ป้อมพระสุเมรุ
ตามต่อๆประเด็นที่ “ผู้จัดการสุดสัปดาห์ 360” เปิดประเด็นไว้เมื่อฉบับที่แล้ว ตามท้องเรื่อง “เห็นพี่เงียบๆ พี่ฟาดเรียบนะจ๊ะ” ไล่เรียงวีรกรรมขุนพลคนสำคัญของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คนหนึ่งที่มัก “ตกพุ่มซวย” ไปพัวพันกับเรื่องฉาวโฉ่ ส่อไปในทางทุจริตอยู่เรื่อย ตั้งแต่เรือเหาะบุโรทั่ง รถถังยูเครน ไม้ล้างป่าช้าจีที 200 จนถึงวาระแห่งชาติอย่างการจัดการขยะในตอนนี้
จะเป็นใครไปไม่ได้นอกเสียจาก “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยคนปัจจุบัน
ย้อนกลับไปเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) “บิ๊กป๊อก” แสดงอิทธิฤทธิ์ให้เห็นมาแล้ว ไม่สนเสียงคัดค้านการจัดซื้อ “เรือเหาะตรวจการณ์” (SKY DRAGON) มูลค่า 350 ล้านบาท เข้ามาประจำการณ์ในกองทัพบก ภารกิจใช้สำรวจกลุ่มก่อการในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่แล้วก็เหาะจริงไม่ได้ ทำได้แค่ “เหาะหลอก” แหกตาประชาชนไปวันๆ จนปลดประจำการเป็นเศษเหล็กไร้ค่าในที่สุด
หนักกว่านั้นคงเป็นการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิด “จีที 200” ที่ไม่รู้ถูกแหกตา หรือเต็มใจให้หลอก กองทัพบกในยุคของ “บิ๊กป็อก” จัดซื้อวิธีพิเศษเร่งรัดให้เสร็จอย่างรวดเร็ว โดยที่ไม่ได้คำนึงถึงประสิทธิภาพ หรือผลลัพธ์ความสูญเสียที่ตามมา กับการใช้ “ไม้ล้างป่าช้า” ไปเล่นกับ “ระเบิดจริง” เมื่อรู้ว่าเป็นของปลอมถูกหลอกขายแล้วก็ยังนิ่งไม่เรียกร้องงบประมาณที่สูญเสียไป เหมือนมีอะไรที่เรียกกันว่า “คอมมิชชั่น” อุดปากอยู่
ล่าสุด “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับมอบหมายจาก “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ศึกษาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการฟ้องร้องบริษัทผู้ผลิต ยังอ้อมแอ้มตอบไม่เต็มคำว่าจะฟ้องร้องได้หรือไม่ ข้ออ้างหลักคือการจัดซื้อวิธีพิเศษ พร้อมอ้างว่าขณะนั้นยังไม่มีใครซื้อ “จีที 200” จึงไม่สามารถสืบราคาได้
แถให้พ้นๆตัวไป ยก 108 เหตุผลมาอ้างเอาตัวรอดไปตามสูตร ลองถ้าเปลี่ยนจาก “บิ๊กป๊อก” มาเป็นคนของขั้วตรงข้าม ก็จะหา 108 เหตุผลมาเอาผิดจนได้ ตลกไม่น้อย คนจะซื้อของอะไร ไม่เช็คราคาก่อน กเคสนี้ใช้งบประมาเป็นกันล้านอ้างกันดื้อๆว่า ไม่เคยมีการซื้อขายอะไรแบบนี้มาก่อน แบบนี้ก็เจ๊งอย่างเดียว
ที่ตลกร้ายก็ดันเป็นรายการ “จงใจเจ๊ง” เสียด้วย
ขนาดนั่งในเก้าอี้ที่โดดเด่นเป็นที่จับจ้องอย่าง ผบ.ทบ. “บิ๊กป็อก” ยังเลือกเล่นเสี่ยงขนาดนั้น พอสยายปีกมาคุม “กระทรวงเกรดเอ” ที่มหาดไทย งบประมาณบานเบอะ คราวนี้ก็บันเทิงเริงใจกันเลยทีเดียว หากยังจำกันได้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ที่มี “ฉัตรชัย พรหมเลิศ” อธิบดี ปภ. ชงงบให้ องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก (อผศ.) รับเป็นหน้าเสื่อจัดขุดลอกคูคลองทั้งประเทศ ทั้งที่ไม่มีศักยภาพและไม่มีอุปกรณ์เป็นของตัวเองเลย ก็ยังได้โครงการไปแบบมึนๆ
น่าตลกที่ที่ ปภ.ต้องจ่ายงบประมาณก้อนโตให้กับ อผศ. ทั้งที่หน่วยงานที่เข้าไปขุดลอกคลองกลับเป็นหน่วยงานของ ปภ.เอง แม้จะไม่สรุปตัวเลขทั้งประเทศ แต่ฟาดกลมๆหลักหลายพันล้านบาท แจกจ่ายถึง “บิ๊กตัว ป.” ได้กันทุกคน ไม่ขาดตกบกพร่อง
และดูเหมือน ปภ.ยุค “ฉัตรชัย” จะสนองงานเป็นเลิศ หาช่องพลิกบัญชีเจียดงบเข้ากระเป๋า “บิ๊กตัว ป.” เป็นระยะ ในอารมณ์ “คนอยู่เป็น” ที่ต้องจ่ายหนัก ก็เพื่อรักษาเก้าอี้ของตัวเองเอาไว้ ไม่ให้โดนเด้ง-โดนย้าย เพราะถูกกาหัวไว้ว่าเป็น “เด็กค่ายสีแดง” อยู่ไปอยู่มา “บิ๊กตัว ป.” ตบหน้าขาตัวเองดังฉาดพร้อมเอ่ยเสียงดัง “เออ.. ไอ้นี่ใช้ได้”
สดๆร้อนๆแว่วมาว่า “ฉัตรชัย” ได้ชงงบประมาณ ปภ.ดำเนินโครงการจัดซื้อ เครื่องตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอร์ให้กับ “สถานีตำรวจ” ทุกแห่งในประเทศ เบื้องต้นจะจัดซื้อทั้งหมด2,930 เครื่อง ราคาเครื่องละ 80,000 บาท รวมงบประมาณทั้งหมด 234 ล้านบาท โดยประกาศราคากลางตั้งแต่เดือนธันวาคม 2558 แต่จนถึงเวลานี้ยังไม่สามารถตกลงกันได้ว่าจะให้บริษัทใดจัดซื้อ
วันนี้ต้องจับตาอย่าให้ตกหล่นว่า ใครจะได้โครงการจัดซื้อเครื่องตรวจแอลกอฮอล์ แล้วจะซ้ำรอยพวกกล้องวงจรปิดดัมมี่ หรือไม้ล้างป่าช้าหรือเปล่า รวมทั้งต้องตั้งคำถามความจำเป็นที่ ปภ.ต้องควักกระเป๋าตัวเองจัดซื้อเครื่องวัดแอลกอฮอล์ให้กับ “สถานีตำรวจ” ทั้งที่ไม่ได้ตรงกับภารกิจหลักของ ปภ.ที่เกี่ยวกับสาธารณภัยของประชาชนมากกว่า
อาจจะเป็นนโยบาย “ล้างท่อ” จัดการงบประมาณคงค้างให้สิ้นซาก ครั้นจะปล่อยคืนคลังไปก็อาจกระทบการจัดทำงบยประมาณในปีต่อๆไป สู้หาทางผลาญให้หมด ตัวเองไม่ให้ได้ใช้ ก็ยกให้คนอื่น อาจมีเรื่อง “คอมมิชชั่น” มาเป็นผลพลอยได้ อาจจะไม่ตรงจุด แต่ “เครื่องตรวจแอลกอฮอล์” ก็ถูๆไถๆไปได้ว่า ใช้ป้องกันสาธารณภัย ลดอุบัติเหตุ เพื่อความปลอดภัยของประชาชน แล้วเผอิญทาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) งบประมาณไม่เพียงพอ
ถ้าอ้างกันขนาดนี้ ก็เอาที่พี่สบายใจได้เลย
ทั้งเสิร์ฟทั้งป้อนจน “บิ๊กตัว ป.” อิ่มหนำสำราญใจ ทีนี้ “ฉัตรชัย” คงไม่ได้มองแค่นั่งแช่ที่ ปภ. ฝันต่อไปก็เก้าอี้ “ปลัดกระทรวงมหาดไทย” ช่วงโยกย้ายปลายปีนี้ ถ้าเป็นจริงก็ไม่ต้องสืบว่า ตำแหน่ง “เบอร์ 1 กระทรวงกคลองหลอด” ท่านได้แต่ใดมา
โครงการประเภทหวานเจี๊ยบ เคี้ยวง่าย กลืนคล่องใน “มหาดไทย” ยังมีอีกเพียบ อยู่ที่จับได้ไล่ทันกันหรือเปล่า เอาแค่ที่บรรดาบิ๊กๆออกตัวแรงกันเป็นพิเศษ ทั้ง “บิ๊กตู่” เองก็ประกาศหลายครั้งทั้งในการสัมภาษณ์ หรือในรายการคืนความสุขฯทุกสัปดาห์ว่า การบริหารจัดการ “ขยะ” ถือเป็น “วาระแห่งชาติ” เฉกเช่นเดียวกับ “บิ๊กป๊อก” ที่คลุกคลีคีโมงอยู่กับการตรวจงาน “โรงขยะ-โรงไฟฟ้าพลังขยะ” เป็นว่าเล่น
ล่าสุดในขณะที่กระแส “จีที 200” กลับมาร้อนรง “บิ๊กป๊อก” ในฐานะตัวละครเอกเล่นบท “เตมีย์ใบ้” ไม่ขอตอบเรื่องนี้ แต่พอมีกระแสข่าวลือว่าจะมีการคิดค่าจัดเก็บขยะ 170 บาทต่อครัวเรือน เจ้ากระทรวงต้องออกมาวิงวอนให้เลิกตีข่าวนี้ เพราะเรื่องยังไม่ “ตกผลึก” การยกร่างกฎหมายก็ยังไม่เสร็จ
ย้อนไปดูก่อนหน้านี้ในการเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ... ซึ่งแต่เดิมกำหนดให้จัดเก็บค่าขยะครัวเรือนละ 220 บาทต่อเดือน แต่ล่าสุดมีกระแสข่าวว่าจะปรับลดมาเหลือ 170 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน ที่ปรับลดลงเพราะถูกถล่มหนักว่าจัดเก็บแพงเกินไป
คือตอนนี้ตัวเลข 170 บาทต่อครัวเรือนค่อนข้างชัวร์แล้ว เพียงแต่กฎหมายยังไม่เสร็จ ก็เก็บกันในอัตราเดิมไปก่อนเท่านั้นเอง
หนักกว่านั้นในร่างกฎหมายดังกล่าวยังมีการเรื่องการเปิดให้ “เอกชน” เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการขยะแบบครบวงจร ทั้งการทำลาย หรือการนำมาใช้ประโยชน์ในรูปแบบโรงไฟฟ้าพลังขยะ ที่ก่อนหน้านี้ได้มีประกาศคำสั่งตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ได้กรุยทางในการยกเว้นผังเมือง สำหรับกิจการบางประเภท ซึ่งตามเนื้อหามุ่งเน้นไปที่กิจการที่เกี่ยวกับพลังงาน เช่น โรงผลิตก๊าซชีวภาพ โรงบำบัดน้ำเสีย เตาเผาขยะ หลุมฝังกลบขยะ และโรงงานรีไซเคิล เป็นต้น
รวมทั้งมีการเอ่ยถึง “กิจการอื่นที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการกำจัดมูลฝอย” ซึ่งตีความไม่ยากว่าน่าจะเป็น “โรงไฟฟ้าพลังความร้อนจากเชื้อเพลิงขยะมูลฝอย” นั่นเอง
น่าสนใจว่า “โรดแมปขยะ” ของ คสช.ดูเป็นขั้นเป็นตอน หลังจากที่เคยมีการเปิดเผยว่า รัฐบาล คสช.ได้เห็นชอบกับแนวทางการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยของประเทศ มอบหมาย กระทรวงมหาดไทย เป็นแม่งานหลัก และเตรียมงบประมาณสนับสนุนไว้ไม่ต่ำหว่า 2.6 หมื่นล้านบาท
ประเดิม “โครงการนำร่อง” ไปแล้วที่ อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ที่คณะรัฐมนตรี (ครมง) ได้อนุมัติงบประมาณ 534 ล้านบาทในการดำเนินการ ซึ่งก็เป็น บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลล็อปเม้นต์ จำกัด (มหาชน) ที่เป็นผู้เสนอราคาประมูลต่ำสุด ได้เข้าไปดำเนินการโครงการก่อสร้างสถานที่กำจัดขยะในที่ดินราชพัสดุ ลงนามในสัญญาจัดซื้อจัดจ้างไปตั้งแต่เดือนธันวาคม 2557 เสร็จสิ้นไปเดือนสิงหาคมปี 2558 พ่วงด้วยโครงการรณรงค์ประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการขยะมูลฝอย โดยบริษัทพีอาร์โนเนมอย่าง บริษัท ดีเอวัน จำกัด ได้รับไปดำเนินโครงการวงเงิน 8,900,000 บาท
“โครงการนำร่อง” ที่อยุธยา ก็ใช้เป็นโมเดลให้กระทรวงมหาดไทยจัดทำแผนจัดตั้งโรงกำจัดขยะมูลฝอยในภาพรวมของประเทศ เพื่อให้มีโรงกำจัดขยะมูลฝอยเพียงพอที่จะรองรับปริมาณขยะของทุกจังหวัด โดยเปิดให้ “เอกชน” เข้ามามีส่วนร่วมตามที่กล่าวไปแล้ว ไม่ใช่เพียงงานก่อสร้างเท่านั้น ยังมีในเรื่องงานขนย้ายขยะเข้ามาด้วย พูดง่ายๆในอนาคต “เอกชน” จะเป็นผู้ดำเนินการแบบครบวงจร ต่างจากในปัจจุบันที่บางพื้นที่เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบขององค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น
ท่ามกลางข่าวลือว่ามีการเตรียม “บริษัทเอกชน” สายแข็งโป๊ก เตรียมเข้ามารับงานสถานีกำจัดขยะแบบครบวงจรไว้แล้ว รอเพียงทำคลอดกฎหมายออกมาเท่านั้น
หาก พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็จะทำให้ “มหาดไทย” กินรวบดึงงานในส่วนของ กระทรวงสาธารณสุข มาคุมแบบเบ็ดเสร็จ
“คลองหลอด” ยุค “เสือเงียบ” ที่มี “บิ๊ก มท.” รู้เห็นและอยู่เป็น ทั้งเสิร์ฟทั้งป้อนจน “ผู้มีอำนาจ” อิ่มหมีพลีมันเสียยิ่งกว่าสมัย “นักการเมือง” เรืองอำนาจเสียอีก.