รองนายกรัฐมนตรีไม่แน่ใจผู้เสียหายคดี 7 ตุลาฟ้องกลับ ป.ป.ช.หากศาลฎีกาไม่อนุญาตให้ถอนฟ้อง ต้องดูเหตุผลก่อน แต่ยันศาลมีอำนาจที่จะทำ ชี้ต่างจากกรณีขอขึ้นเงินเดือนตัวเอง ด้าน “ประสาร” เตือน ป.ป.ช.บาปเข้าตัวจะเป็นมลทินทางประวัติศาสตร์จนสิ้นศรัทธา
วันนี้ (2 พ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 15.45 น. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีหากคณะกรรมป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติถอนฟ้องคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2551 แต่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่อนุญาต ผู้เสียหายสามารถฟ้องกลับ ป.ป.ช.ได้หรือไม่ว่า ตนไม่แน่ใจว่าผู้เสียหายในคดีดังกล่าวจะไปดำเนินการฟ้องร้องต่อ ป.ป.ช.ได้หรือไม่ แต่ตรงนี้จะถือว่าเป็นการทำผิดก็ไม่ได้ ส่วนหนึ่งต้องไปดูเหตุผลในกรณีที่ศาลไม่อนุญาตให้ถอนฟ้อง ถ้าศาลบอกว่าไม่อนุญาตเพราะไม่มีอำนาจอย่างนี้ ป.ป.ช.เสี่ยง แต่ถ้าศาลไม่อนุญาตให้ถอนฟ้องเพราะไม่มีเหตุผลอันสมควร ถึงแม้ ป.ป.ช.จะมีอำนาจ จะบอกว่า ป.ป.ช.ผิดไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของดุลยพินิจของศาล ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายเขียนว่า การถอนฟ้องในคดีอาญาไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตาม และไม่ว่าใครเป็นโจทก์ก็ตาม ต้องขอให้ศาลเห็นชอบ มันแสดงอยู่ในตัวว่ามีอำนาจในการถอนฟ้อง
“เรื่องนี้ต่างจากกรณีอดีตกรรมการ ป.ป.ช.มีมติขึ้นเงินเดือนตัวเอง เพราะกรณีขึ้นเงินเดือนตัวเอง ป.ป.ช.ไม่มีอำนาจแต่กลับทำ ซึ่งเรื่องที่จบไปแล้ว โดยกรรมการ ป.ป.ช.ชุดนั้นภายหลังนึกได้ก็เอาเงินมาคืน แต่ถือว่าความผิดสำเร็จ เพราะฉะนั้นเรื่องการถอนฟ้องไม่ได้เป็นความผิดอะไรในตัว โดยเฉพาะถ้า ป.ป.ช.เชื่อว่าตัวเองมีอำนาจ” นายวิษณุกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่ศาลไม่อนุญาตให้ถอนฟ้อง ถ้าจะฟ้องกลับ ป.ป.ช.ต้องดูเหตุผลของศาลก่อนใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ใช่แค่ดูก่อน แต่ต้องนำเหตุผลของศาลมาพิจารณาประกอบด้วย
ด้านนายประสาร มฤคพิทักษ์ อดีต ส.ว.และอดีต ส.ป.ช.มีความเห็นว่า ป.ป.ช.ล้างบาปให้คนอื่น แต่บาปจะตกอยู่กับ ป.ป.ช.เองว่าคดีดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้ว มีการไต่สวนไปแล้ว ตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช.มาตรา 86 ระบุว่า เรื่องที่ศาลรับฟ้องและอยู่ในการพิจารณาคดี “ห้ามมิให้ ป.ป.ช.ยกข้อกล่าวหานั้น”
นายประสารกล่าวว่า คดีนี้ตามสำนวนคำฟ้องแรกของ ป.ป.ช. ทางอัยการสูงสุดทักท้วงว่าสำนวนฟ้องดังกล่าวมีสภาพไม่สมบูรณ์จึงนำไปสู่การตั้งกรรมการร่วมระหว่างอัยการกับ ป.ป.ช.ร่วมกันแก้ไขสำนวนฟ้องใหม่ทำให้มีความสมบูรณ์ขึ้น แล้วจึงฟ้องศาล สังคมไทยได้รับการตอกย้ำถึงความหนักแน่นในคำฟ้อง ที่สององค์กรร่วมกันทำ แล้วจู่ๆ จะมาถอนฟ้อง จึงเป็นเรื่องชอบกลที่แม้แต่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรียังเตือนว่า ถ้า ป.ป.ช.คิดจะถอนฟ้องก็ต้องเตรียมรับมือความวุ่นวายที่จะเกิดขึ้นด้วย
“ถึงอย่างไรอำนาจการอนุญาตให้ถอนฟ้องเป็นของศาล เพราะคดีเข้าสู่สารบบการพิจารณาคดีแล้ว หาก ป.ป.ช.ยืนยันเดินหน้าถอนฟ้อง ก็ต้องรับแรงกดดันทางจริยธรรมของสังคมไทยอย่างหนักหน่วง จะกลายเป็นมลทินทางประวัติศาสตร์ของ ป.ป.ช.ที่ล้างบาปให้คนอื่น แล้วบาปตกอยู่ที่ตนเอง เพราะ ป.ป.ช.จะกลายเป็นองค์กรสิ้นศรัทธา ที่ไม่อาจเป็นที่พึ่งของประชาชนได้อีกต่อไป” นายประสารกล่าว