รมว.การต่างประเทศไทยในฐานะ “ผู้แทนพิเศษของ พล.อ.ประยุทธ์” กระชับความสัมพันธ์ไทย-พม่า ถก “ติน จ่อ” ประธานาธิบดี ติดตามเพื่อเดินหน้าโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ก่อนถก 2 ผู้นำในเวทีผู้นำอาเซียน-รัสเซียในเดือนพฤษภาคมปีนี้ เผยผลหารือกับ “อองซานซูจี” ในฐานะ รมว.ต่างประเทศ เป็นห่วงสิทธิแรงงานพม่า 1.59 ล้านคนในไทย แต่ไม่โยนเป็นภาระของไทย พร้อมเดินหน้าความร่วมมือสองประเทศในอนาคต
วันนี้ (10 พ.ค.) มีรายงานจากกระทรวงการต่างประเทศว่า ภายหลังนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มีกำหนดเดินทางเยือนสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ (พม่า) ในฐานะผู้แทนพิเศษของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี (Special envoy) ระหว่างวันที่ 8-9 พฤษภาคม 2559 โดยได้เข้าเยี่ยมคารวะ นายติน จ่อ ประธานาธิบดีสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ และนางอองซานซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และรัฐมนตรีประจำสำนักประธานาธิบดี ณ กรุงเนปิดอว์ เพื่อกระชับความสัมพันธ์และส่งเสริมความร่วมมือไทย-พม่า ทั้งในระดับทวิภาคีและในระดับอาเซียนที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนของสองประเทศและของภูมิภาคให้มีความแน่นแฟ้นและเกิดผลเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 9 พ.ค. คณะของนายดอนได้เดินทางไปยังกระทรวงการต่างประเทศพม่า เพื่อหารือข้อราชการกับนางอองซานซูจี รมว.ต่างประเทศพม่า โดยใช้เวลาประมาณ 40 นาที จากนั้นทั้งสองได้แถลงข่าวร่วมกัน โดยทั้งสองประเทศได้หารือเรื่องทำงานร่วมกันในอนาคตเพื่อประโยชน์กับประชาชนของสองประเทศและภูมิภาค ในฐานะครอบครัวอาเซียนและสมาชิกของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงร่วมเดียวกัน
ในเรื่องของการดูแลและสิทธิกับแรงงานพม่าได้เท่ากับแรงงานไทย ฝ่ายไทยเห็นว่าขณะนี้มีแรงงานพม่าที่ลงทะเบียนในไทย 1.59 ล้านคน ที่ยังมีบางส่วนที่อยู่ระหว่างขั้นตอนการทำเอกสาร แต่ไทยยินดีและพอใจกับแรงงานพม่า และเชื่อว่าแรงงานพม่าในไทยก็มีความสุขเช่นกันเพราะไทยได้ให้การศึกษากับบุตรและให้การรักษาพยาบาลแรงงานพม่าเท่ากับแรงงานไทย คิดว่าทุกอย่างกำลังพัฒนาไปในทิศทางที่ดีที่จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองประเทศ
ในด้านพม่าก็พร้อมจะแสดงความรับผิดชอบต่อแรงงานพม่าที่อยู่ในไทยเช่นกัน โดยไม่ปล่อยให้เป็นภาระของไทยเท่านั้น และยังชื่นชมไทยที่ให้ความช่วยเหลือและมีแผนจะพัฒนากฎหมายเพื่อให้การดูแลแรงงานต่างด้าวในไทยอย่างต่อเนื่อง ทางพม่ายังให้ความสำคัญกับทุกประเด็น และเชื่อว่าสองประเทศมีความตั้งใจจะทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดหรือกำลังจะเกิดขึ้น เพราะเมื่อมีประเด็นก็จะย่อมมีปัญหาตามมา สิ่งสำคัญคือจะแก้ไขปัญหาอย่างไร
“อองซานฯ เห็นว่าควรแก้ไขในแนวทางที่มองว่าเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาร่วมกัน มากกว่าจะมองเป็นปัญหาที่ทำให้เกิดความขัดแย้งหรือรู้สึกไม่เป็นมิตรระหว่างกัน ทั้งนี้ยืนยันว่าพม่าให้ความสำคัญกับอาเซียนและหวังว่า อาเซียนจะนำความสุขมาสู่ประชาชนของประเทศสมาชิก”
ด้านนายดอนระบุภายหลังว่า การหารือที่ตรงไปตรงมากับนางอองซานซูจี เชื่อว่าจะเป็นพื้นฐานที่ดีของความสัมพันธ์ที่จะมีต่อไปกับรัฐบาลพม่า ทั้งนี้ในส่วนของการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีและรัฐมนตรีต่างประเทศพม่า คาดว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นหลังจากที่ผู้นำทั้งสองพบกันที่เมืองโซชิ ประเทศรัสเซีย
มีรายงานว่า เมื่อวานนี้ (9 พ.ค.) นายดอนเข้าเยี่ยมคาราวะนายติน จ่อ ประธานาธิบดีสาธารณรัฐสหภาพเมียนมาร์ ที่ทำเนียบประธานาธิบดี กรุงเนปิดอว์ โดยนายดอนระบุว่า การเดินทางเยือนครั้งนี้ถือเป็นการพบปะในฐานะประเทศเพื่อนบ้านอย่างแท้จริง มีการพูดถึงภาพใหญ่ของความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงไปสู่ความร่วมมือในมิติต่างๆ เพราะไทยเป็นประเทศที่มีพรมแดนติดต่อกับพม่ายาวที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอาเซียนด้วยกัน มีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันมานาน 69 ปี และเป็นความสัมพันธ์ที่สร้างสรรค์มาตลอด ความร่วมมือของทั้งสองประเทศมีลักษณะเหมือนกันคือเน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง และยึดถือผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก
“มีการติดตามเพื่อเดินหน้าโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายที่เป็นความร่วมมือ 3 ฝ่าย คือ ไทย พม่า และญี่ปุ่น ภายหลังที่ไทยกับพม่ายังสามารถมีความร่วมมือ 3 ฝ่ายทั้งกับญี่ปุ่นและประเทศอื่นๆ ในอีกหลายเรื่อง อีกทั้งยังได้หารือกันถึงเรื่องการศึกษา การฝึกอบรม และแรงงาน เพราะ มีชาวเมียนมาอยู่ในไทยมากที่สุด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เห็นถึงนโยบายที่ประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพราะการดูแลแรงงานก็เป็นประโยชน์ที่ทั้งสองฝ่ายได้รับและยังเป็นการสร้างความเชื่อมโยงด้านประชาชนในรูปแบบหนึ่งด้วย”
นายดอนกล่าวว่า ประธานาธิบดีเมียนมายังได้ฝากถวายพระพรแด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ รวมถึงฝากความระลึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ โดยหลังจากนี้ประธานาธิบดีพม่าจะพบกับ พล.อ.ประยุทธ์ ในการประชุมผู้นำอาเซียน-รัสเซีย สมัยพิเศษเพื่อเฉลิมฉลองโอกาสครบรอบ 20 ปีของความสัมพันธ์ ที่เมืองโซชิ ประเทศรัสเซีย โดยการพบปะดังกล่าวถือเป็นการพบปะที่มีความหมายอย่างยิ่ง ส่วนการเชิญประธานาธิบดีพม่ามาเยือนไทยนั้นขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของฝ่ายพม่าเพื่อหาช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อไป
“ไทยได้ฝากให้พม่าช่วยดูแลนักลงทุนไทยในพม่าซึ่งเป็นเสมือนหัวหอกนำไปสู่ความร่วมมือด้านการลงทุนและการมีปฏิสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยไทยให้ความมั่นใจว่าการเข้ามาของนักลงทุนไทยในปัจจุบันจะเอื้อประโยชน์ให้ทั้งสองฝ่าย ผมความหวังว่าการได้พูดคุยกันครั้งนี้จะนำไปสู่ความร่วมมือฉันท์มิตรประเทศในฐานะครอบครัวอาเซียน และยังประโยชน์ให้แก่ทั้งสองฝ่ายต่อไป” นายดอนกล่าว