โฆษก กอ.รมน.แจงปรับกำลังให้สอดรับโครงการสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ผบ.ทบ.เข้มแก้ยาเสพติด อำนาจนอกระบบ พัฒนาเส้นทาง 38 มุ่งเน้นการข่าว ใช้ซีซีทีวีเฝ้าระวัง จชต.รวมเกือบ 1.5 หมื่นตัว นายกฯ ตั้งบอร์ดเลือกสภาที่ปรึกษาฯ ดับไฟใต้ ยันไร้ข่าวล้มประชามติ เชื่อไร้ป่วน ชี้เหตุพ่นสเปรย์ จชต. ไม่เกี่ยวความมั่นคง เผยไม่มี 2 ผู้ต้องสงสัยลอบบึ้มมาเลย์กบดานไทย
วันนี้ (3 ส.ค.) ที่กองบัญชาการกองทัพบก พ.อ.พีรวัชฌ์ แสงทอง โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กล่าวถึงกรณีโครงการสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ตามแนวทางของรัฐบาล กอ.รมน.ได้มีการปรับกำลังเพื่อให้สอดคล้องและรองรับโครงการต้นแบบนี้ โดย พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะรองเลขาธิการ กอ.รมน. กำหนดเป้าหมายเพื่อป้องกันเหตุรุนแรง โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม เฝ้าระวัง เฝ้าตรวจ และการเฝ้าระวังในพื้นที่ รวมถึงได้เน้นย้ำถึงเรื่องการแก้ไขปัญหายาเสพติด อำนาจนอกระบบให้หมดไปจากพื้นที่ รวมไปถึงการพัฒนาเส้นทาง 38 เส้นทางให้เสร็จตามกำหนดเวลา
พ.อ.พีรวัชฌ์กล่าวต่อว่า ซึ่งเมื่อมีการปรับลดกำลังลงแล้วจะมุ่งเน้นด้านการข่าว โดยจะใช้ระบบการเฝ้าตรวจทางเทคโนโลยีมาใช้โดยใช้กล้องซีซีทีวีซึ่งจะมีการวางไว้ทุกระดับ ทั้งระดับอำเภอ จังหวัด และ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า โดยการวางระบบกล้องซีซีทีวีมีความคืบหน้าแล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการฝึกคนในการเฝ้าระวังเหตุตลอด 24 ชม. โดยจะใช้เจ้าหน้าที่ของภาครัฐ เจ้าหน้าที่ทหาร และพลเรือน ซึ่งจะมีบก.ควบคุมทุกจังหวัด รวมทั้ง กอ.รมน. เพื่อเฝ้าระวังติดตามของผู้คนที่อาจจะเป็นผู้น่าสงสัยหรือส่อไปในทางทุจริต เพื่อเป็นการสร้างกำลังใจให้แก่พี่น้องประชาชน และผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ว่ามีความปลอดภัย รวมถึงจะได้ติดตามและป้องกันเหตุร้ายได้อย่างเป็นรูปธรรมและรวดเร็ว
พ.อ.พีรวัชฌ์กล่าวต่อว่า ขณะนี้มีกล้องซีซีทีวีในพื้นที่ 6,427 ตัว จาก 7 หน่วยงาน ประกอบด้วย สำนักงานปลัดกระทรงมหาดไทย กรมการปกครอง องค์การปกคอรองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กอ.รมน.ภาค 4 สน. กองทัพเรือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ อยู่ระหว่างขอติดตั้งเพิ่มจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1,705 ตัว กระทรวงศึกษาธิการ 6,624 ตัว ทำให้ในพื้นที่จะมีกล้องซีซีทีวีรวม 14,756 ตัว ครอบคลุมพื้นที่ปฏิบัติของ สภ.อ.เมือง, อบต., อบจ.ในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีในฐานะ ผอ.รมน.ได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกคณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้เรียบร้อยแล้ว คณะกรรมการคณะนี้จะมีหน้าที่พิจารณาคัดเลือกคณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการคัดเลือกกรรมการ กรอบเวลาทำงาน วิธีการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นคณะกรรมการที่ปรึกษาฯ จำนวนไม่เกิน 45 คน และให้เสนอรายชื่อผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมและได้รับการคัดเลือกให้เป็นกรรมการฯ ให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อดำเนินการกราบเรียนนายกรัฐมนตรีเพื่อกรุณาพิจารณาลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป สำหรับคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกฯ ประกอบด้วย 1. พล.อ.กิตติ อินทสร ประธานกรรมการ 2. นาย บัญญัติ จันทน์เสนะ รองประธานกรรมการ 3. พล.ท.เรืองศักดิ์ สุวรรณนาคะ รองประธานกรรมการ 4. พล.ท.มนตรี กำแพงเศรษฐ กรรมการ 5. พล.ท.ณรงค์ สบายพร กรรมการ 6. พล.ท.มนตรี อุมารี กรรมการ 7. พล.ต.วิทยา อรุณเมธี กรรมการ 8. พล.ต.โภชน์ นวลบุญ กรรมการ 9. พล.ต.ต.พัฒนวุธ อังคะนาวิน กรรมการ 10. พ.อ.ฐกร เนียมรินทร์ กรรมการ 11. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ไกรสร ศรีไตรรัตน์ กรรมการ 12. นาย อนุมัติ อาหมัด กรรมการ 13. นายแวยาโระ แวมายิ กรรมการ 14. นางสุชาดา พันธ์นรา กรรมการ 15. นายศุภณัฐ สิรันทวิเนติ กรรมการและเลขานุการ 16. นายสนั่น สนธิเมือง ผู้ช่วยเลขานุการ 17. พ.อ.พงษ์ชาติ กัมพลานุวงศ์ ผู้ช่วยเลขานุการ
พ.อ.พีรวัชฌ์กล่าวถึงกรณีที่ยังมีกลุ่มผู้ไม่หวังดีพ่นสีสเปรย์เกี่ยวกับการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญตามป้ายราชการต่างๆ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ได้รับรายงานเรื่องนี้จาก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าที่ได้ตรวจพบโดยพบในพื้นที่ จ.ปัตตานีมากที่สุด รองลงมา คือ จ.ยะลา และจ .นราธิวาส ทั้งนี้จากสิ่งบอกเหตุต่างๆ พบว่าเป็นการแสดงเชิงสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับการทำประชามติ โดยประเด็นนี้เป็นหน้าที่รับผิดชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และศูนย์ดูแลความสงบเรียบร้อยเพื่อสนับสนุนการออกเสียงประชามติของกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องความมั่นคงภายในพื้นที่
เมื่อถามว่าช่วงโค้งสุดท้ายของการลงประชามติ กอ.รมน.จะมีบทบาทอย่างไร และจะมีการจัดตั้งวอร์รูมดูแลการเคลื่อนไหวการทำประชามติด้วยหรือไม่ พ.อ.พีรวัชฌ์กล่าวว่า ขอชี้แจงว่า กอ.รมน.มีบทบาททำงานตามปกติ ซึ่งพร้อมรับคำสั่งและประสานงานให้ความช่วยเหลือได้ทุกเมื่อจาก กกต.และรัฐบาล แต่ปกติ กอ.รมน.จะปฏิบัติงานด้านการข่าวอยู่แล้ว พร้อมทั้งบูรณาการประสานงานกับทุกส่วนราชการ โดยพร้อมให้ความสนับสนุนทุกหน่วยงานหากมีการประสานเข้ามา
เมื่อถามต่อว่าจากข้อมูลด้านการข่าวของ กอ.รมน.มีสิ่งใดที่จะบ่งชี้ว่าจะมีการล้มการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ พ.อ.พีรวัชฌ์กล่าวว่า จากข้อมูลด้านการข่าวที่ผ่านมาไม่มีสิ่งบอกเหตุที่จะเกิดเหตุรุนแรงที่ทำให้การลงประชามติไม่เกิดขึ้นในวันที่ 7 ส.ค. ทุกอย่างยังคงเป็นไปตามปกติ ไม่มีเหตุรุนแรง เมื่อถามว่า พล.อ.พิสิทธิ์ สิทธิสาร เสนาธิการทหารบก ในฐานะเลขาธิการ กอ.รมน.จะไปเฝ้าดูแลสถานการณ์หรือไม่ พ.อ.พีรวัชฌ์กล่าวว่า พล.อ.พิสิทธิ์สวมหมวกหลายใบ ดังนั้นตนคิดว่าก็คงติดตามสถานการณ์ พร้อมทั้งไปทำหน้าที่ตามสิทธิ์ของคนไทย
ด้าน พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า ยืนยันว่าข้อมูลด้านการข่าวของ คสช.ยังไม่มีความเคลื่อนไหวว่าจะเกิดเหตุความรุนแรงในวันที่ 7 ส.ค. เนื่องจากภาพรวมที่ผ่านมายังคงเป็นไปด้วยความเรียบร้อย แต่มีเพียงส่วนน้อยที่แสดงความคิดเห็นที่อาจสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายบ้าง แต่เจ้าหน้าที่ก็ดำเนินการลักษณะแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยพยายามที่จะดำเนินการไม่ให้กระทบภาพลักษณ์และมุมมองของสังคม ถ้ามีการดำเนินการใดๆ เข้าข่ายผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่ก็พร้อมดำเนินการทันทีโดยเริ่มจากการขอความร่วมมือ
ทั้งนี้ พ.อ.พีรวัชฌ์ยังกล่าวถึงกรณีที่สื่อมาเลเซียรายงานอ้างแหล่งข่าวเป็นเจ้าหน้าที่มาเลเซียระบุว่าได้ประสานกับเจ้าหน้าที่ไทยเพื่อติดตามชาวรัฐยะโฮร์ มาเลเซีย 2 คน ผู้ต้องสงสัยวางระเบิดในพื้นที่รัฐสลังงอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อปลายเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา เนื่องจากปรากฏข่าวล่าสุดว่าผู้ต้องสงสัย 2 คนดังกล่าวอาจหลบหนีเข้าไทยทางอำเภอสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ว่าจากการตรวจสอบข้อมูลร่วมกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) นั้นยังไม่พบว่ามีผู้ต้องสงสัยดังกล่าวหลบหนีเข้ามาภายในประเทศไทย