อดีต ส.ส.ปชป.เรียกร้อง กกต.เพิ่มเวทีถกเถียงร่าง รธน.ให้เกิดความเป็นธรรม ปลุกสื่อกล้าจัดรายการฟังทั้งสองข้าง ชี้เวลาเหลือน้อยใกล้ประชามติ โวยฝ่ายไม่เห็นด้วยไม่ได้แสดงความเห็น เปิดช่องออกทีวีแค่ไม่ถึง 25% ดักประชามติโดยที่ให้ข้อมูลไม่พอจะเสียของไม่ยอมรับ
วันนี้ (25 พ.ค.) นายบุญยอด สุขถิ่นไทย อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ในฐานะผู้รับผิดชอบการจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 7 ส.ค. ให้เพิ่มเวทีในการถกเถียงเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม พอเพียงต่อการอธิบายเนื่องจากเป็นกติกาสูงสุดของประเทศ และขอให้สื่อมวลชนมีความกล้าหาญในการจัดรายการเพื่อฟังความทั้งสองข้าง เพราะในขณะนี้เหลือเวลาอีกเพียง 70 วันก็จะถึงวันลงประชามติแล้ว
อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์กล่าวด้วยว่า หลังจากมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ประชามติเมื่อวันที่ 22 เมษายนมาจนถึงวันนี้ เท่ากับเวลาผ่านไปประมาณหนึ่งในสามของระยะเวลาทั้งหมดก่อนจะถึงวันลงประชามติ แต่ กกต.ยังไม่สามารถเปิดเวทีให้มีการถกเถียงทั้งสองฝ่าย มีเพียงการจัดเวทีสำหรับการอธิบายถึงสิ่งที่ภาครัฐได้ดำเนินการไปเท่านั้น เหมือนกับ กกต.ไม่ได้ให้ความสนใจในเรื่องเหล่านี้ แม้จะมีการจัดรายการผ่านทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 และสถานีโทรทัศน์รัฐสภา แต่ก็เป็นการเลือกเชิญเฉพาะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือเปิดเทปคำสัมภาษณ์ของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น โดยไม่มีฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยได้ออกมาแสดงความเห็นผ่านรายการเดียวกันแม้แต่ครั้งเดียว
“ตามแผนงานของ กกต.ที่จะจัดรายการโทรทัศน์จะเริ่มต้นวันที่ 27 มิถุนายน โดยจะมีการออกอากาศทั้งหมด 13 ครั้ง สัปดาห์ละ 2 วัน แบ่งสัดส่วนให้ กกต.ชี้แจงสองครั้ง กรรมการร่างสามครั้งและ สนช.อีก 2 ครั้ง รวม 6 ครั้ง ส่วนที่เหลืออีก 7 ครั้งให้สถานีโทรทัศน์พิจารณาหาผู้ร่วมรายการเอง น่าจะหมายความว่าให้เชิญสองฝ่ายมาคุยกัน สัดส่วนแบบนี้มองยังไงก็ไม่เป็นธรรมเพราะเท่ากับหกครั้งแรกเอียงไปอยู่ข้างของผู้ร่างและผู้เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญมากกว่าการให้พื้นที่อย่างเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย โดยในส่วนของผู้เห็นต่างได้พื้นที่ไม่ถึง 25%” นายบุญยอดกล่าว
นายบุญยอดกล่าวอีกว่า ในขณะนี้หากเปรียบเหมือนมวยก็จะเหลือเพียงแค่สองยกสุดท้ายเท่านั้น สถานีโทรทัศน์จึงควรกล้าที่จะจัดรายการให้ความรู้เรื่องรัฐธรรมนูญที่เท่าเทียมกับประชาชนในฐานะสื่อสารมวลชนเพราะเวลาเหลือน้อยแล้ว หากจัดทำประชามติในขณะที่การให้ข้อมูลไม่เพียงพอ ขาดความเสรีและเป็นธรรมจะทำให้กระบวนการจัดทำประชามติครั้งนี้ไม่ได้รับการยอมรับ ซึ่งจะทำให้เสียของในที่สุด