นายกฯ ร่ายบทความ ยกคำถามชี้ปัญญา คำตอบชี้ความจริงใจ สังคมต้องมี กม. ช่วยชี้ผิดถูก ชี้ 97% คำถามที่ไม่เคยสนใจแก้ไขแล้วยุคนี้ แจงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีรักษาเสถียรภาพราชการ ไม่เลี้ยวเข้าฐานนิยมการเมือง เผยก้าวแรกคืนความสุข ก้าวสองยกระดับคุณภาพชีวิต และพัฒนาด้วย ศก.พอเพียง จี้เลิกหากินผลประโยชน์ชาติ ขอให้สร้าง “ชีวิตอมตะ” รักษาความดีให้ถูกกล่าวขาน
วันนี้ (15 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เขียนบทความ “จากใจนายกรัฐมนตรี” ลงในจดหมายข่าวเพื่อประชาชน ฉบับที่ 30 วันที่ 15 ก.ค. 2559
โดย พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่า “คำถามชี้ปัญญา คำตอบชี้ความจริงใจ… นักเรียนต้องถามเพื่อความรู้ ประชาชนต้องถามเพื่อความถูกต้อง สื่อมวลชนต้องถามด้วยความจริง และในทุกการทำงาน เราต้องถามเพื่อหาวิธีการที่ถูกต้องและดีที่สุด สำหรับส่วนรวม ละเรื่องส่วนตน ทั้งนี้ ถ้าทุกคำถามคำตอบ ก็มีแต่ความเข้าใจ…ร่วมมือ แต่ถ้าคำถามไม่มีคำตอบ ก็เป็นข้อสงสัย…ขัดแย้ง”
คำถามของคน… “ตายแล้วไปไหน?” ทุกศาสนาใช้คำตอบเป็นกุศโลบาย เพื่อสร้างศรัทธาให้ทุกคนทำความดี คนดีได้ขึ้นสวรรค์พบพระเจ้า หรือมีความสุขที่แท้จริง แต่หากทำความชั่วจะตกนรกหาความสุขไม่ได้ แต่ก็มีบางคนเลือกทำสิ่งผิดโดยอ้างความสุขชั่วคราวซึ่งวิญญูชนเรียกความทุกข์ถาวร ดังนั้นสังคมมนุษย์จึงต้องมีกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมช่วยชี้ผิด ชอบ ชั่ว ดี ที่เป็นกติกาการอยู่ร่วมกัน แต่ไม่วายที่คนพาลจะยอมรับคำตัดสินเฉพาะที่ถูกใจ ได้ประโยชน์
คำถามของประชาชน…ไม่มีอะไรเกินไปกว่าเรื่องปากท้อง และปัจจัย 4 แม้ที่ผ่านมาไม่ถึงหูนักการเมือง ผู้บริหารประเทศ ผู้รับมอบอำนาจจากประชาชน หรือแม้ได้ยิน…แต่คำตอบกลับเป็นสิ่งที่ตนอยากจะบอก ดังนั้น รัฐบาลในวันนี้ ที่มาจากความไว้ใจ อยู่ได้ด้วยความจริงใจ จึงใช้กลไกราชการ ผ่านศูนย์ดำรงธรรม เพื่อให้เสียงของประชาชนดังและคำถามที่ไถ่นั้นมีน้ำหนัก โดย 97 เปอร์เซ็นต์ของคำถามที่เคยไม่เคยได้รับความสนใจ กลับได้รับการแก้ไขแล้วในปัจจุบัน และขยายผลด้วยสูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ (OSS) ไขปัญหาทุกมิติ ถึงจะเล็กก็ไม่ละเลย
คำถามของข้าราชการ…เพราะข้าราชการ “อยู่ประจำ” นักการเมือง “อยู่ชั่วคราว” แล้วทำไมไม่เคยมียุทธศาสตร์ชาติให้เป็นนโยบายแห่งรัฐระยะยาว 20 ปี สำหรับกลไกราชการสามารถรักษาเสถียรภาพ ไม่บิดเบี้ยว เลี้ยวเข้าฐานนิยม
ตามนโยบายแห่งพรรคการเมืองระยะสั้น 4 ปี ดังนั้น การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้หน่วยงานของรับ 1. ปฏิรูปโครงสร้างเชิงระบบ เสริมประสิทธิภาพการให้บริการประชาชน 2. พัฒนาทรัพยากรบุคคล เสริมสร้างศักยภาพด้วยเทคโนโลยี และองค์ความรู้ที่ทันสมัย 3. อิสระจากการแทรกแซงทางการเมือง แต่เสริมสร้างจากสายป่านจาก “บนสู่ล่าง” คือ ประชาชนเจ้าของอำนาจ-นักการเมืองผู้รับมอบอำนาจ-หน่วยราชการผู้แปลงอำนาจไปสู่การปฏิบัติ ด้วยหลักวิชาการและกฎหมาย
คำตอบต่อทุกคำถาม…ของผม “ก้าวแรก” คือ การคืนความสงบสุขและความมั่นคงสู่สังคมด้วยจิตสำนึกของพลเมืองดี “ก้าวที่สอง” คือ การยกระดับคุณภาพชีวิตและความมั่งคั่ง ด้วยการสานพลังประชารัฐ บูรณาการทุกภาคส่วนให้เกื้อกูลกันในห่วงโซ่คุณค่า และ “ก้าวต่อๆ ไป” คือ การพัฒนาอย่างไม่หยุดยั่งและยั่งยืน ด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่ลดการพึ่งพาจากภายนอก ระเบิดจากข้างใน มีเงื่อนไขความรู้คู่คุณธรรม คุ้มกันภัยจากความไม่แน่นอนของโลก
ดังนั้น จงเลิกถามหาผลประโยชน์ส่วนตนจากประเทศชาติ หากยังไม่เคยเสียสละเพื่อสาธารณะ สังคม และส่วนรวม และจงเลิกนำผลประโยชน์ของชาติ ไปตอบแทนบุญคุณส่วนตัว เพราะประเทศชาติไม่ได้เป็นหนี้ใครด้วยกับท่าน แต่จงสร้าง “ชีวิตที่เป็นอมตะ” ด้วยการรักษาความดีให้ลูกหลานได้ยกย่องกล่าวขาน…ตลอดกาล”