xs
xsm
sm
md
lg

“ศิริโชค” ร่วมค้านพร้อมเพย์ ชี้ใช้เลขบัตรประชาชนเสี่ยงไม่ปลอดภัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ศิริโชค โสภา
รองเลขาฯ ประชาธิปัตย์ หนุน “บวรศักดิ์” ค้านพร้อมเพย์ ติงใช้เลขบัตรประชาชนทำธุรกรรมทางการเงินทุกรูปแบบเสี่ยงไม่ปลอดภัย เกิดผลเสียต่อประชาชน

นายศิริโชค โสภา รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.ยกร่างฯ) ออกมาต่อต้านเรื่องนโยบายพร้อมเพย์ว่า สำหรับตนนั้นคิดว่าเรื่องนี้ไม่ควรนำเอาเฉพาะเลขบัตรประชาชนแค่อย่างเดียวมาใช้กับการทำธุรกรรมทางการเงินในทุกรูปแบบ ตามหลักควรจะต้องมีการแยกเลขกัน การนำเลขบัตรประชาชนเพียงเลขเดียวมาใช้กับทุกอย่างอาจจะดูง่ายและสะดวกแต่ก็ต้องดูเรื่องความปลอดภัยด้วย เมื่อนายบวรศักดิ์ออกมาติติงเรื่องนี้ รัฐบาลก็ควรนำเอาข้อติติงนี้ไปพิจารณาด้วยว่าจะทำอย่างไรจึงจะไม่เกิดเหตุกรณีที่ข้อมูลส่วนตัวถูกนำมาใช้จนเป็นผลเสียต่อตัวประชาชนเอง

นายศิริโชคกล่าวว่า รัฐบาลควรจะนำเสนอว่าการใช้พร้อมเพย์นั้นมีข้อดีและข้อเสียมากกว่าการใช้ระบบที่ผ่านมาอย่างไร การนำเอาระบบนี้ไปผูกกับเลขบัตรประชาชนหรือเลขโทรศัพท์มือถือนั้น ประชาชนมีความกังวลเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลเป็นอย่างมาก รัฐบาลจะมีคำตอบเรื่องนี้อย่างไร ตนคิดว่ารัฐบาลน่าจะมีนโยบายนำร่องไปก่อนก็ได้ โดยให้คนที่สมัครใจมาใช้พร้อมเพย์ ไม่ต้องมากังวลเรื่องความปลอดภัย โดยอาจจะมีโครงการให้ผู้สมัครใจเข้ามาร่วมก่อน และรัฐบาลก็ค่อยๆ อธิบาย สร้างแรงจูงใจให้ประชาชนเข้ามาร่วมโครงการนี้มากขึ้น

นายศิริโชคกล่าวว่า เท่าที่ตนทราบข้อมูลมา เข้าใจว่าพร้อมเพย์เป็นการโอนเงินระหว่างกันเฉยๆ ยังไม่สามารถนำไปใช้ตามร้านค้าหรือชำระค่าระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ได้ ตนก็ไม่เห็นว่าจะช่วยลดในเรื่องของการใช้ธนบัตรตรงไหน รัฐบาลต้องแสดงให้เห็นด้วยว่าพร้อมเพย์นั้นจะไปลดเรื่องการใช้เงินได้อย่างไร ในปัจจุบันการโอนเงินนั้นคนก็ทำอยู่แล้ว เท่าที่ตนฟังเรื่องพร้อมเพย์ในด้านการจ่ายเงินเดือนพบว่ายังไม่มีตรงไหนที่ให้ความสะดวกเพิ่มขึ้นแก่ข้าราชการซึ่งเป็นผู้รับเงิน จะให้ความสะดวกแก่ตัวผู้จ่ายเงินเสียมากกว่า หลังจากนี้ก็คงไม่ต้องจ่ายเป็นเช็คแล้ว

“ในยุโรป เช่นอังกฤษ เขาก็ไม่มีการใช้บัตรประชาชนอยู่แล้ว และแต่ละคนเขาก็ไม่ได้มีเลขเดียวเพื่อยึดโยงบังคับใช้กับทุกสิ่งทุกอย่าง ผมไม่เห็นโครงการไหนในต่างประเทศที่รัฐบาลออมากำหนดในลักษณะแบบนี้ ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเรื่องที่เอกชนจะไปดำเนินการแล้วรัฐบาลก็จะช่วยเหลือในเรื่องของข้อมูลและแรงจูงใจกับประชาชนมากกว่า”


กำลังโหลดความคิดเห็น