“ประยุทธ์” ชวนเอกชนที่มีอุดมการณ์เพื่อชาติ ร่วมโครงการ “ผู้นำเพื่อการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน” หรือ “Con-Next-E-D” ลั่นลุยพัฒนาการศึกษาเพื่อเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ผุด 10 ยุทธศาสตร์ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย นำร่องปีนี้ 3,342 โรงเรียน จะขยายให้ครบทุกโรงเรียนภายใน 3 ปี
วันนี้ (24 มิ.ย.) เมื่อเวลา 20.15 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ช่วงหนึ่งว่า เป็นเรื่องที่น่าชื่นชม กรณี ด.ช.ประทีป ช่วงชู นักเรียนชั้น ม.1 โรงเรียนอ่างทองปัทมโรจน์วิทยาคม อ.เมือง จ.อ่างทอง ที่เดินฝ่าสายฝนไม่กลัวเปียกเพื่อเก็บธงชาติ ที่ปลิวลมมาตกอยู่กลางถนน ยิ่งกว่านั้น คำกล่าวของ ด.ช.ประทีป ที่น่าประทับใจ ก็คือ “ครูสอนว่าธงชาติเป็นของสูง เพราะแสดงถึงชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ก็ต้องควรอยู่ที่สูง” ขอบคุณครูด้วย แต่ผมก็ห่วงอุบัติเหตุและสุขภาพของเขาเหมือนกัน เขายังเด็กอยู่
ขอบคุณ นายสุริยะ เจริญ นักเรียนรุ่นพี่ ที่พบเห็นสิ่งดี ๆ ในสังคมแล้วถ่ายภาพมาแชร์ในสังคมออนไลน์ เป็นการใช้สื่อโซเชียลที่สร้างสรรค์ เหตุการณ์เหล่านี้อาจจะถือเป็นเรื่องเล็ก ๆ แต่ตนเห็นว่า เป็นการแสดงให้เห็นถึงเนื้อแท้ในสังคมไทย ที่เรามีประวัติศาสตร์ของสถาบันหลักมายาวนาน ให้ชนรุ่นหลังซึ่งมีความภาคภูมิใจ
นายกฯ กล่าวต่ออีกว่า สิ่งหนึ่งที่จะเป็นการเสริมสร้างศักยภาพให้กับทรัพยากรของมนุษย์ของประเทศชาติ คือ การศึกษา ในวันจันทร์ที่ผ่านมานั้น ได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการผู้นำเพื่อการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืนหรือ Con-Next-E-D เป็นการขับเคลื่อน ด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ ภายใต้โครงการสานพลังประชารัฐ ผ่านข้อเสนอของคณะกรรมการร่วมภาครัฐ - เอกชน หรือที่เรียกว่า “คณะทำงานประชารัฐ” นับเป็นครั้งแรกที่เปิดโอกาสให้เอกชน เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างอนาคตของชาติ ด้วยการสนับสนุนในทุกมิติ สำหรับการวางรากฐานด้านการศึกษาของประเทศ เพราะชาติไทยเป็นของทุกคน เกือบ 70 ล้านคน จะต้องดูแลในเรื่องการศึกษาให้ดีที่สุด เพราะว่าการศึกษาถือว่าไม่ใช่เป็นภาระหน้าที่แต่เพียงของครู ผู้ปกครอง รัฐ เท่านั้น ภาคเอกชนก็เป็นส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นทั้งตลาดแรงงาน ภาคการผลิต ของประเทศก็ควรมีส่วนร่วมรับผิดชอบด้วย
วันนี้ท่านรู้หรือไม่ว่า ประเทศไทยขาดแคลนวิศวกร เพื่อป้อนตลาดแรงงานเทคโนโลยีชั้นสูง กว่า 50% สำหรับการยกระดับอุตสาหกรรมไทยหรือการไปสู่ “ไทยแลนด์ 4.0” ขาดจำนวนมาก ดังนั้น ทุกภาคส่วนควรมีส่วนร่วมในการยกระดับ มาตรฐาน และคุณภาพการศึกษาไทยสู่สากลด้วย ที่ผ่านมา บริษัท - ผู้ประกอบการ ได้ใช้งบประมาณ CSR ซื้อของให้สถานศึกษา แก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้ แต่ไม่มีโอกาสใช้ศักยภาพของภาคเอกชน ในการช่วยพัฒนาภาคการศึกษาของประเทศ
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า วันนี้ยินดี ขอบคุณที่โรงเรียนซึ่งเป็นพื้นที่พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศจะได้รับการดูแลตามแนวทางประชารัฐอย่างเป็นรูปธรรม ภาคเอกชนจะเข้ามาเสริมเติมเต็มภาครัฐ ในส่วนที่ขาดตกบกพร่องไม่เพียงพอ ทั้งนี้ ไม่ได้จำกัดเพียงเอกชน 12 รายเท่านั้น ก็ขอเชิญชวนเอกชนรายอื่น ๆ ที่มีอุดมการณ์เพื่อชาติเข้าร่วมโครงการได้ตลอดเวลา หลักการที่สำคัญในการทำงานร่วมกัน คือ การน้อมนำยุทธศาสตร์พัฒนาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” มาเป็นแนวทางดำเนินการ โดยภาคเอกชน มีบทบาทเป็นผู้สนับสนุนหลักในการให้คำปรึกษา งบประมาณ และบุคลากรในองค์กร ที่สมัครใจเป็นผู้นำรุ่นใหม่ ลงพื้นที่ ปฏิบัติจริง ทำงานร่วมกับผู้บริหารสถานศึกษา มีบทบาทเป็นเจ้าบ้าน เป็นผู้แทนโรงเรียน ชุมชน ผู้ปกครอง ผู้เรียน ที่ต้อง “ระเบิดจากข้างใน” คือ รู้ศักยภาพและความต้องการท้องถิ่นของตนเอง
เป้าหมายของโครงการ ระยะแรก ภายในปีนี้ 3,342 โรงเรียน และระยะต่อมาภายใน 3 ปี จะขยายให้ครบ 7,424 โรงเรียน ในทุกตำบล ทั่วประเทศ ภายใต้ยุทธศาสตร์ 10 ด้าน มีกิจกรรมที่สำคัญ ๆ ได้แก่
(1) การเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานดิจิตอล และการเชื่อมต่อระบบอินเทอร์เน็ตของสถานศึกษา
(2) การพัฒนาหลักสูตรที่เน้นให้นักเรียนเป็นศูนย์กลาง ดึงศักยภาพของเด็กในการคิดวิเคราะห์ ค้นคว้า ศึกษาด้วยตนเอง และการเรียนรู้ตลอดชีวิต
(3) การพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษาและผู้สอน ให้มีทักษะและกระบวนการทำงานที่เป็นเลิศ
(4) การยกระดับทักษะ ความรู้ ความสามารถด้านภาษาอังกฤษ โดยการศึกษาตรง จากเจ้าของภาษา สอดแทรกในรายวิชาต่าง ๆ
(5) การจัดตั้ง “กองทุนโรงเรียน” ที่เปิดโอกาสให้ผู้ปกครอง ชุมชน เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาและพัฒนาโรงเรียน เป็นต้น
ก้าวต่อไป คือ การยกระดับสถานศึกษาของไทย ให้เป็น “ศูนย์กลางการศึกษาวิจัยเทคโนโลยีแห่งอนาคต” เช่น ไบโอเทคโนโลยี นาโน เทคโนโลยี และหุ่นยนต์ เป็นต้น เพื่อจะสอดคล้องกับความต้องการในการพัฒนาประเทศ สิ่งสำคัญ ที่ต้องไม่ลืม คือ “การสร้างผู้นำรุ่นใหม่ ผู้นำการเปลี่ยนแปลง” ที่ต้องมีภูมิคุ้มกัน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ได้แก่ ความรู้คู่คุณธรรม หากเราทุกคนช่วยกันแบบนี้นะครับ “การพัฒนาทางวัตถุ จะสมดุลกับการพัฒนาทางจิตใจ” เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า สำหรับการพัฒนาศักยภาพ จากสิ่งที่เรามีอยู่ ภายในประเทศ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ต่อเศรษฐกิจมหภาค ระดับชาติ ระดับภูมิภาค เช่น การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทย โดยได้มีการปรับปรุงและพัฒนาศักยภาพท่าอากาศยานอู่ตะเภา ตามที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคมเสนอมา ซึ่งผลจากการศึกษาของมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ สรุปได้ว่าพื้นที่ท่าอากาศยานอู่ตะเภา มีศักยภาพในการพัฒนาเป็น “ศูนย์อุตสาหกรรมอากาศยาน” ครบวงจร ซึ่งจะประกอบไปด้วย
(1) กิจกรรมซ่อมบำรุงอากาศยาน (Maintenance, Repair and Overhaul: MRO) ซึ่งจำเป็นต้องอยู่ในพื้นที่ของท่าอากาศยาน ไม่ต้องเสียเวลาและงบประมาณ ส่งเครื่องบินไปซ่อมในต่างประเทศ เพราะเราพร้อม ทั้งเรื่องการร่วมทุนและนักลงทุนของไทยอยู่แล้วนะครับ จะขยายการซ่อมเครื่องบินไปทุกสายการบินด้วย
(2) คือ กิจกรรมผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน (Original Equipment Manufacturing: OEM) ซึ่งจะต้องอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมชายฝั่งตะวันออก ซึ่งมีอยู่หลายที่ด้วยกันนะครับ และที่สำคัญคือ
(3) การยกระดับท่าอากาศยานอู่ตะเภาให้เป็นท่าอากาศยานเชิงพาณิชย์แห่งที่ 3 ของประเทศ นอกเหนือจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานดอนเมือง ด้วยการใช้ประโยชน์สูงสุดตอบสนองต่อภารกิจ 2 ด้านอย่างสมดุล ภายใต้แนวคิด “One Airport Two Missions” ทั้งภารกิจด้านความมั่นคงและเชิงพาณิชย์
ทั้งนี้ เพื่อให้รองรับโดยการใช้งานสนามบิน ที่มีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง อุตสาหกรรมการบิน ทั้งในประเทศและในภูมิภาค ที่มีแนวโน้มขยายตัวขึ้นทุกวัน อีกทั้งจะเป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะได้แสดงถึงศักยภาพ ความพร้อมต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาการท่องเที่ยวฝั่งทะเลตะวันออก โดยบูรณาการพัฒนาการท่องเที่ยวหาดทรายชายทะเลสู่การท่องเที่ยวสีเขียว เชื่อมโยงกันไปยังประเทศเพื่อนบ้าน
โดยแผนการดำเนินงาน มี 3 ระยะ 13 ปี ประกอบไปด้วย การพัฒนาโรงซ่อมอากาศยาน โรงงาน โรงซ่อมเครื่องยนต์ และการเพิ่มศักยภาพในการรองรับผู้โดยสารเป็น 3 ล้านคนต่อปี ภายในปี 2561 และ 5 ล้านคนต่อปี ภายในปี 2563 เป็นต้น ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่า เราต้องดำเนินการให้ได้ ตามมาตรฐานสากล เช่น ของ ICAO ด้วย เราจะปล่อยปละละเลยจนเป็นปัญหาเหมือนเดิมไม่ได้อีกแล้ว
นายกฯ ยังกล่าวด้วยว่า นอกจากนั้น เราต้อง “คิดให้ครบวงจร และทำคู่ขานกันไป” อีกอย่างน้อย 2 เรื่อง ได้แก่ (1) การพัฒนาระบบรถไฟทางคู่และรถไฟฟ้าความเร็วปานกลาง ถึงสูง ให้รองรับการสัญจรของประชาชน นักท่องเที่ยว และสินค้า ในอนาคตด้วย ผมให้พิจารณาเพิ่มไปถึง แอร์พอร์ต เรลลิงก์ ว่า ทำยังไงจะเชื่อมโยงทั้ง 3 สนามบินได้ จะได้มีการเคลื่อนย้ายนักท่องเที่ยว หรือชาวต่างประเทศ หรือแม้แต่คนไทยก็ตามในการเดินทางจากภาคตะวันออกมาภาคกลาง หรือเชื่อมโยงไปยังภาคใต้ ต่อไปในอนาคต
(2) ในส่วนสุดท้ายคือการพัฒนาหลักสูตรและศูนย์การฝึกอบรม เพื่อรองรับอุตสาหกรรมอากาศยาน
ในการลงพื้นที่ เพื่อตรวจราชการใน จ.ระยอง เมื่อวันพุธที่ผ่านมา เป็นจังหวัดที่มีรายได้สูงสุดของประเทศ (GDP ต่อหัวเป็นอันดับ 1 ประมาณ 1 ล้านบาท/คนต่อปี นอกจากจะไปติดตามความคืบหน้าการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภา ที่ได้กล่าวไปแล้ว ให้สามารถรองรับการขยายตัวทางการคมนาคมขนส่งในอนาคต จัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา เพื่อสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ตามนโยบายรัฐบาล และสนับสนุนการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
คำต่อคำ : รายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” วันที่ 24 มิถุนายน 2559
สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน จากการเดินทางไปเยือนสาธารณรัฐอินเดียอย่างเป็นทางการ ผมและคณะรัฐมนตรีก็ได้มีโอกาสสักการะศาสนสถานที่สำคัญของศาสนาพุทธ หรือที่เรียกว่าสังเวชนียสถานทั้ง 4 แห่ง ได้มีโอกาสประกอบประเพณีที่สำคัญ อย่างเช่น การสวดมนต์ และ เจริญจิตภาวนา ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ซึ่งเป็นสถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า และได้ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ ๗๐ ปี และถวายเป็นพระราชกุศล แด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๙ ด้วยบทฉันท์เฉลิมพระเกียรติ สัตตติวัสสรัชชกาล วรทานคาถา
ทั้งนี้ ภายหลังประกอบพิธีสำคัญดังกล่าวก็มีฝนโปรยปลายลงมาสร้างความชุ่มฉ่ำปลาบปลื้ม และประหลาดใจในคราวเดียวกัน เนื่องจากทราบมาว่าบริเวณนั้นไม่มีฝนตกมานานหลายเดือนแล้ว
สำหรับบทฉันท์เฉลิมพระเกียรติดังกล่าวนั้น มหาเถรสมาคมได้เห็นชอบให้ทุกวัด และพุทธศาสนิกชนไทยทั้งในประเทศ และทั่วโลก ได้ใช้สวดมนต์ทำวัตรเย็น หรือหลังสวดมนต์ที่บ้านประจำวัน เพื่อถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2559 ถึง 30 มิถุนายน 2560 พี่น้องประชาชนสามารถดาวน์โหลดบทฉันท์เฉลิมพระเกียรติพร้อมคำแปลได้จากเว็บไซต์ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ รายละเอียดตามด่านล่างของจอนี้ครับ
โดยปัจจุบันนั้นรัฐบาลได้ให้สำนักพระพุทธศาสนาร่วมกับหน่วยราชการ รัฐบาล ร่วมกันจัดถวายในวัดต่าง ๆ มีการถ่ายทอดวิทยุโทรทัศน์เป็นครั้งคราวนะครับ
อีกเรื่องหนึ่งเป็นเรื่องที่หน้าชื่นชมเป็นตัวอย่างของเด็กรุ่นใหม่นะครับ กล้าแสดงออกในสิ่งที่ถูกต้อง โดยเฉพาะในเรื่องของความรักชาติ ที่เรากล่าวแล้วรักได้ทุกวัน ไม่นิ่งดูดายนะครับ ก็คือ ด.ช.ประทีป ช่วงชู นักเรียนชั้น ม.1 โรงเรียนอ่างทองปัทมโรจน์วิทยาคม อ.เมือง จ.อ่างทอง ที่เดินฝ่าสายฝนไม่กลัวเปียก เพื่อมาเก็บธงชาติที่ปลิวลมมาตกอยู่กลางถนน ยิ่งกว่านั้นคำกล่าวของ ด.ช.ประทีป ที่น่าประทับใจ ก็คือ ครูสอนว่าธงชาติเป็นของสูง เพราะแสดงถึงชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ควรอยู่ที่สูง ขอบคุณครูด้วย แต่ผมยังเป็นห่วงอุบัติเหตุ และสุขภาพของเขาเหมือนกัน เขายังเด็กอยู่ ขอบคุณ นายสุริยะ เจริญ นักเรียนรุ่นพี่ที่พบเห็นคนดีในสังคม และถ่ายภาพมาแชร์ในโลกออนไลน์เป็นการใช้สื่อที่สร้างสรรค์ เหตุการณ์เหล่านี้อาจถือเป็นเรื่องเล็ก แต่ผมถือว่ามันแสดงให้เห็นในเนื้อแท้ในสังคมไทยที่เรามีประวัติศาสตร์ สถาบันหลักมายาวนาน มีชนรุ่นหลังซึ่งมีคงามภาคภูมิใจ เช่น พระบรมมหาราชวังแห่งเกาะรัตนโกสินทร์ และวัดพระแก้วของเรา ผมว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งความแน่นแฟ้นของสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ของไทยในสถานที่เดียวกัน วันนี้ได้รับความนิยมในการเข้าชมของนักท่องเที่ยว เป็นอันดับ 3 จากพระราชวังทั่วโลก มีนักท่องเที่ยวเข้าชม 8 ล้านคนต่อปี
นอกจากนี้ วัฒนธรรมไทยที่มีน้ำใจมีจิตสาธารณะมีรอยยิ้มให้กัน ก็เป็นอีกเอกลักษณ์หนึ่งของชาติ ที่เราควรภาคภูมิใด้วย อีกหนึ่งคนตัวอย่างที่ผมขอเป็นตัวแทนพี่น้องชาวไทยในการแสดงความยินดี คือ คุณมณเฑียร บุญตัน ที่พิการทางสายตาตั้งแต่กำเนิด ในที่ประชุมประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ สมัยที่ 9 ได้มีมติมอบให้ดำรงตำแหน่งเป็นคณะกรรมการว่าด้วยสิทธิคนพิการแห่งสหประชาชาติอีก 1 สมัย วาระ 4 ปี 2560 - 2563 ด้วยคะแนนเสียงถึง 102 คะแนน จาก 160 ประเทศ ได้เป็นอันดับที่ 4 จากผู้สมัครเลือกตั้ง 18 คน แสดงให้เห็นว่า ในประเทศสมาชิกสหประชาชาติได้ประจักษ์ในศักยภาพผลงานและความมุ่งมั่นในการคุ้มครองส่งเสริมสิทธิคนพิการของคุณมณเฑียรในประเทศไทย แม้ว่าร่างกายจะไม่สมบูรณ์ เกิดในครอบครัวชาวนา แต่ก็ไม่ยอมแพ้ชะตาชีวิต ปัจจุบันก็เป็นนายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นมา เป็นอดีตสมาชิกวุฒิสภา เป็นสมาชิกสภาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติในปัจจุบัน ผมก็ขอให้คุณมณเฑียร ได้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อผู้พิการของไทย และของโลกในเวลาเดียวกันด้วย ด้วยความภูมิใจในหน้าที่ตั้งแต่ที่รับมอบ รัฐบาลพร้อมจะให้การสนับสนุนบทบาทของนายมณเฑียร ให้สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ต่อไป ที่ผ่านมานั้นในส่วนของรัฐบาลได้มีการผลักดันมาตรการต่าง ๆ และมีการปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ ที่สำคัญได้แก่ การเข้าถึงสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานทั้งทางการเมือง สังคม และวัฒนธรรมอย่างเท่าเทียมกับคนทั่วไป เช่น การลงประชามติ 7 สิงหาคมนี้ ก็มีวิธีการพิเศษเฉพาะสำหรับคนพิการ
ต่อไปก็คือ การเข้าถึง และใช้ประโยชน์จากสภาพแวดล้อมทางกายภาพ การคมนาคมขนส่ง ข้อมูลข่าวสาร การบริการสาธารณะ เช่น ชุมชนต้นแบบ อารยสถาปัตย์ เกาะเกร็ด และรถเมล์ชานต่ำ ซึ่งจะต้องอำนวยความสะดวกแก่คนพิการ ผู้สูงอายุ หญิงมีครรภ์ และเด็ก เป็น
ต่อไปก็คือ การยอมรับความเท่าเทียมทางกฎหมาย ด้านศึกษา ด้านสุขภาพ และการทำงาน เช่น มีศูนย์บริการนักศึกษาพิการ การกำหนดสัดส่วนการจ้างงานคนพิการร้อยละ 1 การรักษาพยาบาลฟรี และตู้คีออสแปลภาษามือตามสถานที่ราชการ โรงพยาบาล และห้างสรรพสินค้า สำหรับให้บริการผู้พิการทางการได้ยินและการพูดเหล่านี้เป็นต้น
อีกประการหนึ่งคือ การขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อคนพิการ ทั้งนี้ ผมขอยืนยันว่า ทรัพยากรบุคคลเป็นทรัพยากรที่ทรงคุณค่าที่สุดของประเทศชาติ หากได้รับการส่งเสริมในแนวทางที่ถูกต้องเหมาะสมแล้ว จะเป็นพลัง ไม่ใช่เป็นภาระของสังคม สิ่งหนึ่งที่จะเป็นการเสริมสร้างศักยภาพให้กับทรัพยากรมนุษย์ของประเทศชาติ คือ การศึกษา ในวันจันทร์ที่ผ่านมานั้นได้มีการพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการผู้นำ เพื่อการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน หรือที่เรียกว่า ConnectED เป็นการขับเคลื่อนด้านการศึกษาพื้นฐาน และการพัฒนาผู้นำภายใต้โครงการสานพลังประชารัฐ ผ่านข้อเสนอของคณะกรรมการร่วมภาครัฐเอกชน หรือที่เรียกว่า คณะทำงานประชารัฐ นับเป็นครั้งแรกที่เปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างอนาคตของชาติ ด้วยการสนับสนุนในทุกมิติ สำหรับการวางรากฐานด้านการศึกษาของประเทศ เพราะชาติไทยนั้นเป็นของทุกคน เกือบ 70 ล้านคน จะต้องดูแลในเรื่องการศึกษาให้ดีที่สุด เพราะว่าการศึกษาไม่ใช่ถือว่าเป็นภาระหน้าที่แต่เพียงครู ผู้ปกครอง รัฐเท่านั้น ภาคเอกชนก็เป็นส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นทั้งตลาดแรงงาน ภาคการผลิตของประเทศก็ควรจะมีส่วนรับผิดชอบด้วย วันนี้ท่านรู้ไหมครับว่า ประเทศไทยขาดแคลนวิศวกร เพื่อป้อนตลาดแรงงานเทคโนโลยีชั้นสูงกว่า 50 เปอร์เซ็นต์
สำหรับการยกระดับอุตสาหกรรมไทย หรือการไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ขาดจำนวนมาก ดังนั้น ทุกภาคส่วนควรมีส่วนร่วมในการยกระดับมาตรฐาน และคุณภาพการศึกษาไทยสู่สากลด้วย ที่ผ่านมา บริษัท ผู้ประกอบการ ได้ใช้งบประมาณ CSR ซื้อของให้สถานที่ศึกษา แก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้ แต่ไม่มีโอกาสใช้ศักยภาพของภาคเอกชนในการช่วยพัฒนาภาคการศึกษาของประเทศ วันนี้ผมยินดีขอบคุณที่โรงเรียน ซึ่งเป็นพื้นที่พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ ได้รับการดูแลตามแนวทางของประชารัฐอย่างเป็นรูปธรรม ภาคเอกชนจะเข้ามาเสริมเติมเต็มภาครัฐในส่วนที่ขาดตกบกพร่องไม่เพียงพอ
ทั้งนี้ ไม่ได้จำกัดเฉพาะเอกชน 12 รายเท่านั้นนะครับ ก็ขอเชิญชวนเอกชนรายอื่น ๆ ที่มีอุดมการณ์เพื่อชาติเข้ามาร่วมโครงการได้ตลอดเวลา หลักการที่สำคัญในการทำงานร่วมกัน ก็คือ การน้อมนำยุทธศาสตร์การพัฒนาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา มาเป็นแนวทางในการดำเนินการ โดยภาคเอกชนจะมีบทบาทเป็นผู้สนับสนุนหลักในการให้คำปรึกษา งบประมาณ บุคลากรในองค์กรที่สมัครใจเป็นผู้นำรุ่นใหม่ ลงพื้นที่ปฏิบัติจริง ทำงานร่วมกับผู้สนับสนุนบริหารสถานศึกษา ที่ร่วมเป็นเจ้าบ้าน เป็นผู้แทนโรงเรียน ชุมชน ผู้ปกครอง ผู้เรียน ที่ต้องระเบิดจากข้างใน ก็คือ รู้ศักยภาพและความต้องการท้องถิ่นของตนเอง เป้าหมายของโครงการแรก ๆ ในปีนี้ 3,342 โรงเรียน ระยะต่อมาภายใน 3 ปี จะขยายให้ครบ 7,424 โรงเรียน ในทุกตำบลทั่วประเทศ ภายใต้ยุทธศาสตร์ 10 ด้าน มีกิจกรรมที่สำคัญ ได้แก่ การเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานดิจิตอล และการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตของสถานศึกษาตามหลักสูตรที่เน้นให้นักเรียนเป็นศูนย์กลาง ดึงศักยภาพของเด็กในการคิดวิเคราะห์ ค้นคว้าศึกษาด้วยตัวเอง และการเรียนรู้ตลอดชีวิต การพัฒนาผู้บริหารศึกษาและผู้สอนให้มีทักษะและกระบวนการทำงานที่เป็นเลิศ การยกระดับทักษะความรู้ความสามารถด้านภาษาอังกฤษ โดยการศึกษาตรงจากเจ้าของภาษา สอดแทรกในวิชาต่าง ๆ การจัดตั้งกองทุนโรงเรียนที่เปิดโอกาสให้ผู้ปกครอง ชุมชน เข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการการศึกษา และพัฒนาโรงเรียน เป็นต้น
ก้าวต่อไปคือ การยกระดับสถานศึกษาของไทยให้เป็นศูนย์กลางการศึกษาวิจัยเทคโนโลยีแห่งอนาคต เช่น ไบโอเทคโนโลยี นาโนเทคโนโลยี และหุ่นยนต์ เป็นต้น เพื่อจะสอดคล้องกับความต้องการในการพัฒนาประเทศ สิ่งสำคัญที่ต้องไม่ลืมก็คือ การสร้างผู้นำรุ่นใหม่ ผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง ที่จะต้องมีภูมิคุ้มกันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ได้แก่ มีความรู้คู่กับคุณธรรม ถ้าหากทุกคนช่วยกันเป็นแบบนี้ การพัฒนาวัตถุจะสมดุลกับการพัฒนาทางจิตใจ ซึ่งจะเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน
สำหรับการพัฒนาศักยภาพจากสิ่งที่เรามีอยู่ภายในประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจมหภาพ ระดับชาติ ระดับภูมิภาค เช่น การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทย โดยได้มีการปรับปรุงและพัฒนาศักยภาพท่าอากาศยานอู่ตะเภา ตามที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งจราจร กระทรวงคมนาคม เสนอมา ซึ่งจากผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สรุปได้ว่า พื้นที่ท่าอากาศยานอู่ตะเภามีศักยภาพในการพัฒนา เป็นศูนย์อุตสาหกรรมอากาศยานครบวงจร ซึ่งจะประกอบไปด้วย กิจกรรมซ่อมบำรุงอากาศยาน ซึ่งจำเป็นต้องอยู่ในพื้นที่ของท่าอากาศยาน ไม่ต้องเสียเวลา และงบประมาณในการส่งเครื่องบินไปซ่อมในต่างประเทศ เพราะเราพร้อม ทั้งเรื่องการร่วมทุน และมีนักลงทุนของไทยอยู่แล้ว ก็จะขยายการซ่อมเครื่องบินไปทุกสายการบินด้วย 2. คือ กิจกรรมผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน ซึ่งจะต้องอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมชายฝั่งตะวันออก ซึ่งมีอยู่หลายที่ด้วยกันและที่สำคัญที่สุดคือการยกระดับท่าอากาศยานอู่ตะเภาให้เป็นท่าอากาศยานเชิงพาณิชย์แห่งที่ 3 ของประเทศ นอกเหนือจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และดอนเมือง ด้วยการใช้ประโยชน์สูงสุด ตอบสนองจากภารกิจ 2 ด้านอย่างสมดุล ภายใต้แนวคิด One Airport to Missions ทั้งภารกิจด้านความมั่นคง และในเชิงพาณิชย์ ทั้งนี้เพื่อให้รองรับโดยการใช้งานให้มีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง อุตสาหกรรมการบินทั้งในประเทศ และภูมิภาค ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวขึ้นได้ทุกวัน อีกทั้งจะเป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะแสดงให้เห็นถึงศักยภาพความพร้อมต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาการท่องเที่ยว ฝั่งทะเลตะวันออก โดยการพัฒนาบูรณาการการท่องเที่ยวหาดทราย ชายทะเล สู่การท่องเที่ยวสีเขียว เชื่อมโยงกันไปประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีแผนการดำเนินงาน 3 ระยะ 13 ปี ประกอบไปด้วย การพัฒนาโรงซ่อมอากาศยาน โรงซ่อมเครื่องยนต์ การเพิ่มศักยภาพในการรองรับผู้โดยสารเป็น 3 ล้านคนต่อปี ภายในปี 2561 และ 5 ล้านคนต่อปีภายในปี 2563 เป็นต้น ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่า เราต้องดำเนินการให้ได้ตามมาตรฐานสากล เช่น ของไอซีโอด้วย เราจะปล่อยปละละเลยจนเป็นปัญหาเหมือนเดิมไม่ได้อีกแล้ว
นอกจากนั้นเราต้องคิดให้ครบวงจร ทำคู่ขนานกันไป อย่างน้อยอีก 2 เรื่อง ได้แก่ การพัฒนาระบบรถไฟทางคู่ รถไฟฟ้าความเร็วปานกลางถึงสูง ให้รองรับการสัญจรของประชาชน นักท่องเที่ยวและสินค้าอนาคตด้วย ผมให้พิจารณาเพิ่มไปถึงแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ว่าทำยังไงจะเชื่อมโยงทั้ง 3 สนามบินได้ มันจะได้มีการเคลื่อนย้ายนักท่องเที่ยว หรือชาวต่างประเทศ หรือคนไทยก็ตามในการเดินทางทั้งภาคตะวันออก มาภาคกลาง หรือเชื่อมโยงไปยังภาคใต้ หรืออื่น ๆ อีกต่อไปในอนาคต
ในส่วนสุดท้ายคือ การพัฒนาหลักสูตรและศูนย์ฝึกอบรมเพื่อรองรับอุตสาหกรรมอากาศยาน ในการลงพื้นที่เพื่อตรวจราชการใน จ.ระยอง ในวันพุธที่ผ่านมา เป็นจังหวัดที่มีรายได้สูงสุดของประเทศ จีดีพีต่อหัวเป็นอันดับที่ 1 ประมาณ 1 ล้านบาทต่อคนต่อปี นอกจากนั้น ก็ไปติดตามความคืบหน้าการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภา ที่ได้กล่าวไปแล้ว จากนั้นผมได้เดินทางไปพบปะและรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ อ.บ้านฉาง ได้ชมนิทรรศการ ความร่วมมือของสมาคม บริษัท ห้างร้าน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหน่วยราชการ ตามแนวทางประชารัฐ และการช่วยเหลือสังคมตามแนวคิดวิสาหกิจชุมชน และลักษณะสมาคมเพื่อนชุมชน เพื่อสนับสนุนชาวบ้านในพื้นที่ให้มีอาชีพ สร้างรายได้ เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน เช่น ธรรมศาสตร์โมเดล จะช่วยยกระดับผลิตภัณฑ์ข้าวไรซ์เบอร์รี่ของชาวเกาะกก รวมทั้งการถ่ายทอดความรู้การบริหารธุรกิจสมัยใหม่ โดยได้มีการลงไปทำงานร่วมกับชุมชน เพื่อจะต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นให้เกิดความยั่งยืนต่อไป ผมก็ได้แนะนำให้สร้างมูลค่าเพิ่ม โดยการให้มีการออกแบบแพกเกจให้สวยงาม ทันสมัย ให้น่าสนใจ ทุกอย่าง มีรสชาติอร่อยเหมือนเดิม หรือดีกว่าเดิม เพิ่มด้วยการสร้างเรื่องราวให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจ เช่น ที่เราเรียกว่าสร้าง story เช่น อาหารไทย ที่ได้รับความนิยมอันดับต้น ๆ ของโลก ได้แก่ ผัดไทย ต้มยำกุ้ง แกงเขียวหวาน ส้มตำ ถ้าเราสามารถสร้างเรื่องราว สร้างความน่าสนใจในเรื่องสูตรอาหารที่มีมาตรฐาน เครื่องเทศ เครื่องปรุง ผลประโยชน์ทางสุขภาพ ทั้งที่มาและวิธีการ เราก็จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ร้านค้า วัตถุดิบในประเทศ ตลอดจนส่งเสริมการท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี
อีกโครงการที่ผมเห็นว่ามีความสำคัญ ก็คือ โครงการปลูกปะการังเขากวางบนแปลงท่อพีวีซี ซึ่งจะใช้เป็นฐานยึดกิ่งปะการัง เลียนแบบลักษณะธรรมชาติ ทั้งนี้ เพื่อจะฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลที่ถูกทำลายด้วยการทำประมงแบบผิดกฎหมาย ทั้งระเบิดปลา ใช้เครื่องมือหาปลาที่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติพื้นที่ชายฝั่งทะเล รวมทั้งการฟอกขาวของปะการังจากภาวะโลกร้อน เป็นต้น
ผมได้รับรายงานว่า มีผลงานวิจัยอื่น ๆ อีกอย่างน้อย 2 ผลงาน ที่น่าจะนำมาขยายผลให้ทุกคนทราบ ก็คือ การเพาะขยายพันธุ์ปะการังแบบอาศัยเพศ ภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และการขยายพันธุ์ปะการังเขากวางแบบย้ายปลูก หรืออุปกรณ์เรือนแหวน ซึ่งเป็นผลงานวิจัยรางวัลชนะเลิศระดับมัธยมศึกษาในการประชุมวิชาการด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ปี 2558 โดย สสวท. ก็ขอให้หน่วยงาน องค์กรที่เกี่ยวข้อง ได้พิจารณานำไปขยายผลด้วย
สำหรับต่อไปก็คือ การเยี่ยมชมโครงการก่อสร้างป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งจะเป็นแนวกำแพงดินคอนกรีตเสริมเหล็กบริเวณหาดพะยูน และหาดน้ำริน เพื่อช่วยป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ช่วยแก้ไขปัญหาและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศวิทยา ลดความเสียหายต่อแหล่งท่องเที่ยว แหล่งประมงพื้นบ้าน อันจะเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชุมชน ดังนั้น เมื่อชุมชนขอรับการสนับสนุนในประเภทเหล่านี้ รัฐบาลก็จำเป็นต้องสนับสนุนให้ อยากให้ทุกอย่างเป็นการระเบิดจากภายใน จากข้างในตัวตนของตัวเอง ของท้องถิ่น ทั้งนี้ เราจะได้แก้ปัญหาได้ถูกจุด สนับสนุนได้ตรงอย่างที่เขาต้องการ มันจะเกิดประโยชน์ต่อชุมชนอย่างแท้จริง
โครงการลักษณะเช่นนี้รัฐบาลได้สนับสนุนงบประมาณไปแล้วตั้งแต่ปี 2557 แล้ววันนี้ก็สำเร็จแล้วในระยะที่ 1 ก็มี 2 - 3 พื้นที่ จริงๆ แล้วก็มีทั้งประเทศ หลายพื้นที่ ที่ผ่านมาอาจจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากนัก รัฐบาลนี้ให้ความสนใจนะครับ ก็จำเป็นต้องวางแผนงาน ให้เป็นไปตามห้วงระยะเวลา งบประมาณ ซึ่งอาจต้องใช้งบประมาณมากพอสมควร
สุดท้ายนี้ อีกความสำเร็จหนึ่งของประเทศ ก็คือ อยากจะถ่ายทอดให้พี่น้องประชาชนได้ภาคภูมิใจร่วมกัน เพราะเป็นงานที่เกิดจากความร่วมมือกันของทุกฝ่าย โดยองค์กรเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศที่สำคัญ 4 องค์กร ได้แก่ องค์การอนามัยโลก (WHO) โครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) และศูนย์ความร่วมมือไทย - สหรัฐฯ ด้านสาธารณสุข ได้มาพบผมเพื่อแสดงความยินดีในโอกาสที่ประเทศไทยของเราได้รับมอบเกียรติบัตรจากองค์การอนามัยโลก ในการบรรลุเป้าหมายองค์การอนามัยโลกในเรื่องของการยุติการถ่ายทอดเชื้อ HIV และ ซิฟิลิส จากแม่สู่ลูก ลงต่ำกว่าร้อยละ 2 เป็นประเทศแรกของเอเชีย เป็นประเทศที่ 2 ของโลก โดยเฉพาะพระกรุณาธิคุณจากพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ต่อแม่และเด็กที่ติดเชื้อ HIV กองทุนที่ถูกจัดตั้งยังคงดำเนินการถึงปัจจุบัน เพื่อช่วยเหลือทั้งคนไทยและต่างชาติ ทั้งนี้ ไทยพร้อมที่จะร่วมมือกับองค์กรต่างๆ ในการพัฒนาองค์ความรู้และการพัฒนาเพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลาง เพื่อจะแลกเปลี่ยนทักษะ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และการดำเนินการด้านเอดส์ในวิธีการต่าง ๆ ด้วย
กระทรวงสาธารณสุข ได้ตั้งเป้าหมายการยุติปัญหาเอดส์ภายในปี 2573 โดยไทยจะต้องเป็นต้นแบบในความสำเร็จในงานด้านสาธารณสุข ซึ่งจำเป็นต้องรับฟัง ร่วมมือ การสนับสนุน ทั้งด้านเทคนิค วิชาการ จากองค์กรต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะให้ไทยบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ในเรื่องเอดส์ ลดการติดเชื้อรายใหม่ ลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคเอดส์ และลดการตีตราและการเลือกปฏิบัติ อันเนื่องมาจากสถานะการติดเชื้อ HIV รัฐบาลไทยมีความมุ่งมั่นและเจตนารมณ์ทางการเมืองอย่างชัดเจน ที่จะกำหนดงานด้านสาธารณสุข การอนามัย และการควบคุมโรค ถูกบรรจุไว้ในกรอบแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ภายใต้แนวทางการแก้ปัญหาอย่างครอบคลุมและรอบด้าน ตั้งแต่การแก้ปัญหาจากต้นเหตุ กลางทาง และปลายทาง ที่มีการบังคับใช้กฎหมายและการสร้างจิตสำนึกในสังคมด้วย
ทั้งนี้ จิตสำนึกนั้นมีความสำคัญ จะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก เพราะฉะนั้นอยู่ที่ตัวทุกคนอยู่แล้ว อย่าลืม มันสร้างกันไม่ได้ง่าย ๆ แต่มันมีอยู่ในตัวคนทุกคน นำมาใช้เถอะครับ มันจะเป็นรากฐานในทุกเรื่อง และเราจะสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนได้สำเร็จ ก็จะเป็นเพียงการพัฒนาทางกายภาพ ทางวัตถุ ถ้าเราไม่สามารถพัฒนาด้านจิตใจ ปลุกจิตสำนึก ให้สำเร็จควบคู่ไปด้วยกันแล้ว การพัฒนาต่าง ๆ ก็จะไม่มีความยั่งยืน ก็ฝากกันดูแล สร้างตั้งแต่เด็กเล็กด้วย ให้ทุกคนมีคุณธรรม มีจิตสำนึก มีการเผื่อแผ่แบ่งปัน มีความกตัญญู เคารพในชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ นี่เป็นสิ่งที่คนไทยทุกคนจำเป็นต้องมีในเวลานี้ และต่อ ๆ ไปในอนาคต อย่างยั่งยืน ขอบคุณครับ สวัสดีครับ