xs
xsm
sm
md
lg

ตร.เปิดศูนย์รักษาความสงบออกเสียงประชามติ พร้อมจับตากลุ่มเคลื่อนไหว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - รอง ผบ.ตร.เปิดศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยการออกเสียงประชามติ จับตากลุ่มออกมาเคลื่อนไหว พบผู้กระทำผิดแล้ว 2 รายที่เชียงใหม่และราชบุรี หนึ่งในนั้นเป็นนักข่าวประชาไท รับคิดต่างได้ แต่ถ้าบิดเบือนชี้นำเข้าข่ายมีความผิด

วันนี้ (11 ก.ค.) เมื่อเวลา 13.45 น. ที่ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปก.ตร.) ชั้น 20 อาคาร 1 ตร. พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ด้านความมั่นคง (รอง ผบ.ตร.มค.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยการออกเสียงประชามติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานเปิดศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยการออกเสียงประชามติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศรส.ปต.ตร.) โดยมี พล.ต.ท.เดชา ชวยบุญชุม ผู้ช่วย ผบ.ตร.เป็นรองผู้อำนวยการศูนย์ฯ

รอง ผบ.ตร.กล่าวว่า โครงสร้าง ศรส.ปต.ตร.ประกอบด้วย ฝ่ายอำนวยการจำนวน 8 ฝ่าย, ฝ่ายปฏิบัติการจาก บช.น., ภ.1-9, ศชต., ก.และ ตชด. และฝ่ายสนับสนุน โดยมีที่ตั้งอยู่ที่สำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ ชั้น 13 อาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และมีกำหนดการปฏิบัติภารกิจในห้วงระหว่างวันที่ 11 ก.ค. - 11 ส.ค. 2559 วันนี้เปิดศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยการออกเสียงประชามติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศรส.ปต.ตร.) ผ่านระบบสื่อสารการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ หรือวิดีโอคอนเฟอเรนซ์โดยมีผู้แทนของแต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมเตรียมความพร้อมการปฏิบัติภารกิจการรักษาความสงบเรียบร้อยการออกเสียงประชามติของข้าราชการตำรวจทั่วประเทศ โดยกำชับให้ตำรวจทั่วประเทศดูแลความสงบเรียบร้อยในการลงประชามติฯ จับตาผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหว

รอง ผบ.ตร.กล่าวว่า จากการสืบสวนสอบสวนติดตามเรื่องการลงเสียงประชามติอย่างต่อเนื่องขณะนี้พบว่ามีการกระทำความผิดละเมิด พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ ในลักษณะบิดเบือนข้อมูลเกิดขึ้นใน 2 พื้นที่ คือ จ.ราชบุรี ที่เมื่อวานนี้ (10 ก.ค.) มีการควบคุมตัวกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ รวมทั้งนักข่าวประชาไท รวมทั้งสิ้น 5คน และในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ นอกจากนี้ยังให้จับตากลุ่มอื่นๆ ที่อาจจะมีความเคลื่อนไหวในช่วงใกล้วันลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ขอระบุว่าเป็นกลุ่มไหนบ้าง

พล.ต.อ.ศรีวราห์กล่าวถึงการจับกุมกลุ่มประชาธิปไตยใหม่และนักข่าวประชาไทที่ จ.ราชบุรี ว่าตนไม่สามารถเปิดเผยได้ว่าการกระทำบิดเบือนนั้นมีรายละเอียดอย่างไรเพราะเป็นเรื่องในสำนวน อย่างไรก็ตาม การมีความคิดเห็นที่แตกต่างนั้นสามารถทำได้ แต่หากเข้าข่ายชี้นำและบิดเบือนก็ถือว่าเข้าข่ายมีความผิด ต้องดำเนินการ ทั้งนี้ตำรวจจะบังคับใช้กฎหมายใน พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติฯในมาตราที่เกี่ยวข้อง การดำเนินคดีส่งขึ้นศาลอาญาฯ หรือศาลพลเรือน แต่กรณีที่กระทำผิดกฎหมายด้านความมั่นคง หรือละเมิดคำสั่ง-ประกาศ คสช. หรือชุมนุมเกิน 5 คนก็ต้องขึ้นศาลทหาร ส่วนกรณีการทำโพลหรือสำรวจความคิดเห็นต่างๆ ก็จะต้องดูเจตนาว่าต้องการที่จะบิดเบือนข้อเท็จจริง หรือชี้นำหรือไม่ ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีฝ่ายกฎหมายคอยพิจารณาเรื่องดังกล่าวแล้ว อย่างไรก็ตามขอให้ประชาชนมาใช้สิทธิลงประชามติกันมากๆ



กำลังโหลดความคิดเห็น