รมว.ต่างประเทศ แจงเขมรขึ้นทะเบียนโขนมรดกโลก แค่ทำให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ในอดีตก็เคยมีสองประเทศทำ ไม่ได้หมายความว่าจะแสดงโขนไม่ได้ แนะอย่าไปกังวล ยันความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศยังปกติ เผย “อองซานซูจี” มาไทย 23 มิ.ย.นี้ พบกับนายกฯ และชุมชนพม่า
วันนี้ (7 มิ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีกระทรวงวัฒนธรรมและศิลปะประเทศกัมพูชา เสนอขอให้โขนขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติกับทางยูเนสโกว่า เรื่องดังกล่าวมีการพูดกันในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เล็กน้อย แต่รับฟังดูแล้วไม่ใช่เป็นประเด็น ที่จริงเป็นเรื่องปกติสำหรับการนำเรื่องเพื่อไปจดทะเบียน ไม่ได้หมายความว่าเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์แล้วคนอื่นทำอย่างเดียวกันไม่ได้ แต่เป็นการนำเรื่องนั้นๆ ให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ในอดีตก็เคยมีสองประเทศทำ จึงไม่มีปัญหาอันใด
เรื่องโขนถ้ากัมพูชาขอขึ้นทะเบียน เราเองก็ไปขอขึ้นทะเบียนได้ เพราะชื่อเรียกต่างกัน แต่ของเราอาจจะช้าหน่อยเพราะไม่ได้เป็นสมาชิกของภาคีตามอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Cultural Heritage : ICH) แต่ระหว่างนี้ไม่ได้หมายความว่าเราจะแสดงโขนไม่ได้ ไม่มีเหตุอะไรที่จะเอาเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้นอย่าไปกังวล อย่าไปคิดว่าเป็นปัญหาใหญ่ สำหรับไทยกับกัมพูชายังเป็นเหมือนเดิม สนับสนุนกันและกัน
เมื่อถามว่า เราจะมีการยื่นเพื่อขอเป็นสมาชิกภาคีดังกล่าวในทันทีหรือไม่ นายดอนกล่าวว่า กำลังดำเนินการอยู่ แต่ยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่เป็นปัญหา ซึ่งแต่ละประเทศไปจดทะเบียนเพื่อให้รับรู้ เป็นเรื่องของการแสดงวัฒนธรรมตัวเอง ทางฝ่าย ICH เองก็มีความชัดเจนอยู่ว่าสิ่งต่างๆ ที่มาจดเพียงเพื่อให้รับรู้เท่านั้นเอง เมื่อถามว่าสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกัมพูชามีรายงานความเคลื่อนไหวของประชาชนกัมพูชาหรือไม่ นายดอนกล่าวว่า ไม่มี เรื่องนี้เป็นประเด็นในโซเชียลมีเดียเท่านั้นเอง ประชาชนอาจจะไม่ได้มีความเกี่ยวโยงกัน บางคนพูดเลยไปถึงเรื่องการเมืองด้วยซ้ำไป ซึ่งไม่อยากให้ไปโยงถึงเรื่องการเมืองของประเทศใดประเทศหนึ่ง ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศยังปกติและวิเศษสุด รวมทั้งอีกไม่กี่วัน รมว.ต่างประเทศของกัมพูชาก็จะมาไทย
นายดอนกล่าวถึงการเดินทางมาเยือนประเทศไทยของนางอองซาน ซูจี ผู้นำพรรคเอ็นแอลดี ว่า นางอองซานซูจี จะเดินทางมาช่วงวันที่ 23-25 มิ.ย. โดยจะเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และตนในฐานะ รมว.ต่างประเทศ รวมทั้งชุมชนชาวพม่า แต่ยังไม่ได้กำหนดว่าจะเป็นสถานที่ใด เพราะต้องดูความเหมาะสมในแง่มุมต่างๆ และเงื่อนเวลาที่มีอยู่ นอกจากนี้ อาจจะมีการมากล่าวสุนทรพจน์ แต่ยังไม่ได้มีความแน่นอน เป็นเรื่องที่ยังคุยกันอยู่ ยังไม่ยุติ