“บิ๊กต๊อก” ลงนามเพิ่ม 5 คดีพิเศษ เน้นเอาผิด “ฝ่ายปกครอง-ตํารวจชั้นผู้ใหญ่-แก๊งข้ามชาติ-ผู้มีอิทธิพล” เอี่ยวค้าสัตว์ป่า-ไม้เถื่อน-ที่ดิน มีความผิดเกี่ยวกับการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ป่าไม้ ป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ และที่ดิน เฉพาะคดีที่มีความซับซ้อน
วันนี้ (27 พ.ค.) มีรายงานว่า ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่กฎกระทรวงว่าด้วยการกําหนดคดีพิเศษเพิ่มเติมตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2559 ดังนี้
“อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๔ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. ๒๕๔๗ และมาตรา ๒๑ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. ๒๕๔๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมโดยการเสนอแนะของคณะกรรมการคดีพิเศษออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (๑๕) (๑๖) (๑๗) (๑๘) และ (๑๙) แห่งกฎกระทรวงว่าด้วยการกําหนดคดีพิเศษเพิ่มเติมตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. ๒๕๔๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงว่าด้วยการกําหนดคดีพิเศษเพิ่มเติมตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๕
“(๑๕) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า
(๑๖) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้
(๑๗) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติ
(๑๘) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ
(๑๙) คดีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน”
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๙
พลเอก ไพบูลย์ คุ้มฉายา
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม”
สำหรับเหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่คดีความผิดเกี่ยวกับการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ป่าไม้ ป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ และที่ดิน เฉพาะคดีที่มีความซับซ้อน จําเป็นต้องใช้วิธีการสืบสวนสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานเป็นพิเศษ หรือคดีที่มีหรืออาจมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ความมั่นคงของประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือระบบเศรษฐกิจหรือการคลังของประเทศ หรือคดีที่มีลักษณะเป็นการกระทําความผิด ข้ามชาติที่สําคัญ
หรือเป็นการกระทําขององค์กรอาชญากรรมหรือคดีที่มีผู้ทรงอิทธิพลที่สําคัญเป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน หรือคดีที่มีพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตํารวจชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งมิใช่พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ หรือเจ้าหน้าที่คดีพิเศษเป็นผู้ต้องสงสัยเมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าน่าจะได้กระทําความผิดอาญา หรือเป็นผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ต้องหา จําเป็นต้องดําเนินการสืบสวนสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานเป็นพิเศษเพื่อที่จะนําตัวผู้กระทําความผิดมาลงโทษตามกฎหมาย สมควรกําหนดให้เป็นคดีพิเศษ จึงจําเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้
มีรายงานว่า ก่อนหน้านั้น คณะรัฐมนตรี ได้อนุมัติให้คดีความผิด 5 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติ คือ ประมวลกฎหมายที่ดิน กฎหมายว่าด้วยป่าไม้ กฎหมายว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติ กฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ กฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า เป็นอำนาจของอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พิจารณารับเป็นคดีพิเศษ โดยไม่ต้องขอมติจากคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.)