รองนายกฯ-รมว.กลาโหม เผยยูเครนยังส่งรถถังที่เหลือไม่ได้เพราะประเทศเกิดปัญหา ต้องนำรถถังที่ผลิตเองไปใช้งานก่อน ระบุทูตมาหาถกเรื่องอื่นด้วย ระบุการซื้อรถถังจีนเป็นเรื่องของกองทัพบก แจงได้งบประมาณซื้อยุทโธปกรณ์ยังน้อยกว่าสาธารณสุข-ศึกษาธิการ
วันนี้ (6 ก.ค.) ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และ รมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีที่นายอันดรีย์ เบชตา เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งยูเครนประจำประเทศไทย เข้าพบนั้นจะมีการหารือเรื่องรถถัง ที-84 Oplot จากประเทศยูเครน ที่ยังส่งมอบให้กองทัพบกไทยไม่ครบจำนวนหรือไม่ว่า คิดว่าทางยูเครนยังส่งรถถังดังกล่าวที่เหลือให้เราไม่ได้ ถ้าเขาส่งได้ก็คงส่งมาแล้ว เพราะที่ผ่านมาประเทศยูเครนก็เกิดปัญหา เขาจึงต้องนำรถถังที่ผลิตเองไปใช้งานก่อน ตนเชื่อว่าจะส่งมาให้ไทยได้ต้องใช้ระยะเวลาอีกสักพัก วันนี้ก็จะสอบถามนายอันดรีย์ เบชตาในเรื่องนี้ด้วย แต่คิดว่าการที่นายอันดรีย์ขอเข้าพบคงมีเรื่องอื่นด้วย เนื่องจากทราบว่าทางยูเครนอยากจะมาลงทุนสร้างยานเกราะล้อยางในประเทศไทย
เมื่อถามว่า การที่ไทยจัดซื้อรถถังจากจีนเพิ่มเติมนั้น สาเหตุสำคัญมาจากที่ยูเครนส่งมอบรถถังที-84 Oplot ให้ไทยล่าช้าใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ก็อาจจะเป็นไปได้ แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องของกองทัพบกที่ต้องการให้เกิดความรวดเร็ว และทาง พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ก็ได้เดินทางไปดูรถถังที่จีนด้วยตนเองก็คงเห็นว่ามีสมรรถนะเหมาะสมกับประเทศไทย
เมื่อถามว่า หมายความว่าต่อไปไทยอาจจะไม่ซื้อยุทโธปกรณ์จากยูเครนแล้ว หากสถานการณ์ประเทศเขาไม่มั่นคง พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ยังไม่ทราบเรื่องอนาคต เพราะต้องหารือกันก่อนว่าจะดำเนินการได้แค่ไหน เมื่อถามว่าจะมีการปรับเงินยูเครน เนื่องจากส่งมอบรถถังที-84 Oplot ที่เหลือให้ไทยล่าช้าหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ตนไม่ทราบเรื่องรายละเอียด เพราะกองทัพบกเป็นผู้ดูแลเรื่องนี้ว่าจะดำเนินการอย่างไร แต่คิดว่าทุกอย่างต้องเป็นไปตามระเบียบสัญญาที่ได้ลงนามไว้แล้ว
เมื่อถามว่าที่ผ่านมายังมีการนำเรื่องงบประมาณการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ของกระทรวงกลาโหมมาเปรียบเทียบกับงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาธิการ ว่าไม่มีความเท่าเทียมกัน พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ทางกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาธิการ ได้งบประมาณมากกว่ากระทรวงกลาโหม และงบประมาณกลางที่มีจำนวนมหาศาลก็ใช้กับเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประชาชนโดยตรง เพราะเป็นเงินจากภาษีราษฎรก็ต้องกลับไปหาราษฎร ไม่ได้เทียบเท่ากับงบประมาณของกระทรวงกลาโหม เพราะกระทรวงกลาโหมได้งบประมาณมาจำนวนไม่เท่าไหร่ และการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ทุกอย่างก็ทำเพื่อให้ประชาชน เนื่องจากเราต้องการทำให้ประเทศมีความมั่นคง ไม่ได้นำเงินไปใช้แบบสะเปะสะปะ