xs
xsm
sm
md
lg

สนช.รับหลักการร่าง กม.ดิจิตอล หวังเพิ่มมูลค่า ศก. รมว.ไอซีทียันตั้งกระทรวงใหม่ดูแล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (แฟ้มภาพ)
ประชุม สนช.พิจารณาร่างร่างกม.ดิจิตอล ที่กำหนดให้นายกฯ เป็น ปธ.กก.ดิจิตอลเพื่อ ศก.และสังคมแห่งชาติ กำหนดให้มีการจัดตั้งกองทุนพัฒนาดิจิตอลฯ สมาชิกหวังช่วยเพิ่มมูลค่าทาง ศก. ลดค่าใช้จ่ายด้านต่างๆ แต่ห่วงยังไม่มีการตั้ง รมว.ดูแล รมว.ไอซีทีแจงรัฐมีแผนรองรับ พร้อมพัฒนาบุคคลและเตรียมตั้งกระทรวงใหม่ ก่อนมีมติรับหลักการ

วันนี้ (28 เม.ย.) ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ โดยมีสาระสำคัญ คือ กำหนดให้มีนโยบายระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิตอลฯ มีเป้าหมายแนวทางอย่างน้อย 1. การดำเนินการและพัฒนาให้การใช้เทคโนโลยีดิจิตอลก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใดที่ทำให้สามารถใช้ร่วมกันหรือเชื่อมโยงกันได้หรือวิธีอื่นใดที่เป็นการประหยัดทรัพยากรของชาติและเกิดความสะดวกต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง 2. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีดิจิตอลฯ ซึ่งต้องครอบคลุมโครงข่ายการติดต่อสื่อสารในทุกรูปแบบไม่ว่าจะอยู่ในภาคพื้นดิน พื้นน้ำ ในอากาศหรืออวกาศ 3. การส่งเสริมและสนับสนุนให้มีระบบการให้บริการหรือแอปพลิเคชันสำหรับประยุกต์ใช้งานด้วยเทคโนโลยีดิจิตอล 4. การส่งเสริมให้เกิดมาตรฐานหรือกฎเกณฑ์ในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิตอลให้สอดคล้องกันเพื่อให้การทำงานระหว่างระหว่างระบบสามารถทำงานเชื่อมโยงกันได้อย่างมีความมั่นคงปลอดภัย

5. การส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาให้เกิดอุตสาหกรรมและนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีดิจิตอล การพัฒนาให้เกิดการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างหรือเผยแพร่เนื้อหาผ่านทางสื่อที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและความมั่นคงของประเทศ 6. การส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตและพัฒนากำลังคน ให้เกิดความพร้อมและความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิตอล 7. การพัฒนาคลังข้อมูลและฐานข้อมูลดิจิตอล การบริหารจัดการความรู้ รวมทั้งการส่งเสริมเพื่อให้มีระบบที่เป็นศูนย์แห่งการเรียนรู้และให้บริการข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ทันสมัย

นอกจากนี้ยังกำหนดให้มีคณะกรรมการดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ มีอำนาจหน้าที่จัดทำนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิตอลฯ เสนอต่อ ครม.เสนอแนะเพื่อกำหนดนโยบายและทิศทางด้านการเงิน การคลัง การลงทุน รวมทั้งมาตรการทางภาษีและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ในส่วนที่เกี่ยวกับหรือเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาดิจิตอลฯ อีกทั้งให้มีสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิตอล มีเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิตอล โดยเป็นหน่วยงานของรัฐมีฐานะเป็นนิติบุคคล และไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน หรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณหรือกฎหมายอื่น

นอกจากนี้ ยังกำหนดให้มีการจัดตั้งกองทุนพัฒนาดิจิตอลฯ เพื่่อใช้จ่ายเกี่ยวกับการพัฒนาดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งการให้อุดหนุนหรือให้กู้ยืมเงินแก่หน่วยงานของรัฐและเอกชนหรือบุคคลทั่วไปในการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาดิจิตอลฯ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิตอลฯ และแผนยุทธศาสตร์การส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิตอล โดยกองทุนประกอบด้วยเงินและทรัพย์สิน ได้แก่ (1) เงินทุนประเดิมที่รัฐบาลจัดสรรให้ (2) เงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี (3) เงินที่ได้รับจากการจัดสรรคลื่นความถี่ โดยสำนักงาน กสทช.จัดสรรให้อัตรา 25% ของรายได้จากการจัดสรรคลื่นความถี่ (4) เงินที่ได้รับการจัดสรรจากรายได้ของสำนักงาน กสทช. คือ ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการ และรายได้หรือผลระโยชน์อันได้มาจากการดําเนินงานตามอํานาจหน้าที่ของ กสทช.

(5) เงินที่ กสทช.โอนให้กองทุน ซึ่งเป็นเงินที่เรียกเก็บจากผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม (6) เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคหรือมอบให้ (7) เงินหรือทรัพย์สินที่ตกเป็นของกองทุนหรือที่กองทุนได้รับตามกฎหมาย (8) ค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือรายได้จากการดำเนินกิจการของสำนักงานหรือกองทุน รวมทั้งผลประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาที่เป็นของสำนักงานหรือกองทุน และ (9) ดอกผล ผลประโยชน์ หรือรายได้อื่นที่เกิดจากเงินหรือทรัพย์สินของกองทุน

นายวรพล โสคติยานุรักษ์ สมาชิก สนช. กล่าวว่า ตนคาดหวังว่าหากกฎหมายฉบับนี้ประกาศใช้แล้วจะช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้สูงขึ้น พร้อมกับมีการลดค่าใช้จ่ายด้านต่างๆ รวมทั้งจำนวนของบุคคล เนื่องจากเศรษฐกิจดิจิตอลที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่จะเน้นการสร้างระบบเป็นหลัก โดยใช้จำนวนคนไม่มากนัก จึงหวังว่าในอนาคตจะช่วยลดภาระงบประมาณให้กับประเทศได้ประมาณ 5% ต่อปี เพื่อไปเพิ่มงบลงทุนของประเทศจาก 20% เป็นระดับ 25%-30%

นายตวง อันทะไชย สมาชิก สนช.ตั้งข้อสงสัยว่า หากผ่านสภาไปแล้วจะมีผลบังคับใช้ได้จริงหรือไม่ เพราะปัจจุบันยังไม่มีการแต่งตั้ง รมว.ดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลยังไม่มีการส่งร่าง พ.ร.บ.เพื่อจัดตั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเพื่อให้ สนช.พิจารณาให้ความเห็นชอบ

นายอุตตม สาวนายน รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ชี้แจงว่า รัฐบาลมีแผนรองรับภายหลังกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้โดยเฉพาะการพัฒนาบุคลากร โดยการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอลจะมีการดำเนินการแบบบูรณาการเพื่อขับเคลื่อน โดยเอกชนจะเข้ามามีบทบาท ส่วนรัฐจะทำหน้าที่เป็นฝ่ายสนับสนุนเช่นเดียวกับการเตรียมเสนอกฎหมายปรับปรุง กระทรวง ทบวง กรมเพื่อตั้งกระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมต่อไป

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมมีมติเสียข้างมาก 159 ต่อ 4 คะแนน รับหลักการในวาระที่ 1 และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 23 คน กำหนดเวลาการทำงาน 60 วันก่อนส่งกลับไปมาให้ สนช.ลงมติให้ความเห็นชอบอีกครั้ง


กำลังโหลดความคิดเห็น