xs
xsm
sm
md
lg

ปธ.ผู้ตรวจการฯ ย้ำ ปตท.ต้องชดใช้ 5.2 หมื่นล้าน ลั่นหากทำไม่สำเร็จสะท้อนสังคม-รบ.อ่อนแอ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน” ย้ำ “ปตท.” ต้องชดใช้ให้แผ่นดิน 5.2 หมื่นล้าน จากกรณีไม่คืนท่อก๊าซ ลั่นหากทำไม่สำเร็จสะท้อน “สังคม-รัฐบาล” อ่อนแอ พร้อมแจงข้อเสนอเด็กเกรดไม่ถึง 2.5 ขึ้น ม.1 อดเรียนฟรี เพื่อให้เด็ก-ผู้ปกครองสนใจเตรียมตัวตั้งแต่แรก เผยเงินของรัฐมีพอให้เรียนฟรีจริงแค่ 9 ปี ส่วนนโยบายฟรี 12 ปีนักการเมืองแค่เอาไว้อ้างเอาความดีความชอบ แต่ทำไม่ได้มีการเก็บเพิ่มอยู่ดี



เมื่อวันที่ 27 เม.ย. นายศรีราชา วงศารยางกูร ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวในรายการ “คนเคาะข่าว” ดำเนินรายการโดย นายเติมศักดิ์ จารุปราณ ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ช่องนิวส์วัน ถึงกรณีกระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และผู้เกี่ยวข้อง ไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนมติ ครม.วันที่ 18 ธ.ค. 2550 ซึ่งเป็นเรื่องการไม่คืนท่อก๊าซธรรมชาติของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด และการนำท่อก๊าซซึ่งเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินไปแสวงหาประโยชน์ ว่า เป็นสิ่งที่ควรทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะเป็นผลประโยชน์ของประชาชน เราได้ติดตามเรื่องนี้มายาวนานพอสมควร ได้ตั้งคณะทำงานใช้เวลาศึกษาประมาณเกือบ 4 ปี ทีแรกพูดตรงๆ ไม่รู้จะคลำจุดไหน เพราะพยานหลักฐานไม่ค่อยชัดแจ้งประจักษ์เท่าไร

หลังจากนั้นพบว่ากองทุนน้ำมันทำโดยมิชอบ คือใช้อำนาจของฝ่ายบริหารสั่งการ ซึ่งโดยหลักของประเทศที่ปกครองระบอบประชาธิปไตยถือว่ามันกระทบถึงประชาชนต้องผ่านสภาฯ ให้การยินยอมเห็นชอบ แล้วก็พบสิ่งไม่ชอบมาพากลอยู่หลายเรื่อง และล่าสุดก่อนหน้านี้สักปีกว่ามีเจ้าหน้าที่ของ ปตท.หอบเอกสารมาคุยกับเราว่า มันมีการทุจริตคอร์รัปชันในเรื่องการประมูลแท่งบรรจุน้ำมัน เราก็รับเรื่องไว้ ขณะนี้ยังดำเนินการอยู่ เพราะฉะนั้นก็ยังไม่แน่ว่าอีกไม่ช้าอาจจะมีการดำเนินการ และมีการฟ้องร้องอีกต่อหนึ่ง

นายศรีราชากล่าวต่ออีกว่า การแต่งตั้งกรรมการต่างๆ โดยเฉพาะกรรมการนโยบายพลังงานก็จะเห็นว่า มันมีกลุ่มของกระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน และกลุ่มของผู้ค้าน้ำมัน จะเข้ามาเชื่อมโยงกันอยู่ เพราะฉะนั้นคนเหล่านี้คือกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากกิจการพลังงาน แล้วคนเหล่านี้มันจะอยู่ตลอด มาเป็นตัวรัฐมนตรี เดี๋ยวก็กลายมาเป็นเลขาธิการ โดยเฉพาะสิ่งที่เราตั้งข้อสังเกตก็คือเชื่อมโยงอยู่กับ ปตท.ในระดับหนึ่ง แล้วท้ายที่สุดก็คงไม่น่าจะแปลกใจที่ใครๆ อยากจะเป็นกรรมการ ปตท. เพราะจากการที่ได้ข้อมูล บางปีได้เบี้ยประชุมถึง 2 ล้าน เงินผลประโยชน์แบ่งปัน 2.7 ล้าน นั่งอยู่เฉยๆ ไปประชุมก็ได้แล้วคนละ 4.7 ล้านต่อปี

ส่วนกรณีที่ ปตท.ส่งจดหมายถึงสื่อมวลชน อธิบายว่าการส่งข้าราชการมาเป็นกรรมการ ปตท.เป็นสิทธิของผู้ถือหุ้นเพื่อกำกับดูแลทรัพย์สินของรัฐ นายศรีราชากล่าวว่า ฟังไม่ขึ้น ยกตัวอย่างเรื่องทางด่วน รัฐบาลทำกับบริษัทเอกชน มีเสียค่าโง่ ทีนี้ก็ต้องถามว่า รัฐบาลทำกับเอกชนเอง คนรับกรรมคือคนใช้ทางด่วน คนใช้ทางด่วนก็ไม่มีสิทธิ์ มีเสียงที่จะไปคัดค้าน อ้างก็อ้างได้แต่ตนไม่เชื่อ

นายศรีราชากล่าวถึงการที่อดีตผู้บริหาร ปตท.ส่งจดหมายมาขอให้ยุติเรื่องนี้ว่า ไม่มีใครมาหยุดตนได้ เพราะตนทำเพื่อประชาชน พูดตรงๆ ตนก็อยากใช้น้ำมันถูกลง แล้วการยื่นศาลปกครองไปนั้น ก็ขึ้นอยู่กับศาลปกครองว่าท่านจะคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนหรือเปล่า ก็ต้องใช้คำนี้แหละ ถามตรงๆ เพราะในประเด็นของตนตรงนี้ มันเป็นประเด็นคนละประเด็นกับคุณรสนา

มูลค่าทวงคืนสู่แผ่นดิน 5.2 หมื่นล้าน นั่นก็คือส่วนต่าง เพราะส่วนจริงๆ ที่เราประเมินที่จะต้องคืนทั้งหมดมัน 6.8 หมื่นกว่าล้าน และคืนไปแล้ว 1.6 หมื่นล้าน มันก็เหลือส่วนต่างคือ 5.2 หมื่นล้าน รวมทั้งค่าเช่าท่อแก๊ส ค่าอะไรที่ ปตท.ได้อยู่ในช่วงเขาเคลมว่าท่อก๊าซเป็นของเขา เขาก็ทวงแล้วคืนมา แต่จะไปกี่ล้านกี่พันล้านเท่าไหร่ไม่รู้

เมื่อถามถึงข้ออ้าง ปตท.ที่ว่าไม่ได้ใช้อำนาจมหาชนในการได้ท่อก๊าซหรือวางท่อก๊าซในทะเล ฉะนั้นมันไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขที่ต้องคืนรัฐ นายศรีราชาโต้แย้งว่า ปตท.เป็นรัฐวิสาหกิจ เขาใช้เงินรัฐ คุณเอาเงินไปใช้หนี้ตามหลักการมันก็ต้องเรียกว่าเป็นช่วงทรัพย์ คิดง่ายๆ ว่ามันเป็นช่วงทรัพย์ ไม่ต้องไปพิจารณาว่ามันอยู่ใต้ดินบนดิน เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณเอาเงินซึ่งมันเป็นของประชาชน ของรัฐวิสาหกิจไปใช้จ่ายเป็นตัวนั้นแทน ตัวนั้นก็คือทรัพย์สินที่มาแทนในตัวเงิน มันก็ยังเป็นของรัฐวิสาหกิจอยู่ ซึ่งเมื่อเวลาแปรรูปมันก็ต้องกลับคืนมา มันไม่ใช่เงินเอกเทศ

“สุดท้ายแล้วหากสังคมไทยไม่สามารถทวงทรัพย์สินนี้จาก ปตท.ได้ มันสะท้อนถึงความอ่อนแอของสังคม ความอ่อนแอของรัฐบาล การขาดสติขาดสามัญสำนึกของผู้บริหาร ปตท.” นายศรีราชากล่าว

ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินยังได้กล่าวถึงข้อเสนอให้เงินเดือนครูต้องเท่าหมอ ว่า สิ่งเหล่านี้มันติดอยู่ในใจตนมานาน ต้องการที่จะผลักดัน เรื่องขึ้นเงินเดือนครูมันไม่ใช่เรื่องใหม่ ตนไปสอนปริญญาโทบริหารการศึกษาที่จุฬาฯ ปี 29-30 ช่วงนั้นเกิดเหตุการณ์ที่อเมริกากลัวญี่ปุ่นจะมายึด Silicon Valley ตอนนั้นญี่ปุ่นมาแรงมาก ไปหุ้นต่างๆ สวัสดิการดีๆ ของอเมริกา เขาเลยตั้งคณะกรรมาธิการชุดหนึ่งขึ้นมาศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ เป็นเพราะว่าเงินเดือนครูต่ำ ครูไม่เก่ง ฉะนั้นต้องเอาครูเก่งมา แล้วให้เงินเดือนแพง ขึ้น จึงจะแก้ปัญหานี้ได้ ตนมีความรู้สึกฝังใจใช่เลยเอาครูจบอะไรก็ไม่รู้เฮงๆ ซวยๆ ไปสอน ครูดีๆ เก่งๆ แทบจะหาไม่ได้ นี่ก็คือจุดที่ทำให้ระบบการศึกษา ความเก่งมันหายหมด ฉะนั้นขึ้นเงินเดือนเพื่อจูงใจให้คนเก่งมาเป็นครู

ส่วนข้อเสนอเด็กเกรดไม่ถึง 2.5 เข้า ม.1 ต้องจ่ายค่าเรียนเอง นายศรีราชากล่าวว่า ต้องการทำให้เด็กสนใจเรียนให้ดีตั้งแต่ต้น ผู้ปกครองก็จะได้สนใจ อย่าเข้าใจผิดคิดว่าไล่ออกจากระบบ ยังมีสิทธิเรียนเหมือนปกติทุกอย่าง เพียงแต่เรียนไม่ฟรี

“ผมคิดช่วยเหลือรัฐบาล ที่ผ่านมาผมต่อสู้เรื่องการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี 12 ปีมาตลอด ผมไม่เห็นด้วยกับการศึกษาที่จะถึง 12 ปี ไม่เห็นด้วยกับนักการเมือง เพราะพวกนี้ชอบอ้างเอาความดีความชอบกับประชาชน ให้เรียนฟรียาวๆ โดยไม่ต้องเสียสตางค์ แต่จริงๆ เบื้องหลังตั้งแต่ตอนผมคัดค้านในรัฐธรรมนูญปี 50 บอกให้ฟรีแล้วต้องฟรีจริงๆ ไม่ใช่ให้ฟรีแล้วไปเก็บนู้นเก็บนี่ ผลสุดท้ายมันก็เป็นอย่างที่ผมพูด เขาบอกเอา 12 ปี แต่จริงๆ กระทรวงศึกษาฯ ให้เขาไม่พอ ก็ต้องไปเก็บเพิ่มเติม แต่ถ้าเผื่อคุณจัด 9 ปี มันได้หมดทุกคน ใกล้เคียงตัวเลขงบประมาณที่มันมี ก็ฟรีได้หมด” นายศรีราชาระบุ

คำต่อคำ : รายการ “คนเคาะข่าว” วันที่ 27 เมษายน 2559

เติมศักดิ์- สวัสดีครับ ขอต้อนรับเข้าสู่รายการคนเคาะข่าว พุธที่ 27 เมษายน 2559 นะครับ วันนี้คนเคาะข่าวว่าด้วยบทบาทของผู้ตรวจการแผ่นดิน องค์กรอิสระแห่งนี้จะมีบทบาทในการรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชนอย่างไร วันนี้เรามาสนทนากับท่านประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน อาจารย์ศรีราชา วงศารยางกูร สวัสดีครับ อาจารย์ศรีราชา ผมขอเริ่มที่เรื่องการทวงคืนท่อก๊าซก่อน ในที่สุดผู้ตรวจการแผ่นดินก็เดินหน้ายื่นฟ้องศาลปกครอง เพื่อทวงคืนทรัพย์สินจาก ปตท. จุดยืนของผู้ตรวจการแผ่นดินเรื่องนี้เป็นอย่างไรครับ

ศรีราชา- เราก็ถือว่าสิ่งที่เราควรจะต้องทำก็คือ ทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย สิ่งที่ควรจะเป็น และผลประโยชน์ของประชาชน เพราะฉะนั้นเราได้ติดตามเรื่องนี้มายาวนานพอสมควรเริ่มตั้งแต่คุณหมอกมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี มากับคณะมาร้อง ถ้าจำไม่ผิดก็ 27 มีนาคม 2553 ซึ่งก็ยาวนานพอสมควร เราใช้เวลาตั้งคณะทำงานเราใช้เวลาศึกษามาประมาณ 3 ปีกว่าเกือบ 4 ปี ทีแรกพูดตรงๆ ว่า ไม่รู้จะคลำจุดไหนเหมือนกัน เพราะว่าพยานหลักฐานหลาย มันร้องมาไม่ค่อยชัดแจ้งประจักษ์เท่าไร และพยายามที่จะดูว่าจะได้ข้อมูลจากไหน แล้วบังเอิญได้รู้จักกับท่านกรรมาธิการบางท่านๆ ก็แนะนำคนที่ทำงานเกษียณแล้วมาจาก ปตท.ให้เราได้รู้จัก ซึ่งท่านผู้นี้ท่านก็ถือว่าเป็นคนเก่าแก่ขององค์กรตั้งแต่สมัยเป็นกรมพลังงานทหาร และแปรรูปมาเป็นบริษัท ปตท. ซึ่งตอนนั้นยังเป็นรัฐวิสาหกิจอยู่ ก่อนจะแปรรูปมาเป็นของบริษัทมหาชนอีกต่อหนึ่ง ก็คุยกันเหมือนว่า การที่จะเป็นรัฐวิสาหกิจมันยังไม่คล่องตัวพอ ต้องการที่จะออกมาเพื่อจะทำในรูปของเอกชนเต็มตัว แล้วแต่นโยบายของทุกยุคทุกสมัย แต่ละรัฐบาล แต่ผมเองเห็นว่า รัฐวิสาหกิจของเราที่ไม่ประสบผลสำเร็จส่วนใหญ่ คือ เราไม่ได้หาคนดีๆมาเป็นผู้นำองค์กร หรือมาเป็นผู้บริหารระดับสูง มีการไม่ชอบมาพากล ผลประโยชน์ทับซ้อนกันบ้าง เราก็ไม่อยากพูด แต่การที่ออกจากการเป็นรัฐวิสาหกิจมาเป็นบริษัทมหาชน มันก็ไม่ได้หมายความว่า สิ่งเหล่านั้นจะหายไป มันก็ยังมีอยู่อย่างที่เห็น ฉะนั้นถ้าเผื่อจะมีการอธิบายจาก ปตท.ผมก็คงไม่แปลกใจ เพราะคงไม่มีใครเป็นจำเลย จะยอมรับสารภาพว่า ผมทำผิด ก็จะพยายามบ่่ายเบี่ยงประเด็น อันนี้เป็นเรื่องชอบแล้ว หรืออะไรก็ตาม ซึ่งผมก็ไมได้ดีใจ ก็ให้ศาลปกครอง เป็นผู้วินิจฉัย เราถือว่าเราทำหน้าที่ของเราแล้วจบ แม้ว่าในขณะที่ทำหน้าที่จะมีกรรมการผู้จัดการใหญ่ ที่เป็นประธานบริหาร จะมีหนังสือมาบอกว่า เขาทำถูกแล้ว ควรจะยุติ ไม่ควรจะมาวอแว ผมก็ไม่ได้โต้ตอบ ถือว่าเป็นสิ่งที่เขาอยากจะทำเพื่อให้เขายุติ เราจะได้ไม่ต้องไปเดินหน้าต่อ เราก็ถือว่า เมื่อมีคนร้องเรียนมา เราไม่ทำมันก็ไม่ได้ ก็เป็นการละเว้นเพิกเฉย เราต้องทำให้ถึงที่สุด ว่าอะไรคืออะไร ความจริงคืออะไร สิ่งที่เราได้มา มันก็เป็นสิ่งที่อาจจะไม่เหมือนกับที่อยู่ในข้อมูลที่อยู่ในตลาด เพราะเราถือว่าเรา ได้ข้อมูลในเชิงลึกมาในระดับหนึ่ง

เติมศักดิ์- ปตท.พยายามจะยืนยัน และล่าสุดยังยืนยันมาโดยตลอด ว่าเขาคืนทรัพย์สินมาหมดแล้ว ตามคำพิพากษาของศาล

ศรีราชา- ถ้าเผื่อตามคำพิพากษาเดิมที่ตอนที่คุณรสนาฟ้อง แล้วเขายกฟ้อง มันก็คงจะเป็นข้อมูลชุดเดิมๆ แต่อันนี้ผมคิดว่าเผื่อสมมติ เราฟ้องซ้ำฟ้องซ้อน ประเด็นเดียวกับตอนที่คุณรสนา ฟ้องไปแล้ว ศาลปกครองก็คงจะยกฟ้องเรียบร้อยแล้ว แต่เราฟ้องในส่วนนี้มันไม่ซ้ำซ้อนกับของคุณรสนาตอนนั้นมันมี 7 ประการ มันมี 17 18 ประการที่ผู้ถือครอง และความไม่ชอบมาพากลมันมี ใครจะมาเถียงยังไง เขาพยายามกลบเกลื่อนสิ่งที่มันเกิดขึ้น ไม่ชอบมาพากลตรงไหนตรงที่ว่า เมื่อศาลให้ ปตท.ไปจัดการกับกระทรวงการคลังให้ประชุมเพื่อที่จะพิจารณาว่า จะคืนท่อแก๊สเมื่อไร 1.การกระทำมันรวบรัด 2.ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงการคลังไม่ได้มีโอกาสเป็นผู้ที่มาลงทำเอง ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องผลประโยชน์ของประเทศชาติที่เป็นเรื่องสำคัญ เงินเป็นพันเป็นหมื่นล้าน กับให้ใครก็ไม่รู้เด็กๆ เล็กๆ กับระดับรองอธิบดีมาทำ คำสั่งมันมีข้อที่จะไม่ค่อยจะชัดเจนเหมาะสมเท่าไร และร่วมมือกันทำ ทำเสร็จภายในไม่กี่วันก็รีบส่งไป ที่ศาลปกครองสูงสุด ทั้งๆ ที่มันมีมติ ครม.ว่า จะต้องให้ สตง.ได้ให้ความเห็นชอบก่อน แล้วเข้า ครม. คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแล้วจึงจะส่งไปศาลปกครอง ประเด็นเหล่านี้คือ ประเด็นที่ ปตท.ข้ามหัวหมด เท่ากับขัดมติ ครม.

เติมศักดิ์- ขัดมติ ครม.เมื่อปี 50 หรอครับ

ศรีราชา- ครับ ผมจำวันที่ไม่ได้แน่นอน

เติมศักดิ์- น่าจะ 18 ธันวาฯ 50 ครับ

ศรีราชา- ซึ่งมันลุกลี้ลุกลนไปถึงปั๊บศาลก็รีบเร่งเกินกว่าสมควรกว่าเหตุว่า ควรจะใช้เวลาในการพิจารณากลับใช้เวลาพิจารณาไม่ถึงวัน รีบเซ็นคำสั่งออกมาจบ ผมว่ามันแลดูแปลกๆ เพราะว่าการคืนท่อแก๊สตั้ง 10 กว่าสัญญา 10 กว่าประกาศ ก็เป็นเรื่องที่เห็นว่ามันดูลึกซึ้งพอสมควรว่ามันใช่ ไม่ใช่ อะไร ยังไง เดี๋ยวนี้ก็ไม่รู้ ผมไม่ทราบ ไม่อยากวิจารณ์ก็คือ มันค่อนข้างจะรวดเร็ว และมันมีพิรุธอะไรบางอย่างในการเซ็นเห็นอยู่

เติมศักดิ์- มีพิรุธ

ศรีราชา- วันที่มีการแก้ ใช้ลิควิดเปเปอร์ลบ และมันมีหางหมึก ถ้าเผื่อหลักฐานยังอยู่ ไม่ได้ถูกโละไปไหน มีหางหมึกเลข 5 โผล่มาหน่อยๆ ผมก็ไม่รู้นะ จริงหรือเท็จไม่รู้ ผิดหรือถูกไม่รู้ เพียงแต่ว่ามันมีข้อน่าสงสัยข้อน่าพิรุธอยู่หลายๆ ขั้นตอน ก็เล่าสู่กันฟัง คงไม่มีใครที่ไหนเขาบอกเขาทำผิดอย่างนู้นอย่างนี้ คงไม่มีใคร เพราะฉะนั้นจำเลยก็ต้องเป็นคนที่แก้ตัวธรรมดา

เติมศักดิ์- นั่นแปลว่าแม้แต่คำว่า คืนทรัพย์สินหมดแล้วตามคำพิพากษาของศาล คำว่าตามคำพิพากษาของศาลก็ยังเป็นเรื่องที่...

ศรีราชา- ผมก็ยังสงสัยว่ามันแค่ไหน แต่หลังจากนั้นเราไปคุยกับ สตง. แล้ว สตง.พบว่า สตง.เป็นคนแจ้งเราเอง เราไม่ได้เจอโดยบังเอิญ แต่เราไปเจอโดยบังเอิญระหว่างที่พิจารณานั่นคือเรื่องกองทุนน้ำมันที่ทำโดยมิชอบ คือไม่ชอบอันนี้หมายถึงว่า ใช้อำนาจของทางบริหาร อำนาจของฝ่ายบริหารสั่งการ ซึ่งถ้าโดยหลักของประเทศที่ปกครองระบอบประชาธิปไตยถือว่า สิ่งเหล่านี้มันไปกระทบถึงประชาชน จะใช้อำนาจบริหารกระทบถึงประชาชนทุกคนมันไม่ชอบ ต้องผ่านสภาฯ ต้องให้สภาฯ ยินยอมเห็นชอบ
เพราะฉะนั้นต้องทำรูปของกฎหมายที่ผ่านสภาฯ ไม่ใช่คำสั่งบริหาร อันนี้ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่พบระหว่างนั้น ระหว่างเดินทางไปค้นข้อมูลก็ไปเจอแล้วก็สะดุด แล้วเราจะคล้ายๆ จะเสนอประเด็นเหล่านี้ไปฟังฝ่ายบริหาร เพื่อที่จะปรับปรุงแก้ไขให้มันถูกต้อง อันนี้ก็เป็นประเด็น แต่เสร็จแล้วหลังจากนั้นเราได้เดินหน้าต่อไป เพื่อที่จะไปดูหลายๆ อย่างที่มันยังมีเหตุผลที่พูดง่ายๆ ไม่ชอบมาพากลอยู่หลายเรื่อง และล่าสุดก่อนหน้านี้ซักปีกว่าๆ ก็มีเจ้าหน้าที่ของ ปตท.หอบเอกสารมาคุยกับเราว่า มันมีการทุจริตคอร์รัปชัน ในเรื่องของการประมูล ในเรื่องของการดำเนินการประมูลเกี่ยวกับเรื่องแท่งบรรจุน้ำมัน เราก็รับเรื่องไว้ ขณะนี้ยังดำเนินการอยู่ เพราะฉะนั้นก็ยังไม่แน่ก็อีกไม่ช้าไม่นาน อาจจะมีการดำเนินการ และมีการฟ้องร้องนู้นนี่อีกต่อหนึ่ง อันนี้เป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่ผู้บริหาร ปตท.ระดับกลาง ระดับล่าง เขาเป็นคนมาให้ข้อมูลเราเอง และคุยกันภายในเขาบอกว่า ก็หน่วยงานจำนวนนี้ ผมไม่อยากจะพูดว่าเยอะ มันกินตามน้ำกินอะไรกันเรื่อยๆ ผลประโยชน์ทับซ้อน
เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องที่ถ้าเผื่อ ปตท.ยังคิดว่า กระทรวงการคลังเห็นชอบ เป็นเจ้าของ หรือว่าประเทศชาติเป็นเจ้าของ มันคงจะต้องทบทวนบทบาทของผู้บริหารของ ปตท.ว่า การที่สืบทอดกันมาเป็นสายโยงใย มันเป็นเรื่องที่ชอบหรือไม่ชอบ ผมไม่ได้อยากพูดมาก เพราะว่าเราคงไม่ไปก้าวก่ายการบริหารภายใน แต่เพียงแต่ว่า เราตั้งข้อสังเกตว่ามันมีการสืบทอดกันมาเป็นช่วงๆ ตั้งแต่ต้นจนกระทั่งถึงปัจจุบัน โดยทีมงานบริหารที่เชื่อมโยงกัน

เติมศักดิ์- กรณีการแต่งตั้งข้าราชการเข้ามาเป็นกรรมการ ปตท.เป็นประเด็นหนึ่งที่ว่าด้วยเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ผลประโยชน์ขัดกัน

ศรีราชา- คือถ้าเผื่อมาวิเคราะห์ในการแต่งตั้งของกรรมการต่างๆ โดยเฉพาะกรรมการนโยบายพลังงานก็จะเห็นว่า มันมีกลุ่มของกระทรวงการคลัง กลุ่มของกระทรวงพลังงาน และกลุ่มของผู้ค้าน้ำมัน มันจะเข้ามาเชื่อมโยงกันอยู่ เพราะฉะนั้นคนเหล่านี้คือ กลุ่มที่ได้ประโยชน์ทั้งหลายทั้งปวงจากกิจการพลังงาน เพราะฉะนั้นคนที่อยู่เบื้องหน้าเบื้องหลังก็ไม่อยากจะไปพูดพาดพิง เดี๋ยวเขาจะถือว่า เอ๊ะเราไประบุตัวบุคคล เดี๋ยวเขาจะมาฟ้องหมิ่นประมาทเอา แต่มันเป็นที่รู้กันในวงการว่า ใครบ้างเป็นผู้ค้าน้ำมัน ใครบ้างอยู่เบื้องหลัง และชื่อคนเหล่านี้มันจะอยู่ตลอดจะเป็นตัวรัฐมนตรี เดี๋ยวก็กลายมาเป็นเลขาธิการ
เพราะฉะนั้นกรรมการนโยบายพลังงานไขว้กันไปไขว้กันมา เรียกว่าอะไรโยกย้ายกันอยู่ในกลุ่มเหล่านี้ และโดยเฉพาะสิ่งที่เราตั้งข้อสังเกตก็คือ เชื่อมโยงอยู่กับ ปตท.อยู่ในระดับหนึ่ง แล้วท้ายที่สุด ปตท.ก็คงไม่น่าจะแปลกใจหรอกที่ใครๆอยากจะเป็นกรรมการ ปตท. เพราะจากการที่เราได้ข้อมูลวิเคราะห์ อย่างในบางปี ปี 56-57 ถ้าเกิดข้อมูลไม่ผิดนะ เบี้ยประชุม 2 ล้าน เงินผลประโยชน์แบ่งปัน 2.7 ล้าน ตัวเลขชัดๆ ฉะนั้นก็ไม่แปลกใจที่ใครๆก็อยากจะเป็นกรรมการ ปตท.โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นอัยการสูงสุด เลขากฤษฎีกา ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงนู้นนี่นั้น เพราะว่านั่งอยู่เฉยๆ ไปประชุมก็ได้แล้ว คนละ 4.7 ล้านต่อปี

เติมศักดิ์- แล้วมันเป็นที่มา เป็นต้นตอของปัญหาธรรมาภิบาลใน ปตท.ด้วยใช่ไหมครับ

ศรีราชา- ก็มีส่วน เพราะเขาถือว่าเขาเงินหนา เอาเงินไปปิดปากใครก็ไม่อยากจะไปพูด พูดแล้วตัวเองเสียผลประโยชน์ ต้องออกจากกรรมการ ปตท.

เติมศักดิ์- ล่าสุด จดหมายจาก ปตท.ที่ส่งถึงสื่อมวลชน อธิบายประเด็นนี้ไว้ว่า เป็นสิทธิของผู้ถือหุ้น คือ หน่วยงานราชการ หรือ กระทรวงการคลัง เป็นสิทธิ์ของผู้ถือหุ้น เพื่อกำกับดูแลทรัพย์สินของรัฐ จึงต้องส่งข้าราชการ มาเป็นกรรมการ ปตท.ฟังได้ไหมครับ อาจารย์ศรีราชา

ศรีราชา- ฟังไม่ได้ ฟังไม่ได้ ผมยกตัวอย่าง เรื่องทางด่วน รัฐบาลทำกับบริษัทเอกชน มีเสียค่าโง่ ทีนี้ก็ต้องถามว่า รัฐบาลทำกับเอกชนเอง คนรับกรรมคือคนใช้ทางด่วน คนใช้ทางด่วนมีสิทธิ์ มีเสียงที่จะไปคัดค้านไหม

เติมศักดิ์- ไม่มี

ศรีราชา- ฉะนั้นอ้างได้ แต่โดยเหตุผลมันฟังขึ้นหรือเปล่า ผมก็ไม่ได้ว่าอะไร คุณจะอ้างเหตุผล คุณก็อ้างได้ แต่มาอ้างกับนักกฎหมายอย่างผม ผมก็ไม่ค่อยจะเชื่อ ก็แล้วแต่ คนไหนจะเชื่อก็เชื่อไป เวลานี้ผมก็พูดตรงๆ ยังหมิ่นเหม่เสียด้วยซ้ำ ถ้าข้อมูลผมไม่ผิดนะ 2% มันถูขึ้นไป กบข.หรือกองทุนอะไรสักอย่าง วันดีคืนดี เกิด กบข.เบี้ยว ขายหุ้นออกสู่เอกชน หรือขายหุ้นให้ใครก็ตาม กระทรวงการคลังเป็นไมนอริตีนะ 49% มีใครรู้บ้าง มันอะไรกัน ผมก็ไม่รู้ เพราะผมก็ไม่ได้เป็นแมนิพูเลท ที่จะให้มาเกิดสถานการณ์อย่างนี้ ก็เขาทั้งนั้น

เติมศักดิ์- ขอย้อนกลับไปที่ประเด็น จดหมายจากอดีตผู้บริหาร ปตท.ที่ส่งมาถึงอาจารย์ศรีราชา ที่พูดในทำนองว่า ทำถูกแล้วทุกอย่าง ขอให้ยุติเรื่องนี้ ล่าสุด จดหมายจาก ปตท.บอกว่า ใคร่ขอให้ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยหนังสือดังกล่าวต่อสาธารณะ เพื่อจะได้ตรวจสอบ

ศรีราชา- จำไม่ได้ว่า ผมทิ้งถังขยะไปหรือเปล่า แต่คนที่เขียนผมก็คือคุณไพรินทร์ เอางี้ก็แล้วกัน น่าจะยังอยู่นะ ผมไม่ได้ให้ความสนใจ เพราะว่าจดหมายก็เป็นเรื่องของเขา เขาแสดงความคิดเห็น ผมก็รับฟัง ไม่มีใครมาหยุดผมได้ เพราะผมทำเพื่อประชาชน ผมพูดตรงๆผมก็อยากใช้น้ำมันถูกลงเพราะตอนนั้นน้ำมันแพง แล้วผมก็ไม่รู้ว่า ถูกลงเพราะอะไร อาจจะถูกลงเพราะผมพูดเรื่องกองทุนน้ำมันก็ได้ หลังจากนั้นก็เริ่มถูกลงๆ ก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ราคาน้ำมัน กับราคาที่ ปตท. ก็สวนทางกันอยู่ ตอนนี้ราคาน้ำมันลง ปตท.เพิ่งประกาศขึ้นราคาน้ำมันอีก 50 สตางค์ ผมก็เลยไม่รู้ คือถ้ามันโปร่งใส มันเชื่อถือได้ ก็ไม่ว่า แต่ผมว่ามันไม่ชัดเจน ผมก็เลยไม่รู้ว่าอะไรมันถูก ไม่ถูก ผมก็ไม่ได้ว่าอะไร ในเมื่อวิธีการของเราที่รัฐบาลดีลกับรัฐวิสาหกิจ มันมีปัญหามาโดยตลอด คือเราไม่ได้เอาคนที่มีศักยภาพ ความรู้ ความสามารถมาบริหารงานรัฐวิสาหกิจ เราเอาคนที่สามารถเอื้อประโยชน์กับคนที่บริหารอยู่ปัจจุบัน มันก็กลายเป็นอย่างนี้ อ้าวรัฐวิสาหกิจทั้งหลายที่มันทำแล้วไม่ประสบความสำเร็จที่มันเจ๊งๆ อยู่ทุกวันก็เพราะอะไร เมื่อถึงเวลาก็ตั้งคนนู้นคนนี้คนนั้นซึ่งเก่งหรือไม่เก่งไม่รู้ มีความรู้เรื่องนั้นไม่รู้หรอกก็บริหารกัน ก็ทำอย่างนี้มาตลอดในเกือบจะทุกรัฐบาล ไม่ได้หมายถึงรัฐบาลนี้ก็ตั้งทหารที่เกษียณอายุไปแล้วบ้าง ไม่รู้ว่ารู้เรื่องนั้นหรือเปล่า แต่เอาไปกินไปบริหารเจ๊ง ใช่ไหม และอีกรัฐวิสาหกิจเยอะแยะไป ผมก็ไม่รู้ก็มันเป็นผลประโยชน์ต่างตอบแทน หรืออะไรกันไม่รู้เปล่า แต่เพียงแต่ยกตัวอย่าง นี่เป็นตัวอย่าง ไม่ได้เจาะจงว่าต้องเป็นทหารทุกราย แต่เพียงแต่ว่า ยกตัวอย่างให้เห็นว่าอย่างนี้มันเป็นอย่างนี้
หรืออย่างกรณีของการบินไทย ทำไมมันเจ๊งใช่ไหมก็ตั้งคนนู้นคนนี้เข้าไป ก็มีผลประโยชน์จากการตอบแทนคือการเลือกซื้อเครื่องบิน เลือกใช้ไอพ่นเครื่องยนต์ เครื่องจักรของเครื่องบิน มันก็มีเรื่องของการที่มีการวิ่งเต้น มีนอมินี มีตัวที่จะล็อบบี้ยิสต์ทั้งหลายที่จะมาให้เอาบริษัทนู้นบริษัทนี้ และจะจ่ายเงินนอกบัญชีนู้นนี่ มันก็มีจริง ไม่จริง เราก็ไม่ทราบ แต่มันได้ยินกันอยู่ตลอดเวลา

เติมศักดิ์- จนถึงขณะนี้ด้วยข้อเท็จจริงที่ได้มาก็ได้ยื่นฟ้องศาลปกครองไปแล้ว อาจารย์ศรีราชามีความมั่นใจแค่ไหนว่า เราจะทวงคืนทรัพย์สินจาก ปตท.

ศรีราชา- ขึ้นอยู่กับศาลปกครองว่า ท่านจะมีความเห็นถึงเรื่องสิ่งเหล่านี้ว่า ท่านจะคำนึงผลประโยชน์ของประชาชนหรือเปล่า ผมก็ต้องใช้คำนี้แหละ ถามตรงๆ เพราะว่าในเรื่องประเด็นของผมตรงนี้ มันเป็นประเด็นคนละประเด็นกับคุณรสนา ต้องทวงคืนอีก 58 ประการ

เติมศักดิ์- มูลค่าเกือบ 6 หมื่นล้านใช่ไหมครับ

ศรีราชา- 5.2 หมื่นกว่าล้าน นั่นก็คือส่วนต่าง เพราะส่วนจริงๆ ที่เราประเมินที่จะต้องคืนทั้งหมดมัน 6.8 พันกว่าล้าน และคืนไปแล้ว 1.6 หมื่นกว่า มันก็เหลือส่วนต่างคือ 5.2 หมื่น รวมทั้งค่าเช่าท่อแก๊ส ค่าอะไรที่ ปตท.ได้อยู่ในช่วงเขาเคลมว่า ท่อก๊าซเป็นของเขา เขาก็ทวงแล้วคืนมา แต่จะไปกี่ล้านกี่พันล้านเท่าไรไม่รู้

เติมศักดิ์- ประเด็นหนึ่งที่ฟัง ปตท.พยายามโต้แย้งมาตลอดก็คือ ท่าก๊าซในทะเล เขายืนยันว่า เขาไม่ได้ใช้อำนาจมหาชนในการได้ท่อก๊าซ หรือวางท่อก๊าซในทะเล มันไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขที่ต้องคืนหรือเปล่า

ศรีราชา- ผมวิเคราะห์ตรงนี้ก็แล้วกัน ใครจะพูดยังไงก็ช่างเขา ผมพูดว่าในระหว่างที่เขาเป็นบริษัท ปตท. เป็นรัฐวิสาหกิจ เขาใช้เงินใคร

เติมศักดิ์- ก็คือรัฐ เงินของรัฐ

ศรีราชา- ถึงแม้ว่าเขาจะบอกว่า เขากำไรมาจากการซื้อขายน้ำมัน มันเป็นของรัฐหรือเปล่า มันก็เป็นของบริษัท บริษัทเป็นรัฐวิสาหกิจถูกไหมครับ เมื่อคุณเอาเงินไปใช้หนี้ตามหลักการมันก็ต้องเรียกว่าเป็นช่วงทรัพย์ คุณเอาอันนี้ไปแปรรูปเป็นไอ้นั่นแทน มันก็เป็นทรัพย์สินที่มาแทนที่เงินจำนวนนั้น ผมไม่รู้สิ ผมก็สอนวิชากฎหมายทรัพย์อยู่พอดี ผมก็ไม่รู้ผมถูกหรือผิด แต่ผมคิดง่ายๆ ว่า มันเป็นช่วงทรัพย์ ไม่ต้องไปพิจารณาว่า มันอยู่ใต้ดิน มันอยู่บนดิน หรืออยู่อะไร เมื่อไรก็ตามที่คุณเอาเงิน ซึ่งมันเป็นของประชาชน เป็นของรัฐวิสาหกิจไปใช้จ่ายเป็นตัวนั้นแทน ตัวนั้นก็คือทรัพย์สินที่มาแทนในตัวเงิน มันก็ยังเป็นของรัฐวิสาหกิจอยู่ ซึ่งเมื่อเวลาแปรรูปมันก็ต้องกลับคืนมา มันไม่ใช่เงินเอกเทศ ใช่ไหม

เติมศักดิ์- ยังถือว่ายังอยู่ในเงื่อนไขที่ต้องคืนให้แก่รัฐ

ศรีราชา- ต้องคืนครับ ผมก็มองไม่เห็นว่าจะคืนยังไง เหมือนอย่างเช่นตอนนั้น กบข.ต้องการจะแปรรูปตาม ปตท.ไป ก็มีคนค้านกันเยอะ เขาก็ยกเรื่องนี้มาถามก่อนที่จะแปรรูป เตรียมเลย ก็มาถามว่าอ่างน้ำเหนือเขื่อนภูมิพลทั้งหมดถึงดอยเต่า ถ้าผมจำไม่ผิด ซึ่งเนื้อที่ตั้งไม่รู้จะกี่แสน ซึ่งเวนคืนโดยใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน ผมถามเขาว่า ใช้เงินงบประมาณไหนไปเวนคืน เขาบอกใช้เงินงบประมาณแผ่นดินไปเวนคืน ผมบอกโดยไม่ต้องคิดเลย เมื่อคุณเอาเงินหลวง เอาเงินประชาชนไปเวนคืน สิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นก็คือ ทรัพย์สมบัตินั้นก็ต้องเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกัน กบข.ก็เลยหงายหลัง เคลมอ่างน้ำเหนือเขื่อนไม่ได้ เขาก็ดีเขาเป็นสุภาพบุรุษ เขาก็โอเครับไปก็จบ ผลสุดท้ายไปๆ มาๆ ก็โทรมาบอกก็เลยไม่ได้ออกมาเป็น

เติมศักดิ์- เช่นเดียวกับหลักการนี้กับข้อเท็จจริงในคดีทรัพย์สินของ ปตท.

ศรีราชา- มันก็ใกล้กันนะครับ ภาษากฎหมายอาจจะเรียกว่าเทียบเคียงกันได้ Analogy กันได้ว่า ไอ้นี่ก็คือทรัพย์ที่มาแทนใช่ไหมครับ เมื่อคุณใช้เงินของหลวง แล้วทำไมกลายเป็นทรัพย์สินของบริษัทเอกชน ผมยังไม่เห็น Logic ตรงไหนเลย คนที่อ้างก็คืออ้างแบบเอาใช่ไหม ใครๆ ก็อยากได้ อยากรักษาผลประโยชน์ ผมก็ไม่ว่าเขา แต่ Logic ในการคิดมันใช่หรือเปล่า

เติมศักดิ์- แต่ถ้าในที่สุดในทางกลับกัน ถ้าสังคมไทย ถ้าประเทศชาติไม่สามารถทวงทรัพย์สินส่วนนี้คืนมาจาก ปตท.ได้ มันสะท้อนอะไรอาจารย์

ศรีราชา- สะท้อนถึงความอ่อนแอของสังคม สะท้อนถึงความอ่อนแอของรัฐบาล สะท้อนถึงการที่ขาดสติขาดสามัญสำนึกของผู้บริหาร ปตท. คงไม่แรงนะ

เติมศักดิ์- ตามข้อเท็จจริง สามัญสำนึกอาจารย์ศรีราชาบอกว่า ถ้าเขามีจิตสำนึก ถ้าเขามีสำนึกเขาต้องคืน

ศรีราชา- ถูก เพราะนั่นมันคือของคนไทย คุณก็กำไรไปเยอะแล้ว กำไรเป็นแสนล้าน คืนให้ประชาชน คืนให้รัฐบาลยามที่รัฐบาลกำลังทุกข์ยากอย่างนี้ ไม่เป็นอานิสงส์ ทำไมคุณจะร่ำรวยไปถึงไหน คุณขายหุ้น หุ้นตอนนี้ก็กำลังขึ้นแทนที่หุ้นตก ผมก็ดีใจด้วย ที่จริงกลัวเสียด้วยซ้ำว่า ผมฟ้องคดีเดี๋ยวหุ้นจะพัง เดี๋ยวตลาดพัง เพราะฉะนั้นการที่หุ้นเขาไม่ตก วันนี้เป็น 300 กว่าบาทอย่างนี้ ผมก็ดีใจด้วยที่โอเคมันมั่นคง มันมีความเชื่อถือ ผมไม่ได้มีความรู้สึกคิดร้ายต่อบริษัท เพราะอะไร เพราะว่าไอ้สิ่งเหล่านี้ก็คือ ผลประโยชน์ของคนไทย เศรษฐกิจไทย ผมไม่ได้มีจิตอกุศลที่ว่าจะต้องสาปแช่งให้ไอ้นี่เป็นอย่างนู้นอย่างนี้ ไม่ใช่ ผมก็ดีใจด้วยว่ามันดี แต่คนที่มาอธิบาย คนที่มายืนยัน คุณคิดดีแล้วหรอที่คุณยังยืนยันโดยที่ว่า ไม่แบ่งส่วนที่มันเป็นผลประโยชน์ของประเทศชาติกลับคืนให้กับประชาชน ยามรัฐบาลยังต้องใช้เงินอีกเยอะ

เติมศักดิ์- ราชการเองก็น่าถูกตั้งคำถามถึงการปกป้องผลประโยชน์ในส่วนนี้ด้วยใช่ไหมครับ

ศรีราชา- ถูกต้อง ผมเองก็พูดตรงๆ ผมไม่รู้สึกแฮปปี้กับคนที่มาเป็นกรรมการอย่างกระทรวงการคลังเท่าไร หรือจากกระทรวงพลังงาน เพราะฉะนั้นก็คือสิ่งที่มันเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนอยู่กลายๆ

เติมศักดิ์- จากที่ทำเรื่องนี้จนต้องตัดสินใจฟ้องคดีท่อก๊าซ และไปเจอเรื่องอื่นๆ อย่างเช่น กองทุนน้ำมัน และเรื่องการซื้อแทงก์น้ำมัน อาจารย์มองว่า สังคมไทยได้บทเรียนอะไรจากกรณี ปตท.กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบ้าง

ศรีราชา- ถ้าจะพูดว่าเราหาคนดี คนซื่อสัตย์ก็ได้ ผลประโยชน์ทับซ้อนเยอะ เพราะฉะนั้นก็จะเป็นคำถามต่อไปว่า หากประเทศไทยเป็นอย่างนี้เยอะๆ ขึ้น ผมว่าประเทศไทยเจ๊ง เวลานี้ประเทศไทยมีปัญหาอยู่ 2 เรื่องใหญ่ ถ้าเผื่อก้าวผ่านตรงนี้ไม่ได้ ผมว่าประเทศไทยจะไม่มี มันจะกลายเป็น Failed state รัฐล้มเหลวทันที เรื่องแรกก็คือเรื่องของทุจริตคอร์รัปชัน ถ้าเผื่อดีกรีมันไม่ลดลง เราไม่สามารถทำให้สังคมไทยดีขึ้น และจับคนทุจริตไปยิงเป้า หรือไปไล่ออก ริบทรัพย์สินคืนให้ได้ก็กลายเป็นเรื่องเล่นๆ ทุจริตไปก็ไม่เห็นมีใครจับผมได้ ใช่ไหม หรือถ้าเผื่อเป็นประเทศอื่น จีนเห็นไหมเอาจับมาสารภาพหน้าทีวีด้วยใช่ไหมว่า ทำอะไรไปบ้างที่ผิด รู้ตัวว่าผิด และสุดท้ายก็เดินเข้าหลักประหาร เมืองไทยต้องการอย่างนี้แหละครับ ถ้าเผื่อไม่มีอย่างนี้เมื่อไรก็จะไม่เกิดคนที่จะมารับผิดชอบ เพราะอะไร คนไทยชอบวิธีการเผด็จการและรุนแรง ไม่รุนแรงไม่เกิด ผมคิดอย่างนั้น เป็นทัศนะผม
อีกเรื่องหนึ่งคือ เรื่องของการศึกษา ถ้าโรงเรียนสอนกันแล้วไม่สัมฤทธิ์ อันนั้นแหละคือจุดจบของเรา เราลงทุนเรื่องการศึกษาเป็นอันดับ 2 ของโลก แต่ผลลัพท์ออกมาแย่ที่สุด เฉพาะในกลุ่มเอเชียเราได้ที่ 8 ลองคิดดูสิ นี่คือความล้มเหลวของระบบการศึกษาไทย ผมเองผมก็นึกแล้วก็ไม่รู้จะทำยังไง เลยคิดขึ้นมาว่า เกือบจะคู่ขนานกับ ปตท. ผมตั้งทีมงานขึ้นมาศึกษาเพื่อจะปฏิรูปกฎหมายการศึกษาทั้งระบบ ตั้งแต่ประถมยันมหา'ลัย ปริญญาเอก เพื่อที่จะแก้ความอ่อนด้อย คุณภาพการศึกษาซึ่งมันแย่ การซื้อขายปริญญาจ่ายครบจบแน่ ซึ่งถ้าเผื่อจะทำจริงๆ แล้ว ก็ไม่ทำเยอะ พวกนี้ก็ต้องยุบโปรแกรม ยุบเลิกมหา'ลัยไป ถ้าเผื่อจะทำจริงๆ เวลานี้มันเป็นอะไร พาณิชยกรรมและการศึกษาในระดับ ซึ่งผมว่ามันแย่ ผลสุดท้ายคนเรียนจบปริญญามาพูดยังไม่รู้เรื่อง เขียนหนังสือร่างหนังสือก็ทำกันไม่เป็น

เติมศักดิ์- เห็นว่ากำลังจะเสนอไปยัง สปท.ใช่ไหมครับ เรื่องการปฏิรูปการศึกษา

ศรีราชา- ผมได้เชื้อเชิญท่าน สนช.ก็ดี สปท.ก็ดี และกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งมีนักศึกษาที่เขาสนใจติดต่อมา เมื่อวันศุกร์ที่ 22 ที่ผ่านมา มันใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่งอธิบาย และปรากฏว่าได้รับผลตอบรับในระดับว่าน่าจะดี และน่าจะเป็นไปได้ แล้วทีนี้ สนช.ก็วันนั้นเขาขอติดต่อให้ผมไปพรีเซนต์ หรือไปบรรยายให้ สปท.ฟัง สปท.ว่าจะเป็นวันที่ 2 บ่าย นี่ก็เพิ่งขอเลื่อนไปเมื่อเช้านี้ เป็นวันที่ 10 ตอน 10 โมงครึ่งถึงบ่ายโมง ตอนช่วงนั้นผ่านช่วงกลางวัน

เติมศักดิ์- ไปพรีเซนต์กับ สปท.

ศรีราชา- ผมว่าจะไปวันที่ 10 ตอน 10 โมงครึ่งถึงบ่าย ไปพรีเซนต์ให้เขาดูว่า เราคิดยังไง และแก้ไขปัญหายังไงทำให้เขาเห็นด้วย ผมยกไปให้เลย ผมอาจจะไปพบท่านรัฐมนตรีดาว์พงษ์ เผื่อจะอธิบายให้เห็นว่า ผมเสนออย่างนี้ท่านรับได้ไหม

เติมศักดิ์- แต่ท่านคงทราบว่า ข่าวที่ออกมา 1-2 วันนี้กลายเป็นว่า ผู้ปกครองมึนตึ๊บ 2 เรื่อง ป.6 ไม่ถึง 2.5 ขึ้น ม.1 ต้องจ่ายเอง เรื่องเงินเดือนครูต้องเข้าหมอก็มีปฏิกิริยามากมาย อาจารย์มองปฏิกิริยาเหล่านี้ยังไง

ศรีราชา- ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้มันติดอยู่ในใจผมมานาน แล้วผมต้องการที่จะผลัก เอาเรื่องแรกก่อนขึ้นเงินเดือนครูก่อน มันไม่ใช่เรื่องใหม่ ผมไปสอนปริญญาโท บริหารการศึกษาที่จุฬาฯ ปี 29 30 ตอนนั้นผมยังหนุ่มๆ อยู่ เกือบ 30 ปีมาแล้ว เมื่ออายุ 30 กว่า 40 ยังร้อนวิชา ผมก็ไปสอน ช่วงนั้นเกิดเหตุการณ์ขึ้นที่อเมริกา อเมริกากลัวว่า ญี่ปุ่นจะมายึด Silicon Valley ตอนนั้นญี่ปุ่นมาแรงมาก ไปหุ้นต่างๆ สวัสดิการดีๆ ของอเมริกา เลยทำให้อเมริกาเกิดสภาวะกลัวว่า ระบบการศึกษาเราตอนนี้มันจะแพ้ญี่ปุ่นแล้วหรอ เขาเลยตั้งคณะกรรมาธิการชุดหนึ่งขึ้นมาศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ เป็นเพราะว่าอะไรรู้ไหม เป็นเพราะว่าเงินเดือนครูต่ำ ครูไม่เก่ง
เพราะฉะนั้นต้องเอาครูเก่งมา แล้วให้เงินเดือนแพงๆ ขึ้น จึงจะแก้ปัญหานี้ได้ กรณีพอร์ตอันนี้ชื่อประเทศ ณ ความเสี่ยง ซึ่งรีพอร์ตอันนั้นไปหาดูในห้องสมุดเอง 30 ปีมาแล้ว ผมเองมีความรู้สึกฝังใจ เออใช่เลย เอาครูจบอะไร ที่จบอะไรก็ไม่รู้เฮงๆ ซวยๆ ไปสอนจบจากราชภัฏ รู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องแล้วก็ออกไปสอนกันเต็มประเทศ ครูดีๆ เก่งๆ แทบจะหาน้อยมาก นี่ก็คือจุดที่ทำให้ระบบการศึกษา ความเก่งมันหายหมด เมื่อก่อนก็มีนโยบายบ้าๆ บอๆ ของกระทรวงศึกษาฯ ตีเด็กไม่ได้ เด็กเกเรก็ตีไม่ได้ หรือล่าสุดก็คือ ครูคนไหนให้เด็กตก ครูคนนั้นจะถูกพิจารณาไม่มีศักยภาพ
เพราะฉะนั้นครูก็ปล่อยหมด เอ็งสอบผ่านไม่ผ่าน ข้าให้สอบแก้ตัวแล้วก็ผ่านหมด ผ่านหมดโดยอะไร เด็กไม่รู้เรื่อง เด็กสอบแก้ตัวได้ เด็กก็แฮปปี้ แต่ไม่ตกซ้ำชั้นเท่านั้นเอง แต่อันนี้คืออะไร ผ่านไปด้วยไม่มีความรู้ มันเป็นอย่างนี้ทั้งระบบ ตอนนี้มันผ่านมาสิบกว่าปีแล้ว มันเห็นผลชัดแล้วว่า นี่คือความเจ๊งของผู้บริหารการศึกษาที่ออกนโยบายที่มันผิดพลาด ไม่รู้ยุคใครสมัยใครเป็นตัวเริ่มต้น แต่วิจารณ์ว่านี่คือความผิดพลาดในระบบการศึกษาไทย ซึ่งทำโดยนักการศึกษา ซึ่งอาจจะจบมาจากอเมริกาก็ได้ แต่มันไม่ใช่

เติมศักดิ์- ตกลงเจตนาเรื่องเงินเดือนคือ ต้องการจะให้เกิดแรงจูงใจให้คนเก่งเข้ามาเป็นครูใช่ไหมครับ

ศรีราชา- ถูกต้อง เมื่อไรก็ตามเราได้คนเก่งมาเป็นครู เมื่อนั้นเราจะฟื้นฟูประเทศเราได้ คำว่าแรงจูงใจก็คืออะไร เวลานี้คนเก่งสุดไปเรียนหมอใช่ไหม หรือไม่อาจจะไปสอบเข้าวิศวะ แล้วถ้าเผื่อสมมุติเราได้ให้เงินเดือนคนที่จบแล้ว ให้เงินเดือนไม่น้อยไปกว่าหมอ ผมว่าคนอาจจะเลิกเรียนครูมากกว่าหมอ เรียนหมอคุณจะต้องมีความเสี่ยง วันไหนนอนแล้วถูกปลุกระหว่างตี 1 ตี 2 ตี 3 ที่จะต้องไปทำคลอด ไปมี Accident อะไร คุณต้องแหกขี้ตาไป ฝืนไปทำหน้าที่ของคุณ หรือว่าสิ่งเลวร้ายเหล่านั้น คุณทำแล้วคุณผ่าตัดทำอะไรแล้วมันไม่เข้า มันผิดพลาด เขาฟ้องคุณฐานปฏิบัติหน้าที่ผิด แพงด้วย บ้านเรายังไม่ค่อยเท่าไร อเมริกาหนักเลย ฟ้องเรียกว่าหมดตัวเลยบางที 20 ล้านเหรียญ ของเรายังไม่ถึงขั้นนั้น
เพราะฉะนั้นผมคิดว่า ถ้าเผื่อเราเอาคนดีคนเก่งมาเป็นคุณครู ดีด้วยก็ยิ่งดี ดีและเก่งนั่นคือสุดยอด นั่นคือการสร้างชาติ สร้างประเทศใหม่ เพราะครูเก่งมันค่อนข้างที่จะพูดง่ายๆ เอาคนเข้าระบบแล้วฝึกสอนทำอะไรให้ดี มันจะเป็นครูที่เจ๋งด้วย และสอนเด็กก็เก่งไปหมดทั้งระบบ

เติมศักดิ์- เรื่องเกรด 2.5 ล่ะครับ ไม่ถึงจะต้องจ่ายเอง ม.1

ศรีราชา- คืออันนี้ก็เป็นความคิดของผมเอง ตรงที่ว่าทำไมเราไม่ทำให้ผู้ปกครอง และเด็กสนใจที่จะเรียนดีตั้งแต่ต้น เพราะฉะนั้นถ้าเผื่อมีมาตรการนี้เมื่อไร มันจะทำให้เด็กก็ดี ผู้ปกครองก็ดีจะเริ่มเตรียมตัวแล้ว ตอนนี้อยู่ ป.4 ใช่ไหม ป.5 ป.6 อีก 2-3 ปีก็จะต้องถึงแล้ว มันจะเรียนดีขึ้นมาทันที ผู้ปกครองก็ต้องสนใจว่าถ้าเผื่อไม่ทำให้ลูกดี เดี๋ยวก็ต้องไปเสียสตางค์ อย่าไปเข้าใจผิดคิดว่า ไล่ออกจากระบบ ไม่ใช่นะ คุณยังมีสิทธิเรียนเหมือนปกติทุกอย่าง เหลือแต่เพียงคุณเรียนไม่ฟรี ทำไม ผมคิดช่วยเหลือรัฐบาล เพราะว่าเท่าที่ผ่านมา ผมต่อสู้เรื่องการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี 12 ปีของผมสู้มาตลอด ตั้งแต่ตอนนั้นปี 50 ผมไม่เห็นด้วยกับการศึกษาที่จะถึง 12 ปี ไม่เห็นด้วยกับพรรคประชาธิปัตย์ ไม่เห็นด้วยกับพรรคอื่น นักการเมือง เพราะอะไรพวกนี้ทำไมรู้ไหมชอบอ้างเอาความดีความชอบกับประชาชน อย่างนี้แฟร์ๆ ยาวๆ ให้เรียนฟรียาวๆ โดยไม่ต้องเสียสตางค์ แต่จริงๆ เบื้องหลังตั้งแต่ตอนผมคัดค้านในรัฐธรรมนูญปี 50 บอกให้ฟรีแล้วต้องฟรีจริงๆ ไม่ใช่ให้ฟรีแล้วไปเก็บนู้นเก็บนี่กับเขา ผลสุดท้ายมันก็เป็นอย่างที่ผมพูด เขาบอกเอา 12 ปีใช่ไหมครับ จริงๆ กระทรวงศึกษาฯ ให้เขาพอไหม ไม่พอ ถูกไหม ก็ต้องไปออกระเบียบเรื่อง โดยใช้กรรมการสถานศึกษาเป็นคนกำหนดเก็บเพิ่มเติมโรงเรียนละพันกว่า สองพันบาท ก็คือส่วนอะไร ส่วนที่มันควรจะได้แล้วมันไม่ได้ ถ้าเผื่อคุณจัด 9 ปี มันได้หมดทุกคน ใกล้เคียงตัวเลขงบประมาณที่มันมี มันก็ฟรีได้หมด ผมไม่ได้อยู่เฉยๆ ผมไปขอตัวเลขมาจากกองแผนงาน กระทรวงศึกษาธิการว่ามีปี 46 47 ก่อนที่จะถึงรัฐธรรมนูญ 2-3 ปี มันจ่ายเท่าไร มันพอไม่พอ ประถมขาด 25% มัธยมขาด 30 มัธยมปลาย 31 ตัวเลขเหล่านี้ผมศึกษามา แต่พอเวลาไปดีเบตกันตอนร่างรัฐธรรมนูญไม่มีใครสนใจ สนใจว่ากระแส กระแสบอก 12 ปี กูก็ต้อง 12 ปี ผมเลยไม่อยากร่างรัฐธรรมนูญอีกเพราะอะไร ไม่ make sense กับคนที่มานั่งด้วย

เติมศักดิ์- ขอคุยเรื่องรัฐธรรมนูญหน่อย ที่เขาว่าเป็นฉบับโกง อาจารย์ศรีราชา ให้ความคาดหวังกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้แค่ไหน ว่าจะไปสร้างธรรมาภิบาล ปราบโกง ปฏิรูปการเมืองได้จริงๆ

ศรีราชา- ผมว่าก็ได้ในระดับหนึ่ง แต่ผมก็ยังไม่เชื่อ ว่ามันจะสามารถเป็นยารักษาโรคนี้ได้ในพริบตา เพราะมันโกงกันทั้งประเทศ ดาษดื่นในทุกวงการ ไม่ใช่อยู่เฉยๆจะบอกว่าเอายาขนานนี้ไปกินแล้วมันปราบโกงได้ มันยาก มันต้องค่อยเป็นค่อยไป ลำพังผมเอง ผมไม่หวัง ภายในเจเนเรชั่นนี้ แต่ผมหวังเจเนเรชั่นต่อไป เช่น ตอนนี้ผมทำโครงการอยู่ เรียกว่าโครงการ เอาโรงเรียนชั้นนำร้อยโรงเรียนที่ท็อป 100 โรงเรียนของประเทศไทยที่อยู่ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เอาเด็กเหล่านี้มาโรงเรียนละประมาณ 50 คน เอามาเข้าแคมป์ เข้าคุณธรรม จริยธรรม เพื่อจะให้เขาได้รับวัคซีน ว่าโกงมันเป็นยังไง เพื่อให้เขาซึม ไปจน 5-6 ปีอยู่ในโรงเรียน กลับไปเข้าไปเข้ามหาวิทยาลัย ไปทำอะไร เขาก็จะกลายมาเป็นผู้นำใน 25 ปีข้างหน้า พวกนี้ก็จะกลายเป็นคนที่มีวัคซีนต้านทานความชั่ว เขาจะไปเป็นนักการเมือง ก็จะเป็นนักการเมืองที่ดีกว่าปัจจุบัน หรือเป็นนักการเมืองท้องถิ่นก็ตาม หรือจะไปเป็นข้าราชการ อธิบดี ปลัดกระทรวง ก็คงจะดีกว่าพวกที่ไม่ได้รับฉีดวัคซีน หรือไปเป็นนักธุรกิจที่ดี ผมก็หวังเช่นนั้น ถ้าเผื่อทำเรื่อยๆต่อไปสัก 10-15 ปี เราก็อาจจะได้ผู้นำที่ดีขึ้น ผมไม่หวังที่ว่า ตัวหนังสือจะทำให้ปรองดอง มันอาจจะทำได้ในระดับหนึ่ง ถ้าเผื่อรัฐบาลเอาไปทำต่อ หรือผมไม่หวังว่ามีคณะกรรมการปรองดอง แล้วเขียนกรรมการปรองดองไว้ในรัฐธรรมนูญ แล้วมันจะเกิดการปรองดองได้ มันเป็นเรื่องของการปฏิบัติ มันเป็นเรื่องของคนที่จะต้องมาสุมหัวกัน ทำงานร่วมกัน แล้วปรองดองกัน มันไม่ได้ปรองดองกันในตัวหนังสือ มี แต่ทำได้มากน้อย ผมไม่อาจคาดเดาได้

เติมศักดิ์- บทบาทของผู้ตรวจการแผ่นดินที่ผ่านมา ในการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ ประชาชน บทบาทในการตรวจสอบ การใช้อำนาจ...

ศรีราชา- เมื่อกี้ผมยังไม่ได้ตอบคำถาม 2.5

เติมศักดิ์- 2.5 ถ้าไม่ถึง...เชิญครับ

ศรีราชา- เราไมได้เอาเด็กออกนอกระบบ 2.5 คือกระตุ้นให้คนปรับตัว ที่จะต้องสอบให้ดี แต่ในขณะเดียวกัน คนที่ไม่ผ่าน 2.5 เป็นเพียงตัวเลขที่เราสมมติขึ้นมา เห็นว่ามากไป อาจจะลดเหลือ 2.3 ก็ได้ แต่มันจะทำให้เกิดการตื่นตัวในการที่จะต้องเตรียมตัวดีขึ้น มันไม่ได้ตื่นตัวเฉพาะเรื่องของผลการเรียนอย่างเดียว มันควรจะต้องเรื่องจริยธรรมควบคู่กันไปด้วย ตรงช่องนี้ ถ้าเผื่อคนสอบไม่ได้ 2.5 หรือ 2.3 คุณก็เรียนต่อไป เพราะว่าทางผมจะแยกเรื่องของสายอาชีวะ กับสายสามัญ ตั้งแต่จบ ป.6 เลย ตามแนวทางของสิงคโปร์ ม.1-ม.3 สายอาชีวะ ก็จะไปเรียนเตรียมอาชีวะ เพื่อจะเตรียมพื้นฐานไปสู่การที่จะไปเรียน ปวส.ในสายอาชีวะ คุณจะต้องไปทำงานพหุพาคี ทวิพาคี ในโรงงาน ต้องเตรียมเขา ไม่ใช่อยู่เฉยๆส่งเขาไปโรงงาน ก็ต้องออกหลักสูตรให้มันดี แล้วของผมไม่ใช่เฉพาะครู กับหมอนะ ในอนาคตผมจะให้หลักสูตรอาชีวะ เมื่อจบแล้วได้เงินเดือนมากกว่าสายสามัญไม่น้อยกว่า 1 ขั้น นี่ยังไม่ได้พูดกัน คนยังไม่ได้ฮือฮา อีก 1 ขั้นเพราะว่าอะไร เพราะเราต้องการจะดึงคนไปสู่สายอาชีวะ ให้เขาไปสู่สายอาชีพ ป้อนแรงงาน ตอ่ไปคนเก่งๆ อาจจะไปอาชีวะก็ได้ แล้วก็ประสบความสำเร็จทำให้สายอุตสาหกรรม ภาคอุตสาหกรรมเราเจริญรุ่งเรือง ไม่ใช่ไปพึ่งคนจากต่างประเทศไปหมด สายสามัญมันไม่มีอะไร นอกจากท่องๆบ่นๆไป จบมหาวิทยาลัยก็ว่ากันไป ในขณะเดียวกันเราก็ไม่ได้ปิดกั้นว่า พอจบ ม.6 แล้วสายใครสายมัน คุณจะอยู่สายอาชีวะ แต่คุณจะไปสอบเขามหาวิทยาลัยสายสามัญก็แข็งได้ เปิดหมด ตามศักยภาพของคุณ คุณมีปัญหาจะไปสอบแข่งก็ไป ทำไมจะต้องสร้างคุณสมบัติไปจำกัดด้วย คุณเรียนสายสามัญแทนที่จะเข้ามหาวิทยาลัย ไม่ใช่ เราจะต้องเปิด ฉะนั้นตรงนี้ก็จะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม คุณจะปฏิรูปแล้วทำอะไร ทุกอย่างเหมือนเดิม จะปฏิรูปได้อย่างไร คิดใหม่ทำใหม่ ต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน ต้องมีความชัดเจนว่าจะเอาอะไรไปทำอะไร จะเอาคนไปตรงไหน ยังไง ตรงนี้ผมว่าต้องชัดตั้งแต่ ประถมยันปริญญาเอกเลย

เติมศักดิ์- ทั้งหมดนี้อาจารย์กำลังจะไปขายความคิด

ศรีราชา- ผมถึงบอกว่าถ้าไอ้ 2.5 มันไม่ได้ ก็คือ ประการแรก คนมีตังค์ก็จ่ายไป มันไม่ได้เยอะแยะอะไรมากมาย เทอมละ 3,000 กว่าบาท ก็จ่ายไปสิ ถ้าเผื่อเป็นหมื่นเป็นแสนก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าคุณไม่อยากจ่ายเพราะคุณไม่มี กู้ยืมได้ เดี๋ยวออกกติกาว่า พ่อแม่มีเงินเดือนต่ำกว่า 15,000 บาท ให้เข้าระบบยืม ยืมคืออะไร ไม่เสียดอก คุณเรียนสำเร็จแล้วก็เอามาคืน ยืมไปก่อน แต่ถ้าเกิน 15,000 บาท อันนี้ถือว่ากู้ ก็ว่าไป แต่ดอกรัฐบาลก็ถูกนิดเดียว ไม่ได้สะเทือนอะไรเท่าไหร่ เพียงแต่ว่า เราไมได้เอาคนออกนอกระบบ เราลดค่าใช้จ่ายภาครัฐลง เพราะว่า มันเยอะอยู่แล้ว เราต้องให้ภาครัฐลดค่าใช้จ่ายทางภาคการศึกษาลง ผู้ปกครองเมื่อเขาจ่ายเงิน เขาจะได้สนใจ ดูแลเด็กของตัวเอง ลูกตัวเองมากขึ้น เด็กมันก็จะได้รับการกระตุ้นมากขึ้น อย่าเล่นเกมตลอดเวลานะ ดูหนังสือบ้างนะ ไม่งั้นมันไม่สนใจ ทั้งเรื่องจริยธรรม คุณธรรม เรื่องความเก่ง ความสามารถ พ่อแม่ถือว่าเป็นเรื่องของโรงเรียน อันนี้ผิด พ่อแม่ต้องดูแลระหว่างที่อยู่กับบ้าน ครูดูแลเด็กนักเรียน 2 ฝ่ายต้องช่วยกันดูแล มันถึงจะสร้างเด็กได้ แล้วเราถึงจะได้ทรัพยากรบุคคลที่ดี เก่ง มีความสามารถ ประเทศมันถึงได้เจริญได้ แต่นี่เราโยนทั้งหมดไว้ที่โรงเรียน ไม่สนใจ อะไรดีกูก็เอา ประเทศไทยเขียนมาที ทุกอย่างฟรีหมด ตอนนี้คนแก่ เริ่มยุคเอจจิ้น ก็ต้องเริ่มให้สวัสดิการคนแก่ ขอเพิ่มขึ้นอีกเยอะแยะเลย ถามหน่อยเอามาจากไหน ไม่รู ไปตายเอาดาบหน้า ต้องปรับโครงสร้างภาษีใหม่ เก็บภาษีให้มากขึ้นกว่าเดิม 100% เป็นอย่างน้อย แล้วก็เอาเงินเหล่านี้มาพัฒนาประเทศ ทุกวันนี้ไม่มีใครกล้าทำอะไร อยู่ในซากเก่าๆ ตึกเก่าๆ แล้วก็บ่นอยู่นั่น ไม่มีใครทำอะไร เพราะกลัวถูกด่า ผมเองผมไม่ได้กลัว ผมถือว่าผมไม่ได้ประโยชน์อะไนจากตรงนี้เลย

เติมศักดิ์- ปฏิกิริยาที่ออกมาก็คืออาจารย์ถูกด่า

ศรีราชา- ผมไม่กระเทือน ผมหวังดีต่อประเทศชาติ คุณด่าเพราะคุณเข้าใจผิด คุณไม่ได้ฟังเหตุผลผม ก็เชิญตามสบาย ผมก็กินอิ่ม นอนหลับ สบายทุกอย่าง เพราะผมทำเพื่อให้เกิดสำนึกให้แก่คนในประเทศชาติ ทำให้ระบบการศึกษามันดีขึ้น พาให้ประเทศไทยมันไปได้ ไม่ใช่คุณนั่งจมปลักอยู่กับไอ้ของเดิม นั่งคิดอย่างเดียว กระทบผลประโยชน์กู กูไม่ยอม คุณฟังสักหน่อยว่าเหตุผลคืออะไร

เติมศักดิ์- เห็นต่างก็มาถกเถียงกัน

ศรีราชา- แล้วผมจะไปทำวิจัยเล็กๆก็ได้ ดูสิว่า มันดีไม่ดีอย่างไรก็เอามาปรับ ก็ไม่ได้เป็นข้อยุติร้อยเปอร์เซ็นต์ เพียงแต่ว่ าผมโยนประเด็น

เติมศักดิ์- โยนความคิด พูดออกมาดังๆ ใครเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย แม้แต่จะด่าก็ไม่เป็นไร ก็ว่ากันตามเหตุผล

ศรีราชา- คุณจะด่าผมด้วยความเข้าใจ ก็เรื่องของคุณ คุณก็ต้องย้อนไปตัวของคุณเอง ว่าคุณมีเหตุผลหรือเปล่า คุณมีลอจิกส์หรือเปล่า หรือเอาแต่ผลประโยชน์ของตัวเอง คุณไมได้คิดถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติ ไม่ได้มองภาพรวมของสังคม แล้วทีนี้ประเทศจะไปรอดได้อย่างไร

เติมศักดิ์- สุดท้ายครับอาจารย์ศรีราชา บทบาทของผู้ตรวจการแผ่นดินในการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ ประชาชน ที่ผ่านมามันอาจจะมีขีดจำกัด หรืออุปสรรคอะไรหรือไม่ และในอนาคตมันควรจะปฏิรูปยังไง

ศรีราชา- ผมว่าที่จริงบทบาทมันเยอะมาก ถ้าเกิดจะทำกันจริงๆ เรื่องอะไรก็ตามที่เป็นเรื่องเดือดร้อนที่ประชาชนได้รับจากฝ่ายบริหาร เราก็สามารถหยิบเอามาทำ แก้ไขปัญหา ผมเองนโยบายผมถือว่า ความทุกข์ร้อนของประชาชน แม้กระทั่ง 1 นาที 2 นาที 3 นาที มันก็เป็นทุกข์ ซึ่งก็ทุกข์อยู่ตลอด หากเราไปแก้ไขเขาให้เร็วที่สุด นั่นก็คือเขาได้เกิด เขาได้มีความสุข นั่นคืออานิสงส์ ที่เราเองก็จะมีความรู้สึก เออ เราสบายใจที่จะช่วยแก้ทุกข์ให้ได้ ฉะนั้นผมก็มีนโยบาย ทำให้เรื่องของที่เขามาร้องเรียนให้จบเร็วที่สุด เช่น ตั้งเกณฑ์มาใหม่ว่า เรื่องที่ธรรมดา ทำไม่ยาก ไม่ซับซ้อนก็ควรจะจบในไม่เกิน 3 เดือน เรื่องที่ยาก ก็อาจจะจบภายในไม่เกิน 6 เดือน อย่าให้เป็นปีสองปีสามปี ซึ่งผมว่ามันทารุณประชาชนที่เขาทุกข์อยู่แล้ว และนี่ก็คือนโยบายผม และตอนนี้ก็เริ่มทำ ผมเคลียร์ของเก่าเกือบหมด ที่ค้างมา 3-4 ปี ค้างมา 2 ปี ค้างมา 1 ปี วันที่ 30 มิถุนาฯ นี้มันจะเหลือค้างไม่เกิน 1 ปี นอกนั้นมันจะเข้าตามระบบ และต่อไปก็จะเข้ามาตรฐานของฮ่องกง ของต่างประเทศ ที่เขาทำมา โดยประมาณนี้ จะไม่ให้เกิน ซึ่งผมคิดว่าเป็นการปรับให้เข้าสู่ระบบสากล ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี

ส่วนที่ถามว่าเรื่องใหญ่ เรื่องเล็ก ที่จริงในรัฐธรรมนูญปี 40 อาจจะไม่ให้อะไรเยอะเท่าไหร่ แต่รัฐธรรมนูญปี 50 เขาจะให้ตัวที่ว่า แม้จะไม่มีเรื่องร้องเรียน แต่ถ้าการกระทำอะไรก็ตาม ที่มันเกิดขึ้นแล้ว มันมีผลกระทบก่อให้เกิดความเสียหายแก่สังคม ประชาชน เราสามารถหยิบเรื่องนี้มาดู ศึกษาได้ หยิบเรื่องนั้นมาทำข้อเสนอแนะได้

เติมศักดิ์- ตั้งเรื่องขึ้นมาได้เอง

ศรีราชา- เพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ เช่น ผมทำเรื่องวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนอมินี พวกคนต่างชาติที่เข้ามาถือ ที่เราเรียกว่าตัวแทนอำพราง ผมเข้าใจว่าเข้ามาเยอะมากตอนนี้ ประเทศไทยมี 300 กว่าล้านไร่ คนต่างด้าวอาจจะถือไปแล้วประมาณ 100 ล้านไร่ก็ได้ ทีjเราไม่รู้ ตัวอย่างเช่น ถนนเส้นเพ ที่ไปสุดทาง มันยาวประมาณ 10 กิโลฯ ผมว่าเป็นของต่างชาติเกือบหมด ขณะประเทศที่เรายังนึกไม่ถึงว่าเขาจะมี เช่น ออสเตรียนวิลเลจ ของประเทศออสเตรีย เป็นต้น เป็นหมู่บ้าน ก็เข้ามาในรูปซื้อ เข้ามาในรูปตั้งบริษัท แล้วก็มีถือหุ้น หรือขายอะไรทำนองนี้ ซึ่งมันก็มีการหลบเลี่ยง กันโดยลักษณะของมีทนาย สำนักงานกฎหมายไปแนะนำให้ทำนู่นนี่นั่น ต้องมีผู้คุ้มครองประโยชน์ให้คนไทยมีที่ดินในประเทศไทยอยู่ต่อไป อย่างเวลาคุณไปเดินที่สวยๆริมทะเล ที่สวยๆตามภูเขา เกือบจะไม่เหลือ

เติมศักดิ์- ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก

ศรีราชา- แต่ไม่มีใครทำ สนช.เพิ่งมาหยิบเอาของผมไป เอาไปทำ แต่ สนช.ก็เอาไปตัดแปรรูป ผมให้มีกองทุนอยู่ในนี้ เพื่อที่จะให้แก่คนที่มาชี้เบาะแส ว่าเขาจะได้ 10% จากการขายทอดตลาด ทีนี้กระบวนการขายทอดตลาด ถึงแม้ว่าคำพิพากษาศาลฎีกา หรือศาลสูงสุด ชนะแล้ว คดีถึงที่สุดแล้ว มันจะขายได้เมื่อไหร่ไม่รู้ แต่เราเพียงอยากให้ เมื่อคดีสิ้นสุด ชนะแน่แท้แล้ว คนที่ชี้เบาะแสเขาควรจะได้ทันที 10% ก็เอาเงินอันนี้มาเป็นเงินหมุนเวียน ไมได้ว่ากันอะไรมากมายเพื่อจะมาใช้ประโยชน์ ซึ่งเขาก็ไม่กล้าไปบอกรัฐบาล ไม่กล้าบอก คสช.ว่า มันยังคงจะมีกองทุนนะ ตัดทิ้งผมก็ว่าเสียเลย เพราะมันไม่มีกองทุนแล้ว ใครจะไปชี้ค่าหัว ชี้ว่าเขาผิด และตัวเองมีค่าหัว จะถูกยิงเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ผมจะเอาชีวิตไปเสี่ยงทำไม ผลประโยชน์อะไรก็ไม่ได้ เป็นพลเมืองดีเท่านั้นพอเหรอ ตรงนี้จะทำให้กฎหมายอาจจะขาดความศักดิ์สิทธิ์ ขาดความร่วมมือจากประชาชนที่ชี้เบาะแส

อีกอัน ก็เรื่องปฏิรูปการศึกษา ที่ผมเสนอ พ.ร.บ.14 -15 ฉบับ นี่ก็เป็นอันหนึ่ง สังคมไทย ประเทศไทย เป็นประเทศที่เป็นรัฐล้มเหลว ซึ่งขาดทั้งเรื่องจริยธรรม ความรู้ของคน ตอนนี้คุณธรรม จริยธรรม ต้องนำความรู้ เพราะคนดี ไม่ดี คนดีต้องนำหน้า ไม่ว่าเก่ง ไม่เก่ง ไม่เสียหาย แต่หากคนไม่ดี แล้วมันเก่งด้วย มันเอาความไม่ดีไปใช้ เดือดร้อนสังคมทั่วไป ฉะนั้นคุณธรรมต้องนำหน้า

เติมศักดิ์- อำนาจแบบนี้ ยังอยู่ไหมครับ ในร่างที่กำลังไปทำประชามติ

ศรีราชา- เขียนกว้างๆแต่ไม่ชัดเหมือนของเก่า อาจจะต้องไปตีความ

เติมศักดิ์- คือไม่ชัดเหมือนปี 50

ศรีราชา- ไม่ชัดเหมือนที่ผ่านมาว่า เป็นเรื่องที่เราจะสามารถยกได้ 2 เรื่อง คือ 1. เรื่องที่มันเกิดความเสียหายแก่ประชาชนในส่วนรวม แล้วไปทำให้มันเสียหาย 2.คือคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ คุ้มครองประโยชน์ของคนไทย อันนี้มันชัด บอกแล้วให้ดำเนินการได้

เติมศักดิ์- ปานามาเปเปอรส์นี่สนใจไหมครับ อาจารย์ศรีราชา

ศรีราชา- ขี้เกียจแล้ว ให้เขาเล่นงานไป หรือก็ไม่รู้ คนเขาไม่รักประเทศ เขาจะไปทำอะไรก็เรื่องของเขา เราก็ทำได้เท่าที่เราจะมีปัญญาทำ ผมก็ว่า แค่นี้ผมก็ทำเยอะแล้วนะ

เติมศักดิ์- เรื่องท่อก๊าซ เรื่อง ปตท.มันจะกลายเป็นคดีความต่อไปหรือเปล่า ระหว่างอาจารย์กับ ปตท. ผมถามตรงๆ

ศรีราชา- ผมไม่เห็นว่าจะเป็นคดีความยังไง เพราะว่าการที่ผมทำ มันมีมาตรา 18 ของ พ.ร.บ.อยู่ ไม่มีศาลไหนมาฟ้องผมได้ ถ้าผมทำโดยสุจริต ไมได้ไปแกล้งเขา ผมมีภูมิคุ้มกันที่ไม่มีใครมาฟ้องผม ให้เกิดคดีความทางแพ่งและอาญาได้ ฉะนั้นผมก็ไม่มีอะไร จะฟ้องผมก็ฟ้องไปสิ แต่เขาจะไม่รับฟ้อง ผมเจอพระที่ไปแจ้งความ ที่จะเอาคน 2 หมื่น มาเอาผมออก ไปแจ้งความที่ทุ่งสองห้อง ก็เรียบร้อยไปแล้ว ผมทำตามอำนาจหน้าที่โดยสุจริต ฉะนั้นผมไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและอาญา ปตท.จะฟ้องผมไม่ได้

เติมศักดิ์- คือข้อเท็จจริงที่พูด ไมได้ต้องการให้ใครเสื่อมเสีย เพียงแต่ต้องการบอกสังคมว่า มันเกิดความผิดปกติอะไรขึ้น

ศรีราชา- ผิดปกติ และต้องการให้เขาเอาส่วนที่ได้ไปโดยมิชอบมาคืน ผมก็ปฏิบัติหน้าที่ผม ผมทุจริตตรงไหน ผมไม่ได้จูงใจใครเลย เขียนจดหมายมาถึงผม ผมก็ใส่ลิ้นชัก ใส่ถังขยะไป ก็เรื่องของผม

เติมศักดิ์- จดหมายมีลักษณะ ต้องการจะปรามไหม หรือยังไง หรือต้องการได้ข้อเท็จจริง

ศรีราชา- หนังสือพิมพ์เอาไปลง มันเกินความจริง เขาเขียนว่า หยุดหาเรื่องกับ ปตท.ได้แล้ว คือ หยุดที่จะมาเล่นงาน ปตท.อะไรทำนองนี้ จดจำ Wording ไมได้

เติมศักดิ์- อันนี้มาถึงก่อนที่อาจารย์จะยื่นฟ้องศาลปกครองใช่ไหมครับ

ศรีราชา- นาน ครึ่งปีมั้ง

เติมศักดิ์- แสดงว่าจดหมายนี้ทำอะไรไม่ได้เลย

ศรีราชา- เขาอยากแสดงความคิดเห็นผมก็รับฟัง แต่ผมไม่ปฏิบัติตาม เพราะหน้าที่ของผมที่จะต้องทำยิ่งใหญ่กว่าจดหมายฉบับนั้น ทำไมผมจะต้องไปเกรงใจเขาด้วย

เติมศักดิ์- สุดท้ายอาจารย์อยากจะฝากสังคมไทยอย่างไรให้ติดตามเรื่อง ปตท. เพราะเรื่องนี้เรื่องเดียวมันอธิบายเรื่องของธรรมาภิบาล เรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อนอะไรได้หลายเรื่องในสังคมไทย เชิญครับ อาจารย์

ศรีราชา- ผมก็คิดว่า สังคมไทยมันต้องถึงเวลาที่คนไทยต้องรักษาผลประโยชน์ของคนไทยเอง อย่าไปนั่งทับผลประโยชน์ เนื่องจากตัวเองไปนั่งทับผลประโยชน์แล้วตัวเองก็ไม่ยอมทำอะไรด้วย มันก็เลยทำให้เรื่องของความไม่ชอบมาพากลทั้งหลาย มันเบ่งบานเต็มสังคมไปหมดเลย และนี่ก็คือจะนำไปสู่ความล้มเหลวของการบริหารราชการ ของการบริหารประเทศ ประเทศของเราคอร์รัปชันเต็มไปหมด หรือแม้กระทั่ง ก็มีคนข้างในมาบอก ว่ามันยังไงแค่ไหน และผมควรจะเชื่อคนที่เขาอยู่ข้างใน ปตท.มาบอก เขาคงไม่ได้มาบอกเพราะจงเกลียดจงชังตัวผู้บริหาร ปตท. ผมว่าเขาก็คงเป็นประชาชนคนหนึ่งเหมือนกันที่ถูกเอารัดเอาเปรียบแล้วทนไม่ได้ ก็ไม่รู้ผู้บริหารก็ฟังไว้แล้วกัน ถ้าเผื่อคุณไม่ได้ทำ คุณก็ไม่ต้องเดือดร้อน ถ้าคุณทำก็ปรับตัวซะ เลิกที่จะคดโกงผลประโยชน์ของประชาชน ผมก็ขอร้องแค่นี้ แล้วผมก็จะได้ไม่ต้องมานั่ง ไปช่วยเหลือประชาชนเรื่องอื่นดีกว่า ไปขุดบ่อน้ำต่อ ซึ่งตอนนี้มันแล้งจัด ผมไปขุดบ่อน้ำผมก็ถือว่า ได้บุญมหาศาล ผมไปสร้างฝายมีชีวิต เคยได้ยินไหม คุณไปตักน้ำ แล้วน้ำซึมออก 2 ข้าง ได้บุญกุศลมากครับ ขนาดไส้เดือนกิ้งกือยังได้ประโยชน์เลย

เติมศักดิ์- ก็หวังว่าคดี ปตท.ผลประโยชน์จะตกกลับมาเป็นของประชาชนนะครับ

ศรีราชา- ผมก็หวังเช่นนั้นครับ หวังว่าศาลปกครองท่านคงเห็นตามเรา

เติมศักดิ์- วันนี้ขอบคุณมากครับอาจารย์ศรีราชา ขอบคุณมากครับ

ศรีราชา- ด้วยความยินดี

เติมศักดิ์- รายการคนเคาะข่าวลาไปก่อน สวัสดีครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น