ประธาน สนช.เผยเชิญตัวแทน 4 ฝ่ายคุยปัญหาจัดหาไม้สักใช้ก่อสร้างรัฐสภาใ อ.อ.ป.หาได้แล้ว 5 พันท่อนจากป่าปลูก รอหนังสือทางการ ระบุทุกอย่างยังเดินตามสัญญา เว้นแต่มีเหตุขัดข้อง ย้ำก่อสร้างคืบหน้า แต่ยังไม่รู้จะจัดการชุมชนองค์การทอผ้ายังไง ชี้ส่งมอบพื้นที่ไม่ได้น่าหนักใจกว่า รับยังไม่ได้จดหมายผู้รับเหมาขอยืดเวลาไปอีก 600 วัน
วันนี้ (25 ก.ค.) ที่รัฐสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงกรณีปัญหาการจัดหาไม้สักเพื่อใช้ก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ว่าในวันนี้ได้เชิญตัวแทน 4 ฝ่าย ประกอบด้วย กลุ่มกิจการร่วมค้าสงบ 1051 ในฐานะผู้ออกแบบ ตัวแทนบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น บริษัทที่ปรึกษากฎหมายก่อสร้าง และคณะกรรมการตรวจการจ้างโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ได้ข้อยุติโดยบริษัทผู้ออกแบบยืนยันว่าไม้สักเป็นพื้นฐานงานศิลปะสถาปัตยกรรม และด้านภูมินิเวศที่ยั่งยืนอยู่ได้นานนับร้อยปี ขณะที่รัฐสภาถือเป็นงานสถาปัตยกรรมที่มีความสำคัญที่สุดงานหนึ่งที่แสดงออกถึงความเป็นชาติและมรดกทางวัฒนธรรม จึงเป็นโอกาสสำคัญที่จะใช้เป็นพื้นที่แสดงตัวตนของไม้สักเสมือนเป็น DNA ของชาติ ถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการอนุรักษ์สืบทอดศิลปะงานไม้ได้อย่างทรงคุณค่า แต่การจัดหาไม้สักจะต้องนำมาจากการปลูกป่าจากองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) หรือจากเอกชน และไม้เก่านำมาใช้ใหม่หรือไม้ของกลางที่ราชการยึดไว้เท่านั้น ห้ามไปตัดจากป่าธรรมชาติเด็ดขาด โดยทางกลุ่มกิจการร่วมค้าฯ จะติดตามตรวจสอบอย่างใกล้ชิดทั้งเรื่องแบบ วัสดุก่อสร้าง เพื่อให้เป็นไปตามสัญญาทุกอย่าง
“ผู้ออกแบบยังยืนยันว่ามีความจำเป็นต้องใช้ไม้สักเพราะเป็นองค์ประกอบสำคัญ และเป็นเอกลักษณ์ความเป็นไทย ซึ่งการก่อสร้างอาคารทางสำคัญต้องใช้ ส่วนทางบริษัท ซิโน-ไทย ก็ยืนยันว่าพร้อมที่จะติดตั้งเสาไม้สักในการก่อสร้างอาคารรัฐสภาใหม่ หาก อ.อ.ป.สามารถจัดหาไม้สักได้ตามสัญญา ซึ่งสอบถามไปยัง อ.อ.ป.แล้วยืนยันว่าสามารถจัดหาไม้สัก จำนวน 5,000 ท่อนได้จากป่าปลูกไม่ใช่ธรรมชาติ และเมื่อเกิดปัญหาได้สอบถามไปยัง อ.อ.ป.อีกครั้ง ได้คำตอบด้วยวาจาว่ายังจัดหาไม้ได้ ซึ่งต้องรอหนังสืออย่างเป็นทางการอีกครั้ง ขณะที่ผู้รับเหมาก็ไม่มีปัญหาอะไร แค่ส่งไม้ให้ทันตามเวลาจะได้ไม่ล่าช้า ดังนั้น ทุกอย่างจะเดินหน้าไปตามสัญญา เว้นแต่เกิดข้อขัดข้องจากฝ่ายใดก็จะต้องร้องขอมายังรัฐสภา” นายพรเพชรกล่าว
นายพรเพชรกล่าวต่อว่า ส่วนความคืบหน้าการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ขณะนี้มีความคืบหน้าอย่างมาก สามารถทุบอาคารต่างๆ ได้แล้ว แต่ยังมีชุมชนองค์การทอผ้า ที่ยังไม่ทราบว่าจัดการอย่างไร หากยังไม่ออกก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย รวมทั้งใช้มาตรการจิตวิทยาสังคม เพราะถ้าส่งพื้นที่เรียบร้อยภาระหนักของเราก็จะหมดสิ้นไป ส่วนที่ผู้รับเหมาขอขยายระยะเวลาก่อสร้างอีก 600 วันนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้หนังสือจากบริษัทผู้รับเหมา หากมีการร้องขอก็ต้องประเมินว่าเขามีเหตุผลอย่างไร
“เรื่องไม้สักไม่มีปัญหา แต่ปัญหาน่าหนักใจของสัญญาฉบับนี้คือการส่งมอบพื้นที่ไม่ได้ แต่ยืนยันว่าผมจะไม่เสียอะไรง่ายๆ จะรักษาผลประโยชน์ของประเทศ ดังนั้นอะไรที่จะเกิดปัญหาก็ต้องเดินหน้าไปตามสัญญา” นายพรเพชร กล่าว