โดยสารธารณะก็ยอมรับได้ในระดับไม่เกิน 300 กม. ถ้าเกินจากนั้นต้องเป็นรถมินิบัส ดังนั้นต้องหารือร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์จะทำอย่างไรเพื่อส่งเสริมรถมินิบัสได้ และต้องกำหนดเวลาว่ารถตู้โดยสารสาธารณะมีอายุวิ่งไม่เกิน 10 ปี ดังนั้นต้องขีดเส้นเวลา หากครบกำหนดแล้วต้องเปลี่ยนจากรถตู้โดยสารมาเป็นรถมินิบัสแทน แต่ก็ต้องให้เวลาผู้ประกอบการ อีกทั้งรัฐอาจจะต้องมีการส่งเสริม เช่น การงดเว้นภาษีใน 5 ปี แรก เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น