“รมว.คลัง” คาดอีก 2 สัปดาห์ กฎหมายภาษีสรรพสามิตผ่านกฤษฎีกา ลั่นไม่กระทบภาคธุรกิจ-ผู้บริโภค แต่พวกหนีภาษีโดนแน่ ขณะที่เอกชนขานรับคลังเร่งเครื่องปฏิรูปโครงสร้างภาษีสรรพสามิต สร้างความโปร่งใสเป็นธรรม กระตุ้นเศรษฐกิจ
วันนี้ (24 ก.ค.) นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิตซึ่งหลายฝ่ายกังวลว่าจะกระทบราคาขายปลีกว่า ร่างดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มาปีกว่าแล้ว และไปติดอยู่ที่ขั้นตอนของคณะกรรมการกฤษฎีกาอีกปีกว่า คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์นี้ และเมื่อเสร็จแล้วจะต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ส่วนจะสามารถผ่านออกมาเป็นกฎหมายได้ทันก่อนสิ้นปีงบประมาณนี้หรือไม่ อยู่ที่การพิจารณาของ สนช.ว่าจะเร่งได้ขนาดไหน
ส่วนฐานภาษีใหม่ที่จะนำมาคิด เป็นราคาขายปลีกที่มีมูลค่าสูงกว่าราคาหน้าโรงงานจะทำให้สินค้าที่เข้าข่ายในการเสียภาษีนี้ มีราคาแพงขึ้นหรือไม่นั้น นายอภิศักดิ์กล่าวว่า ราคาขายปลีกขั้นสุดท้ายที่จะเอามาใช้เป็นฐาน หากสูงแล้วทำให้ภาษีมากขึ้นจะมีการลดอัตรา ก็จะทำให้จำนวนเงินที่ต้องเสียนั้นเท่าเดิม ซึ่งในส่วนนี้จะไม่มีผลกระทบต่อภาคธุรกิจและผู้บริโภคแต่อย่างใด ยกเว้นคนที่หนีภาษีอยู่จะกระทบในเรื่องการเสียภาษีตรงนี้ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของภาคธุรกิจเราได้มีการพูดคุยและทำความเข้าใจมาอย่างต่อเนื่อง จึงขอยืนยันว่าการปรับแก้กฎหมายดังกล่าว จะไม่กระทบกับภาคธุรกิจและผู้บริโภคอย่างแน่นอน
ด้านนางมัลลิกา ภูมิวาร จากโบลลิงเกอร์ แอนด์ คัมพานี คอนซัลติ้ง ผู้เชี่ยวชาญด้านศุลกากรและการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ กล่าวว่า เป็นเรื่องน่ายินดีที่เห็นผู้กำหนดนโยบายหันกลับมาให้ความสำคัญต่อร่างกฎหมายที่จะปฏิรูปโครงสร้างภาษีสรรพสามิตทั้งระบบที่จะช่วยเพิ่มความสะดวกและสร้างเป็นธรรมให้แก่ผู้ประกอบการทั้งในประเทศและผู้นำเข้า
โดยข้อดีจากการคิดฐานภาษีบนราคาขายปลีกนั้นคือ ความเรียบง่าย ลดขั้นตอนความซับซ้อนของสูตรการคิดฐานภาษี ดังที่ระบบของประเทศไทยได้เผชิญมา เพราะราคาขายปลีกเป็นราคาที่ผู้ประกอบการแนะนำให้เหมาะกับโครงสร้างธุรกิจของตนและเป็นราคาที่เปิดเผย อีกทั้งจะช่วยในการลดข้อพิพาทข้อถกเถียงระหว่างภาคเอกชนและรัฐบาลในเรื่องการสำแดงราคาต่ำ ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ที่ควรจะจัดเก็บได้
นางมัลลิกายังกล่าวเสริมว่า การปฏิรูปครั้งนี้ยังจะช่วยเพิ่มฐานการจัดเก็บรายได้ให้กว้างขึ้นโดยยังคงอยู่บนหลักการรายได้คงเดิม หมายความว่า จัดเก็บภาษีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้นแต่ไม่จำเป็นต้องเพิ่มภาระให้กับผู้บริโภค สิ่งที่ภาคเอกชนจับตาดูก็คือ ต้องลุ้นว่ากฎหมายปฏิรูปเศรษฐกิจที่สำคัญฉบับนี้จะออกมาทันใช้ภายในสิ้นปีนี้หรือไม่