xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” ห่วงรัฐไม่เปิดพื้นที่ทำชาติสู่วังวนเดิม ลั่นแสดงจุดยืนเมื่อถึงเวลา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (แฟ้มภาพ)
“อภิสิทธิ์” หวั่นหลังประชามติบ้านเมืองเข้าสู่วังวนเดิม เหตุไม่เปิดพื้นที่ให้มีส่วนร่วมเต็มที่ แนะทุกฝ่ายปรับตัว ขออย่าบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญ ยันรณรงค์ได้แต่ไม่ใช่ก่อความวุ่นวาย พร้อมพบประชาธิปไตยใหม่ บอก “ประยุทธ์” มีสิทธิเขียนร่าง รธน.ใหม่ แต่น่าคิดให้ชาวบ้านแจมแบบไหน หาข้อสรุปทำไมไม่ผ่าน วอนนักการเมืองช่วยตอบแก้ปัญหาในอดีตได้ยังไง ลั่นแสดงจุดยืนเมื่อถึงเวลาเหมาะสม ย้ำ คสช.ควรเปิดพื้นที่ให้พรรคการเมือง

วันนี้ (11 ก.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการทำประชามติที่จะถึงว่า ในเรื่องนี้ตนไม่อยากให้มองแค่วันที่ 7 ส.ค. แต่อยากให้คนไทยมองไปเลยไปข้างหน้า เพราะท้ายที่สุดสิ่งที่เราต้องการคือให้ประเทศพ้นจากปัญหาเดิมๆ สิ่งที่เราควรทำคือป้องกันไม่ให้เกิดความวุ่นวายขึ้น ทั้งผู้ต้องการแสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ และฝ่ายผู้มีอำนาจ ต่างก็ต้องประคับประคอง เพราะท้ายที่สุดสิ่งที่เราต้องการจากการทำประชามติคือการเปิดพื้นที่ให้ทุกคนมีส่วนร่วม ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าจนถึงวันนี้ก็ยังทำไม่ได้เต็มที่ ดังนั้น ตนอยากให้ทุกฝ่ายช่วยกันคิดต่อไปว่าเมื่อเป็นเช่นนี้แล้วหลังวันที่ 7 ส.ค.ทุกฝ่ายจะมีส่วนร่วมทำให้บ้านเมืองเดินหน้าไปได้อย่างไร ถ้าเราไม่สามารถทำให้หลุดจากปัญหานี้ได้ บ้านเมืองก็จะเข้าสู่วังวนเดิม ไม่ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติหรือไม่ ถ้าบ้านเมืองเกิดความวุ่นวายอย่างนี้ก็ไม่มีใครชนะ สุดท้ายทุกคนก็เดือดร้อนกันหมด ดังนั้นตนจึงว่าทุกฝ่ายต้องปรับตัวตั้งแต่วันนี้เพื่อให้เดินไปข้างหน้าได้ ใครที่ไปทำอะไรที่บิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญซึ่งผิดกฎหมาย ตนขอว่าอย่าทำเลย ขณะเดียวกันทางผู้มีอำนาจก็ต้องตีความกฎหมายเพื่อให้ประชาชนได้แสดงออกเต็มที่อย่างสุจริต

เมื่อถามถึงกรณีที่กลุ่มประชาธิปไตยใหม่ (เอ็นดีเอ็ม) จะเดินสายพบพรรคการเมืองรวมถึงพรรคประชาธิปัตย์ด้วย นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ทุกคนต้องมีสิทธิแสดงความเห็น ที่ผ่านมาตนอ่านกฎหมายแล้วการรณรงค์ก็ทำได้ แต่ต้องไม่ใช่รูปแบบที่ก่อให้เกิดความวุ่นาย ก็เป็นสิทธิของเขา และการแลกเปลี่ยนความเห็นกันก็เป็นเรื่องที่ดีทั้งนั้น ส่วนตัวไม่มีปัญหาอะไร และคิดว่าพื้นที่ต้องเปิดให้ทุกฝ่ายช่วยกันค้นหาสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับประเทศ

ส่วนกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระบุถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านจะมีการร่างเองนั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ก็เป็นอำนาจของท่านอยู่แล้ว แต่ประเด็นอยู่ว่าการร่างเองนั้น จะทำด้วยวิธีไหนอย่างไร ตนเห็นว่าคงไม่มีประโยชน์ถ้าจะตั้งในรูปแบบคณะกรรมการอีก หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ แต่ท่านน่าจะคิดต่อไปว่าจะเปิดให้ประชาชนร่วมออกความเห็นและรับฟังพวกเขาในรูปแบบไหน อย่าลืมว่าหลังจากการรัฐประหาร 2 ปีที่ผ่านมา ถ้าท่านไปร่างเองก็หมายความว่าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน 2 ฉบับ ต้องหาข้อสรุปให้ได้ว่าที่ไม่ผ่านเป็นเพราะอะไร การที่ไปร่างรัฐธรรมนูญเองโดยที่ไม่สรุปส่วนนี้ด้วยก็คงไม่มีประโยชน์อะไร เพราะแม้จะประกาศใช้เป็นกฎหมายได้ แต่การยอมรับก็จะไม่เกิด

“ยืนยันว่าการลงมติวันที่ 7 ส.ค.ไม่ควรมีใครนำเรื่องนี้มาเป็นประเด็นทางการเมืองให้กระทบต่อ คสช. หรือรัฐบาล ผมว่าท่านก็ต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ แต่ก็ควรสรุปด้วยว่าไม่ผ่านเพราะอะไร และทำอย่างไรให้ผ่าน ซึ่งหมายถึงการให้ฝ่ายต่างๆ มีส่วนร่วมได้ ส่วนนักการเมืองก็ต้องตอบท่านให้ได้ว่าจะแก้ไขปัญหาในอดีตได้อย่างไร เราต้องไม่ลืมว่า ถ้ารัฐธรรมนูญไม่เป็นที่ยอมรับ อนาคตประเทศก็จะกลับเป็นเหมือนเดิม และประเทศไทยก็จะจมอยู่กับความขัดแย้งไม่จบสิ้น ซึ่งประชาชนขณะนี้ต้องการเห็นประเทศเดินไปข้างหน้า และยกระดับความเป็นอยู่”หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าว

ส่วนจะมีการแสดงจุดยืนต่อร่างรัฐธรรมนูญชัดเจนหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนบอกไปแล้วว่าสิ่งที่ต้องการมีอยู่ 2 ประเด็นด้วยกัน 1. ตนต้องการทราบว่า ถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านแล้วจะดำเนินการต่ออย่างไร เพราะถ้าไม่รับแล้วได้สิ่งที่แย่กว่า ตนก็ต้องคิดหนักเหมือนกัน 2. ตนไม่ต้องการเห็นบรรยากาศความขัดแย้ง ที่ผ่านมาก็ยังกังวลอยู่ เนื่องจากมีการพูดเรื่องร่างรัฐธรรมนูญเป็นประเด็นทางการเมือง แต่ทั้งนี้ที่ผ่านมาตนขอยืนยันว่าท้ายที่สุดแล้วเราต้องคิดไปไกลกว่าวันที่ 7 ส.ค. ส่วนเรื่องการแสดงจุดยืนต่อร่างรัฐธรรมนูญนั้น ตนไม่มีปัญหา เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมก็ต้องแสดงจุดยืนอยู่แล้ว

นายอภิสิทธิ์ยังกล่าวถึงกรณีที่คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทยนัดหารือกับแกนนำพรรคการเมืองว่า ตนไม่ทราบ ต้องขอย้ำว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของ 2-3 คนที่ระบุว่าอยากจะคุยกัน ซึ่งส่วนตัวไม่ได้มีปัญหาอะไรเลย แต่ตนบอกว่าพอไปประกาศเช่นนั้น ก็จะเหมือนกับเป็นเวที ก็เลยมีปัญหาเกิดขึ้น คนก็มองว่านักการเมืองต้องการต่อรองอะไรหรือไม่ สุดท้ายก็ทำให้เกิดปฏิกิริยาจากหลายๆ ฝ่าย แต่จริงๆ แล้วนักการเมืองก็พูดคุยกันอยู่แล้ว ซึ่งทุกคนก็มีความห่วงใยต่อสถานการณ์บ้านเมือง เพียงแต่รูปแบบวิธีการถ้าเอาความสำเร็จเป็นที่ตั้ง ก็ต้องเข้าใจเงื่อนไขต่างๆ ของสังคม และต้องยอมรับว่านักการเมืองเป็นจำเลยของสังคมอยู่แล้ว อะไรที่ไปเพิ่มช่องว่างนักการเมืองกับภาคส่วนอื่นเป็นเรื่องไม่ดีแน่ หรือถ้าไปจัดในรูปแบบที่ทำให้เกิดความหวาดระแวงก็ไม่มีประโยชน์ จริงๆ ตนก็อยากให้ คสช.เปิดพื้นที่ด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น