xs
xsm
sm
md
lg

ได้ไปต่อหรือไม่? มท.ออกระเบียบให้สิทธิลูกบ้าน 20 คนร่วมประเมิน “ผู้ใหญ่บ้าน” ทำงานครบ 4 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
มท.ออกระเบียบประเมินผล “ผู้ใหญ่บ้าน” ทำงานครบ 4 ปี เน้น 3 ด้าน “การปฏิบัติหน้าที่ คุณลักษณะความเป็นผู้นำ ความพึงพอใจ” ให้อำนาจ “นายอําเภอ” จัดให้มีการประเมินผล ต้องรับฟังความคิดเห็นจากราษฎรในหมู่บ้านไม่ต่ำกว่า 20 คน หากประเมินไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ถือว่า “ไม่ผ่าน” ให้ผู้ใหญ่บ้านต้องพ้นจากตําแหน่งตาม พ.ร.บ.ปกครองท้องที่ พ.ศ. 2551 แต่ยังมีสิทธิอุทธรณ์

วันนี้ (24 มิ.ย.) มีรายงานว่า ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้าน พ.ศ. 2559 ดังนี้

“โดยที่พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๕๑ มีบทบัญญัติกําหนดให้ผู้ใหญ่บ้านต้องพ้นจากตําแหน่ง ด้วยเหตุไม่ผ่านการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ซึ่งต้องทํา อย่างน้อยทุกห้าปีนับแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้ง ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงมหาดไทยกําหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งต้องกําหนดให้ราษฎรในหมู่บ้านมีส่วนร่วมในการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านด้วยอาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๑๔ (๑๑) แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๕๑ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยออกระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้าน พ.ศ. ๒๕๕๙”

ข้อ ๒ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกําหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ ๓ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับกับผู้ใหญ่บ้านที่ได้รับการแต่งตั้งตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ ตั้งแต่วันที่ ๖ เมษายน ๒๕๕๑ เป็นต้นไป

ข้อ ๔ ในระเบียบนี้
“หมู่บ้าน” หมายความว่า หมู่บ้านตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่
“คณะกรรมการประเมินผล” หมายความว่า คณะกรรมการซึ่งทําหน้าที่ประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้าน
“ผู้เข้ารับการประเมินผล” หมายความว่า ผู้ใหญ่บ้านที่เข้ารับการประเมินผล

ข้อ ๕ ให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามระเบียบนี้ และให้มีอํานาจตีความและวินิจฉัยปัญหา เพื่อดําเนินการให้เป็นไปตามระเบียบนี้

ข้อ ๖ ให้มีการประเมินผลผู้ใหญ่บ้านที่ได้รับการแต่งตั้ง และดํารงตําแหน่งครบสี่ปี ส่วนการประเมินผลครั้งถัดไปให้ดําเนินการประเมินผลทุกสี่ปี นับแต่วันที่นายอําเภอประกาศให้ผ่านการประเมินผลตามข้อ ๑๔ การประเมินผลตามวรรคหนึ่ง ให้นายอําเภอจัดให้มีการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้าน โดยต้องดําเนินการให้แล้วเสร็จภายในกําหนดสี่สิบห้าวัน นับแต่วันที่ต้องมีการประเมินผล

ข้อ ๗ ให้นายอําเภอแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินผล ประกอบด้วย นายอําเภอเป็นประธานหัวหน้าส่วนราชการประจําอําเภอ หรือกํานันในพื้นที่ หรือเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานอื่นของรัฐที่ปฏิบัติงานในพื้นที่จํานวนหนึ่งคน เป็นกรรมการ และปลัดอําเภอคนหนึ่งเป็นกรรมการและเลขานุการ

ข้อ ๘ ในการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้าน ให้นายอําเภอดําเนินการประกาศกําหนดให้มีการประเมินผล และปิดประกาศไว้ ณ ที่ว่าการอําเภอ ที่ทําการกํานัน และที่ทําการผู้ใหญ่บ้านที่เข้ารับการประเมินผล ในประกาศอย่างน้อยต้องมีสาระสําคัญ ดังนี้

(๑) ชื่อผู้เข้ารับการประเมินผล
(๒) คําสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินผล
(๓) กําหนดวัน และสถานที่ส่งรายงานผลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านให้นายอําเภอส่งประกาศตามวรรคหนึ่งให้ผู้เข้ารับการประเมินผลทราบด้วย

ข้อ ๙ ผู้เข้ารับการประเมินผลผู้ใดเห็นว่า ตนอาจไม่ได้รับความเป็นธรรมอันเนื่องมาจากคณะกรรมการประเมินผล ให้ร้องคัดค้านเพื่อขอเปลี่ยนกรรมการประเมินผล โดยยื่นคําร้องเป็นหนังสือพร้อมชี้แจงข้อเท็จจริงและเอกสารที่เกี่ยวข้องต่อนายอําเภอภายในสามวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งตามข้อ ๘ วรรคสอง เหตุแห่งการคัดค้านเพื่อขอเปลี่ยนกรรมการประเมินผล ได้แก่

(๑) เป็นบุคคลซึ่งอยู่ระหว่างเป็นคู่กรณีในศาล
(๒) เป็นบุคคลซึ่งได้ร้องเรียนผู้เข้ารับการประเมินผลและผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงยังไม่ยุติ
(๓) เป็นคู่หมั้นหรือคู่สมรสของผู้เข้ารับการประเมินผล
(๔) เป็นญาติของคู่กรณี คือ เป็นบุพการีหรือผู้สืบสันดานไม่ว่าชั้นใด ๆ หรือเป็นพี่น้องหรือลูกพี่ลูกน้องนับได้เพียงภายในสามชั้น หรือเป็นญาติเกี่ยวพันทางแต่งงานนับได้เพียงสองชั้น
(๕) เป็นหรือเคยเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้พิทักษ์หรือผู้แทนหรือตัวแทนของผู้เข้ารับการประเมินผล
(๖) เป็นเจ้าหนี้หรือลูกหนี้ ของผู้เข้ารับการประเมินผล
(๗) เหตุอื่นใด ซึ่งมีสภาพร้ายแรงอันอาจทําให้การประเมินผลไม่เป็นกลางกรณีที่มีการร้องคัดค้านตามวรรคหนึ่ง ให้นายอําเภอตรวจสอบพิจารณาวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายในสามวันนับแต่วันที่ได้รับคําร้องคัดค้านคําวินิจฉัยของนายอําเภอให้ถือเป็นที่สุด

ข้อ ๑๐ คณะกรรมการประเมินผลมีอํานาจหน้าที่ ดังนี้

(๑) แสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อนํามาประกอบการพิจารณาประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้าน
(๒) รับฟังความคิดเห็นจากราษฎรในหมู่บ้าน ตามหลักเกณฑ์ที่กําหนดไว้ในข้อ ๑๒ เพื่อประกอบการพิจารณา
(๓) บันทึกรายงานการประเมินผลและเอกสารประกอบการประเมินผลพร้อมทั้งความเห็นเสนอนายอําเภอเพื่อดําเนินการต่อไป
(๔) ประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านให้เป็นไปตามที่ระเบียบกฎหมายกําหนด

ข้อ ๑๑ การประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านประกอบด้วยองค์ประกอบสามด้านดังต่อไปนี้

(๑) ด้านการปฏิบัติหน้าที่
(๒) ด้านคุณลักษณะความเป็นผู้นำ
(๓) ด้านความพึงพอใจ

ให้คณะกรรมการประเมินผลกําหนดเกณฑ์ และวิธีการประเมินผล วิธีการรับฟังความคิดเห็นแนวทางการประเมินผลให้สอดคล้องและเหมาะสมกับพื้นที่ และแจ้งให้ผู้เข้ารับการประเมินผลทราบ

ข้อ ๑๒ การรับฟังความคิดเห็นของราษฎรในหมู่บ้านต่อการปฏิบัติหน้าที่ของผู้เข้ารับการประเมินผลคณะกรรมการประเมินผลอาจมอบหมายให้กรรมการประเมินผลคนหนึ่งคนใดไปรับฟัง ความคิดเห็นของราษฎรในหมู่บ้านเพื่อประกอบการประเมินผล ตามจํานวนที่คณะกรรมการประเมินผลกําหนด แต่ต้องไม่น้อยกว่ายี่สิบคน โดยต้องให้ทั่วถึงและเป็นธรรม โดยคํานึงถึงความสอดคล้องกับพื้นที่

ข้อ ๑๓ การประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้าน ให้คณะกรรมการประเมินผลพิจารณาจากผลรวมที่ประเมินได้ในระดับ “ผ่าน” หรือ “ไม่ผ่าน” หากมีผลการประเมินในระดับผ่านตามข้อ ๑๑ รวมกันไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจํานวนการประเมินผลทั้งหมดที่กําหนดไว้ ให้ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้ไม่ผ่านการประเมินผลให้คณะกรรมการประเมินผลบันทึกรายงานการประเมินผลและรวบรวมเอกสาร ที่เกี่ยวข้องเสนอต่อนายอําเภอเพื่อดำเนินการต่อไป

ข้อ ๑๔ ให้นายอําเภอประกาศผลการประเมิน ณ ที่ว่าการอําเภอ ที่ทําการกํานันและที่ทําการผู้ใหญ่บ้านที่เข้ารับการประเมินผล พร้อมทั้งแจ้งผลการประเมินให้ผู้เข้ารับการประเมินผลทราบในกรณีที่ไม่ผ่านการประเมินผล ให้นายอําเภอออกคําสั่งให้ผู้เข้ารับการประเมินผล พ้นจากตําแหน่งนับแต่วันประกาศผลการประเมิน

ข้อ ๑๕ ผู้เข้ารับการประเมินผลที่ไม่ผ่านการประเมินผล และได้รับคําสั่งให้พ้นจากตําแหน่งมีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการประเมินผล และให้นํากฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองมาใช้บังคับด้วย

ข้อ ๑๖ ผู้ใหญ่บ้านที่ได้รับการแต่งตั้ง และดํารงตําแหน่งครบสี่ปีก่อนวันที่ระเบียบนี้ มีผลใช้บังคับให้เข้ารับการประเมินผลครั้งแรกภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่ระเบียบนี้มีผลใช้บังคับ ส่วนการประเมินผลครั้งถัดไปให้ดําเนินการประเมินผลทุกสี่ปี นับแต่วันที่นายอําเภอประกาศให้ผ่านการประเมินผล

ประกาศ ณ วันที่ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๙
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย”


กำลังโหลดความคิดเห็น