“มีชัย” ระบุแม้ร่างรัฐธรรมนูญ คำถามพ่วงผ่านประชามติ ไม่ทำให้ คสช.สืบทอดอำนาจ อย่างมากก็แค่เงา เชื่อ คสช.คงเข็ดไม่มีใครอยากเข้ามาร่วมรัฐบาลใหม่อีก เล็งขอเงินเพิ่มให้อาสาสมัครเผยแพร่รัฐธรรมนูญ
นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงการที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะเริ่มเดินสายเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 25 พ.ค.นี้ว่า ในส่วนของ กรธ.คงจะไม่ส่งใครไป เพราะ กกต.จะคิกออฟเรื่องกติกาการทำประชามติซึ่งไม่เกี่ยวกับ กรธ. เพราะถ้าเราไปเราก็จะไปพูดในเรื่องเนื้อหาของรัฐธรรมนูญซึ่งทาง กกต.คงจะอธิบายแทนได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า หลังจากที่ กรธ.อบรมวิทยากรระดับจังหวัด (ครู ก.) ไปเมื่อวันที่ 18-19 พ.ค.ที่ผ่านมา มีผลตอบรับกลับมาอย่างไรบ้าง นายมีชัยกล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่มี แต่มีบางจังหวัดที่ครู ก.ได้เริ่มลงพื้นที่ไปบ้างแล้ว และวันนี้ จ.นครสวรรค์ ก็ได้ลงพื้นที่ ทาง กรธ.ก็ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปสังเกตการณ์เพื่อที่จะได้กลับมาเล่าให้ฟังว่า เวลาที่ไปอบรมวิทยากรระดับอำเภอ (ครู ข.) เป็นอย่างไรบ้าง เผื่อมีอะไรที่ขาดตกบกพร่องจะได้แก้ไขและจะได้บอกไปถึงคนที่ยังไม่ได้ทำ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ยาก เพราะการอบรมไปเพียง 1-2 วัน แล้วจะมาให้รู้เรื่องไปหมด เราก็หวังแต่เพียงว่าให้เขาไปบอกในจุดที่ชาวบ้านอยากรู้ก็เท่านั้น ขอให้รู้ว่า 1. กำลังจะมีรัฐธรรมนูญ 2. รัฐธรรมนูญเกี่ยวกับประชาชนอย่างไร โดยบอกกล่าวเป็นประเด็นๆ ไป จะไปลงลึกในรายละเอียดคงไม่ได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า จำเป็นจะต้องมีการประเมินผล ครู ก.ที่ลงไปทำงานหรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่า ก็คงจะต้องทำไปเรื่อย ๆ ถึงแม้ตนจะไม่ได้ลงไป แต่จะส่งคนไปเท่าที่พอจะส่งไปได้ โดยเจ้าหน้าที่ไปประเมินผลแล้วนำปัญหาที่ได้กลับมาประมวลผลกันใหม่ว่า บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่เราคาดหวังกันหรือไม่ มีอะไรที่ขาดตกบกพร่องจะได้เติมลงไป อย่างน้อยที่สุดเวลาไปอบรม วิทยากรระดับหมู่บ้าน (ครู ค.) ก็ยังลงไปดูได้อีก
เมื่อถามย้ำว่า การลงไปดูจำเป็นจะต้องไปดูตามภาคต่างๆ หรือไม่เพราะปัญหาแต่ละภาคไม่เหมือนกัน นายมีชัยกล่าวว่า ตรงนี้เราก็จะมีการแบ่งเจ้าหน้าที่ติดตามในแต่ละภูมิภาคและเมื่อแบ่งแบบนี้ แล้วมีเวลาก็จะได้ลงไปเฉพาะพื้นที่ที่มีปัญหา 1-2 จุด ก็น่าจะเพียงพอ เพราะหากจะไปทั้งหมดคงไม่ไหว
ส่วนในการอบรม ครู ก.มีบางคนเป็นห่วงในเรื่องคำถามพ่วงของ สนช.ที่อาจสร้างความสับสนให้แก่ประชาชน นายมีชัยกล่าวว่า กรธ.พยายามแยกอยู่แล้ว เพราะเวลาโหวตร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงก็โหวกแยกกันอยู่แล้ว ตรงนี้ประชาชนสามารถแยกแยะได้ ข้อสำคัญ คือ ครู ก. ครู ข. ครู ค. ก็จะต้องอธิบายให้ประชาชนทราบว่า 2 เรื่องนี้แยกออกจากกัน
อย่างไรก็ตาม ในส่วนการอบรม ครู ข.จะเริ่มได้ในสัปดาห์หน้าเป็นต้นไป จากเดิมที่ไปจำกัดเวลาว่าต้องอบรม ครู ข. ให้เสร็จภายในเดือน พ.ค.นี้ ซึ่ง กรธ. ก็บอกว่าไม่จำเป็นเพราะยังมีเวลาอีกเยอะ หากอบรมก่อนแล้วยังมีเวลาเหลืออีกนาน ตรงนี้อาจลืมได้ จึงได้บอกไปว่าค่อยๆ ทำ เลื่อนออกไป 1-2 สัปดาห์ก็น่าจะทัน จะได้ไม่ต้องรีบร้อน
ผู้สื่อข่าวถามว่า กระทรวงมหาดไทยให้งบประมาณในการอบรม ครู ก. ครู ข. ครู ค. ทั้งหมดทุกขั้นตอนไว้ที่ 198 ล้านบาทจะเพียงพอหรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่า ทางกระทรวงมหาดไทยได้กำหนดงบประมาณไว้ใช้ ในการอบรมถึง ครู ค. ซึ่งทาง กรธ.ก็เห็นว่าคนที่ทำงานนานที่สุดคือ ครู ค. ที่จำเป็นจะต้องใช้งบประมาณ ตรงนี้ไม่ทราบว่ารัฐบาลมีงบประมาณให้ ครู ค.เพิ่มขึ้นได้หรือไม่ ส่วนจะเป็นเงินเท่าไหร่นั้นยังไม่ชัดเจนอยู่ระหว่างการคำนวณ ส่วนเหตุผลที่ทาง กรธ. ของบประมาณเพิ่มให้กับ ครู ค. เพราะเวลาลงพื้นที่พบประชาชน เช่น การเดินเคาะประตู จะต้องใช้เวลานานหลายวัน ในขณะที่ ครู ก. ครู ข. มาอบรม 1-2 วัน ค่าใช้จ่ายไม่มาก ซึ่งในเรื่องบประมาณทาง กรธ.ไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยว เพราะกระทรวงมหาดไทยจะดูแลในเรื่องนี้ เพราะเขามีระบบที่ดีกว่า แต่เมื่อทางกระทรวงมหาดไทย มาขอให้ กรธ.ไปขอรัฐบาล ทางเราก็จะทำให้ ส่วนจะได้งบเพิ่มมาหรือไม่นั้น ยังบอกไม่ได้
ต่อข้อถามว่า องคาพยพที่มาช่วยสนับสนุน กรธ.ในการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 10 ที่ให้ กรธ.และผู้เกี่ยวข้องประชาสัมพันธ์รัฐธรรมนูญโดยไม่ผิดกฎหมาย ขณะที่ฝ่ายคัดค้านไม่ได้สิทธิตรงนี้ ตรงนี้ถือว่า กรธ.ได้เปรียบหรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องการพนัน จะได้มีการได้เปรียบหรือเสียเปรียบ แต่เป็นเรื่องของการทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติ ประชาชน ทำได้มากเท่าไหร่ก็ดี และที่นักวิชาการพูดว่าเขาเสียเปรียบอะไรนั้น เขาคงไปนึกถึงเรื่องการพนัน เรื่องการทำหน้าที่ให้กับบ้านเมือง ทำมากเท่าไหร่ก็เป็นประโยชน์กับบ้านเมือง
“เป้าหมายของเราอยู่ว่าทำอย่างไรจะให้ประชาชนได้รู้ถึงความสำคัญและเนื้อหาของรัฐธรรมนูญตามสมควร เพราะเมื่อเขาจะไปลงประชามติก็ควรจะได้รู้ว่าไปลงอะไร คนถ้าคิดถึงประโยชน์ส่วนรวมเขาจะไม่มากังวลว่าใครได้เปรียบเสียเปรียบ ปัญหาอยู่ที่ว่าสิ่งที่พยายามจะทำให้รู้ว่ารัฐธรรมนูญไม่ดี จะได้ประโยชน์อะไร เพราะเราได้ถามมาตั้งแต่แรกว่าต้องการอะไร เมื่อบอกมาเราก็แก้ไขให้ พอมาถึงตอนนี้มันไม่ใช่เรื่องที่ใครมานั่งเอาเปรียบอะไรกัน ควรทำให้กับบ้านเมืองมากกว่า”
ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่มีครู ก.ในพื้นที่ภาคใต้สอบถามว่าหากร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงประชามติได้รับความเห็นชอบจะส่งผลให้ คสช.สามารถสืบทอดอำนาจได้ 12 ปี นายมีชัยตอบว่า “คสช.ชุดนี้หมดอำนาจ เมื่อมีรัฐบาลใหม่มา”
เมื่อถามต่อว่า ตรงนี้ก็จะมี ส.ว.เป็นผู้มาเลือกนายรัฐมนตรีได้ นายมีชัยกล่าวว่า “คสช.ก็มีแค่สิบกว่าคน เมื่อหมดยุคไปแล้วก็จะเหลือแต่เงา”
เมื่อถามย้ำว่า สำหรับ คสช.บางคนอาจจะมาในรูปรัฐบาลใหม่ได้หรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่า “อันนี้ไม่ทราบ และเดาไม่ถูก น่าจะเข็ดนะ คงไม่มีใครอยากมา ไม่รู้ นะ แต่ถ้าเป็นผม ผมเข็ด”