xs
xsm
sm
md
lg

“ยะใส” แนะดูประชามติอังกฤษเป็นอุทาหรณ์ ที่คงมีความขัดแย้ง หวั่นซ้ำรอยเดิม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และ ผอ.สถาบันปฏิรูปประเทศไทย (แฟ้มภาพ)
“สุริยะใส” มองประชามติอังกฤษเป็นอุทาหรณ์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งเรื่องขัดแย้ง ยังไม่ยอมรับผลง่ายๆ เผชิญความเสี่ยงระยะเปลี่ยนผ่าน แนะอย่าให้ประชามติเป็นสายล่อฟ้า คาดการเมืองไทยยังจมอยู่กับความขัดแย้งอีกนาน

วันนี้ (26 มิ.ย.) นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดี วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต และ ผอ.สถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) กล่าวถึงผลการลงประชามติ Brexit ประเทศอังกฤษแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป หรือ EU นั้น เป็นอุทาหรณ์หลายประการที่อาจสะเทือนถึงการประชามติร่างรัฐธรรมนูญของไทยเราในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 นี้ โดยเฉพาะความขัดแย้งทั้งก่อนและหลังประชามติที่มีลักษณะคล้ายกัน เพราะเดิมพันสูง ทั้งที่อังกฤษเป็นสังคมที่มีวุฒิภาวะประชาธิปไตยสูงก็ยังมีการทำร้าย ส.ส.อีกฝ่ายจนเสียชีวิต มิหนำซ้ำผลการลงประชามติก็ดูเหมือนจะไม่ได้ข้อยุติง่ายๆ เพราะอีกฝ่ายไม่ยอมรับผลและล่ารายชื่อให้ทำประชามติกันใหม่อีกรอบ ภาพรวมหลังประชามติทำให้ประเทศอังกฤษเข้าสู่ระยะเปลี่ยนผ่านเผชิญกับความเสี่ยงหลายมิติอย่างไม่เคยมีมาก่อน ทั้งๆ ที่เป็นประเทศที่มีความแข็งแกร่งของระบอบประชาธิปไตยสูงกว่าใครๆ

นายสุริยะใสกล่าวต่อว่า แม้การลงประชามติ หรือ Referendum จะเป็นรูปแบบประชาธิปไตยทางตรงที่ให้ประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยได้ตัดสินใจทางการเมืองด้วยตัวเองก็ตาม แต่ไม่ได้หมายความว่าจะสำเร็จได้ในทุกๆ ประเทศ เพราะบริบทต่างกัน และยิ่งในประเทศไทยที่มีความขัดแย้งแตกแยกอย่างสลับซับซ้อนอยู่แล้วยิ่งเป็นเรื่องที่อ่อนไหวมากว่าผลประชามติจะออกมาทางใดซึ่งน่าเป็นห่วงไม่น้อย

นายสุริยะใสกล่าวอีกว่า Brexit จึงเป็นอุทาหรณ์ให้แก่กระบวนการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 7 สิงหาคมนี้หลายประการ เช่น จะไม่ทำให้ประชามติกลายเป็นสายล่อฟ้าได้อย่างไร จะทำให้กระบวนการก่อนและหลังลงประชามติไม่เป็นเงื่อนไขความขัดแย้งได้อย่างไร และผลประชามติที่ออกมาจะยอมรับกันได้ขนาดไหนและจะมีอาฟเตอร์ช็อกรุนแรงหรือไม่ คสช.ต้องประเมินสถานการณ์อย่างละเอียด ยิ่งเข้าใกล้วันลงประชามติยิ่งเห็นภาพขั้วความขัดแย้งก่อนรัฐประหารกลับมาเด่นชัดอีกครั้ง จากนี้ไปคงทำให้คาดการณ์สถานการณ์ได้ไม่ยากว่าการเมืองไทยยังจะจมอยู่ในกับดักความขัดแย้งไปอีกนานเท่าใด


กำลังโหลดความคิดเห็น