xs
xsm
sm
md
lg

ตำรวจไม่ฟื้นภาพฉาวติดลบรายวัน ไม่เร่งปฏิรูปมีสิทธิ์พังกันทั้งองค์กร!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เมืองไทย 360 องศา

อาจะเป็นเพราะภารกิจของตำรวจต้องผูกพันเกี่ยวข้องกับประชาชนตั้งแต่เช้ายันค่ำ เรียกว่าตลอดเวลาเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมาย เป็นเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบที่สามารถพกพาอาวุธในที่สาธารณะ ด้วยลักษณะงานดังกล่าวมันก็ช่วยไม่ได้ที่มีโอกาสกระทบกระทั่งกับชาวบ้านที่มีแบบร้อยพ่อพันแม่ มีทั้งสุจริตชนและทุจริตชน

ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาในภาพรวมๆแล้วเมื่อมีภารกิจที่หมิ่นเหม่ต่อการกระทบกระทั่งและละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมไปถึงการใช้อำนาจโดยมิชอบ มันก็ต้องสร้างหลักประกันที่เข้มงวดและเป็นธรรมทั้งกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเองและชาวบ้าน โดยเฉพาะในฝ่ายตำรวจต้องสร้างหลักประกันทั้งในเรื่องความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน จากการพิจารณาโยกย้ายประจำปี

แน่นอนว่าเวลานี้หน่วยงานของรัฐที่กำลังถูกพูดถึงและถูกวิจารณ์ในทางลบหนักขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นยิ่งนับวันยิ่งหนักข้อกว่าเดิม ยังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้นเลย และที่สำคัญที่สุดก็คือ หน่วยงานตำรวจถือเป็นหน่วยงานที่ชาวบ้านเรียกร้องให้มีการปฏิรูปแบบเร่งด่วนที่สุด เพราะเป็นความต้องการของชาวบ้านสูงที่สุด พิสูจน์ได้จากผลสำรวจที่ออกมาตรงกันทุกครั้ง

ก่อนหน้านี้ภาพลักษณ์ของตำรวจตกต่ำที่สุดในช่วงที่นักการเมืองเรืองอำนาจ มีการใช้ตำรวจเป็นเครื่องมือทางการเมือง สร้างอิทธิพลต่างๆนานา ขณะที่ฝ่ายตำรวจหลายนายก็ยินดีเข้าไปรับใช้นักการเมือง ยอมเป็นเครื่องมืออย่างเต็มใจเพื่อแลกกับความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่

ด้วยสภาพที่เป็นอยู่ในตอนนั้นมันก็ย่อมเดาออกได้ไม่ยากว่าภาพลักษณ์ของตำรวจย่อมต้องติดลบในแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ขณะเดียวกันด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปอย่างฉับไวในยุคของการสื่อสารในยุคโซเชียลฯจนสามารถบันทึกหลักฐานและตรวจสอบการทำงานของตำรวจประจำวันได้อย่างเข้มข้นแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้การทำงานของตำรวจถูกวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้น

ในช่วงแรกที่มีการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา สังคมไทยตั้งความหวังเอาไว้สูงมากว่าจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และที่ผ่านมาผู้นำสูงสุดของ คสช.คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เคยรับปากว่าจะต้องมีการปฏิรูปตำรวจเป็นภารกิจเร่งด่วนในลำดับแรกๆ แต่ในที่สุดทุกอย่างก็หยุดนิ่ง จนกระทั่งมีการประกาศชัดเจนในภายหลังว่าจะไม่มีการปฏิรูปตำรวจโดยอ้างว่าไม่มีเวลาและโยนภาระให้กับรัฐบาลใหม่

อย่างไรก็ดี สิ่งที่เห็นสำหรับการเปลี่ยนแปลงก็คือ มีผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคือ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา และมีผู้กำกับดูแลงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติอย่างเต็มรูปแบบก็คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อย่างไรก็ดีหากพิจารณาจากผลงานของผู้บริหารระดับสูงดังกล่าวก็ไม่ได้ถือว่าเลวร้ายนัก แต่รับรองว่ายังไม่ขั้นที่เรียกว่าประทับใจชาวบ้าน อาจเป็นเพราะกลไกโครงสร้างแบบเดิม การบริหารแบบเดิม และที่สำคัญเป็นเพราะภาวะสังคมที่เปลี่ยนแปลงใจ ชาวบ้านมีความตื่นตัวทำให้เกิดการตรวจสอบติดตามการทำงานของตำรวจหนักหน่วงกว่าเดิม จนทำให้ภาพลักษณ์ของตำรวจโดยรวมติดลบ

สิ่งที่สร้างแรงเขย่าระดับผู้บริหารสูงสุดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติคือ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อย่างรุนแรง ล่าสุดก็คือโผแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจระดับ “นายพัน” คือระดับสารวัตร (สว.) ถึงระดับรองผู้บังคับการ (รอง ผบก.) วาระประจำปี 2558 ที่กว่าจะคลอดออกมาก็เป็นไปอย่างทุลักทุเล เมื่อออกมาแล้วก็มีความผิดพลาด ซ้ำซ้อน ลดชั้น ที่น่าตกใจก็คือมีบางนายที่ได้รับแต่งตั้งกลับเป็นผู้ต้องหาในคดี ม.112 บางรายชื่อก็เป็นคนที่เสียชีวิตไปแล้วเรียกว่า “มั่ว” ซึ่งแน่นอนว่าสามารถแก้ไขรายชื่อกันในภายหลังได้ แต่มันก็เสียหาย สูญเสียความเชื่อมั่นลงไปอีก

อีกเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นล่าสุดก็คือกรณีอื้อฉาวจากการจับกุมสถานบันเทิงที่ชื่อ “นาตารี” ย่านห้วยขวาง ที่เปิดบริการแบบเย้ยกฎหมาย เป็นการจับกุมจากหน่วยอื่นคือจากฝ่ายปกครองกระทรวงมหาดไทย และเจ้าหน้าที่จากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในฯ เป็นการ “ฉีกหน้า” ตำรวจอย่างยับเยิน และที่สำคัญก็คือมีการเปิดเผยรายการ “จ่ายส่วย” ให้หน่วยงานและบุคคลต่างๆ แน่นอนว่าก็ต้องมีตำรวจเป็นส่วนใหญ่หรือแทบทั้งหมด

แม้ว่าเรื่องแบบนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก หรือหากมีการปฏิรูปผ่าตัดโครงสร้างใหม่แล้วก็ไม่ใช่มีหลักประกันว่าจะไม่มีเรื่องอื้อฉาวแบบนี้อีก แต่มันสะท้อนให้เห็นถึงการทุจริตต่อหน้าที่ ความไม่เอาใจใส่ไม่ได้ทำหน้าที่ให้สมกับผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ และสิ่งที่เห็นทุกครั้งตามมาก็คือการโยกย้ายผู้บริหารสถานีในท้องที่หลังจากที่มีการจับกุมบ่อนหรือซ่อง มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวน แต่สุดท้ายพอเรื่องเงียบก็มีการวิ่งเต้น มีการโยกย้ายกลับไปในพื้นที่เกรดเออีก ลักษณะมันจึงไม่ต่างจาก “ปาหี่”

ลักษณะแบบนี้ชาวบ้านถึงได้เอือมระอาและเสื่อมศรัทธาตำรวจ ถึงได้มีการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปโดยด่วนที่สุด จนราวกับว่าหากเป็นไปได้อยากให้มีการเปลี่ยนแปลงวันนี้พรุ่งนี้เสียด้วยซ้ำ แต่สิ่งที่ปรากฏก็คือทุกอย่างยังหยุดนิ่ง ยังไม่มีการตอบสนองความต้องการของชาวบ้านแต่อย่างใด ปรากฏการณ์แบบนี้แหละน่าห่วง เพราะเหมือนกับการท้าทาย จะส่งผลต่อการทำงานที่จะมีปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ เพราะหากชาวบ้านไม่ศรัทธา ไม่เชื่อมั่นทุกอย่างก็จะล้มเหลว และในที่สุดก็จะส่งผลกระทบมาถึงรัฐบาลและ คสช.โดยรวมอีกด้วย!
กำลังโหลดความคิดเห็น