“ประยุทธ์” ต้อนรับ รมว.ต่างประเทศญี่ปุ่น เร่งเดินหน้าร่วมมือในฐานะหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ “สมคิด” เผยญี่ปุ่นหนุนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ยกระดับภาคอุตสาหกรรม ด้านไทยเร่งตัดสินใจลงทุนรถไฟความเร็วสูงเส้นเหนือ-ใต้
วันนี้ (2 พ.ค.) เวลา 08.30 น. นายฟุมิโอะ คิชิดะ (Fumio Kishida) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ณ ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
ภายหลังการหารือ พ.อ.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวต้อนรับการเยือนประเทศไทยครั้งแรกของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นพร้อมแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่คุมะโมะโตะ ในช่วงวันที่ 14 และ 16 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่ง นายฟุมิโอะ คิชิดะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นกล่าวว่า รัฐบาลญี่ปุ่นและประชาชนญี่ปุ่นมีความขอบคุณและซาบซึ้งอย่างยิ่งที่ได้รับพระราชสาส์นแสดงความห่วงใยจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และจากรัฐบาลไทย รวมถึงการเสนอที่จะให้ความช่วยเหลือต่างๆ อย่างทันท่วงทีจากรัฐบาลไทยมา ณ โอกาสนี้ด้วย
สำหรับสถานการณ์ภายในประเทศ นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงความพยายามของรัฐบาลในการเดินหน้าไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ที่เน้นการมีธรรมาภิบาล และการมุ่งพัฒนาประเทศให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยจะให้มีการทำประชามติและการเลือกตั้งตามโรดแมปที่ได้กำหนดไว้
นอกจากนี้ ได้แจ้งให้ทราบถึงแนวทางการปฏิรูปประเทศในระยะนี้ และการวางยุทธศาสตร์ชาติในอีก 20 ปีข้างหน้า พร้อมเชิญให้ญี่ปุ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนากับไทยในอนาคต ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นได้แสดงความชื่มชมต่อความมุ่งมั่นและความพยายามของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลไทย พร้อมกล่าวว่าญี่ปุ่นเคารพต่อการดำเนินการของไทย และจะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ โดยไทยยังคงเป็นมิตรประเทศสำคัญของญี่ปุ่นและญี่ปุ่นให้ความสำคัญต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสนับสนุนความเชื่อมโยงในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
โดยในวันนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะไปบรรยายที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศของญี่ปุ่นที่ให้ความสำคัญกับประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะกับประเทศลุ่มน้ำโขง และมีเป้าหมายที่จะร่วมมือกับผู้นำประเทศลุ่มน้ำโขงอย่างใกล้ชิด เพื่อส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพสูง ทั้งด้านเทคโนโลยีและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งญี่ปุ่นเห็นว่า นอกจากความร่วมมือในอาเซียนและในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงแล้ว ไทยและญี่ปุ่นควรมีความร่วมมือในเวทีระดับโลกมากขึ้นอีกด้วย
ในประเด็นความสัมพันธ์ทวิภาคี ไทยและญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ที่ดีในทุกระดับ ทั้งในระดับราชวงศ์ รัฐบาลและประชาชน โดยจะครบรอบความสัมพันธ์ 130 ปี ในปี พ.ศ. 2560 โดยในวันนี้ทั้งสองฝ่ายยินดีที่ความร่วมมือระหว่างกันมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น ความร่วมมือการเกษตร ที่มีการลงนามในบันทึกแสดงเจตจำนง (MOI) ว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือในสาขาเกษตร เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2559 นอกจากนี้ มีการติดตามประเด็นความร่วมมือที่ยังคั่งค้าง อาทิ การนำเข้าเนื้อสุกรจากไทย
ด้านความร่วมมือด้านโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งสองฝ่ายยินดีที่มีความคืบหน้าเรื่องระบบราง โดยกำลังเร่งสรุปผลการศึกษาความเป็นไปได้ตามความร่วมมือที่ได้ตกลงกันไว้ โดยนายกรัฐมนตรีย้ำว่าไทยมั่นใจกับเทคโนโลยีของญี่ปุ่น ทั้งในเรื่องคุณภาพและความปลอดภัย สำหรับโครงการทวาย ทั้งสองฝ่ายยืนยันที่จะร่วมมือกันต่อไปอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นโครงการที่สำคัญต่อการพัฒนาด้านเศรษฐกิจของประเทศลุ่มน้ำโขง และจะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนของทั้งสามประเทศโดยตรง
ด้านการค้าการลงทุน ไทยให้ความสำคัญกับนักลงทุนญี่ปุ่น โดยที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีได้เปิดโอกาสให้นักลงทุนญี่ปุ่นเข้าพบหลายราย ทั้งจากภาคอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและรถยนต์ เพื่อรับฟังปัญหาอุปสรรคต่างๆ โดยยืนยันว่าไทยจะสนับสนุนและดูแลนักลงทุนจากญี่ปุ่น รัฐบาลไทยมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนในลักษณะไทย บวก 1 และมีการส่งเสริมการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อสร้างความเชื่อมโยงทางบก น้ำและอากาศ
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงการส่งเสริมการลงทุนในอีก 5 อุตสาหกรรม S-curve ใหม่ และการส่งเสริมธุรกิจ “Start up” เพื่อนำประเทศไทยไปสู่ Thailand 4.0 พร้อมกับเชิญชวนให้ญี่ปุ่นเข้ามาร่วมลงทุนกับไทย อย่างเป็นระบบ ทั้งต้นทาง กลางทางและปลายทาง ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นรับทราบและจะนำไปแจ้งให้ภาคเอกชนญี่ปุ่นทราบต่อไป โดยเห็นว่าไทยและญี่ปุ่นมีศักยภาพที่จะร่วมพัฒนาระหว่างกันทางเศรษฐกิจได้อีกในหลายสาขา ผ่านความร่วมมืออย่างใกล้ชิด
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถวายพระพรแด่ สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ และฝากความระลึกถึงไปยังนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ พร้อมกล่าวเชิญนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นมาเยือนประเทศไทยในปีนี้ด้วย
จากนั้น นายฟุมิโอะ คิชิ เข้าเยี่ยมคารวะนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี หลังการเข้าพบ นายสมคิดกล่าวว่า การเยือนประเทศไทยครั้งนี้เป็นการมาแนะนะตัวเนื่องในโอกาสเข้ารับตำแหน่งใหม่ และติดตามงานด้านความร่วมมือต่างๆ โดยเฉพาะเส้นทางรถไฟความเร็วสูง กทม.-เชียงใหม่ และเซาเทิร์นคอร์ริดอร์ ซึ่งไทยอยากให้ญี่ปุ่นเร่งตัดสินใจ เพราะจะเป็นโอกาสในการสร้างความเชื่อมโยงในอาเซียน และมีการหารือในอนาคตในโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดในส่วนต่อขยายท่าเรือน้ำลึกอู่ตะเภา และสนามบินอู่ตะเภา โดยจะเป็นแอ่งการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรม และเป็นศูนย์กลางขยายไปทั่วโลก และเป็นศูนย์เคลื่อนย้ายผลผลิต เป็นเกตเวย์ของโลก และเชื่อว่าอีก 5 ปีข้างหน้าจะเป็นซูเปอร์คลัสเตอร์ พร้อมเชื่อมโยงเส้นทางไปยัง จ.กาญจนบุรี
ทั้งนี้ยังได้ชี้แจงให้ญี่ปุ่นเข้าใจว่าไทยไม่ได้มีเฉพาะรถไฟ แต่ยังมีเศรษฐกิจดิจิตอลของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที ซึ่งจีน และเกาหลีใต้สนใจที่จะเข้ามาร่วมลงทุน ดังนั้นจึงอยากเชิญชวนให้บริษัทชั้นนำของญี่ปุ่นมาเข้าร่วมลงทุนในโครงการด้วย ขณะที่ญี่ปุ่นกำชับถึงเรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในภาคอุตสาหกรรม โดยจะเข้ามาร่วมพัฒนาถ่ายทอดเทคโนโลยีในประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งญี่ปุ่นมีความเชี่ยวชาญด้านเอ็นจีเจียริ่ง และจะมีความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการต่อไป อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นไม่ได้ติดใจเรื่องสถานการณ์การเมืองของไทย และไม่ได้สอบถามแต่อย่างใด