xs
xsm
sm
md
lg

“ประยุทธ์” ถก “ซูจี” ย้ำไทยพร้อมช่วยเหลือเมียนมา - ส่งเสริมเอกชนเข้าไปลงทุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


"อองซาน ซูจี" เข้าพบนายกฯ พร้อมลงนามเอ็มโอยู 3 ฉบับ เผยผลหารือข้อราชการ เสนอความช่วยเหลือ 3 ปี 2559-2561 โครงการ 150 ล้าน เน้นด้านการศึกษา สาธารณสุข การเกษตร และพัฒนาตามแนวชายแดน พร้อมถกอนุญาตชาวเมียนมาตรวจลงตราตรวจคนเข้าเมืองที่จุดผ่านแดนถาวร สร้างสะพานมิตรภาพแห่งที่ 2 และเปิดเส้นทางบินไปภาคตะนาวศรี ด้านเศรษฐกิจรับปากส่งเสริมเอกชนไทยลงทุนในเมียนมา พร้อมเชิญประธานาธิบดี ติน จ่อ มาเยือนไทย และประชุมสุดยอดความร่วมมือเอเชีย





วันนี้ (24 มิ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 16.30 น. นางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และรัฐมนตรีประจำทำเนียบประธานาธิบดี เดินทางมาถึงทำเนียบรัฐบาล โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมด้วย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ และนายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ ให้การต้อนรับในฐานะแขกของรัฐบาลไทย ในโอกาสเดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้ บริเวณด้านหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ได้มีการตั้งแถวทหารเกียรติยศ โดยกองพันทหารราบ มณฑลทหารบกที่ 11 จำนวน 1 กองร้อย และมีการประดับธงชาติสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาเพื่อเป็นเกียรติและต้อนรับ

จากนั้น นางอองซานได้ลงนามในสมุดเยี่ยม ที่ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้าและหารือข้อราชการ ที่ห้องสีเขียว โดยมีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รมว.แรงงาน พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน นายอาคม เติมวิทยาไพสิฐ ด้านเมียนมา ประกอบด้วย นายเต็ง ส่วย รมว.แรงงานและผู้อพยพ นายจอ วิน รมว.วางแผนและการเงิน ร่วมหารือ

จากนั้น ที่ตึกสันติไมตรี พล.อ.ประยุทธ์และนางอองซาน ได้แถลงร่วมและเป็นสังขีพยานร่วมลงนามบันทึกความตกลง 3 ฉบับ ประกอบด้วย บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน บันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงานระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลเมียนมา และบันทึกความตกลงว่าด้วยการข้ามแดน

ในคำแถลง พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า ตนมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ต้อนรับนางซูจี และคณะ ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เมียนมากับไทยได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตมานานกว่า 68 ปี และมีประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์มายาวนานกว่า 700 ปี เป็นเหมือนเพื่อนสนิทที่คบหากันมาช้านาน จึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่นางซูจีเดินทางเยือนประเทศไทยเป็นประเทศแรกในฐานะหัวหน้าคณะ หลังดำรงตำแหน่งในรัฐบาลชุดใหม่ของเมียนมา ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าไทยกับเมียนมาเป็นหุ้นส่วนทางธรรมชาติ มีผลประโยชน์ร่วมกันในทุกด้าน ความมั่นคงมั่งคั่งของเมียนมาก็คือความมั่นคงมั่งคั่งของไทยด้วยเช่นกัน การมาเยือนของนางซูจีในครั้งนี้ จึงเปรียบเสมือนมิติใหม่ของความสัมพันธ์ไทย – เมียนมา ซึ่งประเทศไทยพร้อมที่ร่วมมือกับรัฐบาลชุดใหม่ของเมียนมาในทุก ๆ ด้าน เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของประชาชนทั้งสองประเทศ และขอให้คำมั่นว่าเราจะก้าวไปข้างหน้าพร้อมกัน

เมื่อสักครู่ ตนและนางซูจีได้หารือข้อราชการกันอย่างเข้มข้น ผลการหารือเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ โดยมีผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมและมีความสำคัญ ได้แก่ การคุ้มครองแรงงานเมียนมาในประเทศไทย เราทั้งสองเห็นพ้องว่า ภาคเอกชนไทยและแรงงานเมียนมาต่างพึ่งพากัน และยังประโยชน์ต่อกันและกัน ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยให้การคุ้มครองและดูแลแรงงานเมียนมาเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการรักษาพยาบาล และการศึกษาของบุตรหลานของแรงงานเมียนมา สิทธิของแรงงานเมียนมาได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายไทยทุกประการ ล่าสุด รัฐบาลไทยได้ดำเนินมาตรการเพื่อยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองแรงงานเมียนมาในไทยหลายมาตรการ อาทิ การเตรียมเปิดตัวระบบร้องทุกข์ออนไลน์สำหรับแรงงานผ่านทางเว็บไซต์ การให้บริการระบบโทรศัพท์สายด่วนร้องทุกข์ 1694 โดยมีเจ้าหน้าที่ที่สามารถพูดภาษาเมียนมาได้ให้บริการ ข้อริเริ่มจัดตั้งศูนย์แรกรับและส่งกลับแรงงานเมียนมาที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ข้อริเริ่มจัดตั้งศูนย์ร่วมบริการช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวในจังหวัดที่มีแรงงานเมียนมาจำนวนมาก และข้อริเริ่มโครงการสร้างทักษะวิชาชีพแรงงานเมียนมาตามแนวชายแดน

สำหรับความร่วมมือเพื่อการพัฒนา เป็นสิ่งที่ฝ่ายไทยเน้นย้ำและได้ให้ความช่วยเหลือแก่เมียนมามาโดยตลอด เพื่อนำพาทั้งสองประเทศให้พัฒนาไปพร้อมกัน ตนขอเน้นย้ำความร่วมมือที่สำคัญ ดังนี้ 1. ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาไทย – เมียนมา ระยะ 3 ปี ระหว่างปี 2559 –2561 ซึ่งฝ่ายไทยพร้อมให้ความช่วยเหลือแก่เมียนมาอย่างบูรณาการและเป็นระบบ ประกอบด้วยโครงการต่าง ๆ มีมูลค่ารวมประมาณ 150 ล้านบาท โดยผ่านการหารือระหว่างกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กับหน่วยงานรับผิดชอบของรัฐบาลเมียนมาอย่างใกล้ชิด เน้นการให้ความช่วยเหลือด้านการศึกษา สาธารณสุข และการเกษตร ซึ่งเป็นสิ่งที่นางซูจีให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก

2. การให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาตามแนวชายแดนต่างๆ อาทิ ความร่วมมือในป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ความร่วมมือในการป้องกันปัญหาข้ามชาติต่างๆ ความร่วมมือด้านสาธารณสุข และความร่วมมือด้านการพัฒนาทักษะอาชีพแรงงาน รวมทั้งโครงการผืนป่าอาเซียน และโครงการหมู่บ้านเข้มแข็งคู่ขนานตามแนวชายแดน 50 หมู่บ้าน ซึ่งไทยได้ริเริ่มไว้ และไทยยังได้แสดงความพร้อมที่จะแบ่งปันประสบการณ์การน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปใช้เป็นต้นแบบของการพัฒนาด้วย

ความร่วมมือที่สำคัญอีกประการคือ ความร่วมมือด้านความเชื่อมโยง เราทั้งสองเห็นพ้องที่จะอำนวยความสะดวกการข้ามแดนระหว่างสองประเทศให้มากยิ่งขึ้น โดยในเบื้องต้น เราทั้งสองได้หารือความเป็นไปได้ในการอนุญาตให้ประชาชนของทั้งสองประเทศสามารถขอรับการตรวจลงตรา ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมือง (Visa on Arrival) ที่จุดผ่านแดนถาวร ซึ่งคงต้องมีการหารือในรายละเอียดต่อไป

รวมทั้งเห็นพ้องที่จะเร่งรัดการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย – เมียนมา แห่งที่ 2 และกระบวนการจัดทำความตกลงขนส่งข้ามแดนภายใต้กรอบบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับการเริ่มใช้ความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Initial Implementation of the Cross-Border Transport Agreement – IICBTA) นอกจากนี้ ตนเห็นพ้องกับนางซูจีที่ช่วยให้สายการบินของไทยพิจารณาเปิดเส้นทางบินไปยังเมียนมาเพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่งไปยังภาคตะนาวศรี ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมียนมา

สำหรับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ เราทั้งสองเห็นพ้องกันว่าเศรษฐกิจของสองประเทศส่งเสริม เกื้อหนุนและพึ่งพาซึ่งกันและกัน และมุ่งมั่นที่จะเพิ่มมูลค่าการค้าการลงทุนและการท่องเที่ยวระหว่างสองประเทศและอนุภูมิภาคโดยรวม ทั้งนี้ ในส่วนของไทย ตนรับปากกับนางซูจีว่าจะส่งเสริมให้ภาคเอกชนไทยเข้าไปทำธุรกิจในเมียนมาอย่างมีความรับผิดชอบ โปร่งใส่ และเน้นความยั่งยืน โดยนางซูจีก็พร้อมที่ดูแลนักธุรกิจไทยที่เข้าไปลงทุนในเมียนมาด้วย

เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2559 ตนได้ไปกล่าวเปิดงาน CLMVT Forum และได้รับเกียรติต้อนรับรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจจากเมียนมาถึง 3 ท่าน (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวางแผนแห่งชาติและการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และรัฐมนตรีว่าการท่องเที่ยวและการโรงแรมเมียนมา) ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเมียนมาให้ความสำคัญกับเรื่องการพัฒนาทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการส่งเสริมการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ทั้งนี้ ตนเชื่อว่า งานดังกล่าวจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะช่วยผลักดันให้ความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศมีความคืบหน้าต่อไปรวมถึงภายใต้กรอบ Asia Cooperation Dialogue ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้

ตนรู้สึกยินดีที่ได้เป็นสักขีพยานในการลงนามเอกสาร 3 ฉบับ ร่วมกับนางซูจี ได้แก่ 1. ความตกลงว่าด้วยการข้ามแดนระหว่างไทยกับเมียนมา 2. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน และ 3. บันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงาน ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการส่งเสริมความเชื่อมโยงและความร่วมมือด้านแรงงานระหว่างสองประเทศต่อไป

ในโอกาสนี้ เราทั้งสองยังได้หารือเกี่ยวกับการสนับสนุนกระบวนการสันติภาพในเมียนมา รวมทั้งการดูแล ให้การศึกษา และการเข้าถึงบริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐานของแรงงานเมียนมาและผู้หนีภัยการ สู้รบจากเมียนมาจากรัฐบาลไทย เราทั้งสองยินดีต่อกระบวนการปรองดองแห่งชาติในเมียนมาที่มีพัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเมื่อสถานการณ์ในเมียนมามีความพร้อม รัฐบาลของทั้งสองฝ่ายก็จะร่วมมือกันในการเตรียมการสำหรับการส่งกลับผู้หนีภัยการสู้รบกลับเมียนมา เพื่อให้กระบวนการดังกล่าวเป็นไปอย่างยั่งยืน โดยในระหว่างนี้ ฝ่ายไทยขอให้ฝ่ายเมียนมาจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาหารือกับฝ่ายไทยเพื่อเตรียมการเรื่องนี้

เราทั้งสองยังเห็นพ้องที่จะแสวงหาความเป็นไปได้ในการริเริ่มความร่วมมือไตรภาคีกับประเทศที่สาม อาทิ ญี่ปุ่น ในการดำเนินโครงการพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรและการพัฒนามนุษย์ รวมทั้งการปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างไทยกับเมียนมา

สำหรับโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ไทยและเมียนมาเล็งเห็นถึงความสำคัญของการผลักดันการพัฒนาโครงการดังกล่าว ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างงานและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งจะช่วยสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งในเมียนมา ไทย และในภูมิภาค และเห็นพ้องที่จะสนับสนุนให้มีการรื้อฟื้นกลไกการประชุมหารือระดับรัฐบาลระหว่างสองฝ่ายให้สามารถกลับมาดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ตนได้เน้นย้ำจุดยืนของรัฐบาลไทยด้วยว่า การพัฒนาโครงการดังกล่าวจะต้องกระทำควบคู่ไปกับการจัดหามาตรการในการป้องกันผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่เป็นสำคัญด้วย

สำหรับความร่วมมือภายใต้กรอบอาเซียน เราทั้งสองเห็นพ้องกันว่า ไทยกับเมียนมาจะมีปฏิสัมพันธ์กับอาเซียน รวมทั้งมีบทบาทต่อสถาปัตยกรรมในภูมิภาคซึ่งมีอาเซียนเป็นศูนย์กลางอย่างกระตือรือร้นและสร้างสรรค์ รวมทั้งจะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อจรรโลงสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค และสร้างประชาคมอาเซียนให้เป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง

สุดท้ายนี้ ตนขอขอบคุณนางซูจีอีกครั้ง สำหรับความจริงใจที่เมียนมามอบให้ไทย และความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะร่วมมือกันผลักดันประเด็นสำคัญต่างๆ เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันและความผาสุกของประชาชนชาวไทยและเมียนมา การเดินทางมาเยือนไทยของนางซูจีตามคำเชิญของตนในครั้งนี้เป็นโอกาสให้เราทั้งสองได้พูดคุยและตระหนักว่า ประเทศของเรายังต้องพัฒนาและปฏิรูปเพื่อสังคมประชาธิปไตยและความกินดีอยู่ดีของประชาชนของเรา ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียนด้วยกันต่อไป

ในโอกาสนี้ ตนยังได้ฝากคำเชิญผ่านที่ปรึกษาแห่งรัฐแห่งเมียนมาไปยังประธานาธิบดี ติน จ่อ เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือแห่งเอเชีย (Asia Cooperation Dialogue Summit) ที่ไทย จะเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นในช่วงเดือนตุลาคมนี้ รวมทั้งเชิญเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการในโอกาสแรกด้วย

ขณะที่นางซูจี กล่าววา ต้องขอขอบคุณประเทศไทยที่ช่วยดูแลชาวเมียนมา ตนดีใจและยินดีที่ได้มาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการเป็นประเทศแรก สิ่งที่หารือร่วมกันวันนี้ถือว่ามีความสำคัญซึ่งตนและคณะจะทำงานร่วมกับรัฐบาลไทยเป็นอย่างดี ทั้งนี้ ทุกคนมีความพยายามที่จะมีงานทำ ซึ่งก็ต้องขอบคุณประเทศไทยที่ได้ดูแลเป็นอย่างดี ส่วนของผู้ลี้ภัยชาวเมียนมานั้นรัฐบาลเมียนมาพร้อมต้อนรับให้พวกเขาได้กลับบ้าน และอยากให้ทุกคนได้กลับบ้าน โดยเราจะต้องมีทุกสิ่งทุกอย่างในการรองรับ อาทิ โรงเรียน โรงพยาบาล และสิ่งสำคัญคือต้องมีงานให้ทุกคนได้ทำ ซึ่งจากการพูดคุยกับชาวเมียนมา ทราบว่าทุกคนต้องการทำงานและอยากยืนได้ด้วยขาของตัวเอง อย่างไรก็ตามต้องขอขอบคุณรัฐบาลไทยที่ให้โอกาสกับชาวเมียนมาและขอขอบคุณความร่วมมือที่มือระหว่างสองประเทศ

ทั้งนี้ ได้มีการหารือถึงการแบ่งปันความรับผิดชอบ การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน รวมทั้งจะเสริมสร้างความร่วมมือต่อกันต่อไปเพื่อสร้างอนาคตไว้ให้กับคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นหนทางซึ่งไม่ใช่เพียงการก้าวร่วมกันระหว่างไทยกับเมียนมาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงกลุ่มประเทศในอาเซียน สำหรับอาเซียนทุกประเทศจะต้องเดินหน้าไปด้วยกัน แม้บางประเทศทจะมีควมแตกต่างก็ต้องสามารถอย่วมกันได้ด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจ อย่างไรก็ตามตนขอให้ความมั่นใจว่าเมียนมามีศักยภาพและเราจะไม่เป็นภาระให้กับอาเซียน และพร้อมที่จะร่วมกับทุกประเทศที่จะเดินไปข้างหน้า ซึ่งแต่ละประเทศไม่สามารถเติบโตได้เพียงรัฐบาลหรือกลุ่มคนเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น แต่ต้องมีคนจากทุกภาคส่วน รวมถึงเยาวชนที่จะร่วมมือช่วยเหลือกัน ขณะเดียวกันก็ไม่มีประเทศไหนที่จะสามารถเดินไปข้างหน้าได้เพียงลำพัง ทุกประเทศต้องก้าวไปด้วยกัน ขอขอบคุณประเทศไทยที่ให้การสนับสนุนให้เมียนมาสามารถก้าวข้ามสิ่งต่างๆ ไปได้

หลังจากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำนางอองซานและคณะ ที่ตึกสันติไมตรี อาทิ สลัดล็อบสเตอร์ เนื้อปูหมักสัปปะรด พริกหวานและตะไคร้ ต้มยำกุ้ง ปลากะพงราดซอสเปรี้ยวหวาน เสริมพร้อมข้าวหอมมะลิผักอบ ครีมบูเล่รสใบเตย เชอร์เบทกระเจี๊ยบมะพร้าวอ่อน ราดซอสข้นรสใบเตย ขนมไทยและผลไม้รวม อาทิ ทุเรียน เป็นต้น นอกจากนี้ นายกฯ ยังได้นำเค้กรสวานิลลามาอวยพรวันเกิดย้อนหลังให้กับนางอองซาน เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. ที่ผ่านมาอีกด้วย





































อ่านประกอบ : เปิดความตกลงด้านแรงงาน 2 ฉบับ “ไทย-เมียนมา”


กำลังโหลดความคิดเห็น