“หมอชัยเลิศ” ยื่นฟ้องศาลปกครองเพิกถอนมติสภา มสธ.ถอดถอนออกจากตำแหน่งอธิการบดี มสธ. โวยไม่เป็นธรรมไม่ชอบด้วยกฎหมาย ยันไม่เคยปฏิบัติขัดมติสภา มสธ. มีแต่ขัดใจกรรมการบางคน ย้ำไปเรียน วปอ.ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ซ้ำไม่เคยทำให้ มสธ.เสียหาย
วันนี้ (16 มิ.ย.) นพ.ชัยเลิศ พิชิตพรชัย อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) เข้ายื่นฟ้องสภา มสธ. นายองค์การ อินทรัมพรรย์ นายกสภา มสธ. เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-2 ต่อศาลปกครองกลางขอให้เพิกถอนคำสั่งสภา มสธ.ที่ 9/2559 กรณีถอดถอนตนเองออกจากตำแหน่งอธิการบดี ที่ลงนามโดยนายองค์การ พร้อมให้คืนตำแหน่งอธิการบดีให้แก่ตนเอง และระหว่างการพิจารณาคดีขอให้ศาลกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาโดยสั่งระงับคำสั่งสภา มสธ.ที่ถอดถอนตนเองออกจากตำแหน่งอธิการบดีไว้ก่อน ซึ่งนายชัยเลิศกล่าวว่า ที่ต้องมาฟ้องคดีเพราะเห็นว่ามติสภา มสธ.ไม่เป็นธรรมกระบวนการหาข้อเท็จจริงไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยสภาฯมีการพิจารณาและมีมติเรื่องดังกล่าวพร้อมกับมีคำสั่งถอดถอนในวันเดียวกันคือวันที่ 9 มิ.ย. รวมทั้งยังพบว่าการประชุมดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของสภา มสธ.บางคนขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งแต่กลับร่วมประชุมด้วย
นพ.ชัยเลิศยังกล่าวว่า เชื่อว่าสาเหตุที่ทำให้ถูกถอนมากจากการที่ตนเองเป็นคนตรง ยึดข้อกฎระเบียบในการบริหารงานเป็นหลัก ที่ผ่านมากรณีกรรมการสภา มสธ.บางคนมีคำสั่งให้ตนปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เห็นว่าไม่สามารถดำเนินการได้เพราะขัดต่อระเบียบกฎหมาย จึงทำให้กรรมการบางคนอาจจะไม่ค่อยพอใจ จึงมีการระบุเป็นเหตุผลในการถอดถอนว่าเพราะตนไม่สามารถทำงานร่วมกับสภามหาวิทยาลัยได้ ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะถ้าไปดูข้อเท็จจริงจะเห็นว่าไม่เคยมีครั้งไหนที่ตนเองปฏิบัติขัดมติของสภา มสธ.
“ถ้าไปตรวจดูการประชุมสภา มสธ. 26 ครั้งในช่วงปีครึ่งผมไม่เคยขัดมติสภาแม้สักครั้งท่านบัญชาอะไรมาผมก็ทำ แต่ถ้าคนคนเดียวสั่งการ ผมไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะมันติดช่องกฎหมายที่กำหนดว่าอธิการบดีจะต้องรับมติสภาเพื่อไปปฏิบัติ ถ้าไม่ใช่มติสภาก็จำเป็นต้องรอมติสภาก่อน ตรงนี้ถ้าเขาเห็นว่าผมไม่ทำตามความต้องการของใครบางคนในสภาฯ ก็ต้องขอทำความเข้าใจก่อนว่ากฎหมายให้ผมต้องทำตามมติสภา มสธ. ซึ่งสภามีมติครั้งใดผมปฏิบัติทุกครั้ง”
นอกจากนี้นายชัยเลิศ ยังระบุว่าอีกว่า กรณีตนให้เริ่มกระบวนการสรรหากรรมการสภามหาวิทยาลัยชุดใหม่แทนชุดปัจจุบันที่จะหมดวาระในวันที่ 23 พ.ย. 59 นี้ซึ่งเป็นการดำเนินการตามระยะเวลาที่ข้อบังคับและประกาศของ มสธ.กำหนดไว้ ทำให้นายกฯ และกรรมการสภา มสธ.ไม่พอใจ แม้เมื่อเริ่มกระบวนการสภา มสธ.จะมีมติรับทราบ แต่ต่อมานายกสภาก็มีคำสั่งมาให้ยุติการดำเนินการ แต่ตนปฏิเสธ นายกสภาฯ ก็เรียกประชุมสภา มสธ.นัดพิเศษวันที่ 31 พ.ค. เพื่อมีมติให้ระงับกระบวนการสรรหานายกฯและกรรมการสภาชุดใหม่ โดยในการยื่นฟ้องคดีครั้งนี้ก็ได้มีการนำส่งวิดีโอเทปบันทึกการประชุมสภามหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าว สำหรับที่อ้างว่า และที่อ้างว่าตนไปต่างประเทศก็ไม่มีการยื่นลากับสภา มสธ.นั้น ตามกฎหมายและประเพณีที่ปฏิบัติกันมาทุกมหาวิทยาลัยที่ยังไม่ออกนอกระบบและอยู่ในสังกัดของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) หากผู้บริหารจะเดินทางไปต่างประเทศก็ต้องยื่นลาต่อเลขาฯ สกอ.อยู่แล้ว ไม่ใช่ลากับสภามหาวิทยาลัย
ส่วนกรณีที่อ้างว่าตนใช้เวลางานไปเรียน วปอ.นั้น หลักสูตรดังกล่าวเป็นหลักสูตรชั้นนำระดับประเทศของผู้บริหารองค์กร ซึ่งผู้เข้ารับการอบรมก็ล้วนแต่เป็นปลัดกระทรวง อธิบดีกรมต่างๆ โดยการไปอบรมหลักสูตรดังกล่าวถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ โดยตนเข้าอบรมตั้งแต่เดือน ต.ค. 58 และจะครบหลักสูตรในเดือน ก.ย. 59 ซึ่งตลอดเวลาการของการอบรมไม่เคยทำให้งานราชการของมหาวิทยาลัยเสียหาย ซึ่ง 2 วันก่อนที่สภา มสธ.จะมีมติถอดถอนตนจากการเป็นอธิการบดี ตนก็ได้ยื่นหนังสือถึง รมว.ศธ.ขอให้มีการตั้งคณะกรรมการจากบุคคลภายนอกเข้าไปตรวจสอบทั้งการบริหารของสภา มสธ.และตรวจสอบตนเองในเรื่องดังกล่าวมาแล้วแต่สภา มสธ.ก็กลับมีคำสั่งถอดถอนเสียก่อน