xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ตรวจฯ ย้ำเสนอชื่อสังฆราชต้องเริ่มที่นายกฯ ความเห็นกฤษฎีกาไม่ผูกพันแบบศาล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เลขาฯ ผู้ตรวจการแผ่นดินแจงหลังหารือ ย้ำเสนอชื่อสังฆราชต้องเริ่มที่นายกฯ ก่อน มส.เห็นชอบ เพราะเป็นผู้ทูลเกล้าฯ ถวาย ต้องมีความรับผิดชอบกลั่นกรองบุคคล ย้อน “สุวพันธุ์” ผู้ตรวจฯ เป็นองค์กรตาม รธน. ต่างจากกฤษฎีกาที่สังกัดรัฐคอยให้คำปรึกษา ไม่ใช่ศาลลบล้างความเห็นกันไม่ได้ ชี้ “วิษณุ” ยังบอกทำได้สองทาง มองเป็นกระบวนการทางปฏิบัติ ไม่ต้องยื่นศาล รธน.

วันนี้ (12 ก.ค.) นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวภายหลังการประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินกรณีที่คณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่าขั้นตอนการเสนอชื่อสมเด็จพระสังฆราชของมหาเถรสมาคม (มส.) ไม่ขัดมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ว่าทางผู้ตรวจการฯ ได้มีการหารือกันและเห็นว่าขั้นตอนการเสนอชื่อสมเด็จพระสังฆราชว่าต้องเริ่มต้นที่นายกรัฐมนตรี และให้ มส.เห็นชอบก่อนที่นายกฯ จะนำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ซึ่งการพิจารณาของผู้ตรวจการฯ ไม่ได้ดูว่าใครจะเป็นผู้เหมาะสมหรือไม่เหมาะสม ดูเฉพาะกระบวนการ ดังนั้น ยืนยันว่าสิ่งที่ผู้ตรวจการฯ ดำเนินการไปถูกต้องแล้ว เพราะได้มีการพิจารณากลั่นกรองข้อมูลด้วยความรอบคอบ

“ผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่าเมื่อนายกรัฐมนตรีต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการทูลเกล้าฯ ถวาย และรับสนองพระบรมราชโองการในการแต่งตั้งตำแหน่งดังกล่าว นายกรัฐมนตรีย่อมต้องมีความรับผิดชอบในการกลั่นกรองบุคคลที่ได้รับการนำเสนอด้วย โดยที่มาตรา 7 กำหนดไว้ว่าต้องทูลเกล้าฯ ถวายบุคคลที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ซึ่งกินความหมายกว้างมาก ทั้งกรณีสุขภาพ และกรณีอื่นๆ ด้วย จึงต้องอยู่ที่ดุลยพินิจของนายกรัฐมนตรีที่จะพิจารณา ดังนั้น ความเห็นของนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ระบุว่ารัฐบาลมีกฤษฎีกาวินิจฉัยแล้ว ไม่ต้องฟังผู้ตรวจการแผ่นดินก็ได้นั้น แม้ว่าคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินจะไม่มีผลผูกพันกับหน่วยงานต่างๆ เหมือนคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่อย่าลืมว่าผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่และใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ ต่างจากกฤษฎีกาที่เป็นหน่วยงานสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีที่มีหน้าที่ให้คำปรึกษารัฐบาล”

นายรักษเกชากล่าวต่อไปว่า ถ้ารัฐบาลอยากหาความกระจ่างโดยวิธีอื่น ผู้ตรวจการฯ ก็ไม่ก้าวล่วงการวินิจฉัย แต่เชื่อว่านายกฯ คงมีวิธีตัดสินใจของท่านเอง แต่ถ้าอยากขอความเห็นเพิ่มเติม ผู้ตรวจฯ ก็ยินดีอธิบายความว่าทำไมถึงเสนอเช่นนั้น และที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่าทำได้ทั้งสองทาง ก็แสดงว่าสิ่งที่ผู้ตรวจการฯ มีความเห็นไปก็ไม่ผิด คำวินิจฉัยของกฤษฎีกาไม่ผูกพันกับทุกองค์กรเหมือนคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นเพียงความคิดเห็น ไม่สามารถลบล้างความคิดเห็นของผู้ตรวจการฯ ได้

อย่างไรก็ตาม สำหรับคำร้องเดิมของนายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีต สปช.ที่ขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินวินิจฉัย และส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญนั้น เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินชี้แจงว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินมีคำวินิจฉัยไปแล้ว ส่วนเรื่องให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินมีความเห็นว่าเป็นกรณีของกระบวนการทางปฏิบัติ ไม่ใช่กรณีกฎหมาย หรือบทบัญญัติขัดต่อรัฐธรรมนูญที่จะยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ


กำลังโหลดความคิดเห็น