ราชบุรี - อธิบดีกรมการจัดหางาน พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมตรวจสอบแรงงานต่างด้าว 19 คน หลังได้ให้การช่วยเหลือออกมาจากโรงงานแห่งหนึ่งในพื้นที่ตำบลโคกหม้อ หลังจากถูกนายหน้าพาเร่ไปทำงานหลายบริษัทในหลายจังหวัด แถมถูกนายหน้ายึดหนังสือเดินทาง ให้อยู่แต่ในโรงงานจนไม่สามารถออกไปไหนได้ อีกทั้งยังไม่ได้รับค่าจ้างตามสัญญาจ้าง และถูกข่มขู่
เมื่อเวลา 10.45 น. วันนี้ (10 เม.ย.) นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน นายสุรพล แสวงศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี พ.ต.ชอบ เพ็งเหมือน ทหารหัวหน้ายุทธการและเคลื่อนที่เร็วกองพลพัฒนาที่ 1 พร้อมตำรวจ ปคม. NGO และสหวิชาชีพพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้เข้าช่วยเหลือแรงงานต่างด้าว 19 คน เป็นชาย 14 คน หญิง 5 คน มาจากบริษัทแห่งหนึ่งใน ต.หลุมดิน อ.เมือง จ.ราชบุรี หลังนายหน้าได้พาเร่ไปทำงานในหลายบริษัทในหลายจังหวัด เช่น ประจวบคีรีขันธ์ นครศรีธรรมราช เพชรบุรี กาญจนบุรี แต่สุดท้ายได้พามาทำงานที่ จ.ราชบุรี
จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ พบว่า แรงงานดังกล่าวได้ถูกนายหน้ายึดหนังสือเดินทางไว้ให้อยู่แต่ในโรงงานไม่สามารถออกไปไหนได้ อีกทั้งแรงงานยังอ้างว่า ไม่ได้รับค่าจ้างตามสัญญาจ้าง และยังถูกข่มขู่จากนายหน้า
นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า ได้รับการร้องเรียนจากแรงงานชาวพม่า 2 คน ว่า ถูกหลอกมาทำงานโดยไม่ได้เงิน และยังแรงงานพม่าอีกหลายคนที่อยู่ภายในโรงงานแห่งหนึ่งใน จ.ราชบุรี ก็ประสบปัญหาเหมือนกัน จึงได้เข้ามาตรวจสอบ และพบแรงงานต่างด้าวอยู่จริง และยังได้ควบคุมตัวนายหน้าชาวต่างด้าว 1 ราย ซึ่งเป็นผู้ยึดพาสปอร์ตแรงงานต่างด้าวด้วยกันไว้ และทางเจ้าหน้าที่ได้นำแรงงานดังกล่าวมาทำการสอบสวนประวัติอย่างละเอียด และให้ที่พักชั่วคราวที่ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานภาค 4 จ.ราชบุรี
เบื้องต้น ได้ตรวจสอบเอกสารหลักฐาน ปรากฏว่า ทั้งหมดมีเพียงเอกสารประจำตัว แต่ไม่สามารถแสดงใบอนุญาตทำงานได้ โดยแรงงานต่างด้าวให้การว่า มีนายหน้าพาเร่ไปทำงานยังจังหวัดต่างๆ จนมาทำงานที่โรงงานแห่งหนึ่งใน ต.หลุมดิน อ.เมือง จ.ราชบุรี และถูกยึดหนังสือเดินทาง โดยทางนายหน้าอ้างว่า จะนำไปใช้ในการขอรับใบอนุญาตทำงาน อีกทั้งแรงงานก็ต้องชำระหนี้ที่ค้างอยู่คนละ 7,000-8,000 บาท ให้ครบตามที่ตกลงกันไว้ และหากไม่พอใจในงานที่ทำอยู่ก็จะส่งไปทำงานที่อื่น โดยคนงานจะต้องเสียเงินเพิ่มทุกครั้งที่เปลี่ยนงาน
ที่สำคัญถูกยึดหนังสือเดินทาง เอกสารใบอนุญาตทำงานต่างๆ ทำให้ขาดเสรีภาพไม่สามารถที่จะไปไหนได้ ซึ่งจะต้องสอบสวนว่าจะดำเนินคดีเรื่องการค้ามนุษย์ได้หรือไม่ โดยจะต้องผ่านทีมสหวิชาชีพ แล้วต้องดูองค์ประกอบต่างๆ เพื่อรอกระบวนการตรวจสอบอย่างละเอียดร่วมกับทางพนักงานสอบสวนกำลังรวบรวมพยานหลักฐานอยู่ แต่ในเบื้องต้น จะต้องร้องทุกข์กล่าวโทษนายจ้าง และนายหน้าในข้อหารับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงาน และข้อหารับคนต่างด้าวที่มีใบอนุญาตทำงานแต่ไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงานกับตน
ด้าน MR.Andy Hall ผู้ประสานงานฝ่ายต่างประเทศ เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ กล่าวว่า แรงงานต่างด้าวที่พบไม่ใช่เป็นแรงงานหลบหนีเข้าเมือง แต่เข้ามาโดยถูกกฎหมาย แต่ไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายคุ้มครองแรงงาน หรือกฎหมายการค้ามนุษย์ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่จะได้ตรวจสอบภายใน 7 วัน ว่า เข้าข่ายการค้ามนุษย์หรือไม่ เพื่อจะได้ดำเนินการทางกฎหมายต่อไป