ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนฯ ชูร่างรัฐธรรมนูญ เขียนเรื่องสิทธิเสรีภาพไว้ดีมาก อ้างถ้าผ่านกฎหมายนิรโทษสุดซอยออกไม่ได้ พร้อมให้ชาวบ้านมีสิทธิ์เสนอรัฐหยุดทำสิ่งที่กระทบต่อความสงบสุขได้
วันนี้ (5 ก.ค.) นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย (มปท.) และอดีตเลขาธิการ กปปส. เผยแพร่ภาพสดผ่านเว็บไซต์เฟซบุ๊กแฟนเพจส่วนตัวแสดงจุดยืนสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญ โดยกล่าวถึงเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน ว่า ตนศึกษาร่างรัฐธรรมนูญแล้วต้องบอกว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้พิเศษสุด เพราะเขียนเรื่องสิทธิเสรีภาพไว้ดีมากตั้งแต่มาตราที่ 25 จนถึงมาตราที่ 49 มีการระบุเรื่องสิทธิเสรีภาพของปวงชนเอาไว้ครบทุกเรื่อง และสิ่งที่พิเศษคือ ในมาตราที่ 25 นั้น บัญญัติไว้เลยว่าสิทธิใดนอกเหนือจากที่ได้บัญญัติให้คุ้มครองไว้ในรัฐธรรมนูญ การใดที่ไม่ได้ห้าม หรือจำกัดไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือจำกัดไว้ในกฎหมายอื่น ประชาชนย่อมมีสิทธิเหล่านั้นได้ ซึ่งนี่เป็นสิ่งพิเศษ ที่ผ่านมา เราอ่านรัฐธรรมนูญก็รู้ว่ามีสิทธิทำอะไร แต่ไม่กล้าจะทำนอกเหนือจากนั้น เพราะกังวลว่ารัฐธรรมนูญจะไม่รับรอง แต่สำหรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ระบุเอาไว้เลยว่าสิ่งใดที่นอกเหนือจากที่รัฐธรรมนูญที่ได้ห้ามเอาไว้ เราสามารถทำสิ่งนั้นได้ และจะคุ้มครองด้วย ซึ่งนี่เป็นสิ่งสำคัญ ต่อจากนี้ตนจะสามารถต่อสู้ร่วมกับมวลมหาประชาชนได้ตลอดรอดฝั่ง ที่ผ่านมา ร.ต.อ.เฉลิมอยู่ บำรุง อดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้พยายามใช้มาตรการทางกฎหมายดำเนินการกับพวกตน แต่โชคดีว่าศาลรัฐธรรมนูญคุ้มครอง
นายสุเทพ กล่าวต่อว่า ร่างรัฐธรรมนูญได้เขียนเรื่องสิทธิเสรีภาพที่สำคัญใน 2 ประเด็น คือ ในมาตรา 26 ระบุว่า การจะตรากฎหมายนั้นจะต้องไม่ขัดกับหลักนิติธรรม พวกตนเคยออกมาต่อสู้เพื่อต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับสุดซอย ต่อจากนี้ ถ้าร่างรัฐธรรมนูญผ่าน กฎหมายแบบนี้ออกไม่ได้แล้ว และต้องไม่ออกกฎหมายที่ไปจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนด้วย ส่วนในมาตรา 41 ระบุชัดเจนว่าประชาชนมีสิทธิได้รับทราบข้อมูลข่าวสารที่อยู่ในการครอบครองของทางราชการ มีสิทธิเสนอเรื่องร้องทุกข์ต่อราชการ มีสิทธิ์ที่จะฟ้องหน่วยงานของรัฐในฐานที่ละเว้นจากการกระทำใด หรือกระทำการละเมิดสิทธิของเรา ตนชอบเรื่องเหล่านี้มาก นี่เป็นการเคารพประชาชนซึ่งควรเป็นหน้าที่ของรัฐบาล
นายสุเทพ กล่าวว่า อีกประเด็นที่สำคัญ คือ รัฐธรรมนูญได้ระบุว่าถ้ามีใครก็ตามไปกระทำการใด ๆ ที่จะล้มล้างการปกครองระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ทำไม่ได้ และถ้าใครทำ ประชาชนมีสิทธิไปฟ้องอัยการสูงสุด (อสส.) ให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย และถ้า อสส. ไม่ทำภายใน 15 วัน ประชาชนสามารถฟ้องศาลรัฐธรรมนูญได้ด้วยตัวเอง ซึ่งนี่เป็นเรื่องใหม่ ทำให้ประชาชนมีสิทธิทำหน้าที่ปกป้องสถาบันได้อย่างเต็มภาคภูมิ และในมาตรา 43 ระบุว่า ประชาชนมีสิทธิเสนอให้รัฐหยุดดำเนินการในสิ่งที่กระทบต่อความสงบสุขของประชาชน และหน่วยงานของรัฐต้องพิจารณาให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจนั้น ซึ่งตนคิดว่าเรื่องเหล่านี้ดีมาก เพราะประชาชนจะไม่ต้องไปเดินขบวนร้องเรียนเวลาได้รับความเดือดร้อนเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เนื่องจากมีช่องทางที่จะไปขอให้รัฐหยุดดำเนินการได้ ถ้าหน่วยงานรัฐไม่ทำก็ถือว่าหน่วยงานรัฐนั้นมีความผิดฐานไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ