“ประยุทธ์” เยี่ยมชมสุสานทหารนิรนามรัสเซีย ก่อนร่วมประชุม ศก.ไทย-รัสเซีย ยกสัมพันธ์ที่ดีครบ 120 ปี แนะเร่งกระชับความร่วมมือการค้า ตั้งเป้า 5 เท่าใน 5 ปี ย้ำไทยเดินสู่ ปชต. คาด ศก.ปีนี้โตร้อยละ 3-3.5 มุ่งยกระดับศักยภาพ ศก.มีคุณภาพยั่งยืน ดันไทยเป็นศูนย์กลาง ศก.อาเซียน ปรับสู่เป้าหมาย ไทย 4.0 มองรัสเซียมีศักยภาพช่วย แย้มมีสิทธิประโยชน์เพิ่มหากลงทุนในไทย พร้อมอำนวยความสะดวก
วันนี้ (18 พ.ค.) เวลา 09.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมภริยา และคณะเดินทางถึงสุสานทหารนิรนาม เพื่อเข้าร่วมพิธีวางพวงมาลา และตรวจแถวทหารกองเกียรติยศ ที่ฝ่ายรัสเซียจัดให้ ซึ่งพิธีดังกล่าวจะมีเฉพาะในการเยือนแบบ state visit เท่านั้น จากนั้นนายกรัฐมนตรีและภริยาลงนามในสมุดเยี่ยม โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณผู้อำนวยการสุสานในการต้อนรับ และชื่นชมถึงการเสียสละเพื่อปกป้องประเทศ และในความเข้มแข็งของรัสเซีย โดยผู้อำนวยการสุสานได้มอบของที่ระลึกและพาชมของจากทั่วทุกมุมในรัสเซียที่เก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ของสุสาน ก่อนจะเดินทางกลับเพื่อเข้าร่วมงานและเป็นประธานในพิธีเปิดงาน Thailand-Russia Business Dialogue ณ โรงแรมที่พัก ในเวลาประมาณ 10.30 น.
จากนั้นในเวลาประมาณ 10.30 น. ณ ห้อง Mountferrand Grand โรงแรมที่พัก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงาน Thai-Russia Business Dialogue
พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรีรัสเซีย และรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจรัสเซียที่เห็นความสำคัญและมาเข้าร่วมงานในวันนี้ ซึ่งการเดินทางมารัสเซียในครั้งนี้นับเป็นการนำคณะรัฐมนตรีร่วมคณะมาเยือนต่างประเทศจำนวนมากที่สุด รวมถึงคณะภาคเอกชนชั้นนำจากประเทศไทย
ทั้งนี้ ในปี 2560 จะเป็นปีที่ครบรอบ 120 ปีความสัมพันธ์ไทย-รัสเซีย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์และความเป็นมิตรประเทศที่ดีต่อกันมายาวนาน ทั้งด้านสังคม การเมืองและความมั่นคง และเศรษฐกิจ
ด้านสังคม ทั้งสองประเทศมีการไปมาหาสู่กันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียที่ถือเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มสำคัญ โดย 3 เดือนแรกของปี 2559 นักท่องเที่ยวรัสเซียอยู่ในลำดับที่ 4 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามายังประเทศไทยมากที่สุด
ด้านการเมือง นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณรัสเซียที่เป็นมิตรประเทศที่เข้าใจและให้การสนับสนุนไทย ทั้งในระดับทวิภาคีและในเวทีนานาชาติมาโดยตลอด รวมถึงความร่วมมือด้านการทหารและความมั่นคงที่รัสเซียให้การสนับสนุนไทยมาโดยตลอดเช่นกัน
ทั้งนี้ ในด้านการค้านั้น นายกรัฐมนตรีเห็นว่าไทยและรัสเซียควรเร่งกระชับความร่วมมือ โดยมูลค่าการค้าระหว่างประเทศในปี 2558 มีมูลค่าเพียง 2,356 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งสามารถที่จะขยายความร่วมมือระหว่างกันได้อีกมาก ซึ่งรัฐบาลตั้งเป้าขยายมูลค่าการค้าระหว่างกันให้ได้ 5 เท่าภายใน 5 ปีข้างหน้า ส่วนด้านการลงทุน นายกรัฐมนตรีเห็นว่างาน Thai-Russian Business Dialogue เป็นโอกาสอันดีสำหรับภาคเอกชนของทั้งสองฝ่ายที่จะได้หารือแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น และนำไปสู่การขยายความร่วมมือต่อไป
นายกรัฐมนตรียังย้ำถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาประเทศ พยายามลดความขัดแย้งให้มากที่สุดในทุกประเด็น และสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างไทย อาเซียน และมิตรประเทศ โดยไทยกำลังเดินหน้าสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ การมีธรรมาภิบาล และการมุ่งพัฒนาประเทศให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก
ด้านเศรษฐกิจ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เศรษฐกิจของไทยในปี 2558 ที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากภาวะซบเซาของเศรษฐกิจโลกเป็นอย่างมาก แต่ GDP ยังเติบโตต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2559 คาดว่าจะเติบโตที่ร้อยละ 3-3.5 โดยในระยะสั้นจะมาจากการบริโภคในประเทศ การท่องเที่ยว และการลงทุนภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานซึ่งจะใช้เงินลงทุนรวมกว่า 1.7 ล้านล้านบาทในระยะ 8 ปีข้างหน้า และในระยะยาว ที่รัฐบาลมุ่งมั่นปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างจริงจัง โดยมีเป้าหมายยกระดับศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจให้มีคุณภาพและยั่งยืน สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคต
ประการแรก การพัฒนาประเทศสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจที่สมดุล โดยพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นในประเทศให้เติบโตควบคู่ไปกับการส่งออก ทั้งการปฏิรูปเพื่อเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร เสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ SMEs ซึ่งจะเป็นการสร้างรายได้และกระจายความเจริญอย่างทั่วถึง
ประการที่ 2 ไทยมุ่งไปสู่การเป็นเศรษฐกิจที่สร้างมูลค่าจากนวัตกรรม เนื่องจากสภาพการแข่งขันได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยให้ความสำคัญกับการผลิตที่เน้นนวัตกรรม คุณภาพ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และความสามารถในการแข่งขัน โดยขณะนี้ รัฐบาลได้กำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 กลุ่ม ที่จะให้เป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่ง 5 กลุ่มแรก จะเป็นการต่อยอดอุตสาหกรรมที่มีอยู่แล้ว โดยให้เพิ่มความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้มากขึ้นเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ได้แก่ (1) ยานยนต์แห่งอนาคต (2) อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (3) การท่องเที่ยวระดับโลก (4) การเกษตรที่มีประสิทธิภาพ และ (5) อาหารแห่งอนาคต เช่น อาหารสุขภาพ ส่วน 5 กลุ่มหลัง จะเป็นอุตสาหกรรมใหม่เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยในอนาคต ได้แก่ (1) เครื่องจักรอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (2) อุตสาหกรรมการบิน (3) อุตสาหกรรมไบโอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Bio-fuels และ Bio-chemicals (4) อุตสาหกรรมดิจิทัล และ (5) อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพครบวงจร
รัฐบาลยังมุ่งส่งเสริมการรวมกลุ่มเป็นคลัสเตอร์ (Cluster) ของอุตสาหกรรมต่างๆ รวมทั้งยังจะพัฒนาผู้ผลิต และส่งเสริมให้มีการจัดตั้งสถาบันวิจัย การสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก และโครงสร้างพื้นฐานรองรับอย่างเพียงพอ และพัฒนาบุคลากรให้มีประสิทธิภาพพร้อมเข้าสู่อุตสาหกรรมยุคใหม่ นอกจากนี้ BOI ยังกำหนดสิทธิประโยชน์การลงทุนที่น่าสนใจให้แก่การลงทุนในอุตสาหกรรมเหล่านี้ด้วย
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังกล่าวว่า รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับธุรกิจ Startup เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางอาเซียนในด้านเศรษฐกิจฐานความรู้ โดยเฉพาะในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพราะถือเป็นฐานเศรษฐกิจใหม่ของไทยที่จะทำให้เกิดการขยายธุรกิจและการสร้างตลาดใหม่ทั้งในและต่างประเทศ โดยรัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันผลักดันสนับสนุนอย่างเต็มที่
และประการสุดท้าย คือ โครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะการคมนาคมและการขนส่งของประเทศ โดยรัฐบาลจะร่วมมือกับภาคเอกชน ทั้งภายในและจากต่างประเทศ ซึ่งจะได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการ PPP (Public-Private Partnership) ขึ้น และดำเนินการปรับลดขั้นตอนให้สะดวกต่อการลงทุนของโครงการขนาดใหญ่ รวมทั้งยังจะมีการจัดตั้งกองทุนขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อร่วมลงทุนกับภาคเอกชน (Thailand Future Fund)
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ประเทศไทยกำลังปรับเปลี่ยนไปสู่เป้าหมาย ประเทศไทย 4.0 หรือ Thailand 4.0 โดยเริ่มต้นจากการเกษตร ซึ่งเป็นประเทศไทย 1.0 แล้วพัฒนาไปเป็นอุตสาหกรรมเบาและอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้า หรือ ประเทศไทย 2.0 จากนั้นพัฒนาอีกระดับ เข้าสู่สถานภาพของไทยในปัจจุบัน คือ อุตสาหกรรมหนักและเริ่มมีขีดความสามารถในการส่งออก คือ ประเทศไทย 3.0 และจากนี้ไป ประเทศไทยต้องการมุ่งไปสู่การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่สูงขึ้นทั้งในภาคอุตสาหกรรมและการเกษตร
โดยนายกรัฐมนตรีเห็นว่า รัสเซียมีความเชี่ยวชาญและมีศักยภาพในหลากหลายอุตสาหกรรมที่จะสามารถเข้ามามีส่วนร่วมกับไทย เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 กลุ่ม และช่วยนำประเทศไทยไปสู่ ประเทศไทย 4.0
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไทยมีแหล่งที่ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญใจกลางอาเซียน อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางของกลุ่มประเทศ CLMVT ที่กำลังเติบโต ซึ่งด้วยแหล่งที่ตั้งในจุดยุทธศาสตร์ ด้วยศักยภาพของการเกษตรและอุตสาหกรรมของไทยในปัจจุบัน ถ้าไทยสามารถทำการปฏิรูปอย่างจริงจัง ไทยจะเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงยิ่งในภายภาคหน้า โดยเฉพาะการลงทุนที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับนโยบาย Thailand + 1 เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างไทยและมิตรประเทศที่สนใจในการร่วมกันลดความเหลื่อมล้ำในภูมิภาค และขับเคลื่อนการพัฒนาและความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้า การลงทุนในภูมิภาค เพื่อส่งเสริมการรวมตัวสู่ประชาคมอาเซียนที่ยั่งยืน นอกจากนี้ไทยยังให้ความสำคัญกับการสร้างความร่วมมือในทุกมิติ รวมทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน กับ 5 กลุ่มประเทศ ได้แก่ กลุ่มประเทศตะวันตก กลุ่มประเทศยุโรป กลุ่มประเทศเอเชีย กลุ่มประเทศมุสลิม และกลุ่มประเทศหมู่เกาะ นายกรัฐมนตรีจึงได้ใช้โอกาสนี้เชิญภาคเอกชนรัสเซียพิจารณาใช้ประเทศไทยเป็นฐานการทำธุรกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กล่าวว่า BOI สามารถให้สิทธิประโยชน์ด้านต่างๆ หากเข้าไปลงทุนในประเทศไทย เช่น ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ถึง 8 ปี และยังอนุญาตให้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินเพื่อประกอบกิจการที่ได้ส่งเสริมการลงทุน และช่วยอำนวยความสะดวกในการขอวีซ่าและใบอนุญาตทำงานสำหรับผู้บริหาร วิศวกรต่างชาติที่จะทำงานในโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน
โดยรัฐบาลให้ความสำคัญกับการอำนวยความสะดวกในการลงทุนเป็นอย่างมาก ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการดำเนินการเพื่อยกระดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจ เพื่อปรับปรุงขั้นตอนในการทำธุรกิจให้สะดวกมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีการแก้ไขปรับปรุงกฎระเบียบและบริการ รวมทั้งการนำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการให้บริการมากขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ซึ่งนายกรัฐมนตรีมุ่งหวังที่จะขึ้นการจัดอันดับ Ease of Doing Business ของประเทศไทยโดยการสำรวจของธนาคารโลก (World Bank) ให้ดีขึ้นจากปัจจุบัน
นายกรัฐมนตรีกล่าวเพิ่มเติมว่า โอกาสทางธุรกิจการค้าการลงทุนของรัสเซียในประเทศไทยนั้นยังมีลู่ทางที่ดีมาก หากพิจารณาจากสถิติการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศของไทยและรัสเซีย การลงทุนของรัสเซียในไทยในปัจจุบันยังอยู่ในระดับต่ำกว่าศักยภาพ โดยหากได้รับความร่วมมืออย่างจริงจังระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสองฝ่าย จะเพิ่มโอกาสที่จะขยายตัวได้อีกมาก
นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวเชิญให้บริษัทรัสเซียพิจารณาใช้ไทยเป็นฐานการทำธุรกิจในภูมิภาคอาเซียน โดยจัดตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ (IHQ) และกิจการบริษัทการค้าระหว่างประเทศ (ITC) ซึ่งขณะนี้รัฐบาลปรับปรุงการให้สิทธิประโยชน์การลงทุนแก่กิจการเหล่านี้เพิ่มขึ้นจากเดิม นอกจากนี้ รัฐบาลและนักธุรกิจไทยยังเล็งเห็นถึงโอกาสการลงทุนในรัสเซีย ซึ่งนับเป็นสิ่งใหม่สำหรับนักธุรกิจไทยและเป็นโอกาสที่น่าสนใจ ซึ่งการจะผลักดันให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้นนั้นต้องพึ่งพาการสนับสนุนข้อมูลและการอำนวยความสะดวกจากภาครัฐของรัสเซียอีกมาก