xs
xsm
sm
md
lg

ประกาศใช้แล้ว 27 มาตรา “พ.ร.บ.ควบคุมขอทาน” - “ยุยง ทำร้าย” โทษหนักคุก 5 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ประกาศใช้แล้ว 27 มาตรา “พ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2559” เอาผิดทางอาญาผู้แสวงหาประโยชน์จากการขอทาน โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับ 3 หมื่นบาท ระบุหากกระทำต่อหญิงมีครรภ์ ผู้สูงอายุ คนวิกลจริต คนพิการ หรือทุพพลภาพ หรือเจ็บป่วย โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับ 5 หมื่นบาท

วันนี้ (2 พ.ค.) มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 29 เม.ย.ที่ผ่านมา พระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2559 ได้มีผลบังคับใช้แล้ว โดยรายละเอียดที่สำคัญเริ่มจากมาตรา 6 กำหนดให้มีคณะกรรมการควบคุมการขอทาน ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นรองประธานกรรมการ ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ อธิบดีกรมการจัดหางาน อธิบดีกรมการปกครอง อธิบดีกรมการแพทย์ อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ อธิบดีกรมควบคุมโรค อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น อธิบดีกรมส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม อธิบดีกรมสุขภาพจิต

รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งไม่เกินแปดคนเป็นกรรมการให้อธิบดีเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้อธิบดีแต่งตั้งข้าราชการของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการไม่เกินสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งตามวรรคหนึ่ง ให้แต่งตั้งจากผู้ซึ่งมีความรู้ความสามารถความเชี่ยวชาญ หรือประสบการณ์ในด้านการสังคมสงเคราะห์ การพัฒนาสังคม หรือการจัดสวัสดิการสังคมและไม่เป็นข้าราชการที่มีตําแหน่งหรือเงินเดือนประจํา พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ เว้นแต่เป็นผู้สอนในสถาบันอุดมศึกษา โดยในจํานวนนี้ต้องแต่งตั้งจากภาคประชาสังคมไม่น้อยกว่าสี่คน

ขณะที่มาตรา 9 คณะกรรมการมีอํานาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้ “(๑) เสนอนโยบายและมาตรการเกี่ยวกับการควบคุมการขอทานและคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ทําการขอทาน แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการขอทาน รวมทั้งการดําเนินการกับผู้แสวงหาประโยชน์จากการขอทานต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา

(๒) เสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีให้มีหรือปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และมาตรการเกี่ยวกับการควบคุมการขอทานและคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ทําการขอทาน (๓) ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลในการควบคุมการขอทาน แล้วเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (๔) ออกระเบียบ หลักเกณฑ์ และวิธีการเกี่ยวกับการแสดงความสามารถ และการช่วยเหลือ ผู้ทําการขอทาน ตลอดจนระเบียบอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ (๕) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกําหนดให้เป็นอํานาจหน้าที่ของคณะกรรมการหรือตามที่คณะรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีมอบหมายระเบียบของคณะกรรมการนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

ทั้งนี้ คณะกรรมการมีอํานาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการประจําจังหวัดในแต่ละจังหวัดและคณะอนุกรรมการอื่น เพื่อปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่คณะกรรมการมอบหมายได้ และให้นําบทบัญญัติ มาใช้บังคับ โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ทําหน้าที่ช่วยเหลือและอํานวยการในการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ โดยให้มีอํานาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑) รับผิดชอบงานธุรการ งานประชุม และกิจการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับงานของคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการ และรวบรวมข้อมูล ศึกษา วิจัย และพัฒนางานเกี่ยวกับการควบคุมการขอทาน
และคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ทําการขอทาน (๒) ประสานงานกับหน่วยงานของรัฐ องค์กรสาธารณประโยชน์ องค์กรสวัสดิการชุมชนและองค์กรภาคเอกชนอื่น เพื่อดําเนินการจัดทํานโยบายและมาตรการเกี่ยวกับการควบคุมการขอทานและคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ทําการขอทานเสนอต่อคณะกรรมการ และดําเนินการให้มีการปฏิบัติตามนโยบายและมาตรการเกี่ยวกับการควบคุมการขอทานและคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ทําการขอทาน

(๓) เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร รายละเอียดของนโยบาย และมาตรการเกี่ยวกับการควบคุมการขอทานและคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ทําการขอทาน (๔) ติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผล และจัดทํารายงานการปฏิบัติตามนโยบายและมาตรการเกี่ยวกับการควบคุมการขอทานและคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ทําการขอทาน (๕) ปฏิบัติตามมติของคณะกรรมการหรือตามที่คณะกรรมการมอบหมาย

โดย ในมาตรา ๑๓ ถือว่า เป็นข้อบังคับ “ห้ามบุคคลใดทําการขอทาน การกระทําอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ให้ถือว่าเป็นการขอทาน

(๑) การขอเงินหรือทรัพย์สินจากผู้อื่นเพื่อเลี้ยงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการขอด้วยวาจา ข้อความหรือการแสดงกิริยาอาการใด (๒) การกระทําด้วยวิธีการใดให้ผู้อื่นเกิดความสงสารและส่งมอบเงินหรือทรัพย์สินให้การแสดงความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นการเล่นดนตรีหรือการแสดงอื่นใด เพื่อให้ได้มาซึ่งเงินหรือทรัพย์สินจากผู้ชมหรือผู้ฟัง การขอเงินหรือทรัพย์สินกันฐานญาติมิตร หรือการเรี่ยไรตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการเรี่ยไร ไม่ถือว่าเป็นการขอทานตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๑๔ ผู้ใดประสงค์จะเป็นผู้แสดงความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นการเล่นดนตรีหรือการแสดงอื่นใด ตามมาตรา ๑๓ วรรคสาม ให้ผู้นั้นแจ้งเพื่อเป็นผู้แสดงความสามารถตามระเบียบที่คณะกรรมการกําหนด และเมื่อจะแสดงความสามารถในพื้นที่ใด ให้แจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นในเขตพื้นที่นั้น เมื่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นในเขตพื้นที่ได้รับแจ้งแล้ว ให้ออกใบรับแจ้งไว้เป็นหลักฐาน ทั้งนี้ ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นในเขตพื้นที่ประกาศเป็นการทั่วไปเพื่อกําหนดเขตพื้นที่หรือสถานที่ใดอันเป็นที่สาธารณะ วันเวลา การใช้อุปกรณ์ หรือสิ่งอื่นใด ให้ใช้ในการแสดงความสามารถผู้ใดกระทําการฝ่าฝืนตามวรรคหนึ่ง พนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานท้องถิ่นในเขตพื้นที่มีอํานาจสั่งให้ผู้นั้นหยุดหรือเลิกกระทําการดังกล่าวได้

มาตรา ๑๕ เมื่อปรากฏต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่ามีผู้ใดกระทําการฝ่าฝืนมาตรา ๑๓ วรรคหนึ่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ส่งตัวผู้ซึ่งฝ่าฝืนนั้นไปยังสถานคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อทําการคัดกรองและหากการคัดกรองพบว่าผู้ทําการขอทานเป็นเด็ก หญิงมีครรภ์ ผู้สูงอายุ คนวิกลจริต คนพิการหรือทุพพลภาพ ที่ต้องดําเนินการตามกฎหมายเฉพาะ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายเฉพาะเพื่อดําเนินการตามอํานาจหน้าที่ต่อไป

มาตรา ๑๖ เมื่อปรากฏจากการคัดกรองว่าผู้ทําการขอทานไม่ใช่บุคคลตามมาตรา ๑๕ แต่เป็นบุคคลซึ่งไม่สามารถประกอบอาชีพได้ ไม่มีญาติมิตรอุปการะเลี้ยงดูและไม่มีทางเลี้ยงชีพอย่างอื่นหรืออยู่ในสภาวะยากลําบาก ให้พนักงานเจ้าหน้าที่จัดให้บุคคลดังกล่าวเข้ารับการคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิตตามพระราชบัญญัตินี้ การเข้ารับการคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิตตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่อธิบดีกําหนด

มาตรา ๑๗ ในกรณีที่มีเหตุจําเป็นหรือเป็นการสมควรเพื่อประโยชน์ของผู้ทําการขอทานพนักงานเจ้าหน้าที่จะไม่ส่งตัวผู้นั้นไปเพื่อดําเนินการตามกฎหมายเฉพาะ และให้ผู้ทําการขอทานผู้นั้นได้รับการคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิตตามพระราชบัญญัตินี้ต่อไปก็ได้

มาตรา ๑๘ ในกรณีผู้ทําการขอทานยอมปฏิบัติตามการดําเนินการของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายเฉพาะหรือยอมอยู่ในสถานคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิต ให้ผู้ทําการขอทานผู้นั้น พ้นจากความผิดตามมาตรา ๑๙

มาตรา ๑๙ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๓ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

มาตรา ๒๐ กรณีผู้ทําการขอทานได้ยอมเข้ารับการคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิตในสถานคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิตแล้ว ต่อมาผู้ทําการขอทานผู้นั้นไม่ยอมรับการคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิตและได้ออกไปจากสถานคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยไม่ได้รับอนุญาตต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

มาตรา ๒๑ ผู้ใดกระทําด้วยประการใด อันเป็นการช่วยเหลือหรือสนับสนุนให้มีการฝ่าฝืน

มาตรา ๒๐ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับถ้าการกระทําความผิดตามวรรคหนึ่งได้กระทําโดยใช้กําลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กําลังประทุษร้าย หรือโดยมีหรือใช้อาวุธ ผู้กระทําต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสี่ปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาทหรือทั้งจําทั้งปรับ

มาตรา ๒๒ ผู้ใดแสวงหาประโยชน์จากผู้ทําการขอทานโดยการใช้ จ้าง วาน สนับสนุนยุยงส่งเสริม หรือกระทําด้วยวิธีการอื่นใดให้ผู้อื่นทําการขอทาน ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

ถ้าการกระทําความผิดตามวรรคหนึ่ง เป็นการกระทําดังต่อไปนี้ ผู้กระทําต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
(๑) กระทําต่อหญิงมีครรภ์ ผู้สูงอายุ คนวิกลจริต คนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้เจ็บป่วย
(๒) ร่วมกันกระทําหรือกระทํากับบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป
(๓) กระทําโดยนําผู้อื่นจากภายนอกราชอาณาจักรให้มาขอทานในราชอาณาจักร
(๔) กระทําโดยผู้ปกครองหรือผู้ดูแลของผู้ทําการขอทาน
(๕) กระทําโดยพนักงานเจ้าหน้าที่
(๖) กระทําโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอํานาจหน้าที่ดูแลหรือให้คําปรึกษาบุคคลตาม (๑)
ความในวรรคหนึ่งและวรรคสอง (๑) (๒) และ (๔) ไม่ใช้บังคับกับการกระทําระหว่างบุพการีและผู้สืบสันดาน

มาตรา ๒๓ บรรดาความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ที่มีโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายมีอํานาจเปรียบเทียบได้และเมื่อผู้กระทําความผิดได้ชําระค่าปรับตามจํานวนที่เปรียบเทียบภายในระยะเวลาที่กําหนดแล้ว ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา ๒๔ ให้สถานสงเคราะห์ของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการตามพระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน พุทธศักราช ๒๔๘๔ เป็นสถานคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิตตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๒๕ ผู้ซึ่งถูกส่งตัวไปยังสถานสงเคราะห์ตามพระราชบัญญัติควบคุมการขอทานพุทธศักราช ๒๔๘๔ ซึ่งรับการสงเคราะห์อยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ได้รับการคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิตต่อไปตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๒๖ การดําเนินการออกระเบียบโดยคณะกรรมการตามมาตรา ๙ เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ดําเนินการให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ หากไม่สามารถดําเนินการได้ ให้รัฐมนตรีรายงานเหตุผลที่ไม่อาจดําเนินการได้ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ

มาตรา ๒๗ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอํานาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่และประกาศจัดตั้งสถานคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติควบคุมการขอทานพุทธศักราช ๒๔๘๔ ได้ใช้บังคับมานานแล้ว บทบัญญัติเกี่ยวกับการสงเคราะห์ผู้ทําการขอทานตามพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน สมควรให้มีการจัดระเบียบเกี่ยวกับการคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ทําการขอทาน การควบคุมการขอทาน และแยกผู้แสดงความสามารถออกจากการเป็นผู้ทําการขอทาน ทั้งนี้เพื่อเป็นการแก้ปัญหาสังคมและคุ้มครองสวัสดิภาพของบุคคลให้เหมาะสมยิ่งขึ้น อีกทั้งสมควรกําหนดความผิดทางอาญาแก่ผู้ซึ่งหาประโยชน์จากความไม่สมประกอบทางร่างกาย ความอ่อนด้อยทางสติปัญญาหรือสภาพจิตใจของบุคคลอื่น จึงจําเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้”

มีรายงานว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ (พส.) ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่คุ้มครองและส่งเสริมคุณภาพชีวิตกลุ่มเป้าหมายคนไร้ที่พึ่ง คนขอทาน ได้ขับเคลื่อนการดำเนินโครงการต่างๆ อย่างครบวงจร เพื่อบำบัดฟื้นฟู พัฒนาทักษะชีวิต พัฒนาทักษะอาชีพ สร้างโอกาสการดำรงชีวิตอยู่ด้วยตนเองอย่างมั่นคง และมีศักดิ์ศรี เช่น โครงการธัญบุรีโมเดล โครงการอุทยานขยะรีไซเคิล และโครงการบ้านน้อยในนิคม เป็นต้น ทั้งนี้ มีการเตรียมการรองรับกฎหมาย โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ มีสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง 11 แห่ง ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งทั่วประเทศ และสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดอยู่ทั่วประเทศ เพื่อรองรับกฎหมายฉบับนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น