xs
xsm
sm
md
lg

ทส.จัดระเบียบพื้นที่ท่องเที่ยวชื่อดัง 5 จังหวัด - 9 เกาะใหญ่ มีผลพรุ่งนี้ “ห้ามดำน้ำลึก ห้ามสอนดำน้ำ” โทษคุก 1 ปี ปรับ 1 แสน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เปิดคำสั่ง 2 ฉบับ “กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง” จัดระเบียบสถานที่ท่องเที่ยวทะเลชื่อดัง มีผลพรุ่งนี้ คุม “ปะการัง - พื้นที่ท่องเที่ยว” 5 จังหวัด - 9 เกาะใหญ่ 1 แหลม “เกาะมันใน จ.ระยอง - เกาะทะลุ เกาะเหลื่อม จ.ประจวบคีรีขันธ์ - เกาะไข่ จ.ชุมพร - เกาะราชาใหญ่ เกาะไม้ท่อน แหลมพันวา จ.ภูเก็ต “เกาะไข่นอก เกาะไข่นุ้ย และ เกาะไข่ใน จ. พังงา” เผยข้อห้าม “ไม่ให้จอดเรือ ทิ้งสมอเรือบริเวณแนวปะการังโดยเด็ดขาด ห้ามดำน้ำลึก ห้ามท่องเที่ยวดำน้ำตื้นเพื่อดูปะการัง ห้ามมีกิจกรรม การเรียนการสอนดำน้ำ ห้ามไม่ให้เรือทุกชนิดเข้าไปในพื้นที่แนวปะการัง ผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท

วันนี้ (23 พ.ค.) มีรายงานว่า ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ คําสั่งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่ ๔๔๓/๒๕๕๙ เรื่อง มาตรการ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการระงับความเสียหายอย่างร้ายแรง ต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง บริเวณพื้นที่เกาะไข่นอก เกาะไข่นุ้ย และ เกาะไข่ใน อําเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา

ด้วยปัจจุบัน การใช้ประโยชน์ทางทะเล หลายกิจกรรมเป็นภัยคุกคามต่อสถานภาพของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มีการทิ้งสมอเรือบริเวณแนวปะการัง มีการบุกรุก ยึดถือครอบครองพื้นที่ เกาะไข่นอก เกาะไข่นุ้ย และ เกาะไข่ใน อําเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา เป็นจํานวนมาก ส่งผลกระทบให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยเฉพาะการทําลายแนวปะการัง ซึ่งเป็นทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่มีความสําคัญต่อระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง หากปล่อยให้เนิ่นช้าจะทําให้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เกิดความเสียหายเพิ่มขึ้น และอาจจะไม่สามารถฟื้นฟูให้กลับคืนสู่สภาพเดิมได้ ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อการท่องเที่ยวที่มีความสําคัญทางด้านเศรษฐกิจภายในพื้นที่และในภาพรวมของประเทศ

อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๑๗ ประกอบมาตรา ๓ และมาตรา ๒๗ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. ๒๕๕๘ ประกอบมาตรา ๓๒ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๕ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จึงมีคําสั่งในการกําหนดมาตรการ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อระงับความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง บริเวณพื้นที่เกาะไข่นอก เกาะไข่นุ้ย และ เกาะไข่ใน อําเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา ตามแผนที่แนบท้ายคําสั่งนี้ ดังนี้

ข้อ ๑ ห้ามจอดเรือโดยการทิ้งสมอบริเวณพื้นที่เกาะไข่นอก เกาะไข่นุ้ย และ เกาะไข่ในอําเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา เว้นแต่จอดเรือในบริเวณพื้นที่ที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งกําหนดไว้เท่านั้น
ข้อ ๒ ห้ามเล่นเครื่องเล่นกีฬาทางน้ํา ทุกชนิด อันอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
ข้อ ๓ ห้าม ค้นหา ล่อ จับ ได้มา เก็บสัตว์น้ํา หรือกระทําใด ๆ ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อล่อจับ ได้มา หรือเก็บสัตว์น้ํา หรือให้อาหารสัตว์น้ํา
ข้อ ๔ ห้ามกระทําการก่อสร้าง ยึดถือ ครอบครอง หรือกระทําด้วยประการใด ๆ อันเป็นการก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
ข้อ ๕ ห้ามทิ้งขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูล ของเสีย น้ําเสีย หรือสิ่งอื่นใด ที่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม
ข้อ ๖ บุคคล หรือผู้ประกอบกิจการท่องเที่ยวดําน้ําตื้น จะต้องไม่กระทําการใด ๆ อันเป็นการก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
ข้อ ๗ ผู้ประกอบกิจการท่องเที่ยวดําน้ําลึก ต้องได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจนําเที่ยวจากสํานักทะเบียนธุรกิจนําเที่ยวและมัคคุเทศก์ และจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขและหลักการของสถาบันการเรียนการสอนดําน้ําสากล
ข้อ ๘ บุคคลใด หรือนิติบุคคลใด หรือผู้ประกอบกิจการใด ซึ่งเป็นเจ้าของเรือ หรือยานพาหนะใด ที่ใช้ในการเข้า หรือออก บริเวณเกาะไข่นอก เกาะไข่นุ้ย และเกาะไข่ในอําเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา ให้ไปจดแจ้งทะเบียนเรือ หรือยานพาหนะนั้น ณ ที่ทําการสํานักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ ๖ (จังหวัดภูเก็ต) ภายใน ๓๐ วัน นับแต่คําสั่งนี้มีผลบังคับใช้
ข้อ ๙ ผู้ใดฝ่าฝืนข้อห้ามตามคําสั่งนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ตามความในมาตรา ๒๗ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. ๒๕๕๘
ข้อ ๑๐ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. ๒๕๕๘ ดําเนินการภายใต้คําสั่งนี้ ตามอํานาจหน้าที่ที่กําหนดไว้ตามกฎหมายภายในท้องที่รับผิดชอบ
ข้อ ๑๑ การดําเนินการตามคําสั่งนี้มิให้ใช้บังคับกับการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ หรือเป็นการศึกษาและวิจัยทางวิชาการ ซึ่งได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แล้วแต่กรณี
ข้อ ๑๒ คําสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไปและมีกําหนดระยะเวลาบังคับใช้จนกว่าทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จะมีความอุดมสมบูรณ์เข้าสู่ภาวะปกติและความเสียหายระงับสิ้นไป

อีกฉบับ คําสั่งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่ ๔๔๕/๒๕๕๙ เรื่อง มาตรการ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการระงับความเสียหายอย่างร้ายแรง ต่อทรัพยากรปะการัง บริเวณ ๗ พื้นที่ ได้แก่ (๑) เกาะมันใน จังหวัดระยอง (๒) เกาะทะลุ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (๓) เกาะเหลื่อม จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (๔) เกาะไข่ จังหวัดชุมพร (๕) เกาะราชาใหญ่ จังหวัดภูเก็ต (๖) แหลมพันวา จังหวัดภูเก็ต และ (๗) เกาะไม้ท่อน จังหวัดภูเก็ต

ด้วยปัจจุบันอุณหภูมิน้ําทะเลฝั่งอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามันมีค่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติจากการสํารวจพบว่าปะการังฟอกขาวใน ๗ พื้นที่ ได้แก่ (๑) เกาะมันใน จังหวัดระยอง (๒) เกาะทะลุ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (๓) เกาะเหลื่อม จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (๔) เกาะไข่ จังหวัดชุมพร (๕) เกาะราชาใหญ่ จังหวัดภูเก็ต (๖) แหลมพันวา จังหวัดภูเก็ต และ (๗) เกาะไม้ท่อน จังหวัดภูเก็ต ปะการังที่ฟอกขาวมีแนวโน้มจะตายลงในเวลา ๑ เดือน ขึ้นอยู่กับชนิด พันธุกรรมของปะการังสภาพแวดล้อม และการรบกวนจากมนุษย์ ซึ่งหากปะการังตายลงจะส่งผลกระทบต่อความสมบูรณ์ของสัตว์น้ําในทะเลไทย วิถีชีวิตชุมชนชายฝั่ง การท่องเที่ยวทางทะเล โดยปัจจุบันพบว่ายังมีกิจกรรมของมนุษย์ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อปะการังในบริเวณดังกล่าว ทั้งการท่องเที่ยวดําน้ํา การประมง การทิ้งมลพิษและขยะทะเล การเหยียบย่ําปะการัง ซึ่งตามหลักทางวิชาการในช่วงที่วิกฤตของปะการังนี้กิจกรรมดังกล่าวจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อปะการัง

อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๑๗ ประกอบมาตรา ๓ และมาตรา ๒๗ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. ๒๕๕๘ ประกอบมาตรา ๓๒ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๕ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จึงมีคําสั่งในการกําหนดมาตรการ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อระงับความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อทรัพยากรปะการัง บริเวณ ๗ พื้นที่ ได้แก่
(๑) เกาะมันใน จังหวัดระยอง (๒) เกาะทะลุ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (๓) เกาะเหลื่อม จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (๔) เกาะไข่ จังหวัดชุมพร (๕) เกาะราชาใหญ่ จังหวัดภูเก็ต (๖) แหลมพันวา จังหวัดภูเก็ต และ (๗) เกาะไม้ท่อน จังหวัดภูเก็ต ตามแผนที่แนบท้ายคําสั่งนี้ ดังนี้

ข้อ ๑ ห้ามจอดเรือโดยการทิ้งสมอเรือบริเวณแนวปะการัง
ข้อ ๒ ห้ามทิ้งขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูล น้ําเสีย มลพิษ ลงในทะเล ที่อาจมีผลกระทบต่อคุณภาพน้ําทะเลอันจะส่งผลกระทบให้เกิดความเสียหายต่อปะการัง
ข้อ ๓ ห้ามการขุดลอกร่องน้ําในแนวปะการัง
ข้อ ๔ ห้ามการกระทํากิจกรรมใด ๆ ที่ก่อให้เกิดตะกอนลงสู่แนวปะการังอันจะส่งผลกระทบให้เกิดความเสียหายต่อปะการัง
ข้อ ๕ ห้ามค้นหา ล่อ จับ ได้มา เก็บสัตว์น้ํา หรือการกระทําใด ๆ ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อล่อ จับ ได้มา หรือเก็บสัตว์น้ําในบริเวณแนวปะการัง
ข้อ ๖ ห้ามการให้อาหารปลาและสัตว์น้ําในแนวปะการัง
ข้อ ๗ ห้ามการเดินเหยียบย่ําปะการัง
ข้อ ๘ ห้ามการเก็บหรือทําลายปะการัง เว้นแต่การกระทําเพื่อการศึกษาวิจัยทางวิชาการ
ข้อ ๙ บุคคล หรือผู้ประกอบกิจการท่องเที่ยวดําน้ําตื้นจะต้องไม่กระทําการใด ๆ อันเป็นการก่อให้เกิดความเสียหายต่อแนวปะการัง
ข้อ ๑๐ ผู้ประกอบกิจการท่องเที่ยวดําน้ําลึก ต้องได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจนําเที่ยวจากสํานักทะเบียนธุรกิจนําเที่ยวและมัคคุเทศก์ และจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขและหลักการของสถาบันการเรียนการสอนดําน้ําสากล
ข้อ ๑๑ ผู้ใดฝ่าฝืนข้อห้ามตามคําสั่งนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับตามความในมาตรา ๒๗ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. ๒๕๕๘
ข้อ ๑๒ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. ๒๕๕๘ ดําเนินการตามคําสั่งนี้ ตามอํานาจหน้าที่ที่กําหนดไว้ตามกฎหมายภายในท้องที่รับผิดชอบ
ข้อ ๑๓ คําสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไปและมีระยะเวลาบังคับใช้จนกว่าสถานการณ์ปะการังฟอกขาวจะกลับสู่สภาวะปกติ และความเสียหายระงับสิ้นไป
สั่ง ณ วันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๙
สุทธิลักษณ์ ระวิวรรณ
อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

มีรายงานว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยนายศักดา วิเชียรศิลป์ รองอธิบดีฯ ในฐานะประธานคณะทำงานดำเนินการ ใช้มาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง บริเวณพื้นที่เกาะไข่นุ้ย เกาะไข่นอก และเกาะไข่ใน อ.เกาะยาว จ.พังงา เปิดเผยว่า พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทส. และ น.ส.สุทธิลักษณ์ ระวิวรรณ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลฯ ได้รับการร้องเรียนจากหน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งประชาชนและนักท่องเที่ยว ว่ามีการบุกรุกพื้นที่และทำลายปะการัง รวมทั้งการเรียกรับผลประโยชน์ในการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่บริเวณพื้นที่เกาะไข่นุ้ย เกาะไข่นอก และเกาะไข่ใน อ.เกาะยาว จ.พังงา แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของทะเลอันดามัน และ จ.พังงา

ทั้งนี้ พบว่า สถานการณ์ในพื้นที่ 3 เกาะนี้ค่อนข้างรุนแรง มีการบุกรุกพื้นที่เกาะไข่นอก ก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างและร้านค้ารองรับนักท่องเที่ยว จำนวน 15 หลัง เกาะไข่ใน จำนวน 7 หลัง เกาะไข่นุ้ย จำนวน 1 หลัง ทำให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งปัญหาขยะ น้ำเสีย ไม่ต้องพูดถึงอาหารที่ขายมีราคาแพงมาก ที่สำคัญ มีการทำลายแหล่งปะการังน้ำตื้นของ 3 เกาะ พื้นที่รวมกันประมาณ 368 ไร่ เสียหายมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ โดยเรือนักท่องเที่ยวทิ้งทุ่นสมอจอดเรือ นักท่องเที่ยวเหยียบจับ เก็บซากปะการัง จนเสียหาย โดยในเดือน เม.ย.- พ.ค. ที่ผ่านมา จับกุมเรือนำเที่ยวที่ฝ่าฝืนกฎหมายทิ้งสมอในแนวปะการัง จำนวน 18 ลำ และดำเนินคดีกับผู้ฝ่าฝืนกฎหมายที่เก็บซากปะการังอีกจำนวนมาก

พบว่า ปัญหาของเกาะไข่นุ้ย เกาะไข่นอก และเกาะไข่ใน เกิดขึ้นเพราะมีนักท่องเที่ยวตลอดทั้งปี มีเรือท่องเที่ยวพานักท่องเที่ยวเข้าชมบนเกาะทั้ง 3 เกาะวันละ 60-70 เที่ยว โดยเรือบรรทุกนักท่องเที่ยวได้ลำละ 45 - 50 คน หรือประมาณวันละ 3,500 - 4,000 คนถ้าเป็นวันหยุดมีนักท่องเที่ยวเกือบหนึ่งหมื่นคนเก็บค่าท่องเที่ยวรายหัวจากนักท่องเที่ยวประมาณ 1,000 บาทเศษ ทำให้มีรายได้มากกว่าวันละ 2 - 3 ล้านบาท ไม่ต้องพูดถึงความเสียหายกับสภาพแวดล้อมของทั้ง 3 เกาะ ที่ไม่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ โดยเกาะไข่นอกมีพื้นที่บนบกเพียง 16 ไร่ เกาะไข่นุ้ยมีพื้นที่บนบก 2 ไร่ ส่วนเกาะไข่ในมีพื้นที่บนบก 27 ไร่ แต่ปัญหาที่มากกว่าคือ การหาผลประโยชน์ จากกลุ่มนายทุน จากการตรวจสอบพบว่ามีไม่น้อยกว่า 7 กลุ่ม ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปมีส่วนได้เสียกับการท่องเที่ยวบน 3 เกาะดังกล่าวด้วย

โดย กรมจะจัดระเบียบเกาะไข่นุ้ย เกาะไข่นอก และเกาะไข่ใน อย่างเข้มข้น อาทิ ห้ามไม่ให้จอดเรือโดยการทิ้งสมอเรือบริเวณแนวปะการังโดยเด็ดขาด ห้ามดำน้ำลึก ห้ามท่องเที่ยวดำน้ำตื้นเพื่อดูปะการัง ห้ามมีกิจกรรม การเรียนการสอนดำน้ำ ห้ามไม่ให้เรือทุกชนิดเข้าไปในพื้นที่แนวปะการัง เป็นต้น ผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ได้ขอความร่วมมือไปยังผู้ประกอบการท่องเที่ยว หากยังไม่ดีขึ้นใน 3 เดือน คือ ตั้งแต่ มิ.ย.- ส.ค.นี้ ทช. จะใช้มาตรา 17 พ.ร.บ. ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 เพื่อทำการปิดเกาะทั้ง 3 แห่งโดยเด็ดขาด

กำลังโหลดความคิดเห็น