เมืองไทย 360 องศา
ไม่รู้ว่าระบบคิดของรัฐบาลในระดับนโยบายคิดกันแบบไหน สำหรับการปฏิรูปตำรวจ ที่ล่าสุดมีการกำหนดตัวหัวหน้าคณะทำงานและประสานงานการปฏิรูปองค์กรตำรวจขึ้นมา พร้อมทั้งบอกว่า มีการเร่งรัดให้ทุกหน่วยงานในองค์กรตำรวจโดยกำหนดเวลาเป็นสามระยะตั้งเร่งด่วน ระยะกลาง 5 ปี ไปจนถึงระยะยาว 20 ปี โดยมีการแต่งตั้งหัวหน้าคณะทำงานดังกล่าวขึ้นมาแล้ว คือ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติขึ้นมาทำหน้าที่อันสำคัญนี้
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องพิจารณากันก่อน ก็คือ การปฏิรูปแบบนี้ มีการแต่งตั้งคนแบบนี้มาปฏิรูปวงการตำรวจผลจะออกมาถูกต้องตรวตามความต้องการของชาวบ้านหรือไม่ รวมไปถึงสร้างหลักประกันให้กับตำรวจด้วยกันได้แค่ไหน เนื่องจากยังมีคำถามตามมาว่าคนที่ได้รับมอบหมายให้มาปฏิรูปกลับกลายเป็นว่าน่าจะต้องปฏิรูปตัวเองเสียก่อนหรือไม่อีกด้วย
ก่อนอื่นต้องเข้าใจปฐมบทของเสียงเรียกร้องให้มีการปฏิรูปตำรวจเป็นเรื่องเร่งด่วน เนื่องจากตำรวจจำนวนมากไม่ได้ทำหน้าที่เป็น “ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์” ตามเจตนารมณ์ แต่ “รับใช้การเมือง” ใช้อำนาจมิชอบ ขณะเดียวกัน ฝ่ายการเมืองก็เข้ามาล้วงลูกใช้ตำรวจเป็นเครื่องทางการเมือง มีการวิ่งเต้นซื้อตำแหน่งจนมีข่าวอื้อฉาวอยู่ทุกปี ด้วยระบบที่ “ห่วยแตก” ดังกล่าวนอกจากสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับชาวบ้านแล้วในวงการตำรวจด้วยกันก็มีการแตกแยก ตำรวจที่มีคุณภาพมีฝีมือก็ไม่มีหลักประกันความก้าวหน้า เพราะไม่ใช่ “เด็กนาย” ภาพแบบนี้มีให้เห็นจนชินตา ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน กลายเป็นว่ายุคใครยุคมัน
ที่สำคัญที่สุด คนที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคนขับเคลื่อนการปฏิรูปตำรวจในครั้งนี้ คือ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ก็เป็น “ตำรวจการเมือง” มีภาพฝักใฝ่การเมืองชัดเจน โดยเฉพาะภาพที่เห็นไม่นานก่อนหน้านี้กับพรรคเพื่อไทย โดยเขาเคยเป็นตัวแทนพรรคลงสมัครชิงเก้าอี้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และเมื่อพ่ายแพ้การเลือกตั้งเขากลับไปรับราชการที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ที่มีการสงวนตำแหน่งรอเอาไว้ให้
คำถามก็คือ นี่หรือเส้นทางของนักปฏิรูปที่น่าเชื่อถือหรือคนที่ได้รับแต่งตั้งให้มาขับเคลื่อนการปฏิรูปตำรวจที่เป็นวาระสำคัญในระดับชาติตามความต้องการของชาวบ้านเป็นอันดับต้น ๆ
แน่นอนว่า นักปฏิรูปแบบนี้ย่อมมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวด้วยการเป็นนักโปรโมต เล่นไปกับกระแสสังคมด้วยความฉาบฉวยคราวนี้เมื่อได้รับการแต่งตั้งก็ขึงขังตามฟอร์มว่า นี่คือ นโยบายที่ได้ถูกมอบหมายมาจาก พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในฐานะที่กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่ากันเป็นฉาก ๆ เหมือนทุกครั้งที่มีการให้สัมภาษณ์กับสื่อที่เป็นภาพคุ้นชิน
คราวนี้ก็เช่นเดียวกัน พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ก็ขึงขังว่า ทุกหน่วยงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องให้ความร่วมมือและต้องทำแผนปฏิรูปเสนอมาตามกรอบที่กำหนดเอาไว้ 10 ประเด็นโดยเร็ว หากหน่วยงานใด หรือใครไม่ให้ความร่วมมือจะถูกลงโทษ
ได้ยินแบบนี้เชื่อว่า หลายคนยากที่จะบรรยายความรู้สึก หัวร่อไม่ออก เพราะสิ่งที่พวกเขากำลังดำเนินการอยู่ในเวลานี้ไม่น่าจะใช่เจตนา หรือความต้องการแบบนี้ แน่นอนว่า ชาวบ้านปราถนาอย่างแรงกล้าต้องการให้ปฏิรูปตำรวจโดยเร็วที่สุดแบบวันนี้พรุ่งนี้ยิ่งดี เพียงแต่ว่ามันเป็นไปไม่ได้เท่านั้นเอง เนื่องจากเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องระดมความคิดเห็นจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะจากชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบโดยตรงกว่าใคร อีกทั้งชาวบ้านเป็นผู้บังคับบัญชาที่แท้จริงของข้าราชการพวกนี้ ขณะเดียวกัน ก็ต้องฟังตำรวจด้วยกันด้วย เพียงแต่ว่าต้องเป็นตำรวจที่ได้รับความเชื่อถือมากกว่านี้
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจากความเคลื่อนไหวของผู้บริหารสำนักงานตำรวจแห่งชาติในตอนนี้ มันก็เหมือนกับการ “ชิงลงมือก่อน” ทางหนึ่งหวังว่าจะลดกระแสของชาวบ้าน เพราะพวกเขารู้ดีว่าชาวบ้านต้องการให้มีการปฏิรูป อีกทั้งยังรู้ดีว่าหากปล่อยให้มีการดำเนินการปฏิรูปจากภายนอกพวกเขาอาจจะสูญเสียอำนาจและระบบเส้นสายที่เคยมีมาไปทั้งหมด แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า วิธีการแบบนี้มันไม่ใช่การปฏิรูปตำรวจตามที่ชาวบ้านต้องการ เสียเวลาเปล่า เพราะมันไม่ต่างจากปาหี่ตบตาชาวบ้านเท่านั้น !!