สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ผนึกความร่วมมือกับ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ สถาบันเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม เผยความคืบหน้าการจัดงาน อุตสาหกรรมรักษ์สิ่งแวดล้อมและพลังงานนานาชาติ 2016 หรือ Eco-Products International Fair 2016 (EPIF 2016) เตรียมยกทัพนวัตกรรม สินค้า และบริการ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมร่วมโชว์ศักยภาพ พร้อมเปิดโอกาสเจรจาการค้า รวมทั้งจัดกิจกรรมเสริมสร้างความรู้ด้านการดูแลสิ่งแวดล้อม ภายใต้คอนเซ็ปต์ ‘24 - hour Eco Life’ หรือ “รักษ์โลกง่ายๆ ทำได้ 24 ชั่วโมง”
นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงความสำคัญของการจัดงาน EPIF 2016 ว่า สภาอุตสาหกรรมฯ มุ่งมั่นดำเนินนโยบายด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมควบคู่กับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง โดยมี 4 หน่วยงานหลัก ได้แก่ สถาบันสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม สถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม สถาบันน้ำเพื่อความยั่งยืน และสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม ร่วมกันขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เชิงรุกในการส่งเสริมอุตสาหกรรมไทยให้สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนและสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้ภาคอุตสาหกรรมไทยสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล และพร้อมรองรับโอกาสทางการตลาดในอนาคตซึ่งผู้บริโภคจากนานาประเทศกำลังให้ความสนใจเลือกใช้สินค้าและบริการที่เป็น Eco-Products มากขึ้น
สำหรับการเป็นเจ้าภาพจัดงาน EPIF 2016 ถือเป็นหนึ่งในแนวทางการพัฒนาภาคการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมกับ Asian Productivity Organization (APO) ประเทศญี่ปุ่น และสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ สถาบันเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 8-11 มิถุนายน 2559 ณ อาคาร 106 ศูนย์แสดงสินค้าไบเทค บางนา เพื่อแสดงศักยภาพและคุณภาพของสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้เป็นที่ประจักษ์ต่อผู้ค้าและผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ พร้อมสร้างความตระหนักเกี่ยวกับการบริโภคสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งส่งเสริมให้ภาคการผลิตในประเทศมีความตื่นตัวและปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตให้มีคุณภาพ เหมาะสมกับแนวทางการตลาด โดยผนวกเรื่องความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของมาตรฐานในการผลิตสินค้า เพื่อผลักดันให้เกิดการแข่งขันที่ก่อให้เกิดนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
“การจัดงาน EPIF 2016 นอกจากเป็นเวทีแสดงศักยภาพของอุตสาหกรรมไทยที่ให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว งานนี้ยังเป็นโอกาสทางการตลาดสำหรับผู้ประกอบการที่จะได้เจรจาการค้ากับผู้ซื้อทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งมีพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้การดูแลสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความตระหนักถึงการรักษาสิ่งแวดล้อม และกระตุ้นให้เกิดการเลือกใช้สินค้าและบริการอีโคมากขึ้น” ประธาน ส.อ.ท.กล่าว
นายสมพงษ์ ตันเจริญผล รองประธานอาวุโส สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ถือเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่ประเทศไทยได้รับเกียรติจาก APO ประเทศญี่ปุ่น ให้เป็นเจ้าภาพร่วมจัดงาน EPIF 2016 ซึ่งเป็นงานด้านสิ่งแวดล้อมครั้งใหญ่ในกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิค โดยจัดขึ้นภายใต้คอนเซ็ปต์ ‘24 - hour Eco Life’ หรือ “รักษ์โลกง่ายๆ ทำได้ 24 ชั่วโมง” เพื่อแสดงให้เห็นถึงแนวทางการอนุรักษ์ธรรมชาติและการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี ซึ่งสามารถทำได้ในกิจวัตรประจำวันตลอด 24 ชั่วโมง โดยภายในงานประกอบด้วยโซนจัดแสดงนวัตกรรม สินค้าและบริการ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจากบริษัทชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น ผลิตภัณฑ์ยานยนต์และอุปกรณ์ด้านการขนส่ง วัสดุก่อสร้าง เสื้อผ้าและสิ่งทอ อาหารและนม บรรจุภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์ไอที เครื่องใช้สำนักงาน ลอจิสติกส์ พลังงาน และสถาบันการศึกษา เป็นต้น รวมทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กในระดับชุมชน ตอบรับเข้าร่วมจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าและบริการ รวมกว่า 200 คูหา
นอกจากจะเป็นเวทีแสดงศักยภาพของภาคอุตสาหกรรมที่ให้ความสำคัญต่อการผลิตและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ภายในงานยังเปิดโอกาสสำหรับการเจรจาธุรกิจ Business Matching กับผู้ซื้อทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งมีการจัดแสดงนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อม การมอบรางวัล EPIF 2016 Award ตลอดจนการจัดกิจกรรมพิเศษเพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนหันมาสนใจเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อม เช่น กิจกรรม Eco Art ประกวดวาดภาพระบายสีระดับประถมศึกษา, กิจกรรม Eco Clip ประกวดคลิปวิดีโอเรื่องการรักษ์โลกง่ายๆ ทำได้ 24 ชั่วโมง เป็นต้น
“รักษ์โลกง่ายๆ ทำได้ 24 ชั่วโมง ถือเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถทำได้โดยเริ่มจากกิจวัตรประจำวัน ไม่ว่าจะเป็น การรับประทานอาหารในช่วงเช้า การเดินทางไปทำงานหรือไปโรงเรียน การเลือกใช้สินค้าและบริการสีเขียว การคัดแยกขยะในครัวเรือน รวมทั้งการท่องเที่ยวและพักผ่อนเชิงนิเวศ ซึ่งล้วนแต่มีส่วนช่วยอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน” นายสมพงษ์กล่าว
ด้าน นายสุวรรณ เหรียญเสาวภาคย์ รองผู้อำนวยการ (สายงานธุรกิจ) สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ สถาบันเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ภายในงานยังมีการจัดสัมมนาวิชาการนานาชาติ (International Conference) ด้านสิ่งแวดล้อมและการประหยัดพลังงานในหัวข้อที่น่าสนใจ เช่น หัวข้อ Concerted Efforts for a Sustainable Future through 24-hour Eco-life เพื่อนำเสนอและแลกเปลี่ยนมุมมองด้านแนวโน้มและทิศทางของการสร้างสังคมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน บทบาทของภาคอุตสาหกรรมและภาครัฐในการสร้างนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน และรูปแบบการใช้ชีวิตแบบ Eco-life โดยการสัมมนาในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากวิทยากรที่มีชื่อเสียงทั้งในประเทศและต่างประเทศมาร่วมบรรยายให้ข้อมูลเชิงลึก พร้อมเปิดโอกาสในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อาทิ Professor Woodrow Clark ซึ่งเป็นผู้ได้รับรางวัล Nobel Peace Prize ในปี ค.ศ. 2007 ที่ตอบรับมาร่วมเป็นวิทยากรด้วย
นอกจากนี้ ทางสถาบันฯ ยังได้จัดแสดงนิทรรศการเครื่องมือที่ชื่อว่า Sustainability Corporate Index หรือ SCI เพื่อให้องค์กรหรือผู้สนใจได้ใช้ในการประเมินขีดความสามารถขององค์กรต่อการพัฒนาสู่ความเป็นเลิศอย่างยั่งยืน ซึ่งสามารถนำข้อมูลที่ได้จากการประเมินไปจัดทำเป็น Roadmap เพื่อพัฒนาองค์กรต่อไป
ในส่วนของ รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต กรรมการฝ่ายเทคนิคและวิชาการ EPIF2016 ได้เปิดเผยถึงแนวคิดการออกแบบภายในงานว่า ในส่วนของโซนนิทรรศการ 24 - hour Eco Life เป็นการจำลองห้องต่างๆ ภายในบ้านที่สะท้อนการอยู่อาศัยแบบ Eco Living โดยคำนึงถึงการประหยัดพลังงาน (Energy Saving) การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ (Reduce Reuse Recycle) มีการกำหนดการออกแบบที่สอดคล้องกับธรรมชาติ (Designed to be Eco-friendly) การเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ที่มีคุณภาพคงทน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco-friendly Quality Materials) เพื่อส่งเสริมชีวิตความเป็นอยู่ที่มีคุณภาพและความสุขในสไตล์ของคนรุ่นใหม่ที่พร้อมรักษาสภาพแวดล้อมให้สมบูรณ์ สำหรับโซนกิจกรรม Eco Kids จะเน้นส่งเสริมการเรียนรู้ ปลูกฝัง และสร้างจิตสำนึกถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแก่เด็ก ด้วยการสอนให้รู้จักการดูฉลากสินค้าและการคัดแยกขยะ โดยเด็กๆ จะได้เรียนรู้ข้อมูลเกี่ยวกับ “ฉลากเขียว” (the green label) ได้ลองเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในประเภทฉลากเขียว รวมทั้งการนำผลิตภัณฑ์มาแยกประเภท ตามสัญลักษณ์ของการทิ้งขยะ และนำไปทิ้งในถังแยกขยะแต่ละประเภท
(ข่าวประชาสัมพันธ์)