“ประยุทธ์” ถก คกก.น้ำ ย้ำปี 60 ทำระบบน้ำประปา 100% ทุกพื้นที่ สั่งคิดใหม่เชื่อมข้างในไปข้างนอกปัญหาสร้างอุโมงค์น้ำ กทม. ลดผลกระทบ ปชช. เร่งทำแผนใหม่เร็วที่สุด ควบคู่มาตรการลดความเสี่ยง ลั่นไม่อยากใช้อำนาจทุกอย่าง จะหมดความน่าเชื่อถือ เหน็บบางคนไม่ได้เกี่ยวแต่อยากแสดงปัญญา ทำเพื่อโลกแต่ไม่ทำเพื่อชาติ มุ่งแก้ค้ามนุษย์ต่อแม้มะกันชี้ยังไม่ถึงขั้นต่ำ ขออย่าฟังความเห็นคนคนเดียว รับแก้ไอยูยูคืบ
วันนี้ (1 ก.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2559 ว่าเป็นการรายงานความก้าวหน้าการบริหารจัดการน้ำ ในกิจการแผนบริหารจัดการน้ำ พร้อมมีการเสนอแผนบริการจัดการใหม่ที่ให้แนวทางไป จากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมประชาชนในแต่ละจังหวัดที่หลายเรื่องจำเป็นต้องนำมาขับเคลื่อนให้เร็วขึ้น เพราะเป็นความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ที่มีหลายเรื่องยังขาดอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเก็บน้ำ ระบบการส่งน้ำ เพราะหลายพื้นที่มีปัญหาที่ไม่สามารถทำในพื้นที่ได้ แต่จะต้องทำในพื้นที่ที่ห่างไกลออกไปเพราะมีแรงต่อต้าน แต่ปัญหาคือการส่งน้ำจะทำอย่างไร ตรงนี้เป็นเรื่องของน้ำการเกษตรและต้องชัดเจน ในเรื่องน้ำอุปโภคบริโภค เรื่องการประปาต้องทำให้ใช้งานได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ที่ยังไม่มีก็ต้องมีให้ได้ภายในปี 60 ของเก่าที่เสียก็ต้องซ่อม สิ่งต่างๆ เหล่านี้ถูกปล่อยปละละเลยมาเป็นเวลายาวนาน ในเรื่องของน้ำอุตสาหกรรมและน้ำระบบนิเวศเราจะต้องให้ความสำคัญต่อการใช้น้ำทุกหยดให้มีคุณค่า ใช้น้ำอย่างประหยัดทั้งน้ำอุปโภคบริโภค และน้ำในการเพาะปลูก ถึงจะต้องมีการปรับเปลี่ยนในการปลูกพืชบ้าง โดยเป็นเรื่องของกระทรวงเกษตรฯ ที่เป็นหลักในเรื่องการวางแผนเรื่องการบริหารจัดการการเพาะปลูก รวมถึงกระทรวงพาณิชย์ เพราะจะต้องนำไปสู่การตลาด ฉะนั้นต้องทำงานร่วมกัน ข้อสำคัญคือกระทรวงมหาดไทยที่เป็นต้นทางต้องชี้เป้าหมายความต้องการของประชาชนในพื้นที่ เพราะเป็นผู้ที่ดูแลเรื่องของประชาชน
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า สำหรับวันนี้เป็นความก้าวหน้าตามลำดับ และอย่างที่ตนได้สั่งปรับเปลี่ยนไปเราได้มีการวางแผนระยะยาวไปถึงปี 2569 หลายอย่างมีการปรับต่อไป มันเป็นความอ่อนตัวของการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล โดยเราเน้นทั้งสามกิจกรรม ถ้าย้อนไปดูของเดิมจะเน้นเรื่องของอุทกภัยเป็นหลัก วันนี้เราต้องดูน้ำทั้งสามประเภทด้วย ปีนี้ที่เรามีการคาดการณ์เอาไว้มันอาจจะมีฝนตกมากขึ้น อาจจะมีการทิ้งระยะบ้างในช่วงไหนก็ตาม อยากให้ทางเกษตรกรได้มีการติดตามสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง ทางสื่อโทรทัศน์ วิทยุ หรือจากทางเจ้าหน้าที่ เพื่อจะได้ปรับตัวเองให้สอดคล้อง ไม่อย่างนั้นลงทุนไปแล้วจะเกิดความเสียหาย หากน้ำขาดจะทำอย่างไร ต้องมีการปรับเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยตัวเอง ก็ต้องขอความร่วมมือจากภาคประชาชน ประชาสังคม เอ็นจีโอ และผู้นำท้องถิ่น ทุกคนต้องร่วมกันปฏิรูป เอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพราะทั้งเกษตรกร อุตสาหกรรม ก็ต้องการใช้น้ำ ทั้งหมดจะเป็นยุทธศาสตร์ในการดำเนินการขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า เราต้องทำเพื่อ 20 ปีข้างหน้าที่คนจะเพิ่มขึ้น ฉะนั้นรายได้จะต้องมาจากหลายภาคส่วน ทั้งการเกษตร การท่องเที่ยว และหลายกิจกรรมต้องมีความร่วมมือการลงทุนเรื่องการสร้างความเชื่อมโยงสาธารณูปโภคพื้นฐาน มักใช้เงินทั้งสิ้น หลายคนเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือ วันนี้ตนก็ช่วยอย่างเต็มกำลัง กำลังตนมีอย่างเดียว คือกำลังจากเงินที่ได้จากภาษี ซึ่งก็ยังคงน้อยอยู่ เพราะเรายังปรับโครงสร้างได้ไม่เรียบร้อย แต่ผู้เดือดร้อนยังมีอยู่ ก็ต้องเอาเงินที่เตรียมไว้ในอนาคตมาใช้แก้ปัญหาเดิม อยากให้สื่อช่วยกันทำความเข้าใจ
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในการประชุมมีการอนุมัติโครงการขนาดใหญ่หรือไม่ และตอนนี้รัฐบาลกำลังพยายามขับเคลื่อนการลงทุนในภาคตะวันออกซึ่งความต้องการน้ำในภาคอุตสาหกรรมจะเพิ่มขึ้น ต้องมีการปรับแผนการลงทุนน้ำเพื่อรองรับภาคอุตสาหกรรมหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่ต้องปรับอะไร เพราะแผนการลงทุนน้ำอนุมัติหลักการไปแล้ว แต่จะต้องปรับให้สอดคล้องกับงบประมาณที่เรามีอยู่ ไม่ใช่อนุมัติโครมเดียว เรื่องน้ำเป็นเงินล้านล้านบาท อย่าไปตกใจกับตัวเลขโดยรวมทั้งหมด มันเป็นตัวเลขโดยรวมและตัวเลขคร่าวๆ เสร็จแล้วต้องเอาเข้าที่ประชุม ครม.ไปออกแบบมาว่ามีอะไรเพิ่มขึ้น มีแผนรายะเอียดและไปพูดคุยกับสำนักงบประมาณว่าจะสามารถจัดสรรงบประมาณได้หรือไม่ เพราะงบประมาณต้องใช้หลายปีด้วยกัน บางโครงการต้องใช้โครงการในการศึกษาก่อน ต้องทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ และรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรืออีเอชไอเอ มันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น สิ่งที่สำคัญคือรัฐบาลจะต้องไม่ทำให้หนี้สาธารณะมันเกินที่กำหนดซึ่งเป็นความรับผิดชอบของเรา
นายกฯ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันเราต้องหาทางว่าจะทำอย่างไรในเรื่องแผนลงทุน เรื่องการนำเงินมาจากไหน เป็นสิ่งที่ต้อคิด ที่ผ่านมาไม่คิดก็จะเป็นแบบนี้ ไม่มีเงินเหลือจะทำอะไรทั้งสิ้น เพราะต้องเอาไปดูแลคนยากจนตลอดเวลา และเขาเข้มแข็งกันขึ้นบ้างหรือยัง ตนก็ต้องดูเขาต่อ เพียงแต่ว่าต้องมีส่วนในการเพิ่มความเข้มแข็ง สร้างกระบวนการเรียนรู้ เพราะฉะนั้นเงินก็มหาศาล แต่ต้องแบ่งตามงบประมาณที่เรามีอยู่ จะเห็นว่าการตั้งงบประมาณเกินดุลตลอด ขาดทุนตลอดเพราะรายได้มันน้อย เราอย่าหวังรายได้การเกา๖รในการส่งออกอย่างเดียว เพราะเป็นไปไม่ได้ วันหน้าจะน้อยลงไปเรื่อยๆ เพราะหลายประเทศเขาเพราะปลูกเองในพื้นที่ ลงทุนในประเทศที่ค่าใช้จ่ายถูกที่สุด เราต้องคิดแบบนี้ ต้องปรับตัวเองก่อน สร้างแรงจูงใจ และทำอย่างไรให้ประชาชนมีรายได้เพียงพอ ซึ่งมันยาก เรื่องการสร้างความเข้าใจมันก็ยากแล้ว การจัดหางบประมาณมาทำยิ่งยากกว่า ระเบียบกฎหมายกติกาทั้งหมดต้องแก้ไข ถ้าทุกคนมานั่งที่ตนอยู่ หรือที่รัฐมนตรีอยู่จะรู้ว่ามันไม่ใช่เรื่องง่าย มันติดไปหมด เพราะที่ผ่านมาทำงานในลักษณะเชิงดิ่ง เป็นแท่งลงมา วันนี้ถึงมีคณะกรรมการที่ตนทำเองทั้งหมดหลายคณะ เพื่อให้สั่งการได้ทะ 3-4 กระทรวงไปหาข้อยุติมา บ่อบาดาล การขุดลอก การทำท่อระบายน้ำในกรุงเทพฯกันน้ำท่วม มันเคยทำกันแบบนี้หรือเปล่า นี่แหละเขาเรียกว่ากำลังทำอยู่
“วันนี้ทำไมผมต้องทำเต็มไปหมด แหล่งน้ำ ต่อเติมน้ำ ทำท่อระบายน้ำใหม่ สร้างตรงกลางเมืองได้ไหมละ ก็ทำไม่ได้อีก ต้องไปคิดวิธีใหม่ เขาถึงเรียกว่าคิดแบบปฏิรูป ถ้าคุณคิดจะทำอุโมงค์ในพื้นที่เดิม คุณยอมไหมล่ะ ทะลุบ้านคุณ มีใครยอมไหม ไม่ยอมหรอก แต่อยากได้ เพราะน้ำไม่ท่วม ผมก็ไม่รู้จะตอบยังไง ผมก็ให้ไปคิดใหม่ ให้ไปทำในรอบนอก เชื่อมข้างในไปข้างนอก คิดแบบนี้แล้วถามว่าใช้เงินเท่าไหร่ มีเงินให้ผมยัง ก็ยัง นี่แหละคือสิ่งที่เป็นปัญหา ถ้าทุกคนเข้าใจร่วมกัน ร่วมมือกันก็จะมีความเข้าใจกันไปตามลำดับ แต่นี่ไม่ได้เลย ทุกคนเสียไม่ได้เลย แต่คนที่เดือดร้อนมี แล้วเราจะทำอย่างไร ถ้าผมใช้อำนาจผมใช้ได้หมด แต่ผมไม่อยากใช้แบบนั้น บางอย่างพัฒนาเศรษฐกิจ ผมไม่อยากจะใช้กฎหมายผมเข้าไป เดี๋ยวความน่าเชื่อถือจะหมดไป ผมก็ต้องไปรอแก้ พ.ร.บ. รอแก้กฎหมายก็มีหลายวาระ บางอย่างออกได้ บางอย่างติด ติดพวกที่มองมุมเดียว ติดคนเหล่านี้ พอให้ฟังกระแสฟังเสียงคนภายนอกก็ติดตรงนี้หมด เพราะทุกคนมองในแง่มุมเดิม ไม่ได้มองประเทศ ประชาชนอยู่ตรงไหน ประชาชนต้องการอะไร นี่แหละเป็นตัวแก้ปัญหาทั้งหมด ว่ามันทำได้ทุกอย่าง กฎหมายมันจะปรับยังไงก็ได้ตามที่ควรจะเป็น วันนี้มันแก้ตามที่ควรจะเป็นไม่ได้ เพราะมีหลายขั้นตอน มันค้านกันหมด ทั้งที่บางคนไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรเลย แต่อยากแสดงปัญญา พวกทำเพื่อโลกแต่ไม่ทำเพื่อประเทศตัวเอง” นายกฯ กล่าว
เมื่อถามว่า เรื่องอุโมงค์น้ำมีรายละเอียดเป็นอย่างไร นายกฯ กล่าวว่า ยังไม่เสร็จ วันนี้ต้องแก้ปัญหาเดิมให้ระบายน้ำลงให้เร็ว เพิ่มเครื่องสูบน้ำไปหาพื้นที่ระบายน้ำลง มันเดือดร้อนกันหมด เมื่อถามว่าต้องทำใหม่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ต้องทำ สั่งให้เขาไปทำแผน ต้องทำให้เร็วที่สุด วันนี้ทำหลายแผน กทม.ก็ไปเร่งทำมาว่าจะทำอย่างไร แล้วแบ่งระยะ 1, 2, 3 ตรงไหนทำได้บ้าง ระบบส่งน้ำทางท่อควรจะทำที่ไหน และทำไมมันไม่ทำมาก่อน ไปถามเขาสิ ถามรัฐบาลชุดก่อนหน้า การใช้งบประมาณเป็นเรื่องของรัฐบาล ผู้สื่อข่าวกล่าวตอบนายกฯ ว่า ตอนนั้นน้ำยังไม่ท่วม นายกฯ ตอบว่า ก็คิดแบบนี้ไง ทุกอย่างต้องมีมาตรการลดความเสี่ยง เข้าสู่สังคมสูงอายุ เข้าสู่ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ เตรียมแผนการรับสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงโลก เตรียมลองรับเรื่องโรคระบาด เตรียมรับเรื่องผู้ก่อการร้ายสุดโต่ง เตรียมหรือยัง
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงกรณีกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ออกแถลงการณ์รายงานการค้ามนุษย์ โดยประเทศไทยขยับขึ้นมาระดับเทียร์ 2 แม้ทางทูตสหรัฐฯ ระบุว่าการทำงานของไทยยังไม่ถึงมาตรฐานขั้นต่ำว่า แล้วอันดับเราปรับมาอยู่เทียร์ 2 หรือเปล่า ความเห็นของคนเพียงคนเดียวจะสนใจอะไร เราก็ต้องทำต่อ ตนบอกแล้วว่าไม่ได้ทำเพื่อใคร หรือเขาต้องมาบังคับให้ทำ แต่เป็นหน้าที่ที่ต้องทำอยู่แล้วในเรื่องที่มีปัญหา ทำไมจะต้องทำตามโน่นนี่ เราต้องเอาหลักการมาดูว่ามีความบกพร่องตกไหน แล้วเราก็แก้ตรงนั้น ทำไมต้องให้ใครมาบังคับ ไม่บังคับเราก็ทำ นี่คือสิ่งที่ทุกรัฐบาลต้องทำแบบนี้ เอาปัญหามาคลี่หาวิธีแก้ บริหารจัดการงบประมาณให้ถูกต้อง จัดระบบให้เกิดการบูรณาการข้ามกระทรวงในกิจกรรมเดียวกันให้สอดคล้องเสร็จเป็นเป้าหมายผลสัมฤทธิ์ตามที่กำหนดไว้
นายกฯ กล่าวว่า เราต้องสร้างเส้นเลือดใหญ่แล้วก็เพิ่มเส้นเลือดรอง เส้นเลือดฝอยต่อกัน นี่คือสิ่งที่รัฐบาลทำที่เรียกว่าการปฏิรูปอย่างยิ่งใหญ่ เพราะที่ผ่านมาก็ทำแบบนี้มาหลายปีแล้วไม่สำเร็จ ตนทำให้เต็มที่อย่าไปฟังทุกคนที่พูด อย่าไปเชื่อทุกอย่างที่ได้ยิน แล้วอย่าไปพูดตามในสิ่งที่ทุกคนพูดถ้าอย่างนี้เราก็ไม่ทะเลาะกันอยู่แล้ว
ส่วนการปรับอันดับขึ้นมาอยู่เทียร์ 2 นั้นจะส่งสัญญาณไปถึงเรื่องของการแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย (ไอยูยู) หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ตรงนี้ตอบไม่ได้ เพราะเป็นส่วนของไอยูยูนี่คือค้ามนุษย์ซึ่งเกี่ยวข้องกัน แต่ไอยูยูนั้นมีหลายเรื่องที่ต้องแก้กว่า 30 เรื่อง เราก็แก้มาตลอด ทั้งกฎหมาย การลงโทษ กระทำความผิด วิธีบริหารจัดการ เจ้าหน้าที่ รวมถึงการติดจีพีเอสเรือทุกลำนับหมื่น มันไม่ง่าย แล้วผิดกฎหมายมาเป็นเวลานาน แต่วันนี้ติดตั้งได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว ควบคุมได้เกือบทั้งหมด จะเห็นว่าการลงโทษก็มี ตนก็ลงโทษไปแล้ว ซึ่งต้องสอบสวน ฉะนั้นขอให้เข้าใจว่าที่ทำไปนั้นตนไม่มีอะไรกับใครทั้งสิ้น น่าจะเป็นห่วงตนมากกว่า ในการให้ทำนี่ทำโน่นแล้วเคยห่วงบ้างไหม โดยตนต้องทำทุกอย่าง แม้หลายคนอาจจะไม่ชอบแต่ตนจำเป็นต้องทำ นั่นคือความแตกต่างเพราะไม่ได้ทำเพื่อใคร ทำเพื่อประชาชนทั้งสิ้น