xs
xsm
sm
md
lg

“แก้วสรร” ปูด ซิโน-ไทยฯ ยิ้มรอรับค่าโง่โครงการรัฐสภาใหม่ 1.2 พันล้าน หลังขยายสัญญาอีก 400 วัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แกัวสรร อติโพธิ
“แก้วสรร” ระบุ ซิโน-ไทยฯ รอรับค่าโง่โครงการรัฐสภาใหม่ 1,200 ล้านบาท หลังต้องขยายสัญญาออกไปอีก 400 วัน ถามใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ บอกหากรัฐสภาไม่กล้าใช้ไม้สัก ตามคำสั่ง “บิ๊กตู่” ไทยอาจได้โชว์รูปอะลูมิเนียม แล้วอย่าโทษคนออกแบบ แถมบริษัทจะได้ลดต้นทุนส่วนต่างถึง 150 ล้าน

นายแก้วสรร อติโพธิ อดีตที่ปรึกษาสถาบันอาศรมศิลป์ ซึ่งเป็นผู้ชนะในการออกแบบรัฐสภาใหม่ “สัปปายะ สภาสถาน” กล่าวถึงปัญหาการก่อสร้างรัฐสภาใหม่ ว่า การขยายสัญญาสร้างรัฐสภาใหม่กับบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เมื่อปลายปี 2558 ที่ผ่านมา จำนวน 387 วัน เป็นการขอขยายสัญญาครั้งแรก ซึ่งจะครบกำหนดเดือน ธ.ค. ปีนี้ จากนั้นรัฐสภาจะต้องต่อสัญญาอีกครั้งหนึ่ง จำนวน 400 วัน ซึ่ง บริษัท ซิโน-ไทยฯ เรียกค่าเสียหายวันละ 12 ล้านบาท แต่ตนเห็นว่าความเป็นจริงค่าเสียหายไม่ควรเกินวันละ 3 ล้านบาท ดังนั้น เท่ากับว่า ขณะนี้เรามีค่าโง่ที่ต้องเสียรออยู่แล้ว 1,200 ล้านบาท

“ผมเคยตรวจสอบโครงการสร้างแอร์พอร์ตลิงก์ ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทย สมคบกับผู้รับเหมา จากแผนที่ต้องย้ายชุมชนออกจากพื้นที่ใช้เวลา 240 วัน แต่การรถไฟฯกลับเขียนในสัญญาว่า จะส่งมอบพื้นที่ให้ผู้รับเหมา ภายใน 90 วัน เพราะฉะนั้นเขาจึงมีความตั้งใจให้เสียค่าโง่ ปัญหา คือ ค่าโง่ของรัฐสภาใหม่ที่จะเกิดขึ้นแน่ ๆ จำนวน 1,200 ล้านบาท ถามว่า รัฐสภาได้เตรียมจ่ายค่าโง่ตามที่ ซิโน-ไทยฯ เรียกร้องไว้หรือยัง และรัฐสภาได้มีการโต้แย้งค่าเสียหายที่ ซิโน-ไทยฯ เรียกร้องหรือไม่ รวมทั้งตกลงจะจ่ายค่าโง่หรือไม่ เท่าไหร่ แล้วใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการจ่ายค่าโง่ครั้งนี้”

นายแก้วสรร กล่าวอีกว่า ภายหลังที่มีคำสั่งนายกรัฐมนตรีห้ามไม่ให้ตัดต้นสัก จำนวน 5,000 ต้น เพื่อสร้างรัฐสภาใหม่นั้น ขอตั้งข้อสังเกตว่าองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยืนยันหรือยังว่า ถ้าไม่นำไม้ในป่าที่ชาวบ้านโวยวาย ไม้สักจะไม่พอ ต่อให้ไม่นำไม้จากพื้นที่ที่ชาวบ้านประท้วง ไม้ไม่พอจริงหรือไม่

“ถ้ารัฐสภาไม่มีเหตุผลอะไรเลย นอกจากกลัวนายกฯต่อว่า และชาวบ้านไม่ยอม ถ้าได้รัฐสภาที่ใช้อะลูมิเนียม สร้างออกมากลายเป็นโชว์รูมรถยนต์ อย่าโทษคนออกแบบ” นายแก้วสรร กล่าว

นายแก้วสรร คาดว่า การมีค่าโง่รออยู่ 1,200 ล้านบาท ทำให้ผู้รับเหมาและเจ้าของงานพยายามจะลดแบบงาน อันแรก คือ ไม้สัก ซึ่งจากการตรวจสอบ พบว่า ราคากลางของไม้สักอยู่ที่ 200 ล้านบาท โดยบริษัท ซิโน-ไทยฯ เสนอใช้อะลูมิเนียม ซึ่งใช้งบประมาณเพียง 50 ล้านบาท ฉะนั้น ต้นทุนจะลดลง 150 ล้านบาท ซึ่งเห็นว่าจำนวนดังกล่าวนี้จะต้องใช้ลดในมูลค่าโครงการของการก่อสร้างรัฐสภาใหม่ จำนวน 12,000 ล้านบาท ไม่ใช่ให้ผู้รับเหมาไปซื้อวัสดุก่อสร้างที่ถูกลง เพราะจะเท่ากับว่า ผู้รับเหมาไปเปลี่ยนสเปกวัสดุก่อสร้าง ขอย้ำว่า ถ้ามีการเปลี่ยนจากไม้สักเป็นอะลูมิเนียม ส่วนต่าง 150 ล้านบาท ต้องนำไปลดในมูลค่าโครงการก่อสร้าง จะปล่อยให้เป็นประโยชน์แก่ผู้รับเหมาไม่ได้ ต้องตกเป็นของรัฐเท่านั้น

“เมื่อมีส่วนต่าง 150 ล้านบาท แต่ค่าโง่ยังคงต้องเป็นจำนวน 1,200 ล้านบาท ห้ามนำ 150 ล้านบาท ไปหักกลบ เพราะค่าโง่จะต้องเป็นตัวเลขที่คนทำผิดต้องรับผิดชอบต่อรัฐ”


กำลังโหลดความคิดเห็น