ปธ.กรธ.เปิดงานอบรมครู ก. ชี้แจงข้อดีร่าง รธน. เชื่อ ครู ก.ลงพื้นที่แจง รธน.ได้ มั่นใจทำ ปชช.ลืมหน้าอ้าปากได้ ไม่ใช่แค่พอมีพอกิน ช่วยไม่ต้องฝืนใจเลือกนักการเมือง หากยึดมั่นเคร่งครัดทำบ้านเมืองเจริญไม่แพ้ใครในโลก วอนอ่านทั้งฉบับก่อนอย่าปิดหูปิดตาวิจารณ์แบบแผ่นเสียงตกร่อง อ้างไม่เป็น ปชต.ก่อน ชี้ รธน.ไม่ใช่สมบัติส่วนตัว ลั่นร่าง กม.เสร็จหมดหน้าที่ ด้านกลุ่ม ปชต.ใหม่บุกยื่น 7 เหตุผลไม่รับร่าง
วันนี้ (18 พ.ค.) ที่ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จัดโครงการจัดการฝึกอบรมวิทยากรกระบวนการ (ครู ก.) ประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัด ตัวแทนชุมชน ตัวแทนสาธารณสุข ซึ่งเป็นตัวแทนจาก 77 จังหวัด จังหวัดละ 5 คน พร้อมผู้ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนผู้ร่วมสังเกตการณ์ กว่า 500 คน เข้าร่วมอบรม
ทั้งนี้ นายมีชัยได้กล่าวเปิดงานโดยกล่าวถึงเป้าหมายของร่างรัฐธรรมนูญในหลายด้าน โดยเฉพาะด้านสิทธิประชาชนต่อการเลือกผู้แทนจากที่ผ่านมาประชาชนตกอยู่ในที่บังคับต้องเลือกคนที่เลวน้อยสุด การจะฝืนไม่ไปเลือกก็มีกฎหมายบังคับว่าเป็นหน้าที่เพื่อความสะใจว่ามีคนไปเลือกเยอะ จึงต้องมีการจัดการกฎหมายใหม่ ให้ประชาชนมีสิทธิเพิ่มอีกทาง ถ้าพรรคการเมืองดูหมิ่นประชาชน ส่งใครก็ได้จะคนรถหรือเสาโทรเลข ประชาชนพร้อมใจไม่เลือกใครเลย ผลที่จะเกิดคือไม่มีใครได้รับเลือก แล้วต้องเลือกตั้งใหม่ คนที่แพ้ถือว่าถูกประชาชนปฏิเสธแล้วลงอีกไม่ได้ ถือเป็นการสร้างน้ำหนักเสียงของประชาชนให้สูงขึ้น และบีบให้พรรคการเมืองต้องเลือกคนที่ดี
นอกจากนี้ ด้านกลไกการขจัดการทุจริตเช่นการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินในอดีต มีการทำผิดรัฐธรรมนูญกันทั่วบ้านเมือง รัฐธรรมนูญปี 40 และ ปี 50 บัญญัติห้าม ส.ส. ส.ว. แปรญัตติแปรเข้าตัวเอง แต่ก็ไม่มีบทแซงก์ชันอะไร แค่ให้การกระทำนั้นเป็นโมฆะเท่านั้น ก็เกิดวิวัฒนาการใหม่เอางบใส่มือ ส.ส.มีมากขึ้นและยังมีการร่วมมือทุกกระบวนการ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีการแซงชั่นคือถ้าพบการกระทำเช่นนี้คนที่แปรญัตติต้องพ้นจากตำแหน่ง และสภาที่รู้เห็นต้องหมดไปทั้งสภาและยังมีการติดตามทวงเงินคืนมีอายุความ 20 ปี เพราะคงจับขณะเป็นรัฐบาลไม่ได้ ต้องรอสักสองรัฐบาลค่อยมาจับ หวังว่าจะเป็นเครื่องเตือนสติไม่ให้ทำ หากผู้แทนกระทำอย่างข้างต้นแล้วเท่ากับสอนคนทั้งประเทศว่าไม่ต้องทำตามรัฐธรรมนูญก็ได้ เรื่องอื่นๆ ก็เช่นกัน จะทำให้บ้านเมืองหมดขื่อหมดแปร เราจึงต้องทำตรงนี้
“ผมเชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะทำให้ประชาชนลืมหน้าอ้าปากได้ จนถึงขั้นอยู่ดีมีสุข ไม่ใช่แค่พอมีพอกิน” นายมีชัยระบุ
ส่วนในบทเฉพาะกาลการเปลี่ยนผ่านเป็นไปตามปกติของการร่างรัฐธรรมนูญ แต่เราได้กำหนดที่มา ส.วเฉพาะกาล เพราะให้ การปฏิรูปที่เดินหน้าไปเยอะแล้ว แต่ส่วนใหญ่ยังไม่ไปถึงทาง ยังอยู่กึ่งกลาง ถ้าไม่มีใครสานต่อประคับประครองก็จะสูญเสียตกน้ำไปหรือไม่ จึงให้มีการกำหนดเฉพาะกาล ส.ว.รุ่นแรกให้มาจากสรรหาและแต่งตั้ง ตามกลไกลที่วางไว้ ส่วนนายกรัฐมนตรีคนนอกเราทำเพื่อประโยชน์พรรคการเมืองทุกพรรค ไม่ได้มุ่งคิดเอาใครมาบางคนมาเป็นนายกฯ หรือที่มีการหาว่าต้องการเอา พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา หัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรีมาเป็นอีกครั้ง ซึ่งท่านก็บอกแล้วว่าไม่มา แล้วจะกังวลกันทำไม ไม่มีใครเอาปืนไปจี้ให้พรรคการเมืองต้องประกาศรายชื่อนายก ฯคนนอก กรธ.ต้องการเปิดทางออกในกรณีที่ติดขัดเพื่อให้มีทางออกแต่ต้องใช้คะแนนที่สูงมาก เพื่อเป็นไปในลักษณะออมชอมเห็นดีเห็นงามร่วมกัน ส่วนที่เรื่องปรองดองไม่ได้บัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญโดยตรง แต่ก็มีบทบัญญัติหลายตอนที่มีเจตนาให้เกิดการปรองดอง โดยให้ใช้กลไกในการปรึกษาหารือ เห็นดีเห็นงามร่มกัน ไม่ว่าการแก้รัฐธรรมนูญ การก่อนโยบายให้เกิดความเสียหาย เราเชื่อว่าถ้าทุกคนปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด บ้านเมืองจะเจริญรุดหน้าไม่แพ้ใครในโลก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนเริ่มงานได้มีตัวแทนกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ นำโดยนายปกรณ์ อารีกุล ได้มอบหนังสือความเห็นแย้ง และ 7 เหตุผลไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 7 สิงหา 2559 ให้กับนายมีชัยโดยระบุว่า การจัดทำคู่มือ คำอธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ 10 เรื่องที่น่ารู้ เพื่อเผยแพร่แก่ประชาชนซึ่งเป็นคำกล่าวอ้างข้อดีของร่างเท่านั้น แต่ประชาชนที่ต้องการรณรงค์ไม่รับร่างต้องแบกรับความเสี่ยงว่าการกระทำอาจถูกถือว่าเป็นการปลุกระดม อีกทั้งคำอธิบายในคู่มือมีจุดที่อาจโต้แย้งได้หลายประการ หากปล่อยให้เผยแพร่ออกไปโดยไม่แสดงความเห็นแย้ง ประชาชนอาจตัดสินใจลงคะแนนเสียงรับร่างโดยไม่ได้ข้อมูลรอบด้าน จึงได้จัดทำคู่มือฉบับนี้เพื่อแสดงการโต้แย้งต่อคู่มือของ กรธ. แม้จะรัฐบาลจะหาว่าขัดต่อกฎหมายประชามติ แต่ก็ขอยืนยันในเสรีภาพในการแสดงความเห็น โดยนายมีชัยได้รับหนังสือดังกล่าวด้วยสีหน้าเรียบเฉย
สำหรับการจัดการฝึกอบรมในวันนี้ ตัวแทน กรธ.ยังมีการบรรยายประเด็นต่างๆ ให้แก่ผู้ร่วมงาน เช่น เรื่องสิทธิเสรีภาพ สิทธิสตรี หน้าที่ของรัฐ และแนวทางนโยบายแห่งรัฐ การปฏิรูปประเทศ รัฐสภา คณะรัฐมนตรี กระบวนการเลือกตั้ง พรรคการเมืองและบทเฉพาะกาล ขณะที่ตัวแทนสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. และนายกล้านรงค์ จันทิก สนช. ทำการบรรยายในประเด็นคำถามพ่วงท้ายในการทำประชามติของ สนช.ด้วย
นายมีชัยยังให้สัมภาษณ์ภายหลังกล่าวเปิดโครงการจัดการฝึกอบรมวิทยาการกระบวนการ (ครู ก.) ว่า วิทยากรที่คัดเลือกมาอบรมครู ก.ในวันนี้ ส่วนใหญ่วิทยากรอยู่ในระดับสูงมีความรู้พื้นฐาน และสะอาด แต่ก็ต้องมีกลไกในการติดตามการทำงานและให้กำลังใจของครู ก. เวลาที่ลงพื้นที่ชี้แจงด้วย ทั้งนี้ การชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องได้เปรียบ หรือเสียเปรียบ เพราะการจะทำประชามติจะต้องบอกให้รู้ซึ่งการให้ประชาชนรับรู้มากที่สุดไม่ใช่เรื่องเสียหาย เราจะปิดหูปิดตาประชาชนได้อย่างไร แต่เราก็ไม่ได้มีอะไรห้าม เพียงแค่กังวลว่าอย่าไปบิดเบือนเท่านั้น เพราะถ้าไม่เห็นด้วยอย่างไรก็ต้องบิดเบือน ไม่ใช่ไปบอกแบบแผ่นเสียงตกร่องว่ารัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม ตนไม่กังวลกระแสคัดค้านที่ออกมาจากทุกฝ่าย หากเขาวิจารณ์โดยสุจริตใจ เพราะตนยืนยันว่า กรธ.ก็ทำด้วยความสุจริตใจ ทำเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ และไม่มีความมุ่งหมายทางการเมือง แต่กังวลถ้าเขาไม่อ่านรัฐธรรมนูญทั้งหมดแล้วแล้วไปฟังคนอื่นมาวิจารณ์ต่อก็แย่ บ้านเมืองควรเปิดหูเปิดตา
เมื่อถามว่า การเน้นย้ำต่อครู ก.เรื่องการเผยแพร่สาระรัฐธรรมนูญในพื้นที่ที่มีทัศนคติเป็นลบต่อรัฐธรรมนูญจะทำอย่างไร นายมีชัยกล่าวว่า ครู ก.อยู่ในพื้นที่ย่อมรู้ดี ตนเชื่อว่าการเผยแพร่เนื้อหาคงไม่ต้องพูดเพื่อปรับทัศนคติของคนฟัง แต่หน้าที่สำคัญของครู ก.คือ การนำข้อมูลความจริงไปบอกกับประชาชน ส่วนประชาชนจะเห็นอย่างไรเป็นสิทธิของเขา เราไม่สามารถบอกให้ประชาชนว่าควรโหวตอย่างไร เพราะ กรธ.ไม่ใช่นักการเมืองที่เขาพยายามบอกกับชาวบ้านว่าให้โหวตรับ หรือไม่รับ ซึ่งเป็นแนวทางที่เขาทำอยู่ในตอนนี้ แต่ กรธ.ไม่กล้าทำ หน้าที่ของ กรธ.ตอนนี้คือการบอกว่าร่างรัฐธรรมนูญมีอะไร และจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างไร เหตุผลสำคัญที่มองว่านักการเมืองพยายามชี้นำประชาชนเพราะเขาไม่ต้องการให้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญซึ่งมีผลกระทบกับนักการเมืองเกิดขึ้นได้ เช่น มีข้อเขียนว่าห้ามนักข่าวดักสัมภาษณ์ คนอาจโกรธและไม่เข้าใจ เช่นเดียวกับที่เขียนว่าห้ามนักการเมืองโกง ทำให้คนโกงก็ไม่พอใจ
เมื่อถามว่า ต่างชาติมีความห่วงใยที่บทเฉพาะกาลรับรองคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพราะบางคำสั่งเข้าข่ายละเมิดสิทธิ นายมีชัยกล่าวว่า ในบรรดาคำสั่งหรือประกาศเหล่านั้นสามารถจะยกเลิกได้ภายหลังหากรัฐบาลที่เข้ามาใหม่เห็นว่าไม่เหมาะสม การยกเลิกจะเป็นกระบวนการตามปกติ เช่น หากเป็นคำสั่งที่เกี่ยวกับการบริหารก็สามารถออกคำสั่งทางบริหารยกเลิกได้ หรือเป็นกฎหมายก็สามารถออกกฎหมายเพื่อยกเลิกกฎหมายดังกล่าวได้ ดังนั้นเรื่องเหล่านี้ไม่ได้อยู่ค้ำฟ้าค้ำดิน
เมื่อถามถึงกรณีที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เสนอว่าหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ ให้นำรัฐธรรมนูญปี 40 และ 50 มาแก้ไขรวมกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และฉบับของนายมีชัย ประธาน กรธ.กล่าวว่า เมื่อร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ก็ไม่ใช่หน้าที่ของ กรธ. เพราะร่างรัฐธรรมนูญไม่ใช่สมบัติส่วนตัว และไม่อยากให้พูดในสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น เพราะพระพุทธเจ้าสอนไว้ว่าอย่าไปกังวลในสิ่งที่ยังไม่เกิด ส่วนกรณีที่นายวิษณุ เครืองาม จะเชิญพรรคการเมืองต่างๆ ร่วมหารือเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญนั้น ตนได้หนังสือเชิญแล้ว คงจะส่งตัวแทนไป เพราะคงไปเถียงสู้เขาไม่ได้